1 กรกฎาคม 2023 หนึ่งวันอันเปี่ยมความหมายบนเส้นทางสายศิลปะ ของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปชมนิทรรศการแสดงศิลปะของศิลปินคนสำคัญผู้หนึ่ง เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทำงานศิลปะในหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, วาดเส้น, ศิลปะจัดวาง, สื่อผสม และศิลปะจากวัสดุสำเร็จรูป

ผลงานของเขามีลักษณะเด่นในการหลอมรวมแนวความคิดและปรัชญาแบบตะวันตกเข้ากับมิติทางจิตวิญญาณแบบตะวันออกอย่างกลมกลืน

ในคราวนี้ สมบูรณ์กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า July 1st, 2023 หรือ 1 กรกฎาคม 2023

ชื่อนิทรรศการครั้งนี้มีที่มาจากวันที่มีความหมายสำหรับสมบูรณ์ในฐานะศิลปินและพ่อคนหนึ่ง

“เรามีลูกชายที่เขาเกิดมาเป็นเด็กพิเศษ ไม่สามารถเติบโตเหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป การเลี้ยงดูก็แตกต่างออกไป แต่เขาจะมีความสามารถอะไรบางอย่างเฉพาะทาง มีช่วงหนึ่งนานมาแล้ว ที่เราชวนลูกมาเขียนภาพด้วยกัน แต่ลูกไม่ยอมทำ แต่เมื่อไม่นานมานี้เขามาพูดกับเราว่า เสียดายนะพ่อ ที่หนูไม่ได้เริ่มเขียนภาพเหมือนที่พ่อบอกมาตั้งนานแล้ว”

“เราก็เลยถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นนิมิตหมายอะไรสักอย่าง ก็เลยเอาวันที่เกิดเหตุการณ์นี้มาตั้งเป็นชื่องานนิทรรศการครั้งนี้”

“เราถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง เป็นนิมิตหมายสำหรับเด็กคนนี้ ที่เขาอาจจะแสดงตัวตนของเขาอย่างชัดเจนนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถือเป็นการสร้างกำลังใจให้กับชีวิตคนคนหนึ่ง เราก็คอยเฝ้าดูว่าเขาจะไปต่อได้ไหม แล้วเส้นทางที่เขาจะเดินไป ในฐานะที่เราเป็นพ่อ เราไม่ได้แค่ชวนลูกเขียนภาพเฉยๆ แต่เรามีทั้งประสบการณ์และความรู้ที่จะแนะนำเขาได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป เราต้องการให้เขาสามารถแสดงสิ่งที่ตัวตนเขาเป็นออกมาในบทบาทของเขาเอง ผ่านสิ่งที่เรามีความรู้ความเข้าใจ”

“แต่เราจะแนะนำเขาเฉพาะเวลาที่เราเห็นว่าอาจจะมีปัญหา หรืองานบางชิ้นที่เขาทำโดยไม่มีสมาธิ เราจะแนะนำเฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็น แต่เราจะไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการความคิดของเขา ยกตัวอย่างเช่น เราเพียงแค่มองว่าสไตล์การทำงานของเขาแบบไหนที่น่าจะมีความเป็นไปได้ เราก็แนะนำให้เขาขยายงานออกมาเป็น 30 ชิ้น แทนที่จะทำอยู่แค่ชิ้นเดียว”

“ในฐานะศิลปิน เราสามารถรู้โครงสร้างได้ว่า ถ้าเขาทำงานออกมาแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เหมือนกับเราได้ร่วมงานกับเขา เราไม่ได้ชวนให้เขาแค่มาเขียนรูปได้แล้วก็จบ เราต้องการสร้างสาระและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีความหมาย เราก็แค่แนะนำเขาว่า ถ้าเขาทำงานแล้วขยายออกมาเป็นชิ้นใหญ่ จะออกมาเป็นอย่างไร”

“ถ้าเขาไปผิดทาง เราก็ตักเตือนเขา เพื่อให้เขามุ่งเป้าไปที่รูปแบบเฉพาะตัวของตัวเอง บางทีเขาเขียนได้ถึงจุดหนึ่ง เราก็แนะนำเขาว่าแค่นี้พอแล้ว เสร็จแล้ว บางครั้งเส้นที่เขาเขียนเริ่มทะแยงเข้าหากันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จนเริ่มกลายเป็นบุคลิกขึ้นมา เรามองว่าถ้าเขาทำงานชุดนี้เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ขึ้นมาจะน่าสนใจขนาดไหน”

“ที่ชวนลูกทำงานด้วยนี่เราไม่ได้ทำแบบล้อเล่น เรายังเอางานของเขามาคิดร่วมกับงานเราด้วย ว่าทำอย่างไรจะให้งานเขามีองค์ประกอบร่วมกันกับงานของเราได้ แทนที่จะแค่แสดงงานเดี่ยว เราก็สร้างงานใหม่ขึ้นมา โดยเอาภาพเขียนของลูกมาลองแขวนด้วยกัน”

“เราจริงจังมาก ที่จะเอางานของเขามาเป็นส่วนหนึ่งของงานเรา เพราะว่าเขาเป็นลูกเรา แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องคิดว่าเราจะทำแบบไหน เพราะงานที่เขาทำก็ไม่ได้เข้ากับงานเราได้ทุกชิ้น เราต้องทำการทดลองดูว่ารูปแบบไหนที่เหมาะสม เพื่อสร้างบทสนทนากับงานของเรา ไม่ใช่แค่เอารูปของเขามาตั้งเฉยๆ”

“เราก็แนะนำเขาว่า ในเมื่อเสียเวลาทำงานขึ้นมาแล้ว ก็คิดงานให้เป็นโครงสร้างจริงๆ ออกมาด้วยเลย วันหนึ่งถ้าเขารู้จักเทคนิคที่หลากหลายมากขึ้น เราก็จะค่อยๆ ให้เขาได้ลองใช้วัสดุเพิ่มทีละอย่าง สักวันหนึ่งเขาอาจจะทำงานชิ้นใหญ่เพื่อให้มาร่วมงานกับเราเลยก็ได้”

“อย่างเวลาทำงานบางชิ้นเขาไม่มีสมาธิ เราบอกเขาว่าไม่เป็นไร ปล่อยไว้ก่อน เดี๋ยวสมาธิมาแล้วค่อยทำใหม่ ตอนนี้เขาก็เอาเวลาส่วนใหญ่ที่เคยเที่ยวเล่นมาเขียนรูป โดยที่เราไม่ได้บังคับ ในขณะเดียวกัน การทำงานของเขาก็ท้าทายเรา ว่าเราจะร่วมงานกับเด็กคนนี้ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ รูปแบบศิลปะจะเป็นอย่างไรก็ได้ เพียงแค่งานต้องไปด้วยกันได้ ถ้าเขาทำแล้วไปได้ไกลพอสมควร เราก็อาจจะจัดงานแสดงร่วมกับเขา โดยเลือกงานของเขาให้ไปอยู่ในนิทรรศการใหม่ของเรา ก็ต้องลองคิดรูปแบบดู น่าสนุกดี เพียงแต่คนวางแผนก็น่าจะต้องเป็นเรานี่แหละ เพราะไม่ใช่ทุกชิ้นที่จะแสดงร่วมกันได้ เราก็ต้องคอยเฝ้ามองว่าเขาจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร”

“ช่วงหลังๆ เราสังเกตว่า ลูกเรามีสมาธิดีกว่าเดิม เพราะถ้าเป็นคนไม่มีสมาธิ เขาจะทำงานให้จบไม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มพยาบาลในจังหวัดเลย อยากจะมาทำเวิร์กช็อปกับเรา เราก็คิดว่าถ้าเกิดมีเวิร์กช็อปขึ้นมาจริงๆ เราจะให้คนกลุ่มนี้ทำงานด้วยการจุดอย่างเดียว เพราะว่าถ้าเราให้พวกเขาเขียนภาพโดยที่เขาไม่เคยเขียน เขาก็คงไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร”

“เพราะฉะนั้น เราก็จะให้พวกเขาทำเทคนิคที่ง่ายสุด ที่ใครๆ ก็ทำได้ คือให้พวกเขาทดลองเขียนด้วยการจุดดู เราเชื่อว่าถ้าให้คนสิบคนลองทำจุดกัน แต่ละคนจะจุดไม่เหมือนกันนะ แล้วการจุดเนี่ย สามารถอ่านนิสัยของคนได้ด้วย เราก็เลยให้ลูกเราเริ่มต้นทำงานด้วยการจุด”

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นิทรรศการครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ผลงานของสมบูรณ์เท่านั้น หากแต่ยังมีผลงานของลูกชายของเขาร่วมจัดแสดงอยู่ด้วย

“งานของลูกชายของเราในนิทรรศการครั้งนี้เป็นความหวังของเด็กคนหนึ่ง บังเอิญคนที่แนะนำเขาเป็นคนที่รู้เรื่องศิลปะที่เป็นพ่อของเขาด้วย เราก็จะคอยเฝ้าดูว่าเขาจะทำออกมาแบบไหน ตอนนี้เขาอายุ 20 ปี เทียบกับตอนที่เราอายุ 20 ปี ถ้าเทียบงานของเขากับงานของเราในวัยนี้ มีความแตกต่างกันมาก ด้วยความที่พื้นเพพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน แต่เราก็ต้องเฝ้าคอยเขา”

“อย่างตัวเราเองมีปัญหาที่เวลาที่เราจะสอนลูกแต่ละคน ถ้าเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด เราก็สอนพวกเขาไม่ได้ แต่สำหรับเรื่องการเขียนภาพนี่เข้าทาง เพราะเป็นสิ่งที่เรารู้ เป็นสิ่งที่สามารถมอบให้เขาได้ เป็นเหมือนมรดกของเรา ในการดึงตัวตนเขาออกมา”

“แต่จะเป็นจริงได้ขนาดไหนก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่เราคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะวันนี้เขาทำขึ้นมาได้ขนาดนี้ สักวันหนึ่งเราอาจจะทำงานแสดงที่มีงานชิ้นหนึ่งของลูก ชิ้นหนึ่งของพ่อ เป็นงานชิ้นเดียวกันก็ได้ ก็น่าสนใจเหมือนกัน เราเองเป็นคนที่ทำงานแล้วชอบโจทย์ใหม่ๆ ด้วย งานของลูกผมก็จะเป็นตัวตั้งโจทย์ให้เราคิดว่างานจะออกมาเป็นอย่างไร”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ เมื่อได้เข้าไปชมงานในนิทรรศการครั้งนี้ของสมบูรณ์ เราพบว่าค่อนข้างมีความแตกต่างจากนิทรรศการที่ผ่านๆ มาของเขา ด้วยผลงานจิตรกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เปี่ยมสีสัน ขนาดเล็กใหญ่หลายหลากชิ้น และสไตล์การทำงานอันแตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญ ผลงานเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มีผลงานบางชิ้นที่เต็มไปด้วยเส้นสายเปี่ยมพลังความเคลื่อนไหวแห่งความเป็นนามธรรมตามแบบฉบับของสมบูรณ์อยู่ดี

“สำหรับเรา ความสนุกของงานก็แล้วแต่แต่ละงานไป อย่างงานในนิทรรศการครั้งนี้ ผมชอบชิ้นใหญ่มาก เพราะสถานที่ตั้งมีผลกับงานอย่างมาก เวลาตั้งอยู่ที่บ้าน งานดูสงบนิ่งมาก แต่พอมาตั้งที่หอศิลป์ งานกลับดูสนุก มีความเคลื่อนไหว”

“งานศิลปะนามธรรม นอกจากจะอาศัยความเข้าใจของคนทำแล้ว ยังต้องอาศัยความเข้าใจของผู้ชมด้วย ถ้าผู้ชมมีประสบการณ์ในการชม ก็จะดูงานได้ลึกซึ้งมากขึ้น การทำงานของผมก็ไม่ต่างอะไรกับการแลกเปลี่ยนความเข้าใจระหว่างคนทำงานกับผู้ชมนั่นเอง”

นิทรรศการ 1 กรกฎาคม 2023 โดย สมบูรณ์ หอมเทียนทอง จัดแสดงที่ Numthong Art Space

ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน-30 กันยายน 2566 เวลาทำการ อังคาร-เสาร์ 11:00-18:00 น. ไม่รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เข้าชมฟรี)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2617-2794 อีเมล [email protected] และเพจเฟซบุ๊ก Numthong Art Space

ภาพถ่ายโดย อรุณ เพิ่มพูนโสภณ •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์