จับตา ‘คิม จอง อึน’ คุย ‘ปูติน’ แบบวิน-วิน?

ขบวนรถไฟกันกระสุนที่นำ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พร้อมคณะผู้ติดตามที่รวมถึงนายทหารระดับสูงของกองทัพประชาชนเกาหลี ออกเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเปียงยาง ได้เข้าสู่ดินแดนทางฟากตะวันออกไกลของประเทศรัสเซียเป็นที่เรียบร้อย เพื่อจะพบปะพูดคุยกับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ณ วอสทอชนี คอสโมโดรม ท่าอวกาศยาน ที่เป็นฐานปล่อยจรวดสู่อวกาศของรัสเซีย

การเดินทางไกลโดยทางรถไฟที่มีการคุ้มกันความปลอดภัยอย่างเข้มข้นแน่นหนาครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางออกนอกเขตแดนเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกของคิม จอง อึน นับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

โดยที่ทริปออกนอกประเทศครั้งล่าสุดของคิม จอง อึน ก็ยังเป็นการเดินทางไปรัสเซียเพื่อพบกับปูตินเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน คือในเดือนเมษายนปี 2019 หรือ 2 เดือนหลังจากการทูตนิวเคลียร์ที่มีเดิมพันสูงระหว่างคิม จอง อึน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น พังทลายลงอย่างไม่เป็นท่า

แต่การจะพบปะพูดคุยกันครั้งนี้ระหว่างคิม จอง อึน กับปูติน ซึ่งต่างตกที่นั่งเดียวกันของการเป็นผู้นำที่ถูกโดดเดี่ยวจากนานาประเทศเป็นส่วนใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ กำลังดึงดูดสายตาจากประชาคมโลกว่าจะก่อผลให้เกิดความร่วมมือใดระหว่างสองชาติขึ้นตามมา ที่เป็นความสมประโยชน์ของรัสเซียกับเกาหลีเหนือเอง

แต่อาจเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพความมั่นคงและสันติสุขของโลก

 

หนึ่งในประเด็นที่เป็นจับตาคือความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารของสองชาติ ที่สหรัฐอเมริกาออกมาเตือนว่าอาจมีการทำความตกลงด้านอาวุธ ที่รัสเซียต้องการให้เกาหลีเหนือขายอาวุธให้กับตนเอง เพื่อเติมคลังแสงที่หร่อยหรอลงไปจากการทำสงครามรุกรานยูเครน ในขณะที่รัสเซียกำลังเสียรังวัดจากการถูกยูเครนตอบโต้โจมตีกลับอยู่ในเวลานี้

ผู้เชี่ยวชาญอย่างคิม แท อู อดีตหัวหน้าสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ ในกรุงโซล ชี้ว่าการเดินทางไปเยือนเปียงยางก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ของเซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของรัสเซียที่ไปเยือนเกาหลีเหนือนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และปูทางมาสู่การเยือนรัสเซียในครั้งนี้ของคิม จอง อึน สะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียมีความต้องการแหล่งป้อนอาวุธให้กับตนเองมากเพียงไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว รัฐมนตรีกลาโหมที่ทรงอิทธิพลของประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามจะมาประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีเหนือได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์อีกรายจากสถาบันศึกษานโยบายอาซานในโซล มีข้อกังขาว่าแม้เกาหลีเหนือมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย

แต่การจะส่งอาวุธจำนวนมากไปยังรัสเซียได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ ยังน่าสงสัย เนื่องจากการเชื่อมโยงทางบกระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียสามารถดำเนินการได้เพียงการขนส่งทางรางที่มีขีดจำกัดเท่านั้น

 

ในส่วนของเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าต้องการความสนับสนุนด้านอาหารและพลังงาน ตลอดจนการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านอาวุธที่มีความซับซ้อนจากรัสเซียเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการพบปะกันของคิม จอง อึน กับปูติน จะเป็นความตกลงแบบวิน-วินของทั้งสองฝ่าย โดยในขณะที่ปูตินกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากในการจัดหาอาวุธมาเติมคลังแสงของตนที่เหือดแห้งลง ก็จะได้เกาหลีเหนือเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ โดยรัสเซียอยากได้กระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธต่อต้านรถถังจากเกาหลีเหนือ

ขณะที่คิม จอง อึน เองก็กำลังเผชิญความกดดันจากกลุ่ม 3 ประสาน “เกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น” ที่แผ่ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมุ่งรับมือภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ ดังนั้น การจับมือกระชับความร่วมมือกับรัสเซียที่แนบแน่นยิ่งขึ้นของเกาหลีเหนือ จึงเป็นการหาพวกและแสดงความท้าทายอีกทางหนึ่งในการต่อกรกับสหรัฐ

นอกเหนือจากที่เกาหลีเหนือต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารและพลังงานจากรัสเซีย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนปัจจัยดำรงชีวิตที่จำเป็นดังกล่าวในประเทศแล้ว เกาหลีเหนือยังต้องการทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีในการพัฒนอาวุธที่ซับซ้อนจากรัสเซีย เพื่อนำมาสนับสนุนระบบอาวุธเทคโนโลยีชั้นสูงที่เกาหลีเหนือต้องการพัฒนา เช่น ระบบขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียง เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และดาวเทียมสอดแนม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้ว่าประเด็นหารือที่อยู่บนโต๊ะเจรจาระหว่างคิม จอง อึน กับปูติน จะเป็นไปอย่างที่มีการคาดการณ์ หรือผลของการพูดคุยทำความตกลงกันอันใดจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ ต้องติดตามรายงานข่าวเจาะเบื้องลึกกันต่อไป