33 ปี ชีวิตสีกากี (38) | ตร.ทนความเย้ายวนของสินบนไม่ได้

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

การทำงานในการสืบสวนสอบสวนทุกครั้งจะต้องมีเป้าหมาย คือ ประสบความสำเร็จให้ได้ มีความละเอียดลออรอบคอบ และรอบรู้จริงๆ ถ้าทำได้ต้องคัดคนมาทำหน้าที่ด้วย เพราะคนนั้นสำคัญเหนือสิ่งใด

ยิ่งคุณสมบัติของผู้ทำการสืบสวน ต้องพิจารณาตามนี้

1. มีความรู้ ความสามารถทางวิทยาศาสตร์พอสมควร

2. มีความรู้เกี่ยวกับ เรื่องการรักษาสถานที่เกิดเหตุ

3. มีไหวพริบดี ว่าเรื่องนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับใคร มีปฏิภาณดี ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความผิดของกาลเวลา จำเก่งและแม่น

4. มีความอดทน เราต้องคำนึงว่า เหตุที่เกิดขึ้นนี้ ท้าทายเรา เราจะต้องจำให้ได้ เป็นสุภาษิตของพนักงานสืบสวน พนักงานสอบสวน เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อกัดแล้วไม่ปล่อย

5. มีความซื่อสัตย์

6. มีความประพฤติดี

7. มีความรอบรู้ ในการติดต่อกับหน่วยข้างเคียง เทคนิคในการติดต่อกับหน่วยข้างเคียง

8. อดทนต่อความเย้ายวนต่างๆ เช่น เงินสินบน

 

โรงเรียนนายร้อยตำรวจเขาสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจอย่างไร และมีการย้ำเตือน ไม่ให้หลงไปกับความเย้ายวนต่างๆ แต่สุดท้าย ที่ทำลายความเชื่อถือของตำรวจมาตลอด และของพนักงานสืบสวนสอบสวน คือ มาตายกับข้อ 8 ข้อสำคัญข้อนี้ จนนำมาสู่ยุคแห่งความเสื่อมทรุดที่สุดของวงการตำรวจ

เมื่อไปถามประชาชนคนไทย ที่ไหนก็ได้ คำตอบที่ได้รับจะเป็นเสียงเดียวกันว่า ตำรวจไม่สามารถทนต่อความเย้ายวนเงินสินบนไปได้ มีทุจริตรีดไถทุกหย่อมหญ้า แต่ตำรวจก็ต้องทำงานต่อไปในท่ามกลางเสียงก่นด่าที่ดังอื้ออึงในสังคมหรือในโซเชียลมีเดีย

คดีที่ท้าทายต่อพนักงานสืบสวนสอบสวนเป็นอย่างยิ่ง คือ การสืบสวนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีที่ยากและไม่ง่าย ที่จะจับกุมคนร้ายได้ ความพยายาม ความอดทนเท่านั้นจะเป็นหนทางแห่งความสำเร็จ

ผมเคยร่วมกับทีมงาน สืบสวนจับกุมแก๊งลักรถยนต์ แก๊งใหญ่มาก และตามรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมไป กลับคืนมาได้ถึง 33 คัน จนบริเวณหน้าสถานีตำรวจไม่มีที่จอดรถยนต์ของกลางที่ยึดคืนมาได้

เป็นคดีที่ผมทำงานอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งเหนื่อยและสลดใจกับการทำหน้าที่ของอัยการที่นั่น เมื่อถึงเวลาจะได้นำเสนอให้ทราบต่อไป

 

ในตอนเรียน อาจารย์มีหัวข้อเกี่ยวกับมูลเหตุที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม เป็นนักสืบต้องรู้โดยอัตโนมัติ

1. ความประมาทของเจ้าทรัพย์ เช่น ลืมปิดประตู

2. เจ้าทรัพย์ไม่พยายามเก็บทรัพย์ของตนให้มิดชิด

3. เจ้าทรัพย์ไม่สืบประวัติของผู้ที่จะรับไว้ทำงาน

4. เจ้าทรัพย์ไม่มีการวางระเบียบการเข้าออกบริเวณบ้านให้ดี

5. เจ้าทรัพย์มีประกันทรัพย์ไว้ แต่แกล้งทำของหาย หรือเจ้าทรัพย์รับฝากของของญาติไว้แล้วมาแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ว่าทรัพย์ที่มีค่านั้นหาย

และมูลเหตุทางด้านคนร้าย

1. อาชญากรโดยสันดาน

2. อาชญากรโดยความจำเป็น

3. พวกที่ไม่มีอาชีพ แต่ชอบความฟุ่มเฟือย

4. พวกที่มีอาชีพบังหน้า มักทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ตนมีอาชีพเกี่ยวข้องอยู่ เช่นพวกค้าของเก่า ชอบเล่นพระ

มูลเหตุจูงใจที่จะก่อให้เกิดอาชญากรรม

1. สถานที่ที่บ้านตั้งอยู่

2. สภาพของบ้าน

3. เจ้าทรัพย์แต่งตัวมีทอง, ของประดับมีค่ามากเกินไป

อาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องรู้ว่า อาชญากรใช้วิธีใด และอุปกรณ์เช่นใด เพื่อจะได้ทำการสืบสวนต่อไป เพราะตำรวจทุกพื้นที่ จะต้องมีการเก็บประวัติแผนประทุษกรรมของคนร้ายต่างๆ เอาไว้ พร้อมทั้งจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการนำมาใช้งานได้ทันที อย่างเช่น ประเภทของอาชญากร ที่มีการแบ่งตามการประทุษร้าย คือ

1. พวกที่ลักทรัพย์ตามเคหสถานบ้านเรือน

2. พวกที่ลักทรัพย์นอกเคหสถานบ้านเรือน

พวกที่ลักทรัพย์ตามเคหสถานบ้านเรือน

1. พวกที่ผ่านอุปสรรคตามประตูหน้าต่าง

2. พวกที่เข้าช่องทางอื่น

พวกที่ผ่านอุปสรรคทางประตูหน้าต่างแต่ละพวกจะชำนาญต่างกัน

1. พวกงัด ใช้ชะแลงขนาดเล็กเป็นอุปกรณ์งัด ส่วนมากเป็นบ้านสมัยเก่าตามบ้านที่ทำเป็นลูกกรงเหล็กที่มีกรอบเป็นไม้ โดยงัดด้านใดด้านหนึ่งออกก่อน แล้วดึงด้านที่เหลือออก

2. พวกตัด ใช้ใบเลื่อยเหล็กเป็นอุปกรณ์ พบมากเกี่ยวกับการแหกห้องขัง อุปสรรคคือ เสียงที่เกิดขึ้นในขณะตัด

3. พวกเจาะ

4. พวกงัดแงะ

5. พวกตัดกระจก

6. พวกกุญแจปลอม

กว่าจะมาเป็นหลักการในวิชาการสืบสวนของตำรวจได้ ก็เพราะตำรวจได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริงๆ และจากการทำงานของตำรวจทั่วโลก จึงมาสร้างเป็นวิชาการเพื่อใช้สอนในโรงเรียนตำรวจ เพื่อให้นักเรียนตำรวจ จบออกไปนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ ถึงจะลำบากและยากเพียงใดก็ตาม จำเป็นต้องรู้

ยิ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าเมื่อครั้งที่ผมยังเรียนอยู่ หากนำมาเปรียบเทียบกัน จะต่างกันมากยุคนี้มีการเอาทรัพย์ของผู้อื่นทั้งลักทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือปล้นเอาทรัพย์ ดูดเอาทรัพย์ด้วยวิธีการที่พิสดาร แยบยล ด้วยระบบออนไลน์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

สมัยที่ผมเรียน อาจารย์ได้แบ่งประเภทของการลักทรัพย์ ได้ 4 พวก ได้แก่

1. ลักทรัพย์ในเคหสถานบ้านเรือน

– เข้าทางประตู, หน้าต่าง

– เข้าทางช่องทางอื่นๆ

2. ประเภทล้วงกระเป๋า ตัดสร้อย วิ่งราว

3. ย่องเบา

4. ลักทรัพย์โดยมีอุบาย

สถานที่เกิดเหตุและร่องรอยพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ

1. สถานที่เกิดเหตุ คือ บริเวณที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น และให้รวมกับบริเวณที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่เกิดเหตุนั้นๆ ด้วย

2. ร่องรอยและพยานหลักฐาน คือ สภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปกติ หลังจากที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำผิด

– คราบโลหิต เป็นร่องรอยที่จะทราบได้ว่า เป็นมนุษย์หรือสัตว์ และสามารถทราบทิศทางที่หนี และเข้าไปจากสถานที่เกิดเหตุ

– พยานหลักฐาน หมายถึง พยานวัตถุ เอกสาร บุคคล

ประโยชน์ของร่องรอย และพยานหลักฐาน

1. เป็นแนวทางที่จะทราบพฤติการณ์ของคนร้าย เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ อย่างไร

2. เป็นแนวบอกถึงเส้นทางเข้าออกของคนร้าย -หน้าต่าง ประตู

3.เป็นแนวทางให้เราสืบได้ว่าคนร้ายคือใคร เช่น คนในบ้าน หรือนอกบ้าน

4.เป็นการสะดวกในการพิจารณาชั้นศาล

หน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวน จะต้องปฏิบัติเมื่อมีคดีลักทรัพย์

(1.) รีบไปสถานที่เกิดเหตุทันที ไม่ว่าจะได้รับแจ้งโดยทางใด -โทรศัพท์ วิทยุ หรือมาแจ้งเอง ก่อนไปขอให้ลงประจำวันไว้ก่อนว่า ได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดนั้นยังไม่ทราบ

(2.) เมื่อถึงสถานที่เกิดเหตุแล้ว ให้ตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ พยานต่างๆ ให้พยายามสังเกตร่องรอยต่างๆ บริเวณใกล้เคียงมีใครเห็นเหตุการณ์

การตรวจสถานที่เกิดเหตุ

1. การตรวจภายในสถานที่เกิดเหตุ

2. การตรวจภายนอกสถานที่เกิดเหตุ

การตรวจภายนอก

1. ลักษณะทั่วๆ ไป รอบบริเวณ

2. ทิศทางเข้าออก

3. ร่องรอยที่เหลือ

4. ช่องทางเข้าออกของคนร้าย

5. เครื่องมือที่เหลืออยู่

6. พาหนะที่คนร้ายใช้

การตรวจภายใน

1. ทรัพย์สินที่หายไปอยู่ที่ไหน หมายเลขเท่าไร พิจารณาที่เก็บทรัพย์โดนทำลายหรือไม่ มีการงัดแงะหรือไม่

2. คนร้ายเอาทรัพย์อะไรไปบ้าง

3. คนร้ายเอาทรัพย์ออกไปได้อย่างไร ทางไหน

4. คนร้ายทำสิ่งของตกหล่น หรือทิ้งอะไรไว้บ้าง

(3.) ต้องทำแผนที่ของสถานที่เกิดเหตุ เพื่อกันลืมหรือใช้ในการช่วยพิจารณาของศาล

(4.) ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยละเอียด โดยอาศัยหลักตาม ป.วิ.อาญา ส่วนรายละเอียดนั้น ได้ตรวจพบร่องรอยพยานหลักฐานอะไรบ้าง จะต้องมีชื่อของเจ้าทรัพย์ วันเดือนปีที่เกิดเหตุ ตำหนิรูปพรรณของทรัพย์ และร่องรอยที่คนร้ายทำตกหล่นไว้

ประโยชน์ของการทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

1. เพื่อกันลืม ในสาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเดือนปีที่เกิดเหตุ

2. เพื่อกันมิให้มีข้อทุ่มเถียงกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อบ่งชัดเป็นพยานหลักฐาน

3. เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำแผนประทุษกรรมของคนร้าย การพิจารณาสังเกตถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย ทำให้รู้ร่องรอยที่คนร้ายทิ้งไว้ ซึ่งอาจทำไว้ด้วยความเคยชิน หรือด้วยความชำนาญ เช่น การปีนป่าย หรือคนร้ายมีความชำนาญในการเจาะ