เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ : ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (3) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ผ่านมาอีสานไม่เจริญ เนื่องจากที่ผ่านมาระบอบเก่าไม่บำรุงความเจริญ รัฐทำแต่เพียงเก็บภาษีจากราษฎร และปราบปรามโจรผู้ร้ายเท่านั้น

(ไพโรจน์, 2504, 550)

 

อีสานที่ถูกระบอบเก่าทอดทิ้ง

ไม่นานหลังจากปราบกบฏบวรเดช (2476) เสร็จสิ้นลง และในเดือนมกราคม 2477 งานปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสานของรัฐบาลคณะราษฎรก็เริ่มต้นขึ้น

ไพโรจน์ ชัยนาม ข้าราชการสำนักงานโฆษณาการที่เดินทางไปกับคณะปาฐกถาเล่าประสบการณ์ที่เขาพบเห็นสภาพของภาคอีสานว่า สาเหตุที่ผ่านมาอีสานไม่เจริญ การคมนาคมไม่ดี เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลระบอบเก่าไม่บำรุงความเจริญ ทำแต่เพียงภาษีจากราษฎร และปราบปรามโจรผู้ร้ายเท่านั้น

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อีสานที่พบเห็นจึงเป็นดินแดนที่จมอยู่ในความมืดมน

ที่ผ่านมาผู้คนต่างเข้าใจกันว่า อีสานเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” จนทำให้บางจังหวัดในภาคอีสานนั้นมีความลำบากข้นแค้น เช่น จังหวัดเลยนั้น ถึงขนาดผู้แทนราษฎรยังเปรียบเปรยความแห้งแล้งกันดารในจังหวัดของตนเองว่า “ไซบีเรียของประเทศสยาม” (ไพโรจน์, 2504, 550)

ดังที่ บุญมา เลิศศรี ส.ส.เลย เคยพรรณนาสภาพจังหวัดเลยผ่านวิทยุให้ประชาชนฟังว่า “จังหวัดเลยเป็นจังหวัดซึ่งตั้งอยูในหุบเขา มีภูมิลำเนาประกอบด้วยป่าทึบ มีไข้ป่าชุกชุม คนต่างถิ่นที่เข้าไปในจังหวัดใหม่ๆ โดยมากมักเป็นไข้ไม่มากก็น้อย และถ้าไม่หายก็ตายเช่นนี้ จึงทำให้จังหวัดเลยเป็นไซบีเรียของสยาม ข้าราชการสมัยก่อนเมื่อได้ทราบว่า ตนกำลังจะถูกย้ายไปประจำอยู่จังหวัดเลยแล้ว มักขวัญหนีดีฝ่อ บางรายถึงกับลาออก…” (สำนักงานโฆษณาการ, 2478, 133)

สำหรับสุขภาพอนามัยในเลยที่ผ่านมานั้น ส.ส.เลย เล่าว่า “พลเมืองจังหวัดนี้ ไม่ค่อยรู้จักแพทย์หลวงประจำจังหวัด เพราะมีแพทย์คนเดียว แพทย์ไม่สามารถไปทำการรักษาได้ทุกอำเภอ ทุกตำบล…” (137)

การตรวจราชการมณฑลอุดรของกรมพระยาดำรงราชนุภาพ เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5

เบิ่งเมืองอุดรภายหลังสิ้นระบอบเก่า

ไพโรจน์และเพื่อนข้าราชการ ตะลอนไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย พยายามเข้าไปบรรยายในทุกอำเภอและทุกหมู่บ้านใหญ่ให้ได้มากที่สุด สำหรับอุดรฯ นั้นมี 6 อำเภอ หมากแข้งหรือเมือง กุมภวาปี บ้านเผือ เพ็ญ หนองหาร และหนองบัวลำภู

ที่อำเภอกุมภวาปี ไพโรจน์เล่าถึงความความยากลำบากไว้ว่า ระยะทางที่รถยนต์วิ่งจากขอนแก่นมาอำเภอหมากแข้งหรือเมืองเป็นเวลานานถึง 9 ชั่วโมง สภาพถนนระหว่างทางนั้นเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนทางเกวียน เป็นถนนที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามป่าดง

เขาพบเห็นการทำพูนดิน คาดว่าเป็นการเตรียมทำทางรถไฟจากขอนแก่นเข้าสู่กุมภวาปีต่อไป ระหว่างทาง รถของคณะผ่านดงเสอเพรอซึ่งเป็นดงทึบขนาดใหญ่ เมื่อรถแล่นผ่านมีอากาศเย็น เขาเล่าว่า เคนมีรถยนต์วิ่งผ่านในฤดูฝนรถติดหล่มในป่าถึง 7 วัน บางวันพบเสือ สัตว์ป่าอื่น เช่นกวางด้วย

ที่หมากแข้ง ไพโรจน์พบว่า มีอาคารรัฐบาลที่สร้างครั้งมณฑลอุดรธานีสมัยระบอบเก่าอยู่หลายแห่ง รวมทั้งมีสนามกอล์ฟสนามใหญ่ใจกลางเมืองอีกด้วย แต่อุดรฯ ยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโรงทำน้ำแข็ง ชีวิตผู้คนยังคงกันดารน้ำ

เขาบันทึกว่า ภายหลังการปฏิวัติ 2475 อุดรฯ กลายเป็นจังหวัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2476 แล้ว “ข้าพเจ้าหวังว่า การปกครองแบบเทศบาลคงจะช่วยให้อุดรฯ ของเรามีสภาพดีกว่านี้อีกหลายเท่า” (ไพโรจน์, 571)

สำหรับหนทางในการไปอำเภอบ้านเผือนั้น คณะอาศัยรถยนต์บรรทุก สภาพถนนทำให้รถต้องวิ่งกระโจนขึ้นลงตลอดเส้นทาง ภูมิประเทศที่ผ่านเป็นดงดอน บ้างก็เป็นป่าโปร่ง รถวิ่งข้ามห้วย ระหว่างทางเห็นกล้วยไม้นานาพรรณเกาะติดตามคาคบไม้สองข้างทางตลอดเส้นทาง ระยะทางจากหมากแข้งไปบ้านเผือใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงเศษ อำเภอบ้านเผืออยู่ห่างไกล พบเห็นประชาชนทำไร่อ้อย แต่ด้วยความห่างไกล อ้อยกลับมิได้ทำรายได้ให้ผู้ปลูก นอกจากกินกันเองในครัวเรือน หรือเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนอ้อยเป็นข้าวเท่านั้น (ไพโรจน์, 571-573)

บุญมา เลิศศรี ส.ส.เลย และสภาพชีวิตชาวบ้านศรีสะเกษ เมื่อ 2479

ที่อุดรฯ ไพโรจน์บันทึกพิธีรับขวัญคณะปาฐกถาจากพระนครในฐานะรักใคร่และนับถือจากชาวอุดรฯ ด้วยถาดใส่กล้วยต้ม มันต้ม ไข่ต้ม ตรงกลางมีใบตองจีบคล้ายชฎาประดับประดาด้วยดอกไม้สีสันต่างๆ มีขี้ผึ้งและสายสิญจน์

จากนั้น “ผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นหัวหน้าต่างเริ่มพร่ำบ่นสาธยายมนต์หรือคาถาอย่างหนึ่งด้วยภาษาไทยภาคอีสานเป็นคำคล้องจองกันดีเพื่อเรียกขวัญและประสาทพรแก่คณะ แต่ข้าพเจ้าฟังไม่ค่อยจะถนัด คำเรียกขวัญและประสาทพรนั้น บางคนก็มักว่ายาวมาก บางคนก็ว่าสั้นๆ ครั้นแล้วผู้เฒ่าที่ว่า ก็เอาด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือเราเป็นประเดิม ระหว่างผูกก็กล่าวคำอวยพรไปด้วย…” (ไพโรจน์, 574)

หลังจากเสร็จงานจากบ้านเผือแล้ว คณะเดินทางต่อไปอำเภอเพ็ญ หนองหาร และหนองบัวลำภู ไพโรจน์เล่าว่า การเดินทางไปมาระหว่างอำเภอหมากแข้งไปหนองบัวลำภูใช้เวลาการเดินทางถึง 8 ชั่วโมงเศษนั้น ที่ผ่านมามักใช้ม้าหรือเกวียนเพราะถนนไม่ดี หากไปด้วยรถยนต์แล้วรถจะเสียหายมาก เพราะเส้นทางนั้นแม้แต่รอยทางเกวียนก็ไม่เห็น สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ขนาด 2 คนโอบอยู่เต็มไปหมด

รถของคณะต้องวิ่งข้ามภูเขาถึง 2 ช่วงซึ่งชันและน่ากลัวมาก บางครั้งมีเหวอยู่ข้างทาง ทำให้คณะต้องลงเดิน ปล่อยให้รถค่อยๆ แล่นไปก่อน

ทุ่งศรีเมือง สนามหญ้าหน้าศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลอุดรธานีเดิม ถ่ายเมื่อ 2476
เครดิตภาพ : สมุดภาพอุดรธานี, 2565

มรดกความทุกข์ยากจากระบอบเก่า

ระหว่างเดินทาง คณะพบเห็นราษฎรอีสานผู้ยากจน หรือคนอนาถาที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารัชชูปการให้กับรัฐ จึงต้องถูกทางการเกณฑ์ราษฎรผู้ยากจนเหล่านี้มาใช้แรงงานโยธาเพื่อทำถนน พวกเขากำลังเดินทางกลับออกมาจากป่าดงลึก เท่าที่สอบถามราษฎรพบว่า ไข้ป่าข้างในดงนั้นชุกชุมมาก

ทั้งนี้ เงินรัชชูปการเป็นภาษีซึ่งรัฐบาลสยามในรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตาม พ.ร.บ.ลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ 2462 บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรายได้ของรัฐ

โดยค่ารัชชูปการนั้นเป็นเงินซึ่งเก็บจากชายฉกรรจ์อายุ 18-60 ปีทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย แต่หากผู้นั้นเป็นผู้อนาถาไม่สามารถชำระเงินค่าราชการได้นั้น ข้าหลวงเทศาภิบาลมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นไปทำงานโยธาเป็นเวลาไม่เกิน 30 วัน

ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว รัฐบาลคณะราษฎรประกาศใช้ประมวลรัษฎากร 2481 เพื่อจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม และทำการยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการของระบอบเก่าลงเสีย เพราะเป็นภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรมซึ่งสร้างความทุกข์ยากให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก (สมศักดิ์ มหาทรัพย์สกุล, 2534)

การปาฐกถาที่อุดรฯ นั้น ไพโรจน์พบความรู้สึกของชาวอีสานที่มีต่อผู้นำของระบอบเก่า ดังที่เขาบันทึกว่า “ข้าพเจ้าสังเกตเห็นนิสัยของราษฎรไทยได้อย่างหนึ่ง คือขณะนั้นเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ทางจังหวัดได้บอกไปทางอำเภอ เมื่อมีการประชุมที่อำเภอนี้ หลังจากที่เขาได้ทราบเรื่องพระมหากษัตริย์ได้สละราชสมบัติแล้ว ไม่เห็นเขาตื่นเต้นตกใจ หรือรู้สึกแปลกประหลาดอย่างใด คล้ายกับว่า ไม่เกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียของเขาเลย ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง…” (ไพโรจน์, 578-579)

ความรู้สึกเมินเฉยของราษฎรอีสานที่มีต่อการสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ ดังที่ไพโรจน์ ข้าราชการสำนักงานโฆษณาการได้บันทึกไว้นี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของราษฎรที่มีต่อการปกครองระบอบเก่าเป็นอย่างดี

ขบวนรถไฟสายขอนแก่น-อุดรฯ เปิดเส้นทางเมื่อ 2481 เครดิตภาพ : สมุดภาพอุดรธานี, 2565
ราษฎรไทย ผู้ต้องจ่ายเงินรัชชูปการถึงคนละ 6 บาท