ฐานแห่ง ‘ช่อฟ้า’ ฐานแห่ง ‘3 กุมารสยาม’ หนุ่มเหน้า สาวสวย

บทความพิเศษ

 

ฐานแห่ง ‘ช่อฟ้า’

ฐานแห่ง ‘3 กุมารสยาม’

หนุ่มเหน้า สาวสวย

 

อาจกล่าวได้ว่า หนังสือ “ช่อฟ้า” เป็นหลักหมายหลักแรกที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เหยียบต่อจากที่เคยสะสมเมื่อฝึกปรือวิทยายุทธ์จากสำนัก “วังท่าพระ”

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ครูที่มี “คุณูปการ” เป็นอย่างสูงให้กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ 1 คือ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และ 1 คือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

ไม่เพียงให้โอกาสทาง “วิชาการ” หากแต่ยังให้โอกาสได้ทำ “หนังสือ”

เป็นหนังสือรายคาบออกกันเองภายในคณะ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการ”

เรียกตามศัพท์แสงว่า “บรรณกร” หรือ “สาราณียกร”

การทะยานออกจาก “หนังสือ” ภายในคณะไปยังนิตยสาร “ช่อฟ้า” จึงเป็นเหมือน กระดานหกอย่างสำคัญในชีวิต

เพราะเป็นการก่อรูปขึ้นของ “3 กุมารสยาม” อย่างเป็นจริง

 

ต่อยอด “ขุนเดช”

พรมแดน “เรื่องสั้น”

ต้องยอมรับว่าปัจจัยจากการเป็นนักศึกษาโบราณคดีเป็นเงื่อนไขให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

ทั้งจากการอ่าน “หนังสือ” และลงไป “ปฏิบัติ” ด้วยการขุดแต่ง

จากการอ่านหนังสือกลายเป็น “พื้นฐาน” นำไปสู่การเขียน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกวีนิพนธ์และบทความ

จากการลงไป “ปฏิบัติ” ทำให้ความรู้ลงลึกและที่สำคัญคือการได้พบ “ผู้คน”

เป็นผู้คนในแวดวง “โบราณคดี” เกี่ยวเนื่องอยู่กับ “โบราณสถาน” และนั่นรวมไปถึง “อามหา” จิระเดช ไวยโกสิทธิ์

อันเป็น “บุคคล” ซึ่งเป็น “แรงดาลใจ” ให้เขียนถึง “ขุนเดช”

จำเป็นต้อง “ย้อน” ไปทบทวนไปอ่านข้อเขียน “ขุน(จิระ)เดช : ผู้เป็นขุนสุโขทัยในสยาม” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อีกครั้งหนึ่ง

เลือกตอนที่สัมพันธ์กับ “ช่อฟ้า”

 

ขรรค์ชัย บุนปาน

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เรื่องฆ่าคนร้ายขุดกรุสุโขทัยด้วยงูเห่านี้จะจริงหรือเท็จก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่ “อามหา” เล่าให้ผมฟังจากปากของท่านเองซ้ำซากหลายครั้งหลายหน

เมื่อกลับกรุงเทพฯ หลังจากเสร็จการสำรวจและศึกษา

ผมนำความเหล่านี้ไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนที่เพิ่งจะเริ่มเขียนกลอนด้วยกันในตอนนั้นก็มีเพียง 2 คน

คือ ไอ้ช้าง-ขรรค์ชัย บุนปน และ ไอ้ปั๋ง-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ยามนั้น “ไอ้ปั๋ง” ทำหนังสือ “ช่อฟ้า” รายเดือนของวัดมหาธาตุ ไอ้ปั๋งก็ยุให้ผมเขียนเรื่องสั้นทันทีเพราะมันเป็นคนพิจารณาเรื่องสั้นเอง แต่ผมยังไม่เคยเขียนเป็นเรื่องเป็นราว

เพราะหนักไปทางเขียนกลอน

เมื่อเขียนเสร็จก็ตั้งชื่อเรื่องว่า “คนบาป” แล้วก็ยื่นต้นฉบับให้ไอ้ปั๋งอย่างอายๆ เพราะเพียงแต่อยากเขียนเท่านั้น

ไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนหนังสือได้ดี

“มึงจะเอาไปไหนก็ตามใจ ถ้าหากมึงอ่านแล้วคิดว่าใช้ได้ก็ลองแอบส่งให้ช่อฟ้าด้วยก็แล้วกัน

แต่มึงต้องดูก่อนนะ ไอ้ปั๋ง”

 

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บรรณาธิการ

ถามว่า “ความหมาย” ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ สะท้อนออกในแต่ละถ้อยคำ “หมายความ” ว่าอย่างไร

1 หมายความว่ามอบให้ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ทำหน้าที่ “บรรณาธิการ”

1 หมายความว่าระหว่าง เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความผูกพันอยู่กับ “ช่อฟ้า” อย่างแนบแน่น

เป็นจริง

ที่ต้องรู้ไว้ร่วมกันก็คือ นิตยสาร “ช่อฟ้า” อันจดทะเบียนเป็นเจ้าของโดยมูลนิธิอภิธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

มี สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็น บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา

หากดูจาก “นามสกุล” ระหว่าง สำราญ กับ เรืองชัย ก็ย่อมรู้ว่า 2 คนนี้มีความสัมพันธ์กัน

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เรียก สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ว่า “น้าราญ”

โดยชื่อที่ปรากฏในกองบรรณาธิการ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยบรรณาธิการ”

เขานี่แหละที่ดึง สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เข้าไปร่วม

 

มูลนิธิ อภิธรรม

สำราญ ทรัพย์นิรันดร์

แรกทีเดียว “ช่อฟ้า” ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน 1 อันถือเป็นด้านหลักคือเนื้อหาทางด้านอภิธรรม ทางด้านการปฏิบัติ

ที่แทรกเข้าไปคือ เนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี

และต่อมา “3 กุมารสยาม” ได้มีส่วนในการเติมเซ็กชั่นวรรณกรรมเข้าไปอย่างมีชีวิตชีวา

เห็นได้จากเรื่องของ “หลวงเมือง” เห็นได้จากเรื่องของ “กระจกฝ้า”

ขณะเดียวกัน สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็นำบทความวิชาการจาก ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล มานิต วัลลิโภดม ศรีศักร วัลลิโภดม เข้ามา

จากนั้น ค่อยขยายไปยัง ณรงค์ จันทร์เรือง สุชาติ สวัสดิ์ศรี

จาก “หลวงเมือง” นั้นเองนำ สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าไปยังโลกกว้างแห่งวงการสื่อสารยุคใหม่

ไม่เพียงแต่ด้วยการเขียนหนังสือ หากแต่ยังเคยออก “วิทยุ”

เนื่องจาก “หลวงเมือง” นอกจากมีรายการ “ข่าวสะบัด” อันลือเลื่อง ยังสัมพันธ์กับ พ.อ.เล็ก สุนทรศร และ ร.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

2 คนนี้ได้รับผิดชอบให้บริหารสถานีวิทยุ “ยานเกราะ”

 

ฐานที่มั่น วรรณกรรม

สุจิตต์ วงษ์เทศ

หนังสือ “ช่อฟ้า” จึงได้กลายเป็นเหมือนกับ “ฐานที่มั่น” อย่างสำคัญให้กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่ว่าในทางวรรณกรรม ไม่ว่าในทางสื่อสารมวลชน

ที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ลงความเห็น

“เขาเริ่มทำงานจริงจังโดยเริ่มเป็นผู้ช่วย ‘หลวงเมือง’ (สำราญ ทรัพย์นิรันดร์) ทำหนังสือ ‘ช่อฟ้า’ ซึ่งกลายเป็นหนังสือชั้นดีและคลาสสิกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี” นั้น

ถูกต้องอย่างยิ่ง

แต่ที่เป็นจริงมากยิ่งกว่านั้นก็คือ “ช่อฟ้า” ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของคนเขียนหนังสือรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็น ณรงค์ จันทร์เรือง ไม่ว่าจะเป็น มนัส สัตยารักษ์

นอกจากนั้น ยังเป็นสนามแม่เหล็กอย่างสำคัญในการฝึกปรือวิทยายุทธ์ของศิลปินทางด้านทำปกหนังสือ เขียนภาพประกอบ

ไม่ว่าจะเป็น ช่วง มูลพินิจ ไม่ว่าจะเป็น พิจารณ์ ตังคไพศาล

ต้องยอมรับว่า ช่วง มูลพินิจ เริ่มเขียนลายเส้นในเชิง “ภาพประดับ” ที่ “ช่อฟ้า” และต่อมาที่ “สยามสมัย” ยุค ส.ศิวรักษ์

ก่อนจะขึ้นทำเนียบของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

 

รากฐาน ก่อเกิด

หนุ่มเหน้า สาวสวย

จาก “ช่อฟ้า” นั้นเองได้นำไปสู่การร่วมกันจัดทำหนังสือรวมเรื่องสั้นอันเป็นศูนย์รวมงานเขียนและงานฝีมือของ “คนรุ่นใหม่”

ไม่ว่าในเชิง “เรื่องสั้น” ไม่ว่าในเชิง “ภาพประดับ”

และต่อมาก็ประเดิมผ่านหนังสือ “ลอยหลังสินธุ์” อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประกาศนาม “หนุ่มเหน้าสาวสวย”

อันเท่ากับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นแกนหลัก ก่อนที่จะเกิดกลุ่มในทางวรรณกรรมไม่ว่าจะเป็น “พระจันทร์เสี้ยว” แห่งท่าพระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็น “ศิถี” แห่งสามย่าน

หากไม่มี “ช่อฟ้า” ก็คงไม่มี “หนุ่มเหน้าสาวสวย”

นี่ย่อมสะท้อนปรากฏการณ์แห่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บานปาน นี่ย่อมสะท้อนปรากฏการณ์แห่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี วิทยากร เชียงกูล

นี่คือการก่อหวอด คือการรวมกลุ่มในทาง “วรรณกรรม”