บริโภคความศิวิไลซ์ ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (จบ) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

การบริโภคความศิวิไลซ์ของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 เต็มไปด้วยการเลือกรับปรับใช้วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้จากยุโรป เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมแบบจารีตอย่างสลับซับซ้อน จนก่อให้เกิดตัวตนอย่างใหม่ที่เป็นสภาวะลูกผสม (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ระหว่างความอยากเป็นยุโรปในระดับที่ต้องทัดเทียมเสมอหน้าชนชั้นนำยุโรป ไปพร้อมๆ กับความพยายามที่จะรักษาสถานภาพบางอย่างแบบจารีตที่เอื้อประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของกลุ่มชั้นนำสยามเมื่อต้องเผชิญหน้ากับชาวสยามที่อยู่ใต้ปกครอง กล่าวให้ชัดก็คือ ชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 (จริงๆ สามารถย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และนับยาวมาจนถึงสิ้นสุดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) จำเป็นต้องยืนอยู่บนเวที 2 รูปแบบที่เรียกร้องตัวตนและการแสดงออกที่แตกต่างกัน

เวทีหนึ่งคือ “เวทีศิวิไลซ์” ที่มีผู้ดูคือชนชั้นนำยุโรป ผู้ยืนบนเวทีนี้ต้องแต่งกาย ใช้สิ่งของ และอาศัยอยู่ในอาคารตามมาตรฐานแบบวัฒนธรรมตะวันตก

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยืนอยู่บน “เวทีจารีต” ที่มีผู้ดูคือชาวสยาม ซึ่งผู้ยืนบนเวทีนี้ต้องแต่งกาย ใช้สิ่งของ และอาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงเต็มไปด้วยนัยยะของความศักดิ์สิทธิ์และช่วงชั้นทางสังคมที่แยกคนออกเป็นชั้นๆ ตามชาติกำเนิดและบารมี

รถพระที่นั่งทัดมารุตในงานรัชมังคลาภิเษก พ.ศ.2451
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

การแสดงออก 2 รูปแบบของชนชั้นนำสยามที่มีต่อปรากฏการณ์มองเห็นดวงไฟลอยออกมาจากองค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 4, 5 และ 6 ซึ่งเรียกกันติดปากทั่วไปว่า “ปาฏิหาริย์พระปฐม” คือตัวอย่างที่ชัดเจน

โดยในด้านหนึ่ง กษัตริย์ทั้งสามพระองค์เลือกที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าน่าจะเป็นปฏิกิริยาทางวิทยาศาสตร์ของสารฟอสฟอรัส (หรือสารเคมีตัวอื่น) เพื่อแสดงจุดยืนบนเวทีศิวิไลซ์ที่เต็มไปด้วยเหตุผลแบบสมัยใหม่

แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำการฉลองบูชาต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวเสมือนหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับบุญบารมีตามทัศนะแบบจารีต

การสร้างพระนครคีรีในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ในด้านหนึ่งคือพระราชวังตากอากาศแบบยุโรปที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างแบบตะวันตก เพื่อเป้าหมายในการแสดงความเป็นสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกัน การวางผังและความหมายของอาคารแต่ละหลังที่ยังเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นเข้ากับโลกทัศน์แบบไตรภูมิ

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่สื่อถึงดาวดึงส์สวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุ ตลอดจนการสร้างพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เพื่อยืนยันถึงสถานะของกษัตริย์ในมิติของการเป็นพระอินทร์ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสภาวะลูกผสม หรือการยืนเหยียบอยู่บนเวทีทางสังคมสองรูปแบบที่แตกต่างกัน

หรือภาพเหตุการณ์งานรัชมังคลาภิเษกรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2451 ที่มีการแต่งรถมอเตอร์คาร์ประชันกันอย่างตระการตา โดยรัชกาลที่ 5 ได้ประทับบนรถพระที่นั่ง “ทัดมารุต” ที่ออกแบบตกแต่งด้านหน้ารถด้วยรูปประติมากรรมนารายณ์ทรงครุฑขนาดใหญ่

ซึ่งแน่นอนว่าคือการเชื่อมโยงความเชื่อแบบจารีตว่ากษัตริย์คือพระนารายณ์อวตารไปพร้อมๆ กับการบริโภคความศิวิไลซ์ผ่านเครื่องจักรอันทันสมัย (รถยนต์) ในแบบเดียวกันกับชนชั้นนำในยุโรป

พระเมรุมาศที่ออกแบบขึ้นสำหรับงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 เป็นอีกกรณีตัวอย่าง แม้โดยภาพรวมงานชิ้นนี้จะถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจที่จะลดทอนสัญลักษณ์ของการจำลองเขาพระสุเมรุตามแบบจารีตลง ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับความเป็นสมัยใหม่อย่างชัดเจน

แต่ภายใต้การลดทอนนั้น ความหมายของการเป็นเขาพระสุเมรุและนัยยะของการส่งเสด็จกษัตริย์กลับสู่ยอดเขาพระสุเมรุก็ยังดำรงอยู่อย่างครบถ้วน

ทั้งหมดข้างต้นคือบางส่วนเท่านั้นของสภาวะลูกผสมที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการบริโภคความศิวิไลซ์ที่ทำให้เราต้องคิดต่อยอดมากมายจากหนังสือ “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง” แม้ว่า อ.เปเลจจี (ผู้เขียน) จะไม่ได้อธิบายในประเด็นนี้เท่าใดนักก็ตาม

ประเด็นสุดท้ายที่น่าคิดต่ออย่างมากจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ในขณะที่ชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อต้องแสดงตัวตนบน “เวทีศิวิไลซ์” ซึ่งพวกเขาเลือกที่จะแสดงความเป็นยุโรปและพยายามไล่กวดความเป็นตะวันตกอย่างแข็งขัน ตามที่ อ.เปเลจจีอธิบายให้เราเห็นอย่างน่าเชื่อถือมาโดยตลอดของเนื้อหาในเล่ม (ตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพนี้ได้ชัดที่สุดคือ ฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองที่ได้รับการใส่ใจในรายละเอียดขั้นสุดยอด จนได้รับการเขียนชื่นชมมากจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ)

แต่ทำไมเนื้อหาในบทที่ว่าด้วยการออกแบบ “ศาลาไทย” (Siamese Pavilion) ในงาน World Expo ทุกครั้ง ชนชั้นนำสยามกลับเลือกที่จะสร้างศาลาไทยด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตในทุกคราว

งาน World Expo คือเวทีระดับนานาชาติที่เป็นโอกาสทองของสยามในการนำเสนอตัวตนของตัวเองในสายตาชาวโลกว่าเป็นประเทศที่มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมกับยุโรป เป็นเวทีที่จะบอกว่าสยามไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไร้อารยธรรม

แน่นอนนะครับว่า งานสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตมิได้ถูกมองว่าป่าเถื่อนไร้อารยะในสายตาชาวตะวันตก ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม

แต่ประเด็นที่ผมอยากเสนอก็คือ แม้มิได้ดูไร้อารยะ แต่ชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 ในทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปยืนบนเวทีศิวิไลซ์ ล้วนเลือกที่จะแสดงตัวตนแบบตะวันตกเป็นภาพแทนของความเป็นสยามสมัยใหม่มาโดยตลอด

แล้วทำไมบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างงาน World Expo จึงกลับเลือกนำเสนอตัวตนแบบจารีต ซึ่งค่อนข้างจะแปลก

 

เราอาจมองปรากฏการณ์นี้ได้ในหลายแง่มุม เช่น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สยามอาจถูกร้องขอจากประเทศเจ้าภาพให้สร้างศาลาไทยแบบจารีต เพื่อตอบสนองความอยากสัมผัสความเป็นโลกตะวันออกในแบบ exotic ของชาวยุโรปในยุคสมัยนั้น

หรือเป็นประเด็นในมิติทางการค้า (ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของการไปร่วมงาน World Expo) ที่สยามต้องการขายสินค้าทางวัฒนธรรมให้แก่ลูกค้าชาวยุโรป ดังนั้น การเลือกที่จะออกแบบศาลาไทยให้ดูมีความเป็นตะวันออกแบบ exotic จะทำให้การขายสินค้าทางวัฒนธรรม (ที่ถูกจัดแสดงภายในศาลาไทย) ถูกขายออกได้ง่ายกว่า

หรืออาจจะเป็นเพราะการสร้างศาลาไทยด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก จะกลายเป็นโดนดูถูกว่าเป็นตะวันตกปลอมๆ เลยเลือกที่จะสร้างขึ้นด้วยรูปแบบจารีตแทน

คำตอบนี้ก็ดูจะขัดแย้งกับกรณีอื่นๆ เช่น กรณีเสด็จประพาสยุโรปที่รัชกาลที่ 5 ซึ่งก็มิได้ทรงกังวลว่าการแต่งกายแบบยุโรปของพระองค์จะโดนดูแคลนว่าสู้ชาวยุโรปไม่ได้แต่อย่างใด

ผมยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจนะครับ แต่ก็จนปัญญาที่จะหาคำอธิบาย ณ ตอนนี้ และอยากชวนผู้ที่ศึกษาทางด้านนี้ช่วยกันคิดต่อแทนละกันว่าทำไมศาลาไทยจึงกลายเป็นกรณียกเว้นของการนำเสนอภาพตัวตนแบบจารีตของความเป็นสยามในสายตาชาวโลก ท่ามกลางความพยายามที่จะนำเสนอตัวตนของสยามในรูปแบบของความเป็นตะวันตกทุกครั้ง (ในสมัยรัชกาลที่ 5) เมื่อสยามยืนอยู่บนเวทีแห่งความศิวิไลซ์

 

ทั้งหมดที่อธิบายมาสามตอนของบทความ แม้ในทัศนะผม หนังสือ “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง” มีข้อจำกัดในหลายประการ แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นก็มิได้ลดทอนความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ที่มีต่อวงการไทยศึกษาแต่อย่างใด หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับทุกคนที่ต้องการจะศึกษาเกี่ยวกับยุคสมัยรัชกาลที่ 5

หนังสือเล่มนี้ช่วยเปิดโลกและมุมมองใหม่ต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสยามได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เต็มไปด้วยเครื่องมือทางทฤษฎีที่น่าสนใจ และลีลาการเขียนที่ชวนติดตาม

สำคัญที่สุดคือ งานชิ้นนี้ใช้หลักฐานที่แปลกออกไปจากขนบในการศึกษาประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราคิดย้อนไปถึงช่วงเวลาที่หนังสือนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน) โดยเป็นการเลือกศึกษาผ่านวัตถุสิ่งของ เสื้อผ้า การแต่งกาย การสะสมงานศิลปะ และการสร้างงานสถาปัตยกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ทุกคนที่ต้องการจะหาแนวทางหรือมุมมองใหม่ๆ ในการศึกษาวิจัยของตนเอง