ลุ้นระบบรองรับ ‘ผู้สูงวัย’

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ลุ้นระบบรองรับ ‘ผู้สูงวัย’

 

อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเป็นวันสิ้นเดือนกันยายนอีกครั้งหนึ่งแล้ว นั่นหมายความว่าในวันรุ่งขึ้นจะมีข้าราชการจำนวนหนึ่งปลี่ยนฐานะจากข้าราชการที่ต้องออกไปทำงานทุกวัน เปลี่ยนมาเป็นข้าราชการเกษียณอายุ นั่งกินบำเหน็จหรือบำนาญอยู่กับบ้าน

ขณะเดียวกันกับที่คนที่ทำงานในภาคเอกชน การเกษียณอายุไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะเป็นวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 1 ตุลาคม บางบริษัทบอกว่าให้เกษียณอายุตรงกับวันเกิดของแต่ละคน บางบริษัทอาจกำหนดให้เกษียณอายุตอนสิ้นปีคือวันที่ 31 ธันวาคม สุดแท้แต่จะกำหนดให้เป็นไปตามความเหมาะสมหรือตามเหตุผลของแต่ละหน่วยงาน

แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าไม่ใช่กิจการที่เราเป็นเจ้าของเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างของภาครัฐหรือลูกจ้างของภาคเอกชน โดยหลักแล้วเขาต้องมีการเกษียณอายุ คือกำหนดเพดานอายุขั้นสูงว่าจะให้ทำงานอยู่จนถึงอายุเท่านั้นเท่านี้

จากนั้นก็ต้องกลับไปพักผ่อนอยู่กับบ้านแล้ว

 

ถ้าองค์กรใดไม่มีการเกษียณอายุเลย ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือผู้บริหารก็จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ ขณะเดียวกันกับเด็กก็จะเจริญเติบโตช้า ผู้อ่อนอาวุโสบางรายถอดใจหนีออกจากองค์กรไปอยู่ที่อื่นดีกว่า

ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าคนแก่จะกลายเป็นกองขยะ ใช้การไม่ได้เสียทั้งหมด และพร้อมกันนั้น ผมก็ไม่ได้หมายความว่าคนหนุ่มคนสาวจะต้องดีกว่าคนแก่เสมอไป

แต่เราต้องพูดถึงธรรมชาติของโลกมนุษย์ว่า มนุษย์สองกลุ่มที่ต่างวัยนี้ ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยไปคนละอย่าง

คนสูงอายุ (ซึ่งหมายความรวมถึงผมด้วยเป็นธรรมดา) จะมีประสบการณ์มาก มีความรอบคอบในการตัดสินใจ แต่ความหมายในอีกมุมหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่อยากเสี่ยงทำอะไรที่ต้องเป็นความเปลี่ยนแปลง พอใจกับการรักษาสถานภาพเดิม ชะดีชะร้ายจะเห็นว่าคนหนุ่มสาวเป็นภัยคุกคามความมั่นคงเสียด้วยซ้ำ

ฟังดูเหมือนสมาชิกวุฒิสภาอย่างไรก็ไม่รู้ ฮา!

ส่วนคนหนุ่มคนสาว (ซึ่งครั้งหนึ่งนานมาแล้วผมก็เคยเป็น) โดยเฉลี่ยแล้วจะมีความรู้ที่ทันสมัย ตามทันโลก แต่อ่อนประสบการณ์ คิดอ่านตัดสินใจอะไรก็อาจจะมุทะลุอยู่สักหน่อย แต่ก็ทำในความปรารถนาดีอยู่เสมอ ไม่อืดอาจเป็นเรือเกลือ

ทั้งหมดนี้แหละครับที่เราต้องนำมาประมวลเข้าด้วยกันแล้วจัดเข้าเป็นระบบงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนที่มีความเหมาะสม

 

ผมยกตัวอย่างเช่น ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ถ้าให้ผมเลือกได้ตามใจปรารถนาแล้ว ผู้นำหมายเลขหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือตำแหน่งที่เรียกว่าอธิการบดี ผมอยากได้คนอายุประมาณสัก 50 ถึง 60 ปี ถ้าจะต่อรองกันหน่อยแล้วยืดอายุออกไปจนถึง 65 ปีผมก็พอยอมรับได้ แต่ถ้าเกินนี้ไปแล้วผมนึกว่ามหาวิทยาลัยของเราคงจะหงำเหงือกน่าดู

นี่ผมว่าโดยค่าเฉลี่ยนะครับ

ผู้ใหญ่บางท่านอายุเกิน 65 ปีแล้วยังก้าวทันโลกก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ใครจะรับประกันได้ว่าเราจะได้คนชนิดนั้นมาเป็นอธิการบดี

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพูดถึงการทำงานในมหาวิทยาลัยสำหรับแผนกอื่นหรือหน้าที่อื่น เช่น เป็นนักวิจัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นคนสอนหนังสือในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ข้อจำกัดในเรื่องอายุดูจะไม่เป็นสาระสำคัญมากมายเท่าไหร่นัก เพราะความรู้และประสบการณ์ที่ท่านผู้อาวุโสสั่งสมมาตลอดชีวิตน่าจะยังเป็นประโยชน์อยู่สำหรับสายงานด้านนี้

เพราะเหตุนี้นี่เอง ระบบใหญ่ของประเทศ รวมไปจนถึงมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่สามารถตัดสินใจมีกฎกติกาของตัวเองได้ จึงมักจะกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องอายุไว้สอดคล้องกับข้ออภิปรายข้างต้นของผม

งานในสายงานวิชาการส่วนใหญ่แล้วมักมีเรื่องอายุประมาณนี้ เช่น ถ้าเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ จะสามารถดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารได้จนถึงอายุ 65 ปี

หลังจากนั้นไปแล้วเขาไม่ให้เป็นประธานศาลฎีกา อธิบดีศาล หรืออัยการสูงสุดแล้ว ถ้าหากยังมีเรี่ยวแรงจะทำงานต่อก็ต้องไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสหรืออัยการอาวุโส นั่งอ่านแฟ้มตัดสินคดีอย่างเดียว นั่งบัลลังก์ยังไม่ค่อยอยากให้ไปนั่งเลยครับ

เดี๋ยวไปนอนกรนอยู่บนบัลลังก์เสียเปล่าๆ

แต่ถ้าเป็นสายงานที่ต้องใช้เรี่ยวแรงหรือการตัดสินใจแบบปุบปับฉับไว เช่น ทหารหรือตำรวจ อย่าได้คิดไปต่ออายุเข้าเชียวครับ อายุครบ 60 ปี ก็ไปเลี้ยงหลานได้แล้ว วัยนี้หลานกำลังน่ารักน่าชังทีเดียว

 

ที่ผมเปรียบเทียบมาอย่างนี้ไม่ใช่จะคิดลำเอียงหรืออคติสำหรับวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง

เราพูดเป็นหลักกลางๆ ครับว่า อาชีพที่ใช้สติปัญญา ใช้วิชาการ ใช้ประสบการณ์ อาจจะยืดอายุการทำงานออกไปได้ยาวไกลกว่าอาชีพที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ใช้ร่างกายสิ้นเปลืองมาตั้งแต่วัยหนุ่ม หน้าที่การงานก็ต้องการความปราดเปรียว ไม่ใช่ความสุขุมคัมภีรภาพ

พูดแบบนี้เห็นก็พอรับหลักการได้และไม่ต้องขับรถทัวร์มาลงผมนะครับ

ข้อที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการเกษียณอายุเมื่อตอนอายุเท่าไหร่ เพื่อการเตรียมตัวว่าเกษียณอายุแล้วจะทำอะไร

ยิ่งสมัยนี้เป็นสังคมผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยกว่าจะไปนอนเล่นให้คนรดน้ำได้ก็ปาเข้าไป 80 ปีโน่น

ผมเป็นคนชอบอ่านเอกสารเก่า ผู้ใหญ่สมัยคุณปู่คุณตาผมใครอายุรอดไปถึง 60 ปีนี่นับว่ามีบุญนักหนาแล้ว

คุณปู่ผมเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย รับราชการตั้งแต่รัชกาลที่ห้ามาจนถึงรัชกาลที่เจ็ด แต่ละวันต้องขี่ช้างขี่ม้ายกขบวนเกวียนไปโน่นมานี่มิได้ขาด ตอนท่านเสียชีวิต ท่านอายุเพียงแค่ 50 ปีเศษเท่านั้น

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งนะครับที่สมัยโบราณเมื่อใครก็ตามอายุถึง 60 ปีบริบูรณ์จึงต้องร้องไชโยโห่ฮิ้วและจัดงานฉลองเป็นการใหญ่ เพราะน้อยรายเหลือเกินที่จะมีอายุถึงขนาดนั้น

ตกมาถึงสมัยนี้ อายุ 60 ปีนี่ยังแข็งแรงอยู่มาก อายุ 80 ปีก็ไม่ใช่ของแปลก

ต้องอายุ 100 ปีจึงจะเก๋ครับ

นั่นก็หมายความว่าเกษียณอายุด้วยค่าเฉลี่ย 60 ปีแล้ว ยังเหลือเวลาอีกอย่างน้อย 20 ปีบนโลกมนุษย์ใบนี้

 

ถ้าเป็นคนที่มีบำนาญกินอย่างผม เจ็บไข้ก็เข้าโรงพยาบาลของหลวง กินอยู่อย่าให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมมากนัก ไม่มีหนี้สินติดตัว แบบนี้ถึงจะอายุยืนหน่อยก็เห็นจะพออยู่ได้ไม่เดือดร้อนอะไร

แต่ความจริงที่เจ็บแสบก็คือ ผมเป็นประชากรข้างน้อยของประเทศนี้ คนที่อายุเกิน 60 ปีอีกจำนวนมากมายไม่มีเงินบำนาญ เงินเก็บมีน้อย แทบไม่มีหรือไม่มีเลย เจ็บไข้อย่างเก่งก็ได้ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค หนี้สินมีติดตัวทั้งในระบบและนอกระบบ จนชั้นแต่หลังคาบ้านจะคุ้มหัวให้นอนหลับสนิทยังไม่มีเลยครับ

ผมจึงสังเกตเห็นว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการพูดถึงประเด็นทำนองนี้มากขึ้น นั่นคือ การพูดถึงรัฐสวัสดิการ เบี้ยผู้สูงอายุ การประกันสังคม การมีอาชีพที่สอง การเพิ่มรายได้ของคนในวัยทำงานเพื่อที่จะได้มีเงินออมไว้ใช้ในระยะยาว ฯลฯ

ผมก็ได้แต่ลุ้นและเอาใจช่วย ขอให้ในเวลาไม่นานช้าเกินไปนัก ประเทศไทยของเราจะสามารถวางระบบอะไรต่อมิอะไรที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของคนสูงวัยที่มีเพิ่มขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันได้

ท่านนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้มีอายุเกิน 60 ปีแล้ว ท่านย่อมเห็นหัวอกคนวัยเดียวกันกับท่านและคนรุ่นพี่รุ่นลุงป้าน้าอาของท่านเป็นธรรมดาสิน่า

ระหว่างนี้ผมก็รอเงินดิจิทัล 10,000 บาทไปพลางก็แล้วกัน

พวกเราจงหายใจเข้าไว้เถิด