รำลึก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (3) กองทัพ สงคราม และสังคม | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“กองทัพประจำการแรกในยุโรปเกิดขึ้นจากสิทธิพิเศษของกษัตริย์ในการทำสงคราม”
Otto Hintze
นักประวัติศาสตร์การเมืองชาวเยอรมัน

 

น่าสนใจอย่างมากว่า เมื่อสงครามและสังคมมีพัฒนาการอย่างมากจนมีสถานะเป็น “สงครามสมัยใหม่” อย่างเต็มรูปแล้ว คำถามของอาจารย์นิธิว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” จึงเป็นประเด็นของการถกแถลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลของการขยายบทบาทของกองทัพในสังคม ทำให้นักวิชาการบางส่วนมองว่า สังคมกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ของ “ลัทธิเสนานิยม” (Militarism) ที่มีนัยถึงระบอบการปกครองที่สนับสนุนบทบาทของทหารในสังคม พร้อมกับการสนับสนุนแนวคิดในแบบ “นิยมสงคราม” ที่สร้างภาระทางเศรษฐกิจอย่างหนักให้แก่สังคม ด้วยการที่ต้องแบกรับปัญหาทางการเงินในการสร้างกองทัพ

นอกจากนี้ ลัทธิเสนานิยมอาจเป็นไปอย่างสุดโต่งด้วยความเชื่อว่า สงครามเป็นเครื่องมือของการสร้าง “พลังทางศีลธรรม” ของสังคม หรือในอีกมุมหนึ่งคือ ความเชื่อว่าสงครามเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของรัฐในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็นต้น

 

กองทัพกับสังคม

สังคมในอดีตอาจไม่ได้สนใจกองทัพในมิติทางสังคมศาสตร์มากนัก ความสนใจหลักเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการรบ ตลอดรวมถึงการจัดองค์กรกองทัพเพื่อเตรียมรับการสงคราม จนกระทั่งการกำเนิดของรัฐสมัยใหม่อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามสามสิบปีในปี 1648 สังคมจึงเริ่มมีความสนใจกองทัพนอกเหนือจากความสนใจในมิติทางทหาร

ในการปฏิวัติใหญ่ของอังกฤษหรือที่เรียกว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (The Glorious Revolution) ในปี 1688 นั้น มีความพยายามที่กล่าวโยงประเด็นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมือง และอาจถือเป็นยุคแรกของการมองปัญหาบทบาททางการเมืองของกองทัพในรัฐสมัยใหม่ เพราะแต่เดิมแทบไม่เคยมีมุมมองเช่นนี้มาก่อน อันนำไปสู่ข้อสรุปว่า การกล่าวว่ารัฐอังกฤษสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นบนหลักการที่พลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพในกิจการภายในของรัฐ

แนวคิดดังกล่าวถือเป็นหลักการพื้นฐานของ “ลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่” ที่เป็นส่วนสำคัญของการสร้าง “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่ไม่เพียงแต่มีทัศนะในการต่อต้านลัทธิเสนานิยมเท่านั้น หากแต่มีความพยายามที่จะสร้างอำนาจของฝ่ายพลเรือนในการเมืองของรัฐ หรืออาจเรียกด้วยภาษาทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ถึงการสร้างแนวคิดชุดนี้คือ “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) ซึ่งมีนัยว่ารัฐบาลพลเรือนเป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐ และกองทัพมีสถานะเป็นเครื่องมือในนโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นนี้

หรืออาจกล่าวได้ว่า กระบวนการทางการเมืองของรัฐดำเนินการโดยรัฐบาลพลเรือน ไม่ใช่โดยกองทัพ

 

ผลงานทางความคิดที่ออกเผยแพร่ในสังคมอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 มีความชัดเจน ที่บรรดานักคิดหลายคนจะมองว่า การดำรงอยู่ของกองทัพประจำการเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับการจัดตั้ง “รัฐบาลเสรี” ของอังกฤษ หรือมองว่ากองทัพอาจเป็นปัจจัยขัดขวาง “ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม” ของประเทศ หรือมีงานที่แสดงถึงความกังวลต่อการมีกองทัพในระบบการเมืองของประเทศ ซึ่งน่าสนใจว่านักคิดอย่างในอังกฤษเริ่มมองถึงบทบาทของกองทัพกับการเมืองที่อาจเป็นผลลบมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะการนำเสนอแนวคิดของการควบคุมโดยพลเรือน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องยอมรับว่าคนในยุคปัจจุบันเปิดประเด็นถกแถลงในเรื่องนี้หลังจากแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้นำเสนอแนวคิดนี้ในผลงานเล่มสำคัญของเขาเรื่อง “ทหารกับรัฐ” (The Soldier and the State) ที่ออกเผยแพร่ในปี 1957 รวมถึงผลงานของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันอีกคนคือ มอร์ริส จาโนวิตซ์ (Morris Janowitz) เรื่อง “ทหารอาชีพ” (The Professional Soldier) ออกเผยแพร่ในปี 1961 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผลงานวิชาการในปี 1697 ในอังกฤษได้กล่าวถึงประเด็นเช่นนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจสอดรับกับการประกาศการรับรองสิทธิทางการเมืองภายในรัฐ หรือ “The Bill of Rights” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1689

นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังปรากฏชัดใน “คำประกาศเอกราชของชาวอเมริกัน” (The American Declaration of Independence) และหลังการปฏิวัติอเมริกันแล้ว แนวคิดเรื่องของการควบคุมโดยพลเรือนเป็นองค์ประกอบสำคัญในรัฐธรรมนูญอเมริกันอย่างเห็นได้ชัด และทำให้เกิดข้อสรุปจากประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศตะวันตกว่า

การที่กองทัพ “ยอม” อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนนั้น เป็นผลผลิตจากพัฒนาการของประวัติศาสตร์ และการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ

 

รัฐบาลเสรี vs กองทัพ

ความพยายามเช่นนี้จึงนำไปสู่การกำหนดและ/หรือจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐบาลเสรีกับกองทัพ” ให้อยู่ในกรอบที่กองทัพจะไม่เป็นปัจจัยในการทำลายความเป็นเสรีของรัฐบาล เนื่องจากการกำเนิดของ “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในระบบการเมืองยุโรปนั้น เป็นสิ่งที่เกิดคู่ขนานกับการขยายกองทัพ อันเป็นผลจากการมาของสงครามสมัยใหม่ และทำให้กษัตริย์ยุโรปมีอำนาจในการควบคุมรัฐสภามากขึ้น

นักคิดหลายคนจึงเสนอให้ลดความเป็นอิสระของกองทัพ หรือเสนอให้แยกอำนาจในการควบคุมกองทัพออก แต่ความสำเร็จในขณะนั้นเป็นไปได้ยาก เช่น ปัญหาในฝรั่งเศส หรือในยุโรปกลาง เป็นต้น

แม้กระทั่งนักคิดทางทหารอย่างเคลาซวิตซ์เอง ก็เสนอว่าสงครามเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือในความหมายว่า “สงครามคือความต่อเนื่องทางการเมืองด้วยวิธีการอื่น” ซึ่งมีนัยโดยตรงว่า รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมกองทัพในการทำสงคราม และสงครามนี้จะต้องตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของรัฐ ไม่ใช่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางทหารของกองทัพ ความคิดทางการเมืองในสำนักนี้จึงหมายถึงภาวะที่กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และสงครามดำเนินไปด้วยวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

ว่าที่จริงแล้ว ปัญหาขององค์กรทหารในสังคมคือ ความขัดแย้งระหว่าง 2 แนวคิดของระบบการเมืองที่วางอยู่บนรากฐานของการให้คุณค่าที่แตกต่างกันระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตยตัวแทน” กับ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ซึ่งหากเป็นในโลกสมัยใหม่แล้ว ก็คือความขัดแย้งระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม” กับ “ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม” นั่นเอง ด้วยสภาวะความขัดแย้งเช่นนี้ เราจึงเห็นถึงพัฒนาการอย่างสำคัญที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษและอเมริกันในศตวรรษที่ 18 ซึ่งได้เกิดความพยายามในการควบคุมกองทัพ และไม่ต้องการให้กองทัพเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันรัฐสภา อันเป็นผลของความกลัวต่อการปกครองในแบบ “จอมเผด็จการ” (หรือในความหมายทางการเมืองคือ ทรราช)

ที่อำนาจทางการเมืองรวมศูนย์อยู่ในมือของคนๆ เดียว โดยเฉพาะอำนาจในการควบคุมกองทัพ

 

ข้อถกแถลงเรื่องของความพยายามในการควบคุมกองทัพจึงเป็นประวัติศาสตร์ทางความคิดอย่างยาวนาน และข้อถกแถลงดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 และยังต่อสู้ทางความคิดต่อเนื่องมาในศตวรรษที่ 19 ทั้งยังดึงเอานักคิดในสาขาอื่นๆ ให้เข้าร่วมในการเสนอ เช่น อองรี เดอ แซงต์-ซิมง นักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมชาวฝรั่งเศส นำเสนอว่า ปัญหาขององค์กรทหารในสังคมจะสิ้นสุดลง ถ้ารัฐมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการค้าที่สูงมากขึ้น อันเป็นต้นทางทางความคิดของกลุ่มคนที่เชื่อว่า ความก้าวหน้าของสังคมทั้งทางอุตสาหกรรมและการค้า จะช่วยขจัดปัญหาของกองทัพที่ดำรงอยู่ในสังคมก่อนหน้านี้ให้หมดไป

นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษส่วนหนึ่งในยุคนั้นก็มีความคิดไม่ต่างกัน คือเชื่อว่า “การค้าเสรีและการพัฒนาเศรษฐกิจ” จะเป็นปัจจัยในการแก้ปัญหากองทัพในสังคม และปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวต่อต้านสงคราม และทำให้คนในสังคมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะใช้งบประมาณทหารเป็นจำนวนมาก

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจจะทำให้กองทัพไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองแบบเสรีนิยม จนนักคิดบางคนในยุโรปกลางถึงกับนำเสนอแนวคิดว่า ปัญหากองทัพในสังคมสามารถแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

กระแสต้านทหาร

จากที่กล่าวในข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดในการ “ควบคุมโดยพลเรือน” เป็นข้อถกแถลงในทางวิชาการมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองของโลกตะวันตก ซึ่งน่าสนใจอย่างมากว่า แนวคิดของนักคิดในยุคดังกล่าวยังมีอิทธิพลอยู่มากในปัจจุบัน ซึ่งการพัฒนาทางความคิดเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจาก “การต่อต้านทหาร” ในสังคม อันหมายถึงกระแส “การต่อต้านลัทธิเสนานิยม” (Anti-Militarism) ที่เป็นผลของการขยายกองทัพสมัยใหม่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทำให้นักคิดหลายส่วนพยายามนำเสนอแนวคิดและทฤษฎี เพื่อที่การดำรงอยู่ของกองทัพไม่เป็นปัญหาต่อสถาบันทางการเมืองที่เป็นเสรีนิยม

อันอาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัฐนั้น เป็นปัญหาระหว่าง “ระบบผู้แทนแบบเสรีนิยม” กับ “อำนาจของกองทัพ” ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ทำให้คำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” กลายเป็นข้อถกแถลงอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่นักคิดตะวันตกนั้น พวกเขากังวลอย่างมากว่า การขยายกองทัพที่เกิดขึ้น ไม่เพียงทำให้กองทัพมีอำนาจมากเท่านั้น หากยังทำให้กองทัพกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีอานุภาพในการปราบปรามกับฝ่ายตรงข้าม

ซึ่งหากกองทัพต้องตกไปอยู่ในอำนาจการควบคุมของผู้นำที่เป็นเผด็จการแล้ว การสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นเสรีนิยม จึงเป็นไปได้ยากมาก

ปัญหาดังกล่าวยังอาจนำไปสู่การเกิด “ลัทธิเสนานิยม” ที่เบี่ยงเบนอุดมคติของการสร้างสังคมสมัยใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญกับ “การค้าเสรีและการพัฒนาเศรษฐกิจ” แต่หันไปสู่การขยายจักรวรรดิ และขยายกองทัพ หรือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของ 2 ตัวแปร คือ การสร้างจักรวรรดิและการสร้างรัฐเสนานิยม ซึ่งทำให้เกิดสมมุติฐานสำคัญของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (International Political Economy) ว่า ลัทธิเสนานิยมคือรากฐานของลัทธิจักรวรรดินิยม และกองทัพซึ่งเป็นแกนกลางของลัทธิเสนานิยม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของลัทธิจักรวรรดินิยมด้วย

บทนี้อาจจะไม่ได้ตอบโดยตรงว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” แต่เป็นการขยายมุมมองด้วยคำถามว่า “กองทัพมีไว้ทำไม?” ขณะเดียวกันก็นำเสนอเห็นถึงความคิดที่จะตอบคำถามนี้ อันเป็นความพยายามของการแสวงหาคำตอบมาอย่างนานในการเมืองตะวันตก…

แต่ในประเทศโลกที่ 3 สถานการณ์ดูจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง!