ครม.เศรษฐา 2 นัด รัวนโยบายปากท้อง-ทุบค่าไฟ ระวัง เหวี่ยงแหไม่ตรงจุด!!

บทความเศรษฐกิจ

 

ครม.เศรษฐา 2 นัด

รัวนโยบายปากท้อง-ทุบค่าไฟ

ระวัง เหวี่ยงแหไม่ตรงจุด!!

 

ผ่านไปแล้วสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 2 นัดของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน หรือ ครม.เศรษฐา 1

หลายนโยบาย หลายมาตรการตรงใจประชาชน แต่ก็มีหลายเรื่องเช่นกันที่หายไปจากที่เคยหาเสียงไว้

เรื่องที่ประชาชนจับตาเป็นพิเศษ คือในเรื่องของการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ โดยเฉพาะเรื่องค่าน้ำมัน ในการประชุม ครม.นัดแรก 13 กันยายน ได้มีการประกาศจะอุ้มราคาน้ำมันดีเซล ไม่ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร

แต่เมื่อถามถึงการช่วยเหลือเรื่องน้ำมันเบนซิน กลับยังไม่มีแนวทางในการช่วยเหลือออกมา

ชาวเน็ตจึงตั้งคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “เบนซินมีสิทธิ์ไหมคะ” เพราะประชาชนที่ใช้น้ำมันเบนซินก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ครม.นัดแรกยังมติลดค่าไฟงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย หรือลด 35 สตางค์ต่อหน่วยด้วย เรียกเสียงฮือฮาเพราะลดจริง แต่ประชาชนกลับมีเสียงสะท้อนว่า “ลดน้อยไปมั้ย”

พร้อมกันนี้ยังประกาศนโยบายพักหนี้เกษตรกร พักหนี้เอสเอ็มอี เดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวัลเล็ต

เพราะความเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค และการจัดตั้งมีสตอรี่มากมายอย่างที่เป็นข่าวช่วงหลายที่ผ่านมา เสียงสะท้อนจากประชาชนไม่ฟังไม่ได้ เพราะมีผลต่อคะแนนนิยม การประเมินผลงานรัฐบาล

ดังนั้น ในการประชุม ครม.นัดสอง 18 กันยายนที่ผ่านมา จึงมีมติช่วยลดค่าไฟก๊อก 2 จาก 4.10 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือลดลง 11 สตางค์ต่อหน่วย

ส่วนเบนซิน รัฐบาลโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะลดราคาช่วยกลุ่มเปราะบางและประชาชนทั่วไปทันเป็นของขวัญปีใหม่แน่นอน

แม้จะเกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ในภาพรวมของนโยบายกลับถูกเอกชนตั้งคำถามว่าเหวี่ยงแหเกินไปหรือไม่

 

เรื่องนี้ “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้ความเห็นว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน พบว่าปัจจุบันราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก็มีการปรับขึ้นเกือบทุกชนิด แต่น้ำมันเบนซินมีตลาดที่ใหญ่กว่า น้ำมันดีเซลหากรัฐบาลต้องอุดหนุนเบนซิน ก็ต้องใช้เงินมากกว่าดีเซลหลายเท่าตัว เพราะปัจจุบัน มีรถใช้น้ำมันเป็นซินกว่า 1 ล้านคัน รัฐบาลจึงจะเปิดให้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแบบเสรี แต่ยังไม่ได้พูดเรื่องการช่วยเหลือของกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินในภาพรวม แต่คาดว่ารัฐบาลจะยังมีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอยู่ อาทิ ในกลุ่มของผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ดังนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายการลดราคาพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า โดยปรับราคาน้ำมันดีเซลลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร มองว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 31.94 บาทต่อลิตร เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว แต่จากการประกาศของรัฐบาลส่งผลให้รัฐต้องอัดฉีดเงินเข้าไปอีก 2 บาทต่อลิตร ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้จีดีพีของประเทศดีขึ้น

“นอกจากนี้ ยังไม่ได้ช่วยให้ราคาสินค้าลดลง เพราะเรื่องการลดค่าน้ำมันช่วยในเรื่องของโลจิสติกส์ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องต้นทุนสินค้า ดังนั้น ราคาสินค้ายังสูงเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือเรื่องราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากนี้ การที่ตรึงราคาต่ำกว่าราคาตลาดเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้”

 

ส่วนนโยบายที่น่าสนใจอื่นๆ คือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศนั้น ธนิตบอกว่า เรื่องนี้ทางภาคเอกชนเห็นด้วย เพราะจะมีเงินไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ

แต่สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือต้องกำหนดขอบเขตเงื่อนไขให้ชัดเจน ว่าจะทำระบบการใช้จ่ายเป็นแบบใด เบื้องต้นเหมือนจะให้ในรูปแบบของโทเคน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าหากใช้สกุลเงินในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร เพราะมีความแตกต่างจากแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้มีส่วนเข้าไปช่วยกระตุ้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไม่ต่ำกว่า 3.18% ซึ่งในปี 2567 จีดีพีของประเทศจะดีกว่าปีนี้ เพราะมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้จบแล้ว จึงคาดว่าจีดีพี ในปี 2566 จะจบอยู่ที่ไม่เกิน 3% แน่นอน

“แม้นโยบายในภาพรวมจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี แต่ยังมีการตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน เพราะหากใช้วิธีโยกเงินจากนโบายต่างๆ หรือเป็นการหมุนใช้งบประมาณจากเงินก้อนเดิม อาจไม่ทำให้จีดีพีโตมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้งเช่นกัน ว่าจะนำงบประมาณจากส่วนใดมาใช้ และจะเป็นเงินใหม่ที่เข้ามาช่วยเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจหรือไม่ต่อไป”

 

รองประธานอีคอนไทย ยังแสดงความเห็นต่อนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สิน ว่า แม้จะมุ่งเน้นไปที่เกษตรกร และเอสเอ็มอีรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใช้งบประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่มองว่าเรื่องนี้ต้องทำคู่ขนานกันไปกับการปรับโครงสร้างหนี้สินของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้างมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ หากปรับโครงสร้างได้ทั้งภาคครัวเรือน และธุรกิจจะได้เดินหน้าต่อ

“ในมุมของเอกชนอยากแนะนำว่ารัฐบาลควรแก้ไขให้ตรงจุด ไม่ควรออกมาตรการ หรือนโยบายแบบเหวี่ยงแห เพราะมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจทำให้งบประมาณของปีนี้ ที่มีอย่างจำกัดถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์”รองประธานอีคอนไทยทิ้งท้าย

เป็นเสียงสะท้อนที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม!!