แมลงวันในไร่ส้ม / ข่าวดัง-สวนหมัดการเมือง “ชวน หลีกภัย-บิ๊กตู่” เมื่อรายได้ 3 จว.ใต้ลดฮวบ

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวดัง-สวนหมัดการเมือง

“ชวน หลีกภัย-บิ๊กตู่”

เมื่อรายได้ 3 จว.ใต้ลดฮวบ

เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านทาง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

จดหมายระบุว่า เป็นปัญหาเรื่องรายได้ต่อครัวเรือนประชาชนในภาคใต้ลดลง เนื้อหาจดหมายระบุว่า ตามที่รัฐบาลนี้ได้ประกาศนโยบายเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนให้สูงขึ้น เพื่อก้าวให้พ้นประเทศมีรายได้ปานกลาง

หลังจากรัฐบาลได้บริหารงานมาระยะหนึ่งแล้ว ผลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏว่ารายได้ต่อครัวเรือนทั่วราชอาณาจักรโดยรวม เพิ่มขึ้นจาก 25,194 บาท เป็น 26,915 บาท ในปี 2558

แต่ในรายละเอียด รายได้ครัวเรือนในภาคเหนือและภาคใต้ลดลง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ลดลงมาก คือ ระนอง จาก 32,292 บาทในปี 2556 เหลือเพียง 22,035 บาทในปี 2558 (ลดลง 10,258 บาท)

ตรังลดลง จาก 33,270 บาทในปี 2556 เหลือเพียง 23,309 บาทในปี 2558 (ลดลง 9,961 บาท) เท่ากับว่าทั้ง 2 จังหวัด ลดลง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด และยะลาลดลงจาก 22,483 บาท เหลือเพียง 15,584 บาท (ลดลง 6,999 บาท)

นายชวนกล่าวด้วยว่า ปัญหาและความเดือดร้อนกระจายอยู่ทั่วไปและไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นในระยะใกล้นี้ จึงเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านทางนายวิษณุ พิจารณาปัญหาของภาคใต้และจังหวัดที่ประสบปัญหารุนแรงด้วยมาตรการและนโยบายพิเศษที่มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ลักษณะอย่างยั่งยืนต่อไป

อดีตนายกฯ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาราคายางตกต่ำ ทำให้รายได้ประชาชนลดลง จึงแจ้งให้นายกฯ ทราบเพื่อที่จะมีนโยบายพิเศษสำหรับจังหวัดที่มีรายได้ลดลง เช่น ปรับรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว หรือปรับอาชีพเสริม อย่างชาวสวนยาง ควรมีอาชีพเสริม

จดหมายนายชวนลงวันที่ 22 พฤศจิกายน แต่มาเป็นข่าวหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ลงไปเยี่ยมน้ำท่วมภาคใต้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน

สื่อบางฉบับพาดหัวข่าวนี้ว่า เป็นรายการกรีดรัฐบาลว่าไม่เห็นหัวคนจน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม นายชวนยังไม่ถลำไปเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายชวนกล่าวถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกทางการเมืองว่า ปรึกษากับผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่าไปเรียกร้อง เพราะมีคนรับผิดชอบอยู่

คนที่รับผิดชอบจะรู้เองว่าถ้าทำช้า ความเสียหายเกิดขึ้นก็ต้องรับผิดชอบเอง และหากไปเรียกร้องมากจะทำให้ชาวบ้านที่เบื่อการเมืองเกิดความรำคาญด้วย

ดังนั้น ขอให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจพิจารณาเองว่าภายใต้เงื่อนเวลาอะไรที่ต้องทำเมื่อไหร่ อย่างไร ดูให้เหมาะสม เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขอให้พิจารณาด้วยเหตุ ด้วยผล เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เรียกร้องอะไร

เมื่อถามว่ามีการนำบรรยากาศด้านความมั่นคงมาอ้างการปลดล็อกทางการเมือง นายชวนปฏิเสธที่จะตอบพร้อมกล่าวว่า บรรยากาศตอนนี้แดดดี 3-4 วันที่ผ่านมาฝนไม่ตก น้ำท่วมจะลดลงเล็กน้อย

การออกโรงของนายชวนรอบนี้ ทำให้เกิด “คอมเมนต์” หลายทิศทาง ทั้งชื่นชม เบื่อหน่าย และประชดว่า เป็นเพียง “วาทะหล่อๆ”

ที่น่าสนใจ คือปฏิกิริยาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งกล่าวผ่าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณในข้อแนะนำและความห่วงใยที่มีต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

โฆษกไก่อูกล่าวว่า กรณีที่ระบุว่ารายได้ต่อครัวเรือนในภาคเหนือและภาคใต้โดยรวมลดลง โดยเฉพาะจังหวัดระนอง ตรัง และยะลา ต้องไปดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

จากการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในหลายโอกาสจึงได้พบเห็นกับตาตนเองว่า จังหวัดเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การประกอบอาชีพที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

โฆษกไก่อูงัดเอาเรื่องของรัฐบาลในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบว่า หากย้อนกลับไปดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนปี 2557 จะพบว่า บ้านเมืองประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนรัฐบาลหลายยุคไม่สามารถขับเคลื่อนงานสำคัญที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่เมื่อรัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศได้ทำงานอย่างหนัก จนทำให้เวลานี้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มดีขึ้น มีตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสำนักต่างๆ ยืนยันอย่างชัดเจน

แต่การทำให้รายได้ระดับครัวเรือนของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยเพิ่มสูงขึ้นนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่าทุกรัฐบาลย่อมทราบดี

หลายเรื่องที่นายชวนได้กรุณาให้คำแนะนำ รัฐบาลนี้ได้ลงมือทำแล้ว ทั้งการดึงอัตลักษณ์ของชุมชนมาส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือสนับสนุนให้เกษตรกรทำอาชีพเสริมนอกจากการปลูกพืชแบบเดิมๆ

และมีหลายเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรโดยใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้น การรวมกลุ่มเกษตรกร สนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนรวมไปถึงบริษัทประชารัฐ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนและประชาชน

แต่ทุกอย่างจะไม่เกิดความสำเร็จได้เลยถ้าทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน หรือรอแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

รัฐบาลยืนยันว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ติดตามข้อมูลรายละเอียดสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศอยู่เสมอผ่านคณะกรรมการหลายชุด และไม่เคยมองข้ามเรื่องนี้

จึงได้พยายามปรับรูปแบบ วิธีการทำงาน และการจัดสรรงบประมาณ/โครงการ ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน

เช่น กำหนดให้มีแผนบูรณาการบริหาร และงบประมาณแบบใหม่ มีภาค 6 ภาค (เหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้-จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีอีซี) มีกลุ่มจังหวัด และจังหวัด

โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมีจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่ม เพื่อให้การพัฒนาทุกด้านสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่มากที่สุด

นั่นคือคำตอบจากนายกฯ ผ่าน “โฆษกไก่อู” ซึ่งมีลักษณะ “โต้” และ “สวนกลับ” ไปพร้อมๆ กัน

คนละหมัดในยกนี้ ส่วนจะมียกต่อไปหรือไม่ ต้องติดตาม