17 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ความขัดแย้ง หวนมา…กลายพันธุ์ (1) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

ความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยืดเยื้อมาสู่จุดสูงสุดในปี 2553 การเลือกตั้งในปี 2554 ถือว่าเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้งที่แรงสุด ดังนั้น แม้ผลเลือกตั้งออกมาว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะ ก็ยังถูกรัฐประหารซ้ำในปี 2557 กลุ่มเผด็จการได้ปกครองต่ออีก 5 ปีจึงยอมให้มีการเลือกตั้ง 2562 และสืบทอดอำนาจในรูปแบบของอำมาตยาธิปไตย แต่กระแสต่อต้านการสืบทอดอำนาจก็แรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากเยาวชน ผลปรากฏชัดเจนในการเลือกตั้ง 2566 ว่า ฝ่ายที่นิยมเสรีประชาธิปไตยมีมากกว่า 60%

แต่หลังเลือกตั้งเมื่อมีการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วและการกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้มีคำถามว่า การปรองดองเกิดขึ้นแล้วใช่ไหม?

ความขัดแย้งที่ดำรงมา 17 ปีสามารถยุติลงได้ ณ เวลานี้จริงหรือ?

ในเมื่อความยุติธรรมที่ใช้ตัดสินความขัดแย้งทางการเมืองไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 17 ปีในขณะที่อีกฝ่าย มือหนึ่งถือกฎหมาย มือหนึ่งถือปืน ฝ่ายที่ถูกกระทำ ต้องใช้ชีวิต และอิสรภาพแลกมา ถ้าไม่ตายก็ต้องเลือกว่าจะติดคุกหรือลี้ภัย

 

จุดเริ่มความขัดแย้ง
กลุ่มอำนาจเก่าโค่นล้ม 3 นายกจากการเลือกตั้ง

ปี 2544- 2549 ประชาชนรู้จักรัฐบาลนายกฯ ทักษิณและการรัฐประหาร

ชาวบ้านพอใจโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

เศรษฐกิจเติบโตทำมาค้าขายคล่องชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ หลังจากต้องใช้หนี้ IMF อยู่หลายปี

แต่แล้วก็มีการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ จนต้องประกาศยุบสภา

กลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมรับการเลือกตั้งใหม่เพราะพรรคไทยรักไทยชนะมากเกินไป

ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศบอยคอตไม่ร่วมการเลือกตั้ง เดือนเมษายน 2549 และศาลก็สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

สุดท้ายก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณในเดือนกันยายน 2549

30 พฤษภาคม ตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทยและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 111 คน

24 สิงหาคม คมช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่คิดว่าได้เปรียบ

23 ธันวาคม มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่พรรคพลังประชาชนยังคงชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ปี 2551 พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ชุมนุมไล่รัฐบาล ยึดทำเนียบ

9 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘สมัคร’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’

17 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร

7 ตุลาคม พันธมิตรเสื้อเหลืองปิดล้อมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

21 ตุลาคม ศาลฎีกาตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี-คดีที่ดินรัชดาไม่รอลงอาญา ทำให้อดีตนายกฯ ไม่กล้ากลับเข้าประเทศไทย

24-25 พฤศจิกายน ม็อบพันธมิตรฯ ยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

9 ธันวาคม ปชป.จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2552 ได้รัฐบาลผสม 3 อำนาจ …จากตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร และงูเห่า แม้แพ้เลือกตั้ง แต่ยังได้เป็นรัฐบาล โดยมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหาร

 

ปี 2553 ความขัดแย้งสูงสุด
…สังหารหมู่ประชาชนกลางเมือง

กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป ถือเป็นการตัดเสบียงและกำลังหนุนของพรรคทักษิณ

10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมเรียกร้องให้นายกอภิสิทธิ์ยุบสภาโดยกลุ่ม นปช.เสื้อแดง แต่ทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 บาดเจ็บหลายพัน ทำให้รอยแตกของชาติขยายกว้างกว่าเดิม ไปในขอบเขตทั่วประเทศ

…สุดท้ายรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาก็อยู่ลำบาก ต้องมีการประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ประชาชนชนก็แยกชัดเจนกว่าเดิม ใครเคยเลือกฝ่ายไหนก็เลือกฝ่ายนั้น รัฐธรรมนูญ 2550 และอำนาจรัฐ อำนาจนอกระบบ ไม่มีผล เพื่อไทยชนะ ได้เสียงเกินครึ่ง 265 ส.ส. (15.74 ล้านเสียง) ปชป.ได้ 159 ส.ส. (11.43 ล้านเสียง) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ปี 2556-2557 แผนการยึดอำนาจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินต่อ

พฤศจิกายน 2556 แกนนำ ปชป.ลาออกจาก ส.ส. แปลงกายเป็น กปปส. ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วก็ขยายตัว กลายเป็นไล่รัฐบาล

9 ธันวาคม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ ปชป.บอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แถม กปปส.ยังขัดขวางไม่ให้จัดในหลายเขตเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ ปลดนายกรัฐมนตรีรักษาการ ยิ่งลักษณ์ เพราะคดีย้ายเลขาธิการ สมช. ถวิล เปลี่ยนศรี แต่รัฐบาลตั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี…

สุดท้ายต้องรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สรุปว่าต้องใช้ทั้งม็อบ ตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหาร กลุ่มอำนาจเก่า จึงได้อำนาจไป

(8 ปี…วิบากกรรมประชาธิปไตยจบภาค 1 ตรงนี้)

 

2566 ข้อเท็จจริงไม่เปลี่ยน
แต่ความคิดคนเปลี่ยน ไปตามสถานการณ์

การกลับมาของนายกฯ ทักษิณในช่วงที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลเดือนสิงหาคม 2566 และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อขออภัยโทษก็ยังถูกกำหนดให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี

มีความคิดที่สุดขั้ว 2 ด้านก็คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการจำคุกเป็นเวลา 1 ปีไม่ยุติธรรมเพราะติดคุกน้อยเกินไป

อีกด้านหนึ่งก็คิดว่าไม่ยุติธรรมเพราะทักษิณไม่ได้ทำความผิด แต่เกิดขึ้นเพราะการกลั่นแกล้งของฝ่ายรัฐประหาร

สำหรับคนที่ไม่ชอบทักษิณและพรรคไทยรักไทยแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นเพื่อไทยก็ยังไม่ชอบ การอยากให้ทักษิณถูกลงโทษอย่างหนักเป็นเรื่องปกติ

แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เดิมเชื่อว่าทักษิณถูกกลั่นแกล้งและลงโทษทางการเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้กลับเข้ามามีอำนาจทางการเมือง มาถึงวันนี้ กลับยอมรับให้มีการลงโทษได้…เหตุผลก็คือ

1. นายกฯ ทักษิณกลับมายอมรับการลงโทษเอง

2. พรรคเพื่อไทยยอมไปร่วมรัฐบาลกับฝ่ายอนุรักษนิยม

3. มองว่าเป็นแนวทางเปิดการปรองดอง

แต่คนที่ยังต้องการสู้ต่อไม่ต้องการประนีประนอมยอมสยบ มองว่า เพื่อไทยและทักษิณเปลี่ยนจุดยืนไปแล้ว จึงผิดหวัง ไม่อยากคิดถึง การต่อสู้หรือคุณูปการ ตั้งแต่ไทยรักไทยและทักษิณตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

แต่ถึงเวลานี้พวกเขาจำเป็นต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคปฏิวัติแต่เป็นพรรคการเมืองที่เดินแนวทางรัฐสภา ตามปกติ และอดีตนายกฯ ทักษิณก็ไม่ใช่นักปฏิวัติ วันนี้อายุ 74 ปีแล้วคงทำได้เท่าที่ทำมาแล้ว พวกเขาต้องเลือกเดินอีกทาง

ดังนั้น ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จริง จึงขยายตัว มีการกลายพันธุ์ ความคิดและตัวบุคคลมีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้คู่ขัดแย้งหลักไม่ได้อยู่ที่พรรคทักษิณ แต่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าและคนรุ่นใหม่

ความขัดแย้งที่กลายพันธุ์ไปจากเดิม จะแรงขึ้นแน่นอน ทำให้การปรองดองในระดับประชาชน ยากที่จะสำเร็จ จะวิเคราะห์ในตอนต่อไป