ฝันร้ายของอนาคตประเทศ : ตอบข้อกังวล ‘ฝันกลางวัน’ เรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ของ รมช.คลัง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ระบุว่า

“สวัสดิการถ้วนหน้า เราต้องตื่นจากความฝันและอยู่กับความเป็นจริง เนื่องจากจีดีพีของไทยต่ำกว่าประเทศที่ทำสวัสดิการถ้วนหน้ามาก ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่การจัดเก็บภาษียังไม่สามารถอยู่ในจุดที่เราจะทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริงๆ”

ความคิดของคุณจุลพันธ์ สะท้อนความคิดของกลุ่มชนชั้นนำในประเทศนี้ที่สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย

พวกเขาไม่เชื่อว่าเราสามารถมีจิตนาการถึงสังคมที่เสมอภาคมากขึ้นได้

ไม่สามารถคิดฝันถึงสังคมที่ผู้คนสามารถที่จะเสมอภาคกันในฐานะสิทธิ์ได้

พวกเขาเห็นแต่ความเป็นไปไม่ได้เมื่อพูดถึงชีวิตประชาชน หรือจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เชื่อตั้งแต่ต้นว่าคนควรเริ่มต้นอย่างเท่าเทียมกัน

พวกเขาไม่เชื่อว่าชีวิตของคนมีความสำคัญเป็นอันดับแรก สำคัญมากกว่าตัวเลขในไฟล์ตารางของรัฐมนตรี

 

แต่เพื่อความเป็นธรรมแก่คุณจุลพันธ์ ในช่วงหนึ่งปีก่อนการเลือกตั้ง เขาแสดงความเห็นสาธารณะในงานของภาคประชาชนหลายครั้งในเวทีรัฐสวัสดิการ ในฐานะตัวแทนทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย

เขาเป็นคนที่พูดอย่างชัดเจนมานานว่าเขาเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐสวัสดิการถ้วนหน้ามาตลอด ด้วยเหตุผลทางนโยบายและทางวิชาการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพิ่มสูง ก็จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 พรรคเพื่อไทยก็มักจะส่งตัวแทนที่มีปูมหลังเป็นนักกิจกรรม หรือนักวิชาการที่สนับสนุนจุดยืนด้านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้ามาให้ข้อมูลเชิงสนับสนุนในด้านนโยบาย

คุณจุลพันธ์ ซึ่งมีจุดยืนไปทางเสรีนิยมใหม่ (เน้นบทบาทของกลุ่มทุน และลดภาระด้านสวัสดิการ) ก็มักจะไม่ปรากฏตัวในงานเสวนาที่มีหัวข้อแนวลดความเหลื่อมล้ำ เพราะส่วนมากงานของภาคประชาชน ภาคแรงงาน ภาควิชาการก็จะมีจุดยืนไปทางสวัสดิการถ้วนหน้า

ขณะที่แนวหาเสียงของพรรคเพื่อไทยแม้จะไม่ได้รณรงค์เรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าในฐานะนโยบายหลัก แต่ก็ยืนยันเรื่องแนวนโยบายสวัสดิการต่างๆ มาตลอดไม่ขาดสาย

จนกระทั่งก่อนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จไม่กี่วันไม่กี่สัปดาห์ เสียงเรื่องรัฐสวัสดิการในพรรคเพื่อไทยจึงแผ่วไป

จนกระทั่งจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จเป็นหน้าตาผสมผสาน อนุรักษนิยมและเสรีนิยมอย่างที่ทุกท่านได้เห็นไป

 

คําถามคือเอาเฉพาะงบประมาณ เป็นเรื่องฝันกลางวันจริงหรือสำหรับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล 3 ล้านล้าน ++ ต่อปี

งบประมาณเงินโอน ดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ตกอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท เป็นการให้ใช้เพื่อการบริโภคอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งพิจารณาแล้วก็คือการรวมนโยบาย บัตรคนจน คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เงินเยียวยา ฯลฯ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านแอพพ์ “เป๋าตัง” มารวมกันเป็นชุดนโยบายเดียว

เงื่อนไขยังไม่ตายตัว แต่งบประมาณที่จ่ายเพิ่มกับนโยบายที่เคยมีมาถึง 4 แสนล้านบาท คงไม่พ้นจากนี้ คิดแล้วประมาณ 13% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี นับเป็นงบประมาณที่สูงกว่าสวัสดิการใดๆ ที่เคยมีมาในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประมาณ 200,000 ล้าน หรือเบี้ยผู้สูงอายุประมาณ 80,000 ล้านบาท

ถ้าเราปรับเงินเลี้ยงดูเด็กเล็กซึ่งปัจจุบันต้องให้คนต่อแถวพิสูจน์ความจน ปัจจุบันได้ 600 บาทต่อเดือน หากเราปรับเป็น 1,000 บาทต่อเดือน และขยายถึง 12 ปี มันจะเพียงพอต่อการรักษาชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาล ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพียง 92,449.00 ล้านบาท สำหรับเด็กประมาณ 9.7 ล้านคน เป็นแค่หนึ่งใน 4 ของนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย

เรียนมหาวิทยาลัยฟรีพร้อมค่าครองชีพคนไม่ต้องกู้ กยศ. ใช้งบประมาณ 161,000 ล้านบาทต่อปีสำหรับคนมากกว่า 1.5 ล้านคน

ยกระดับประกันสังคมถ้วนหน้า คนไทยทุกกันมีหลักประกันสังคมที่รัฐสมทบให้ ใช้งบประมาณ ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี

จะมีเพียงเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ที่อาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มใกล้เคียงกันอยู่ที่การเพิ่มงบประมาณลงไปประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี

 

งบประมาณสวัสดิการถ้วนหน้า มีประสิทธิภาพเรื่องตัวทวีคูณด้านความเสมอภาคดีกว่านโยบายระยะสั้น เพราะทำให้ประชาชนสามารถวางแผนได้

เด็กคนหนึ่งท้องอิ่มมีเงินค่ารถไปเรียน ก็สามารถลดโอกาสการตกออกจากระบบการศึกษา

เช่นเดียวกันกับงบประมาณด้านการศึกษาระดับสูง ที่ทำให้คนนับล้านเริ่มต้นชีวิตโดยไม่มีหนี้ การประกันสังคม หรือเงินบำนาญก็เป็นตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ ที่ดีกว่ามาตรการชั่วคราว เพราะประชาชนสามารถวางแผนการใช้เงินอย่างเป็นระบบ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่า “เงินถูกหวยแค่ครั้งเดียว”

และเมื่อเศรษฐกิจเติบโตผ่านการวางแผนในระดับปัจเจกชนสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือมูลค่าภาษีไม่ว่าจะเป็นเงินได้ และเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ตามมา จากสังคมที่ทุกคนปลอดภัย วางแผนและวิ่งตามความฝันได้

กล่าวอีกทางหนึ่งคือ “โลกไม่ได้มีแนวทางเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเติบโตโดยที่ประชาชนได้กินเนื้อไม่ใช่แค่เศษเนื้อ หรือนโยบายระยะสั้น

หากอ่านถึงจุดนี้ ทุกท่านพึงเห็นแล้วว่า เรื่อง “ฝันกลางวัน” รัฐสวัสดิการ ไม่ได้เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ เพราะเรื่องงบประมาณมันไม่ได้ห่างจากแนวนโยบายอื่นของรัฐบาล

แต่มันล้วนเป็นปัญหาในเชิง “ปรัชญา” กับการตั้งคำถามว่า “คุณเชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์ควรเท่ากัน ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากัน”