ความเชื่อมั่นกลับมา ?

ครบ 1 เดือนพอดีนับตั้งแต่รัฐสภาลงมติเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จนถึงขณะนี้รัฐมนตรีว่าการ ช่วยว่าการ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เรียบร้อย รัฐบาลแถลงนโยบายกับสภาเรียบร้อย และมีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลครั้งแรกไปแล้ว

เริ่มต้นนับก้าวแรก รัฐบาล “เศรษฐา 1”

กระบวนการจัดรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งก็ดี กิจกรรมความเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งวางน้ำหนักไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ดี ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจ นักลงทุน และผู้บริโภค ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้น ไม่ว่าจะผลการสำรวจสถิติหรือสังเกตการณ์ ความเชื่อมั่นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อตอนต้นปี 2566 เตรียมแผนเปิดตัวโครงการไว้จำนวนมากเนื่องจากปี 2565 ที่ผ่านมาทุกบริษัททำยอดขาย และกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ จึงเกิดความคึกคักฮึกเหิม แต่พอผ่านปี 2566 ถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ตลาดไม่เป็นไปตามคาด จึงมีการเลื่อนแผนการเปิดตัวไปปลายปี

ยิ่งหลังเลือกตั้ง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 และ 2 ไม่สำเร็จ เกิดความไม่แน่นอน ความไม่อาจคาดการณ์ทางการเมือง มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและมีความไม่พอใจของมวลชน ผลกระทบกับธุรกิจอสังหาฯ นั้น ลงถึงแคมเปญการตลาดรายสัปดาห์ ว่าควรทำหรือไม่ทำดี

เพราะความสนใจของผู้คนจดจ่ออยู่กับเหตุการณ์ทางการเมือง มากกว่าแคมเปญการตลาดใดๆ

 

เมื่อรัฐบาล “เศรษฐา 1” ลงตัวและเริ่มเดินเครื่องความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนผู้บริโภคจึงกลับมาและดีขึ้น เห็นได้จากเริ่มมีการเปิดตัวโครงการใหม่ การทำแคมเปญการตลาดใหม่ ตลอดจนกิจกรรมการแถลงข่าว การจัดสัมมนาต่างๆ เริ่มคึกคักขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ความเชื่อมั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ และเป็นจุดที่ช่วยให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจซื้อสินค้าอสังหาริมทรัพย์ บ้าน คอนโดฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงได้

แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโดฯ ยังต้องเผชิญกับปัญหากำลังซื้ออ่อนแอ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ และการบริหารจัดการเศรษฐกิจรอบสิบปีที่ผ่านมา

ผลกระทบที่ตามหลอกหลอนธุรกิจอสังหาฯ มาจนถึงขณะนี้ก็คือ รีเจกต์ เรต หรือการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้าที่จองซื้อแล้ว ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 50% ของผู้ยื่นกู้แล้ว

 

การแก้ไขปัญหานี้ เฉพาะหน้าถ้าต้องการให้เกิดผลเร็ว ก็ต้องใช้มาตรการทางการเงินของรัฐเข้าช่วยให้คนสามารถกู้เงินซื้อบ้านได้และไม่เกิดความเสี่ยงกับสถาบันการเงิน

ส่วนในระยะยาว ต้องทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือ SME, ประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง และประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฟื้นฟูเศรษฐกิจส่วนต่างๆ

การออกมาตรการแก้ปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกล่าวหาหรือโจมตีทางการเมืองเนื่องจากเคยเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นบริษัทอสังหาฯ มาก่อน

เพราะหากมองจากมุมของรัฐบาลแล้ว การช่วยแก้ปัญหานี้เป็นการช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐอยู่แล้วโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง และผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ส่วนผู้มีฐานะร่ำรวยนั้นสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้เองอยู่แล้วไม่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการหรือไม่มีมาตรการ •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.