แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (23)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยเรามีการยุบสภาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 14 ครั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติที่ว่าด้วยการยุบสภาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยุบสภาอะไรเป็นพิเศษ

อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 103 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

และรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ ดังนั้น เหตุผลหรือเงื่อนไขในการยุบสภาจึงเป็นไปอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว นั่นคือ เป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

และประเพณีการปกครองที่ว่านี้ก็ควรที่จะต้องอยู่ภายใต้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ และผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษไปในหลายตอนก่อนหน้านี้

จากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็นถึงเหตุผลหรือเงื่อนไขของการยุบสภาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว 13 ครั้ง

คราวนี้จะขอกล่าวถึงการยุบสภาครั้งที่ 14 และหลังจากนั้นจักได้ชี้ให้เห็นถึงการยุบสภาที่เป็นไปตามแบบแผน และการยุบสภาที่มีข้อน่าสงสัยพิจารณา

 

การยุบสภาครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทยคือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556

ในประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มีใจความว่า “โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่ พ.ศ.2554 รัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมกันของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลได้ดําเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกําลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็ง อย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค เพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศรัฐบาลได้ให้ความสําคัญในการปฏิรูปการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางแต่เนื่องจากปัจจุบันได้เกิด ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนชื่อเสียงของประเทศชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามคลี่คลายปัญหาด้วยสันติวิธีและดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจยุติปัญหาดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนทั้งประเทศและให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดําเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง”

และวิกิพีเดียได้อธิบายสาเหตุการยุบสภาไว้สั้นๆ ว่าเกิดจาก “ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ” ซึ่งเป็นข้อความหนึ่งที่ปรากฏในประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ที่ผู้วิจัยเน้นไว้ข้างต้น

 

สําหรับผู้เขียนเห็นว่า การยุบสภาครั้งนี้มีเหตุผลที่เป็นไปตามหลักการยุบสภาตามประเพณีการปกครองในระบบรัฐสภามีได้ 2 ประการ นั่นคือ

1. ความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา

2. ความขัดแย้งภายในสภาผู้แทนราษฎร

1. ความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ความขัดแย้งดังกล่าวมีสาเหตุเริ่มต้นจากในช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2556 นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคณะได้เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ. “นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” โดยมีเนื้อหามุ่งนิรโทษกรรมตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา และนิรโทษกรรมแต่เฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่จะไม่เอื้อประโยชน์ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจรับผิดชอบสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง

ซึ่งโดยหลักการดังกล่าวนี้ ไม่มีผู้ใดและฝ่ายใดในสังคมคัดค้านแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มนักวิชาการที่มีความกังวลว่าหากในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา มีการบิดเบือนไปจากนี้ อาจจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้นมาได้ จึงได้ร่วมกันแถลงการณ์สนับสนุนหลักการดังกล่าวและย้ำว่าไม่ควรที่จะให้เนื้อหาผิดเพี้ยนไป

แต่ต่อมา เนื้อหาร่างสุดท้ายของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) มีมติด้วยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเดิม กลับมีเนื้อหาครอบคลุมถึงหลายฝ่าย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกทั้งยังย้อนนิรโทษกลับไปถึงปี พ.ศ.2547 ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากแกนนำมวลชนทุกขั้ว และรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยยังพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ซึ่งต่อมา คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. เป็นการพยายามแปลงวุฒิสภาให้เป็น “สภาผัวเมีย” ผิดทั้งกระบวนการ ทั้งยังมีการปลอมร่างฯ และตัดสิทธิผู้อภิปราย

ยิ่งกว่านั้นยังมีการเสียบบัตรแทนกันอีกด้วย ส่งผลให้กลายเป็นชนวนสำคัญอีกเรื่องที่สร้างกระแสความไม่พอใจให้กับผู้คนในสังคม

จนเกิดการออกมาชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

 

กล่าวได้ว่า นับแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2556-22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการชุมนุมทั้งจากฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยชนวนสำคัญเริ่มจากการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเดิม นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นผู้เสนอร่าง แต่ภายหลังมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ นำโดย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการ และคณะ จนมีการคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

การคัดค้านต่อต้านดังกล่าวยังได้ขยายวงกว้างไปยังผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งคนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คัดค้านการนิรโทษกรรมนี้ด้วย

และแน่นอนว่า กลุ่มต่างๆ ที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างก็ออกมาร่วมชุมนุมประท้วง รวมทั้งกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามที่ออกมาเคลื่อนไหวล่าสุดในปี พ.ศ.2555

(โปรดติดตามในตอนต่อไป)