จาก ‘หางมังกร’ สู่ ‘หางม้าแดงพิสดาร’ มุมมองเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับทอร์นาโด

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

Multiverse | www.facebook.com/buncha2509

 

จาก ‘หางมังกร’ สู่ ‘หางม้าแดงพิสดาร’

มุมมองเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับทอร์นาโด

 

ฝรั่งบันทึกเหตุการณ์ทอร์นาโดไว้เป็นภาพนานอย่างน้อยกว่าสี่ร้อยปีแล้ว ภาพแรกๆ ของยุโรป (และน่าจะเป็นภาพแรกๆ ของโลกด้วย) แสดงเหตุการณ์ที่เกิดที่เมืองเอาส์บวร์ก (Augsburg) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1578 ช่วงเวลาราวเที่ยงถึงบ่ายโมง ในปัจจุบันเมืองนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี

คำบรรยายภาพส่วนหนึ่งระบุว่า “ในปี 1587 วันที่ 2 กรกฎาคม ระหว่าง 12 กับ 1 นาฬิกาในช่วงบ่าย เมฆก้อนสูงใหญ่มหึมาก่อตัวขึ้นราวกันว่าพายุใหญ่ที่มีทั้งลูกเห็บ ฟ้าร้องฟ้าผ่า ใกล้จะเริ่มถล่ม เมฆที่เกิดขึ้นดูเลวร้ายน่าสะพรึงกลัว มีรูปร่างเหมือนหางมังกร ตอนแรกยื่นลงมาทางขวา จากนั้นก็ม้วนไปทางด้านซ้าย และมีปลายด้านล่างเล็กแหลม (พายุทอร์นาโดลูกนี้) คงตัวอยู่ในแนวดิ่งเกือบครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็ค่อยๆ สลายไป”

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเรียก “เมฆหางมังกร” หรืองวงเมฆที่ยื่นลงมา แต่ยังไม่แตะพื้นว่า เมฆรูปกรวย (funnel cloud) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ทูบา (tuba) ในช่วงนี้ยังไม่ถือว่าเกิดพายุทอร์นาโด

แต่หากปลายด้านล่างของกรวย หรือหางมังกรแตะพื้นเมื่อใด ก็จะถือว่าทั้งงวงคือพายุทอร์นาโดอย่างเป็นทางการ แต่หากเมฆรูปกรวยหดกลับขึ้นไปข้างบนก่อนแตะพื้น ในกรณีเช่นนี้จะไม่ถือว่าเกิดทอร์นาโดนะครับ

มีแง่มุมน่าเปรียบเทียบว่า ในภาษาจีนเรียกพายุทอร์นาโดว่า หลงเจวี่ยนเฟิง (龍捲風) ตัวอักษรแรก “หลง” คือ มังกร ตัวอักษรกลาง “เจวี่ยน” แปลว่า “ม้วน” และตัวอักษรสุดท้าย “เฟิง” คือ ลม รวมความแล้วแปลแบบว่า “ลมมังกรม้วนตัว” นั่นเอง

พูดง่ายๆ คือ คนยุโรปสมัยก่อนราวกว่า 400 ปีก่อน มองว่าลำงวงของทอร์นาโดคล้ายกับ “หางมังกร” ส่วนคนจีนก็มองว่าลำงวงของทอร์นาโดเปรียบได้กับ “มังกรม้วนตัว” นั่นเอง

เมฆ “หางมังกร” ก่อนแตะพื้นกลายเป็นทอร์นาโด
ที่มา : http://bogdanantonescu.squarespace.com/gallery/

ถึงตรงนี้มีแง่มุมชวนคิดต่อว่าสำหรับทอร์นาโดที่เกิดขึ้นเหนือพื้นน้ำนั้น แม้คนไทยในปัจจุบันจะนิยมเรียกว่า “พายุงวงช้าง” แต่คำโบราณที่ใช้กันคือ “นาคเล่นน้ำ”

หนังสือแสดงกิจจานุกิจ เขียนโดยเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี ขุนนางนักปราชญ์ชาวสยาม มีข้อความว่า (โปรดสังเกตว่าผมใช้ตัวสะกดตามต้นฉบับซึ่งเป็นภาษาไทยโบราณ เช่น คำว่า บันดาน เปน เหน และทเล)

“คำที่ว่านาคเล่นน้ำบันดานให้ฝนตก จะเล่นจริงฤๅไม่จริงก็ไม่มีผู้ใดเหนเปนพยาน ข้างจีนว่าฝนตกเพราะเทวดาให้ตก อย่างหนึ่งเพราะมังกรสำแดงฤทธิ์สูบน้ำทเลขึ้นไปเปนฝน น้ำทเลที่เค็มถูกฤทธิ์มังกรเข้าก็กลับเปนน้ำจืดไป เพราะเขาได้เห็นที่ท้องทเลมีลมจำพวกหนึ่งดูดเอาน้ำเปนสายขึ้นไปบนอากาศ แล้วก็เกิดเมฆฝน เขาก็สำคัญว่าเปนมังกรสูบน้ำขึ้นไป การอันนี้จะจริงฤๅไม่จริงก็ไม่มีพยาน เปนแต่เหนด้วยจักษุดั่งนั้น…” (หน้า 39-40 ในฉบับที่ตีพิมพ์โดยบริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด พิมพ์ครั้งที่แรก กรกฎาคม 2564)

และอีกที่หนึ่งระบุว่า

“ถามว่า มังกรสูบน้ำในทเลขึ้นไปเปนฝนนั้น คำนักปราชว่าฝนที่เกิดขึ้นเหมือนเครื่องกลั่น ก็ของเหนปรากฎอยู่กับตา ว่าน้ำเปนลำเปนสายขึ้นจากทเลไปบนอากาศแล้วเกิดเปนเมฆฝนมากขึ้น ลมก็หอบเมฆนั้นไปตกเปนฝน เหนเปนสายๆ ลงมา” (หน้า 42 ในฉบับที่ตีพิมพ์โดยบริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด)

ข้อความทั้งสองแห่งนี้แสดงว่าท่านผู้แต่งหนังสือ คือเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีรู้จัก “พายุงวงช้าง” หรือ “นาคเล่นน้ำ” แล้ว อย่างน้อยก่อนปี พ.ศ.2410 ซึ่งเป็นปีที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรก แถมท่านยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเหนือนาคเล่นน้ำเป็นเมฆฝน (ซึ่งตรงกับวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน) นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลไว้ด้วยว่านาคเล่นน้ำในมุมมองของจีนเกิดจากมังกรสูบน้ำในทะเลขึ้นไปอีกด้วย

เป็นไปได้ด้วยว่าน่าจะมีชาวสยามในช่วงเวลานั้นอีกจำนวนหนึ่ง (เช่น ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ หรือผู้ที่ได้สนทนากับท่านผู้แต่งหนังสือ) ทราบเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ปฏิทินซิลเวอร์ฮอร์น ปี ค.ศ.1904-1905-1906
ที่มา : https://samnoblemuseum.ou.edu/collections-and-research/ethnology/silver-horn-calendar/

คราวนี้ลองไปยังดินแดนอเมริกากันบ้าง มีชาวอินเดียนแดงเผ่าหนึ่ง ชื่อ เผ่าไคโอวา (Kiowa) ซึ่งมี “ปฏิทิน” ที่น่าสนใจมากๆ ชุดหนึ่งเรียกว่า ปฏิทินซิลเวอร์ฮอร์น (Silver Horn Calendar)

ปฏิทินตั้งชื่อตามศิลปินชาวไคโอวาชื่อ ซิลเวอร์ ฮอร์น (Silver Horn) หรือ คุณ ‘เขาเงิน’ ผู้สร้างสรรค์และเก็บรักษาปฏิทินชุดนี้

ปฏิทินซิลเวอร์ฮอร์นแสดงภาพรายปี ตั้งแต่ ค.ศ.1828 ถึงช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ.1928-1929 โดยแต่ละปีมีภาพวาด 2 ภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญเอาไว้ ภาพหนึ่งสำหรับฤดูร้อน อีกภาพสำหรับฤดูหนาว

ภาพที่วาดไว้สำหรับแต่ละปีจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้อาวุโสในเผ่าก่อน จากนั้นจะให้ผู้วาดภาพเก็บรักษาไว้ โดยภาพวาดแรกจะบันทึกบนหนังสัตว์หรือผืนผ้า จากนั้นจะทำสำเนาเก็บไว้สมุดบัญชีอีกที

ซิลเวอร์ฮอร์นเกิดในปี ค.ศ.1860 และเสียชีวิตในปี ค.ศ.1940 พ่อและพี่ชายของเขาต่างก็เป็นผู้เก็บบันทึกปฏิทิน เขาเป็นศิลปินที่มีผลงานจำนวนมาก และวาดภาพบันทึกประวัติศาสตร์ของเผ่าไคโอวาและพิธีกรรมต่างๆ เอาไว้หลายร้อยภาพจวบจนสิ้นชีวิต

ปฏิทินซิลเวอร์ฮอร์นชุดนี้ปัจจุบันเก็บรักษาที่ Sam Noble Oklahoma Museum of Natural History ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยโอกลาโฮมา โดยมีแคนเดซ กรีน (Candace Greene) นักชาติพันธุ์วิทยาแห่งสถาบันสมิธโซเนียนเป็นผู้เขียนคำบรรยายภาพ

 

ภาพที่ผมนำมาฝากคือ ปฏิทินซิลเวอร์ฮอร์น ปี ค.ศ.1904-1905-1906 ปีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทอร์นาโดก็คือภาพกลาง ซึ่งแสดงฤดูร้อนของปี ค.ศ.1905 เรียกภาพนี้ว่า Great Cyclone Summer หรือฤดูร้อนซึ่งมีพายุไซโคลนครั้งยิ่งใหญ่ (คำว่า ไซโคลนในที่นี้หมายถึงพายุทอร์นาโด) เนื่องจากเป็นภาพแสดงหายนะที่เกิดจากทอร์นาโดทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน คือ คนหัวขาดและบ้านเรือนพังทลาย

พายุทอร์นาโดเกิดจากอะไรตามความเชื่อของชนพื้นเมืองเผ่าไคโอวา?

พวกเขาเชื่อว่าพายุนี้เกิดจาก ม้าแดงผู้สร้างพายุ (Storm-Maker Red Horse) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ ม้าแดงที่ว่านี้มีส่วนบนเป็นม้าแต่มีส่วนล่างเป็นหางยาวคล้ายงู หางนี้ตวัดไปมาและทำให้เกิดพายุทอร์นาโดนั่นเอง

ในปีถัดมาคือช่องสุดท้ายทางขวา เจ้าม้าแดงผู้สร้างพายุก็แผลงฤทธิ์อีกครั้งในช่วงฤดูหนาว โดยภาพนี้นักวิชาการตั้งชื่อว่า Red Horse Winter หรือ ฤดูหนาวม้าแดง

แม้ว่าคำอธิบายของผู้คนในวัฒนธรรมต่างๆ ในยุคโบราณจะไม่สอดคล้องกับคำอธิบายของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ประเด็นสำคัญกว่าก็คือ การบันทึกภาพและข้อมูลเอาไว้อย่างละเอียดประณีต ย่อมเป็นพื้นฐานในการสร้างและต่อยอดความรู้ของมนุษยชาติโดยรวมในระยะยาวครับ