พระพุทธรูปศิลาสามองค์ เชิงฐานปทุมวดีเจดีย์ คือพระอมิตาภะพุทธเจ้า?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เคยสังเกตกันบ้างหรือไม่คะ เมื่อท่านได้ไปชม “สุวรรณเจดีย์” หรืออีกชื่อคือ “ปทุมวดีเจดีย์” ทรงปราสาทสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นแบบพีระมิด ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย

เจดีย์ก่ออิฐที่เคยมีพระพุทธรูปประทับยืนในซุ้มจระนำ 60 องค์ แต่ปัจจุบันสูญหายไปเกือบหมดแล้ว เจดีย์ที่มีหน้าตาคล้ายกับเจดีย์กู่กุฏิ (สุวรรณจังโกฏ) วัดจามเทวี แต่ขนาดย่อมกว่า

แล้วท่านเคยสงสัยไหม ว่าใครเอาพระพุทธรูปสามองค์มานั่งตากแดดตากลมที่ฐานเขียงชั้นล่างสุดด้านทิศใต้ของเจดีย์องค์นี้

พระพุทธรูปทั้งสาม มองเผินๆ แล้ว มักไม่มีใครให้ความสำคัญ ดูไม่น่าสนใจเอาเสียเลย เนื่องจากถูกพอกทับใหม่ด้วยปูนซีเมนต์ มีร่องรอยของความพยายามที่จะแปลงโฉม “พระหินสมัยหริภุญไชย” ที่ครั้งหนึ่งเคยไว้หนวดถมึงทึง หน้าตาทรงพลัง ถูกจับเขียนคิ้วเขียนตา เขียนขอบปาก เสริมดั้ง แต่งคางใหม่

ผลลัพธ์คือความขัดหูขัดตา เนื่องจากโครงสร้างเดิมดูบึกบึน เป็นหินแกรนิตเนื้อแกร่งสีแดงคล้ายผสมศิลาแลงซ่อนอยู่ด้านใน แต่มาถูกแปลงให้เป็นศิลปะยอง ดูอมยิ้มพริ้มเพราอ่อนหวาน

เราสามารถรับรู้ว่าพระพุทธรูปทั้งหมดได้รับการซ่อมแซม เนื่องจากมีการเขียนจารึกใหม่ที่ฐานพระทั้งสามองค์เป็นอักษรธัมม์ล้านนา ด้วยภาษายองกำกับไว้

พระหินองค์ใหญ่สององค์ขนาดใกล้เคียงกัน จัดวางไว้ที่มุมฐานเขียงของเจดีย์ปทุมวดีทั้งสองมุม เขียนข้อความเหมือนกันว่า

“เจ้าคุณพระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และเจ้าน้อยประพันธ์ กาญจนกามล เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 50 รูปมาบำเพ็ญปริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2478”

ส่วนองค์กลาง ขนาดย่อมสุดเขียนคำจารึกที่ฐานว่าซ่อมหลังจากสององค์แรก 5 ปี

“เจ้าคุณพระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 25 รูป บำเพ็ญบริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์สำเร็จและฉลองเมื่อ 29 ธันวาคม 2483”

กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยทั้งสามองค์นี้ ถูกบูรณะฉาบปูนใหม่ที่ผิวด้านนอกในช่วงไม่เกิน 80-90 ปีที่ผ่านมานี้เอง จากจารึกทำให้เรารู้ว่าเดิมพระทั้งสามองค์เคยประดิษฐาน ณ วัดดอนแก้ว

น่าหดหู่ใจทีเดียว ที่ปัจจุบันวัดดอนแก้วกลายสภาพเป็นโรงเรียนบ้านเวียงยอง ไม่เหลือเค้าแห่งความเป็นวัดที่ยิ่งใหญ่เก่าแก่มากตั้งแต่สมัยหริภุญไชยอีกเลย

ส่วนในแวดวงนักวิชาการด้านโบราณคดีก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้สะท้อนถึงการรับอิทธิพลพุทธศิลปะอินเดียแบบคุปตะของช่างชาวหริภุญไชย (เพิ่มขึ้นมาอีกสกุลช่างหนึ่ง ว่างั้น)

บ้างว่าท่านั่งของพระหินสามองค์ คือท่านั่งขัดสมาธิเพชร หรือวัชรอาสนะ กับการครองจีวรห่มคลุมเรียบไม่มีชายสังฆาฏิบนบ่าทั้งสองข้าง สองคุณลักษณะนี้ คือต้นแบบของการทำพระพิมพ์รุ่น “พระคง” (ซึ่งต่างจากพระรอด ที่เห็นรอยจีวรพาดห่มเฉียง) ทำให้บางท่านเรียกพระสามองค์ว่า “แม่พระคง”

บทความชิ้นนี้ ดิฉันจะชี้ชวนให้ท่านพิจารณาประเด็น “ท่านั่งขัดสมาธิเพชร” กับการทำปาง “สมาธิ” ว่าสองสิ่งนี้สะท้อนถึงอะไร และเราเคยพบสองสิ่งนี้อยู่ด้วยกันในศิลปะสกุลช่างไหนมาก่อนแล้วบ้างไหม?

นั่งขัดสมาธิเพชรทำไมไม่ “มารวิชัย”?

พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ หากเรามองแบบแยกส่วน ว่าการครองจีวรเรียบเหมือนรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ นั่นก็คือเรื่องหนึ่ง กับท่านั่งขัดสมาธิเพชรแลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง มีชายผ้าทิพย์ ก็รับอิทธิพลจากศิลปะปาละของอินเดียซึ่งมีคุปตะเป็นแม่แบบ นั่นก็แยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หากเรามองแค่ จุดนี้รับอิทธิพลจากสกุลช่างโน้น จุดนั้นคล้ายกับพุทธศิลป์สกุลช่างนี้ วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็แทบไม่มีความหมายอันใดเลย ตราบที่เราไม่สามารถอธิบายถึงปูมหลังแห่ง “การรับอิทธิพล” เอางานพุทธศิลป์สกุลช่างใดสกุลช่างหนึ่งมาใช้ ว่าผู้รับรับมาด้วยเหตุผลใด คงไม่ใช่แค่สวย แค่พึงใจ

หากเราไม่พิจารณาให้รอบด้าน องค์ความรู้ก็จะหยุดอยู่แค่ อ้อ! พระทั้งสามองค์นี้คือภาพสะท้อนของอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะในนครหริภุญไชย อันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาเท่านั้นเอง นอกเหนือไปจากการที่หริภุญไชยมีการรับรูปแบบพุทธศิลป์มาจากทวารวดีภาคกลาง ทวารวดีภาคอีสาน จามปา ขอม พุกาม ลังกา ที่แท้แล้วก็ยังมีอิทธิพลจากคุปตะด้วยอีกสายสกุลหนึ่ง

ดิฉันอยากให้ทุกท่านช่วยพิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีกชั้นว่า แม้คุปตะจะนิยมการครองจีวรเรียบเน้นรอยขีดพระศอเป็นปล้องๆ ล้อกับขอบจีวรห่มคลุม รวมทั้งการที่คุปตะนิยมท่านั่งขัดสมาธิเพชรแลเห็นชายผ้าทิพย์ อันเป็นรูปแบบเดียวกันกับพระหินสามองค์ของหริภุญไชยนี้

ทว่า อัตลักษณ์ของพระพุทธรูปคุปตะกว่า 99.99 เปอร์เซ็นต์ เขาเน้นการทำปางแสดงธรรมมิใช่หรือ?

ส่วนพุทธศิลป์ที่นิยมทำปางสมาธิ ก็คือสกุลช่างอินเดียใต้สมัยอมราวดี กับสกุลช่างลังกา ครั้นมาดูท่านั่งของสายเถรวาทสองกลุ่มนี้ กลับพบว่านิยมนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ไม่ใช่ขัดสมาธิเพชร เป็นงั้นไปเสียอีก

ครั้นหันไปมองพุทธศิลป์อินเดียยุคปาละ ต่อเนื่องมายังสมัยพุกามในพม่า ก็หนักไปทางนั่งสมาธิเพชรมชายผ้าทิพย์ แต่เน้นปางมาวิชัยเข้าอีก เหลียวไปแลกลุ่มทวารวดีภาคกลาง ภาคตะวันออกแถบปราจีน สระมรกต ทำปางสมาธิก็จริง แต่กลับนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ตามอิทธิพลสายเถรวาทจากอมราวดีเข้าจนได้

มองไปทางไหนก็พบแต่ทางตัน แล้วพระสามองค์นี้ไปรับเอารูปแบบพิเศษมาจากไหนกันหนอ ประมาณว่าท่อนบนทำปางสมาธิ แบบที่นิยมในกลุ่มเถรวาท ในขณะที่ท่อนล่างกลับนั่งขัดสมาธิเพชร ตามความนิยมในกลุ่มอินเดียเหนือสายมหายาน

เหลียวไปมองเพื่อนบ้านไม่ใกล้ไม่ไกล แล้วจะพบคำตอบในศิลปะที่เรียกว่าสกุลช่างศรีวิชัย หรือชวา ณ ศาสนสถานบุโรพุทธโธ ในประเทศอินโดนีเซีย เราได้พบพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่ง “นั่งขัดสมาธิเพชร ทำปางสมาธิ” รูปแบบเดียวกันเปี๊ยบเลยกับพระหินสามองค์ที่เราว้าวุ่นอยู่กับการหาหมวดหมู่ให้ไม่ลงตัวสักที

พระพุทธรูปที่บุโรพุทโธ มีชื่อเรียกโดยรวมว่า “พระธยานิพุทธเจ้า” ตามความเชื่อของชาวพุทธมหายานสายวัชรยาน ว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ 5 พระองค์ เป็นบุคลาธิษฐานของขันธ์ทั้ง 5 และพระตถาคตก็สถิตประจำทิศทั้ง 5 ดังนี้

ทิศตะวันออก เรียก พระอักโษภยะ แสดงออกด้วยการทำปางมารวิชัย (ภูมิสปรศมุทรา)

ทิศใต้ เรียกพระรัตนสัมภวะ ทำปางประทานพร (วรมุทรา)

ทิศตะวันตก เรียกพระอมิตาภะ ทำปางสมาธิ (ธยานมุทรา)

ทิศเหนือ เรียกพระอโมฆสิทธะ (สิทธิ) ทำปางประทานอภัย (อภัยมุทรา)

ทิศเบื้องบนสุด เหนือทิศทั้งสี่ ที่เป็นองค์ประธานของพระธยานิพุทธทั้งหมด มีชื่อว่า “พระไวโรจนะ” ทำปางแสดงธรรม (ธรรมจักรมุทรา) อันเป็นปางยอดฮิตของสมัยคุปตะ แต่ในอินเดียไม่ได้มากำหนดเรียกชื่อให้เป็น 1 ในพระธยานิพุทธเจ้าแต่อย่างใด

พระธยานิพุทธเจ้าทุกองค์ ทุกทิศ ทุกปางนั่งขัดสมาธิเพชรเหมือนกันหมด อันเป็นรูปแบบที่ศิลปะชวาได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเหนือสมัยคุปตะ แต่แนวคิดเรื่องพระธยานิพุทธเจ้านั้น ไม่ปรากฏว่ามีแพร่หลายในสมัยคุปตะแต่อย่างใด เริ่มมีในสมัยปาละ และกระจายไปยังทิเบต เนปาล จีน ตลอดจนชวาอย่างเข้มข้น

ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่า พระหินสามองค์ที่ฐานปทุมวดีเจดีย์ ซึ่งนั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิเช่นเดียวกับพระทางทิศตะวันตกของบุโรพุทโธ ก็คือ “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” หนึ่งใน 5 ของ “พระธยานิพุทธเจ้า” ตามความเชื่อของพุทธมหายานด้วยหรือไม่ เช่นไร?

พระอมิตาภะกับนิกายสุขาวดี

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่กล่าวเน้นย้ำถึงแนวคิดที่ว่า พระพุทธศาสนาในดินแดนสยามช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 นั้นมีหลายนิกาย หนึ่งในนั้นมี “นิกายสุขาวดี” ด้วย ก็คือท่านศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์

นิกายสุขาวดีคืออะไร เป็นนิกายย่อยในสายพุทธมหายาน ที่แยกออกไปจากวัชรยานที่นับถือ “พระธยานิพุทธทั้ง 5” ด้วยการเน้นความเคารพศรัทธาที่มีต่อ “พระอมิตาภะ” อย่างสูงสุดเพียงองค์เดียว

นิกายนี้มีความเชื่อว่า พระอมิตาภะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง สถิต ณ พุทธเกษตร (ดินแดน) ที่เรียกว่า สุขาวดี อยู่ทางทิศตะวันตกจากโลกของเราไปไกลโพ้น

โดยทางประติมานวิทยา ชาวพุทธที่นับถือนิกายนี้ในยุคทวารวดี นิยมทำพระพุทธรูปปางหลักๆ ที่เห็นได้ชัดคือ “พระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดี” แสดงออกด้วยการหักนิ้วพระหัตถ์สองข้าง คล้ายเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือล่องลอยลงจากห้วงนภากาศ คือดินแดนสุขาวดี เพื่อมาโปรดสัตว์โลก

นั่นคือ ปางยอดฮิตที่พบมากในพุทธศิลป์สมัยทวารวดีซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้เชื่อได้ว่าสมัยเมื่อพันกว่าปีก่อน นิกายสุขาวดีเป็นที่นิยมอย่างสูงของผู้คนในแถบลุ่มเจ้าพระยา ท่าจีน โดยได้รับอิทธิพลจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง

ทว่า การศึกษาเรื่องรูปแบบ “พระอมิตาภะในท่านั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิ” อันเป็นอีกมิติหนึ่งของการช่วยตอกย้ำเรื่องนิกาย “สุขาวดี” ที่คู่ขนานไปกับ รูปเคารพพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดี นั้น เข้าใจว่ายังไม่มีผู้ศึกษากันมากนัก

โชคดีแท้เทียว ที่เรามาพบพระพุทธรูปหินสามองค์ขนาดใหญ่พอสมควรในงานพุทธศิลป์หริภุญไชย ที่ดูเผินๆ จากภายนอกแล้ว ละม้ายว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับสายอินเดียคุปตะเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ท่านั่งกับการทำปาง กลับไปสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “พระอมิตาภะ” ที่บุโรพุทโธของชวา อย่างน่าขบคิด

ฉบับหน้ามาชวนครุ่นคำนึงกันต่อ ว่าลำพังแค่ท่านั่งขัดสมาธิเพชรกับการทำปางสมาธิ จำเป็นต้องหมายถึงพระอมิตาภะเสมอไปด้วยล่ะหรือ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะใช้ตรรกะเดียวกันนี้ได้หรือไม่ว่า พระสิงห์ 1 ที่นั่งขัดสมาธิเพชร ทำปางมารวิชัย ทั่วล้านนาก็ต้องเป็น “พระอักโษภยะ” (พระธยานิพุทธเจ้าประจำทิศตะวันออก ตามอย่างแนวคิดของบุโรพุทโธ) หมดทุกองค์ด้วยหรือเปล่า? สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ