ปริศนาตุ๊กตาหินจีน ‘สตรีถือพัดกับประคำ’ ใช่รูปเคารพ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ รุ่นเก่าหรือไม่?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว บนฐานเขียง (ฐานไพที) คือฐานขนาดใหญ่ชั้นล่างสุดของ “สุวรรณเจดีย์” (ปทุมวดีเจดีย์) ภายในกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

นอกจากจะมีกลุ่มของ “พระศิลาสามองค์” รุ่นเก่าสมัยหริภุญไชยที่ดูประหนึ่งว่ารับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ และดิฉันลองตีความว่าอาจเป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” แล้ว (ด้วยเหตุที่นั่งขัดสมาธิเพชร และทำปางสมาธิ เหมือนกับกลุ่ม “พระอมิตาภะ” ด้านทิศตะวันตกของศาสนสถานบุโรพุทโธ)

ยังพบว่ามีประติมากรรมที่ทำจากหินขนาดเล็กอีกองค์หนึ่ง เป็นรูปสตรี ตั้งแทรกอยู่เป็นลำดับสองจากซ้ายมือ ระหว่างพระหินองค์ใหญ่ที่มุม (องค์ที่มีประภามณฑลด้านหลัง) กับพระหินองค์ย่อม ที่อยู่ถัดไปด้านขวา มองโดยรวมเผินๆ คล้ายว่าเป็นกลุ่มประติมากรรมหิน 4 ชิ้นที่กลมกลืนกัน (ใช้วัสดุหินเหมือนกัน) ทว่าอีกบางมุมกลับดูแปลกแยก ว่าเอาสิ่งที่ขัดแย้งนี้มารวมกันได้อย่างไร

สมัยก่อนจะเห็นประติมากรรมหินทั้งสี่องค์ในระยะไกล ซึ่งตั้งวางเรียงรายบนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์ แต่ปัจจุบันมีทั้งป้ายคำบรรยาย และผ้าห่มองค์พระธาตุพันรอบฐานเขียง แทบจะปิดกั้นการมองเห็นกลุ่มประติมากรรมหินรุ่นเก่าทั้งสี่ชิ้นนี้

พูดง่ายๆ ก็คือ ใครหนอ กล้าเอารูปปั้นผู้หญิงมาแทรกหว่างกลางพระพุทธรูป?

จากหลักฐานภาพถ่ายเก่า อย่างต่ำมีมาแล้วตั้งแต่ปี 2490 ในหนังสือ “พระรอด พระเครื่องสกุลลำพูน” ของ “ตรียัมปวาย” เกจิพระเครื่องชื่อดังรุ่นบุกเบิก ได้เดินทางมาเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถานในลำพูนทุกซอกทุกมุม ได้บันทึกไว้ว่า

ประติมากรรมหิน “สตรี” ที่ดูแปลกแยกนี้ ตั้งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพระหินทั้งสามองค์ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยทั้งหมดย้ายมาจาก “วัดร้างดอนแก้ว” ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง (ปิงเก่า) ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน พร้อมกัน

คำถามคือ ประติมากรรมสตรีขนาดเล็กชิ้นนี้คือรูปอะไร ไทยหรือเทศ เก่าหรือใหม่ มาได้อย่างไร ทำไมจึงถูกจัดวางอยู่ตรงนี้ ใครเป็นผู้นำมารวมไว้กับกลุ่มพระหินสามองค์ที่มีพุทธศิลป์แบบหริภุญไชย?

ประติมากรรมหินรูป “เจ้าแม่กวนอิม” ตามแนวคิดว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่คอยอุปัฏฐาก “พระอมิตาภะ”

สตรีถือพัดกับประคำ

คือ “เจ้าแม่กวนกิม” รุ่นเก่า?

ประติมากรรมสตรีขนาดเล็กชิ้นนี้ อันที่จริงก็มีสภาพไม่ต่างไปจากพระหินสามองค์เท่าใดนัก กล่าวคือถูกเมินเฉย มองข้ามจากสายตาผู้ผ่านทางเสมอ

นักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือน “ปทุมวดีเจดีย์” มักแหงนมองให้ความสนใจเพียงรูปทรง Stepped Pyramid พลางตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับอีกองค์ที่ขนาดใหญ่กว่าในวัดจามเทวี ไม่มีใครเหลียวแลพระหินสามองค์ กับประติมากรรมสตรีจีนขนาดเล็กที่ตั้งเรียงราย 4 องค์นี้ (ด้วยเหตุที่มีการพอกปูนทับจนดูใหม่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อน)

หรือแม้นจักปรายตามาแลบ้าง ก็มักสรุปในใจว่า เออหนอ! ใครช่างเอาเศษหิน 4 ชิ้นนี้มาประดับที่ฐานเจดีย์ ดูตุ๊กตาหินจีนตัวเล็กนี้ ยิ่งไม่เข้าพวกเอาเสียเลยกับพระหินสามองค์ (ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ดูไม่ออก ว่าเป็นศิลปะที่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย ซ้ำยังรับอิทธิพลในสายอินเดียคุปตะอีกด้วย)

ประติมากรรมสตรีชิ้นนี้ สำหรับคนที่พอจะมีความรู้ด้านโบราณคดีอยู่บ้าง ก็จะสรุปในใจว่า น่าจะเป็น “ตัวอับเฉาเรือ” หรือตุ๊กตาซีเมนต์ (เนื้อหิน) ที่ใช้ถ่วงเรือสำเภาจีน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงทำการค้ากับจีน ขาไปเอาสินค้าพวกข้าว ดีบุก ไม้สักไปขาย ขากลับเรือเบาโหวง เพราะซื้อเครื่องถ้วย ผ้าไหมกลับมาถึงราชสำนักสยาม ก็แตกแหลกลาญหมด

ทำให้พ่อค้าจีนจึงนำตัวตุ๊กตาหิน (อันที่จริงหล่อด้วยซีเมนต์) ที่ราคาถูก บรรทุกลงสำเภามาด้วย เพื่อใช้ถ่วงเรือไม่ให้โคลงเคลง

บนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์ มีรูปปั้นตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็ก อยู่ลำดับที่ 2 จากซ้าย คนทั่วไปมองข้าม บ้างนึกว่าเป็นเครื่องอับเฉาใช้ถ่วงเรือ

เมื่อถึงสยามเราก็เอาตุ๊กตาหินเหล่านี้มาประดับสวนตามวัด พบได้ทั่วไปที่วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดสุทัศน์ วัดอรุณ เป็นต้น

ตอนแรกดิฉันก็เคยคิดเช่นนั้น ทุกครั้งที่มองตุ๊กตาหินจีนชิ้นนี้ทีไร ใจนึกประหวัดไปถึง “เครื่องอับเฉาเรือ” หรือเครื่องถ่วงน้ำหนักสำเภาสมัยรัชกาลที่ 3 พลางเกิดคำถามว่า “เอ ใครหนอ นำตุ๊กตาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเหล่านี้จากรุงเทพฯ มาประดับให้วัดพระธาตุหริภุญชัย?”

เหตุที่เชื่อเช่นนี้ เพราะบริเวณทางขึ้นหอพระไตรปิฎกของวัด ยังพบ “ตุ๊กตาสิงโตจีน” อีก 1 คู่ ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับสิงโตเครื่องอับเฉาเรือของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน

ฤๅจะเป็นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาในคราวตรวจราชการมณฑลพายัพ? หรือพระราชชายา เจ้าดารารัศมี นำมาคราวเสด็จนิวัติเชียงใหม่ชั่วคราวในปี 2464? หรือพลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ นำมาคราวเคยลงไปเข้าเฝ้าฯ ในพิธีถวายน้ำพระพิพัฒน์สัตยา? หรือ…ใครเอ่ย เป็นผู้นำมา

ที่แน่ๆ ประติมากรรมจีนเหล่านี้ ต้องเป็นเครื่องอับเฉาเรืออย่างไม่มีข้อแม้

บุคคลผู้ทำให้ดิฉันเปลี่ยนมุมมองใหม่ ก็คือ “พี่แอ๊ว – ณัฏฐภัทร จันทวิช” อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร (ผู้ล่วงลับ) ท่านเคยเป็นอดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มักแวะมาเสวนาวิชาการกับดิฉันอยู่เสมอ

ปี 2546 พี่แอ๊วได้พานักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเจดีย์ (หรือจะเรียกให้เฉพาะทางเลยก็ได้ว่า “นักเจติยวิทยา”) ชาวออสซี่ ชื่อ ดร.เอเดรียน สน็อตกร๊าด (Prof. Dr. Adrian Snotgrad) มาพบดิฉันที่ลำพูน เพื่ออยากแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสถูปเจดีย์ต่างๆ รวมทั้งประเด็นที่พี่แอ๊วอยากนำเสนอ ดร.เอเดรียน ก็คือ

“ตุ๊กตาหินจีน” ชิ้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพระหินสมัยหริภุญไชยสามองค์ บนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์

“ดิฉันสงสัยจริงๆ ว่าใครเอาประติมากรรมชิ้นนี้มา เพราะเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิมรุ่นเก่า ถูกต้องตามหลักประติมาณวิทยา ที่ระบุว่าเจ้าแม่กวนอิมสมัยราชวงศ์ถังนั้นจะถือสัญลักษณ์ 2 สิ่งคือ พัดกับประคำ ซึ่งต่อมาสัญลักษณ์ทั้งสองนี้ ค่อยๆ เลือนหายไป รูปเจ้าแม่กวนอิมยุคหลังๆ มักถือสัญลักษณ์สิ่งอื่น”

ดร.เอเดรียน ครุ่นคิดตามสิ่งที่คุณณัฏฐภัทรนำเสนอ จากนั้นเราทั้งสามก็เข้าไปขอข้อมูลจาก “ตุ๊ลุงเจ๋” หรือ พระเจติยาภิบาล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย และเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ที่กุฏิของท่านในคณะหลวง เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประติมากรรมหินจีนดังกล่าว

ได้คำตอบว่า รูปปั้นหินทั้ง 4 ชิ้นนี้ (พระหินสาม + เจ้าแม่กวนอิม) ถูกโยกย้ายใส่ล้อเลื่อนมาพร้อมกันจากวัดร้างดอนแก้ว ไม่ใช่กรมพระยาดำรงหรือเจ้าหลวงจักรคำ ไปนำมาจากรุงเทพฯ แต่อย่างใดไม่ ทั้งหมดอยู่วัดดอนแก้วด้วยกันนานมากแล้ว

“ตอนบูรณะพระหินใหญ่สององค์ครั้งแรก (ปี 2478) ชาวบ้านที่อยู่แถววัดดอนแก้วก็บอกว่า หากจะย้ายพระพุทธรูปหินสององค์ใหญ่ไปไว้ที่อื่น อย่าเอาไปองค์เดียว ต้องยกไปเป็นเซ็ต เพราะท่านมาด้วยกัน 4 องค์ คือพระหินสามองค์กับเจ้าแม่กวนอิมอีกองค์ แต่ทีนี้ช่วงนั้น พระหินองค์เล็กยังไม่ได้ซ่อม (บูรณะตามมาในปี 2483) พระทั้งสี่องค์จึงต้องฝากไว้ที่วัดดอนแก้วก่อน กระทั่งเมื่อบูรณะพระหินครบสามองค์แล้ว เจ้าคุณวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ก็ให้ย้ายพระหินมาทั้งสามองค์ โดยปราชญ์ชาวบ้านแถวนั้นกำชับว่า หากจะย้ายไป ต้องเอาเจ้าแม่กวนอิมไปด้วย”

ประโยคของท่านเจ้าคุณเจ๋ มีความน่าสนใจ 2 ประเด็น

1. ตุ๊กตาหินจีนนี้ ในการรับรู้ของคนลำพูนรุ่นก่อนก็เรียกว่า “เจ้าแม่กวนอิม” กันมานานแล้วล่ะหรือ?

2. ประติมากรรมหินทั้งหมด (3+1) ไปไหนต้องไปด้วยกันเป็นเซ็ต อย่าให้พรากจากกัน เพราะของเดิมเขาอยู่กันเป็นกลุ่ม 4 องค์แบบนี้มานานแล้ว

ตอกย้ำนิกายสุขาวดีในหริภุญไชย?

นั่นคือข้อมูลเก่าตั้งแต่ 20 ปีก่อน ที่ดิฉันรับทราบด้วยความงุนงง ทั้งจากคุณณัฏฐภัทร และจากท่านตุ๊ลุงเจ๋ จำได้ดีก้องหูไม่รู้ลืม ในคำพูดของพี่แอ๊วที่ว่า

“ฝากดูแลเจ้าแม่กวนอิมให้ดีด้วยนะน้องเพ็ญ ถือพัดกับประคำแบบนี้หายากมากๆ พี่แอ๊วเองก็ไม่ทราบว่าเจ้าแม่กวนอิมรุ่นเก่านี้สร้างเมื่อไหร่ มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ยิ่งองค์เล็กๆ อยู่ด้วย เกรงจะชำรุดสูญหาย น่าแปลกจริงๆ ที่ในดินแดนหริภุญไชย มีการทำรูปเจ้าแม่กวนอิม จัดวางคู่กับพระหินสามองค์ที่รับอิทธิพลศิลปะสมัยคุปตะ?”

ดิฉันก็ไม่รู้ว่าจะปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน อย่างน้อยให้ตัวเองเข้าใจได้อย่างไรดี กระทั่งเพิ่งมานึกเอะใจกับลักษณะท่านั่ง “ขัดสมาธิเพชร” + “ปางสมาธิ” ของพระหินทั้งสามองค์ ว่าน่าจะมีกลิ่นอายแบบพุทธมหายานนิกายสุขาวดี

จึงลองตั้งข้อสมมุติฐานเบื้องต้นดูว่า หากพระทั้งสามองค์นี้ ผู้สร้างตั้งใจสื่อให้เป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” ได้หรือไม่

ความหมายของ “พระอมิตาภะ” คืออะไร คือพระธยานิพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ตามความเชื่อของชาวพุทธมหายาน ที่เริ่มมีแนวคิดนี้จากนิกายวัชรยานในกลุ่มอินเดียเหนือสืบต่อลงไปถึงศรีวิชัย กับอีกสายขึ้นไปยังทิเบต จีน เรียกนิกายแยกย่อยนี้ว่า “นิกายสุขาวดี” เน้นการนับถือพระอมิตาภะพุทธเจ้าเหนือกว่าพระธยานิพุทธเจ้าองค์อื่นๆ

ในทางพุทธมหายาน นิยมทำพระอมิตาภะ นั่งสมาธิประดับบนมวยผมของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” แต่ในสายจีน ทิเบต กลุ่มนิกายสุขาวดีที่นับถือพระอมิตาภะอย่างเข้มข้น จักทำรูปเคารพของพระองค์แยกออกมาเดี่ยวๆ และทำพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประกบคู่อีกองค์

บางยุคสมัย นิยมทำพระโพธสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม เช่น ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะตอนปลาย (ทวารวดีและหริภุญไชยตอนต้นด้วย) มีความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม จักคอยอุปัฏฐาก พระอมิตาภะพุทธเจ้า

ดังนั้น เมื่อทำรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้าเสร็จ มักมีรูปโพธิสัตว์กวนอิมในร่างสตรีไว้ด้วยอีกองค์ ให้คอยรับใช้ดูแล โดยกำหนดให้โพธิสัตว์กวนอิมถือพัดกับประคำ

“ถ้ารูปปั้นผู้หญิงองค์เล็กนี้ไม่ใช่เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ใครจะกล้าให้เอารูปผู้หญิงไปตั้งประกบท่ามกลางพระเจ้า (พระพุทธรูป) อันศักดิ์สิทธิ์เล่า คนล้านนาเขาจะฮ้องว่าขึด!” ถ้อยคำของตุ๊ลุงเจ๋ยังอยู่ในความทรงจำ

ดิฉันมิอาจการันตีได้เลยว่า รูปเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากหินชิ้นนี้ สร้างเมื่อไหร่ เก่าถึงยุคไหน ที่แน่ๆ ประเด็นเรื่องตัวอับเฉาเรือจากรัตนโกสินทร์นี่ ตัดทิ้งไปได้เลย

เหตุที่ไม่เคยมีตัวอย่างให้ศึกษาเปรียบเทียบว่าเครื่องแต่งกายชนิดที่มีกระดุมกุ๊นเรียงเป็นสาบหน้าแบบนี้ ในงานศิลปะจีนนั้นนิยมทำกันยุคไหน จะเก่าถึงสมัยราชวงศ์อะไรได้บ้าง ถ้าเป็นเจ้าแม่กวนอิมจริง ท่านเข้ามาอยู่ในลำพูนได้อย่างไร ใครเอามาถวายให้กับวัดดอนแก้ว

สิ่งที่คาใจมากที่สุดคือประเด็น

ทำไมจึงกล่าวกันว่า พระหินสามองค์กับเจ้าแม่กวนอิม ห้ามแยกออกจากกันเด็ดขาด ไปไหนต้องไปเป็นกลุ่ม ฤๅทฤษฎีที่ว่า พระหินกลุ่มนี้คือองค์แทนของพระอมิตาภะในนิกายสุขาวดี จักมีเค้าลางว่าน่าจะเป็นจริง เพราะมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมมาสนับสนุน? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ