คุยกับทูต | ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี พลังแห่งมิตรภาพไทย-อิหร่าน (1)

สัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานกว่า 400 ปี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ และปรากฏให้เห็นตามรอยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักเรื่องราวด้านการทำงาน วัฒนธรรม และมุมมองของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) ซึ่งกล่าวว่า

“ผมยินดีและภูมิใจมากที่ได้มาทำงานรับใช้ประเทศอิหร่านในประเทศไทยเป็นเวลาสามปีครึ่งแล้ว ตลอดมาก็ได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้นต่อๆ ไป”

เป็นนักการทูต คิดว่าตรงกับไลฟ์สไตล์และบุคลิกภาพส่วนตัวหรือไม่ อย่างไร

“ในฐานะที่เป็นนักการทูตอาชีพ ได้ใช้เวลาหลายปีอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ผมมีความคุ้นเคยกับชีวิตในต่างประเทศไปโดยปริยาย”

“ผมเรียนจบรัฐศาสตร์ระดับปริญญาโท ดังนั้น วิชาเอกและงานของผมจึงมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก ทำให้ผมทำงานอย่างมืออาชีพ จากความที่ชอบเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ได้สัมผัสสิ่งใหม่ๆ พบผู้คนหน้าใหม่ๆ ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่และประชาชนของประเทศอื่นๆ”

“โดยส่วนตัว ผมมีความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในอาชีพของเรา มีจิตวิญญาณในการทำงานเพื่อประชาชน และพยายามปกป้องผลประโยชน์ของประเทศของผม รวมถึงการแสวงหาพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อความร่วมมือกันแบบทวิภาคีด้วย”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตอิหร่าน

โอกาสไปท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังโควิด

“แน่นอน ผมพยายามเดินทางไปในหลายจังหวัด เพื่อศึกษาชีวิตประจำวันของประชาชนนอกเมืองหลวง ติดต่อพูดคุยกับพวกเขาโดยตรง แต่ก็ไม่พลาดการไปสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเราจะได้มีความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต”

มาถึงวันนี้ จุดหมายปลายทางใดในประเทศไทยที่คิดว่าประทับใจมากที่สุด

“ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่ ก็ได้พบว่าเป็นเมืองที่น่าสนใจและสวยงามมาก ผมชอบอากาศทางตอนเหนือที่เต็มไปด้วยภูเขา มีวัดวาอารามที่งดงามหลายแห่ง ได้เพลิดเพลินกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมือง รวมถึงศูนย์วัฒนธรรม ศาสนา และงานหัตถกรรม”

สถานะความสัมพันธ์ปัจจุบันระหว่างอิหร่านกับไทย

“หากเราย้อนรอยความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับไทยในสมัยก่อน เราจะพบว่าพ่อค้าชาวอิหร่านและสยามเคยมีส่วนร่วมในการซื้อขายสินค้าในอดีตอันไกลโพ้น ประเทศรักสงบทั้งสองประเทศนี้มีประวัติที่เป็นมิตรต่อกันอย่างยาวนานมาโดยตลอด”

“อย่างไรก็ตาม เรามักจะอ้างถึงจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งก็คือ การมาถึงของเฉก อะหมัด โกมี (Sheikh Ahmad Qomi) พ่อค้าและนักบวชชาวอิหร่าน สู่กรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงของสยามในปี ค.ศ.1605”

เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)

“เฉก อะหมัด โกมี ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงในราชสำนักสยาม ในที่สุดก็ได้เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกและได้รับแต่งตั้งให้เป็น เฉก-อัล-อิสลาม (Sheikh-al-Islam) หรือผู้นำชุมชนมุสลิมในสยามอีกด้วย”

“แต่หากจะพูดถึงความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างอิหร่านและไทย ก็ควรกล่าวว่าความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1955 จากนั้นจึงแต่งตั้งเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำอินเดียเป็นเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยด้วย นับเป็นคนแรกที่ได้รับการรับรอง”

“ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความอบอุ่นและเป็นมิตรมาโดยตลอด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนทางการเมืองและการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoUs) หลายฉบับ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน”

มัสยิดสีชมพู เมืองชีราส

การค้าทวิภาคีระหว่างอิหร่านและไทยในปัจจุบัน

“ปริมาณการค้าทวิภาคีสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วโดยประมาณ แต่เนื่องจากศักยภาพอันมหาศาลของทั้งสองฝ่าย ปริมาณจึงสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมาก”

“เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความเอื้ออำนวยต่อกัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถรักษาความต้องการของกันและกันได้ ตัวอย่างเช่น อิหร่านเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ โดยนำเข้าข้าวมากกว่าหนึ่งล้านตันต่อปี ในขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข้าวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอิหร่าน”

“ก่อนที่จะมีมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐเพียงฝ่ายเดียว น้ำมันของอิหร่านถูกส่งออกมายังประเทศไทย แต่ก็ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

“ตามที่ได้รับแจ้งข่าวสารทั่วกันมาเป็นอย่างดี การคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่ออิหร่านทั้งหมดได้ถูกยกเลิกหลังจากการลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 (หรือที่เรียกว่า JCPOA) ระหว่างอิหร่านและกลุ่ม P5+1”

กลุ่มหกประเทศมหาอำนาจ P5+1 ประกอบด้วยสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมนี บรรลุความตกลงกับอิหร่านเรื่องข้อตกลงเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์หลังจากเจรจากันมานานกว่า 10 ปี

“แต่หลังจากการถอนตัวของคณะบริหารของทรัมป์ออกจากข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐได้นำมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวบางส่วนที่ไม่ยุติธรรมกลับมาใช้ต่ออิหร่านอีกครั้ง”

วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติอิหร่าน มาแข่งขันในไทย

มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลในอิหร่าน อันเป็นความท้าทายระยะยาวสำหรับสาธารณรัฐอิสลาม

“หลังจากการเสียชีวิตของนางสาวมาห์ซา อามินี (Ms. Mahsa Amini) เมื่อปีที่แล้วเนื่องจากโรคประจำตัวของเธอ ก็มีการเปิดตัวแคมเปญข่าวปลอมและสื่อเท็จมากมายบนโซเชียลเน็ตเวิร์กและช่องทีวีภาษาเปอร์เซียที่มีต่างประเทศสนับสนุน”

“ประเทศตะวันตกบางประเทศรวมทั้งระบอบไซออนิสต์พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำลายประเทศและสลายประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามในปี 1979 อย่างไรก็ตาม ประเทศอิหร่านอันยิ่งใหญ่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะมีการคว่ำบาตรและแผนการที่มุ่งร้ายต่างๆ นานา ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา ประเทศอิหร่านมีแต่ก้าวไปข้างหน้าในเส้นทางแห่งอิสรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆ ด้าน”

เหตุผลที่รัฐบาลของสาธารณรัฐอิสลามนำมาตัดสินว่าผู้หญิงสวมชุดอะไรได้บ้าง

“ตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้หญิงอิหร่านสวมเสื้อผ้ายาวคลุมร่างกาย อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและศาสนาของประเทศ ซึ่งผู้หญิงอิหร่านเกือบทั้งหมดเคารพและปฏิบัติตาม ประเทศอื่นๆ ก็เช่นเดียวกับประเทศอิหร่านที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับฮิญาบ (Hijab) ซึ่งควรปฏิบัติตามเช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ”

ความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับสิทธิสตรีเป็นอย่างไร

“หลักการและคำสอนของศาสนาอิสลามให้ความเคารพต่อสตรีและสิทธิของตนในด้านต่างๆ ของชีวิตอย่างสูง ในอิหร่าน ก่อนและหลังการมาถึงของศาสนาอิสลามในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช ผู้หญิงได้รับการชื่นชมและยกย่องอย่างมากในฐานะเสาหลักของครอบครัวและสังคม พวกเขาได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตรซึ่งบ่งบอกถึงบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูคนรุ่นต่อไป”

“อิหร่านในปัจจุบัน ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ นักศึกษามหาวิทยาลัยประมาณร้อยละ 60 ครูร้อยละ 40 และคณาจารย์ร้อยละ 30 เป็นผู้หญิง”

“เรามีผู้พิพากษา แพทย์ ข้าราชการ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นผู้หญิง นอกจากนี้ เรายังมีนักกีฬาหญิงที่เก่งกาจอีกด้วย บางคนเป็นแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิก และเราภูมิใจในตัวพวกเขาเหล่านั้น”

“ประมาณหนึ่งในสามของผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวในอิหร่านเป็นผู้หญิง หรือถ้าต้องการทำงานเป็นคนขับรถแท็กซี่ รถโดยสาร หรือรถบรรทุก ก็สามารถทำได้”

ถ้ามีลูกสาว อยากให้ลูกสาวมีอนาคตแบบใดในอิหร่าน

“เรามีลูกสาวสองคนซึ่งเรารักเขามาก ทั้งคู่แต่งงานแล้ว คนหนึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจและมีงานประจำ อีกคนหนึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ผมดีใจและภูมิใจมากที่พวกเขาได้เรียนต่อ มีงานทำ สามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและครอบครัวของเขาได้”

งานวันชาติอิหร่าน 13 กุมภาพันธ์ 2023 ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

สาเหตุที่อิหร่านต้องการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS

“การเป็นสมาชิกของอิหร่านในกลุ่ม BRICS ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ถือเป็นการพัฒนาที่สำคัญในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ”

“การที่อิหร่านเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะนำมาซึ่งประโยชน์มากมาย รวมถึงชื่อเสียงระดับนานาชาติ ความเชื่อมโยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ภูมิศาสตร์ กับมหาอำนาจโลกเกิดใหม่ การเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินใหม่ๆ การค้นพบทางเทคโนโลยี วิธีการผลิตบนฐานความรู้ ความมั่นคงทางอาหารและการค้า”

“อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ และการเป็นสมาชิกในกลุ่ม BRICS จะสามารถกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางพลังงาน”

“การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของอิหร่านยังสามารถอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้ การดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันในภาคส่วนต่างๆ อีกด้วย” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin