33 ปี ชีวิตสีกากี (37) | ตรวจที่เกิดเหตุ พนง.สืบสวนสอบสวน ต้องรู้ข้อกฎหมาย-ไม่เลื่อนลอย

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

พนักงานสืบสวนสอบสวน จะต้องรู้ข้อกฎหมาย ยังต้องรู้ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด เมื่อไปสืบสวนเรื่องอะไร รู้เทคนิคในการทำงาน จึงจะประสบความสำเร็จ

เราจะไม่เลื่อนลอย แต่ต้องมีขอบเขตและความมุ่งหมายในการซักถามด้วยและควรถามให้อยู่ในขอบเขตที่ตั้งประเด็นไว้

ร่องรอยต่างๆ ที่คนร้ายทิ้งไว้ เราสามารถสืบสวนจากร่องรอยได้

เมื่อเกิดเหตุ จึงต้องรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ให้ดีที่สุด เพื่อรักษาพยานหลักฐาน โดยการปิดล้อมสถานที่ และจำไว้ว่า ต้อง

1. ถ่ายรูป หรือทำแผนที่สถานที่เกิดเหตุครั้งแรก

2. ตรวจจากบริเวณรอบนอกที่เกิดเหตุก่อน เพื่อจะรู้ทางเข้า และทางออกของคนร้าย และจะรู้ได้ว่า มีจำนวนคนร้ายกี่คน เข้ามาอย่างไร ปีนรั้วหรือเข้าทางประตู

เมื่อตรวจด้านนอกแล้วก็เข้าไปบริเวณข้างในอีกชั้นหนึ่ง วนรอบบ้านดูว่าคนร้ายเข้าไปในที่เกิดเหตุได้อย่างไร มีคนเปิดประตูให้ หรือลงทางเพดาน

การตรวจสถานที่เกิดเหตุ ร่องรอยในที่เกิดเหตุจะต้องรักษาไว้ ครั้งแรกที่เข้าไป ควรถ่ายรูปไว้ก่อน การตรวจอย่าเดินสะเปะสะปะ ต้องตรวจละเอียดและตามลำดับ (ดังภาพ) ที่เรียกว่า การตรวจแบบ Strip Method (เพื่อไม่ให้เกิดการตรวจซ้ำ)

ในห้องถ้าเป็นห้องใหญ่ๆ เราแบ่งเป็นเขตๆ แล้วตรวจให้ละเอียดในแต่ละเขต ซึ่งเรียกว่า Zone Method (แบ่งเป็นตารางหมากรุก แต่ละตารางตรวจแบบ Strip Method)

การตรวจแบบ Spiral Method เป็นการตรวจจากที่เกิดเหตุออกไปโดยรอบเป็นแบบใยแมงมุมเพื่อหาร่องรอยต่างๆ ที่คนร้ายทิ้งไว้ (การตรวจแบบใยแมงมุม)

การตรวจแบบ Wheel Method คือ การตรวจจากที่เกิดเหตุออกไปโดยรอบทุกทิศทาง การตรวจนั้น เราจะต้องตรวจทุกอย่าง

ประเภทเศษวัตถุต่างๆ ที่ควรสนใจในที่เกิดเหตุ

1. เศษเสื้อผ้าหรือใยฝ้ายหรือใยขนสัตว์ ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้ว่า คนร้ายนุ่งอะไร

2. เส้นผมต่างๆ ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า เป็นเส้นผมของใครมาจากกลุ่มใด เอาเส้นผมไปอาบรังสีปรมาณูแล้ว ดูกราฟว่าเป็นกลุ่มเดียวกันจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน

3. เส้นขนของสัตว์ จะเป็นที่มาว่า มีการทำร้ายสัตว์หรือเปล่า

4. เศษไม้, เศษกระดาษ, ฝุ่น หรือผงอิฐทนไฟ ตู้เซฟนั้น ถ้าระเบิดแล้ววัตถุทนไฟที่เป็นฝุ่นจะไปติดตามเสื้อผ้าของคนร้าย

รวมทั้งรอยคราบต่างๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ ได้แก่

1. คราบโลหิต จะเป็นของมนุษย์หรือสัตว์ โลหิตที่แข็งตัวแล้วมีลักษณะอย่างไร โลหิตเหลว, แข็ง จะทำให้ทราบระยะเวลาที่เกิดเหตุ

2. คราบอสุจิ ในกรณีข่มขืนกระทำชำเรา ดูว่าเป็นของมนุษย์หรือสัตว์

3. คราบสารเคมีที่ติดอยู่

4. สี ในกรณีรถชนกัน จะมีสีติดอยู่

5. น้ำมันใส น้ำมันข้น ยางเหนียว ซึ่งนำไปพิสูจน์กันในกรณีวางเพลิง

 

คดีที่เกิดขึ้นมีมากมายหลายประเภท เมื่อมาเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน ต้องรู้วิธีการกระทำผิดทางคดีอาญาทุกอย่าง เข้าข้อกฎหมายอะไรบ้าง และรู้วิธีการสืบสวนที่จะจับกุมคนกระทำผิด เอาตัวมาฟ้องเพื่อลงโทษ

เมื่อมีการปลอมเกิดขึ้น ต้องพิจารณาว่า เพื่อเอาผลประโยชน์ หรือเกิดจากแรงจูงใจใดๆ และต้องศึกษาเรื่องการปลอมมีวิธีอะไรบ้าง การปลอมเอกสารทำกันอย่างไร เมื่อไปทำการสืบสวนต้องหาตัวอย่างลายมือที่ผู้ร้ายเคยเขียน ตัวอย่างหมึก ปากกา น้ำหมึกที่ปลอมในเอกสารของกลางกับที่ค้นได้ ในที่เกิดเหตุเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ในการหาร่องรอยในที่เกิดเหตุ สิ่งเล็กๆ ในที่เกิดเหตุ เป็นเรื่องที่ต้องสนใจ แม้กระทั่งฝุ่นและรอยต่างๆ ทั้งในรูปลักษณะต่างๆ ขี้เถ้า ฝุ่นจากดิน เมล็ดหญ้า หรือรอยตามเสื้อผ้า รองเท้า เศษโลหะ เช่น เศษตะไบ

เกี่ยวกับรอย (Marks) ต่างๆ ในที่เกิดเหตุ

1. รอยนิ้วมือ

2. รอยเท้า

3. รอยเครื่องมือ ที่ใช้ในการกระทำผิด ใช้พิสูจน์เครื่องมือที่ใช้ เช่น สกรูไล เลื่อย หรือ รอยคีม

4. รอยฟัน ในกรณีที่คนร้ายเข้าไปกินอาหาร

5. รอยยางรถ (มีดอกยางเป็นอย่างไร รถอะไร)

6. แม่พิมพ์ เกี่ยวกับเรื่องพิมพ์ธนบัตรปลอม พิมพ์เอกสารปลอมหรือพิมพ์สลากกินแบ่งปลอม

7. รอยตัด เช่น รอยตัดโลหะ จะได้พิสูจน์ว่า มาจากเครื่องมืออันไหน

8. รอยการต่อสู้

9. รอยปั๊มหรือรอยบนโลหะ เช่น เลขประจำเครื่องรถ หรือเลขประจำแชสซี (โลหะทุกชนิด ยกเว้น ทองคำ ถ้าลบเลขเก่าออก แล้วตีเลขใหม่ สามารถใช้นำมาตรวจ พิสูจน์ได้โดยเอาน้ำยาทาแล้วเลขเก่าจะปรากฏขึ้น)

– อาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน หัวกระสุน ในร่างกายที่ติดกับแผล

– หมอนในปลอกกระสุนปืน ของปืนลูกซอง

– รอยเขม่าดินปืน รอยไหม้ ที่ติดอยู่ที่ตัวผู้ต้องสงสัย ผู้ตาย จะรู้ระยะการยิง

 

เมื่อตำรวจเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุ ความเข้มงวดเอาใจใส่ในการทำงานคือ การหยิบจับวัตถุของกลาง จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นการทำลายพยานหลักฐานด้วยตัวพนักงานสืบสวนสอบสวนเสียเอง จึงต้องเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องเอาไว้

คือ ลักษณะในการจับของกลาง

1. แก้ว กระจก ขวด อย่าจับอย่างธรรมดา จะต้องจับหัว-ท้าย หรือเอาไม้ทิ่มเข้าไปในปากขวด

2. การจับมีด จับหัว-ท้าย

3. กระดาษ ใช้ถุงมือ

เมื่อมีการส่งไปตรวจ-ห่อให้ดี อย่าให้หีบห่อแตกระหว่างทาง

และเมื่อเสร็จจากการตรวจที่เกิดเหตุ จะต้องทำบันทึกไว้ด้วยตามหัวข้อของการบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ดังนี้

1. สถานที่เกิดเหตุ ที่ไหน

2. วัน เวลา ที่ทำ

3. สภาพของสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในสภาพใด ร่องรอย

4. เจ้าพนักงานผู้ตรวจ พยาน ใครถ่ายรูป

5. ตรวจแล้วพบอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน ห่างเท่าไหร่ (อาจทำแผนที่ สถานที่เกิดเหตุประกอบด้วย)

6. ข้อสันนิษฐานว่ามาอย่างไร มาจากใคร

7. บัญชีวัตถุพยาน ได้อะไรบ้าง ส่งไปไหน (ทำบันทึกไว้) การเขียนแผนที่ประกอบนั้น จะต้องเขียนในลักษณะพื้นราบ