AI ทายใจ (แม่นไหมนี่อีกเรื่อง)

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

AI ทายใจ (แม่นไหมนี่อีกเรื่อง)

 

อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะแอบซ่อนเอาไว้ให้มิดชิดในยามที่อยู่ในสถานการณ์ไม่เหมาะสมที่จะแสดงออก ซึ่งก็อาจจะหลอกมนุษย์ด้วยกันได้ แต่หากสิ่งที่พยายามอ่านอารมณ์ของเราเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความอัจฉริยะ เราจะสามารถตบตามันได้หรือไม่

เทคโนโลยีอ่านอารมณ์ หรือ Emotion Recognition เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจและถูกหยิบไปใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วยหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคธุรกิจเอกชน อย่างธุรกิจขายปลีกที่ใช้เพื่อเฝ้าดูอารมณ์ของลูกค้าว่าเดินออกจากร้านไปแบบพึงพอใจหรือขุ่นเคือง

บางบริษัทก็ใช้เพื่อเก็บข้อมูลว่าลูกค้าตอบสนองต่อโฆษณา วิดีโอ หรืออะไรก็ตามที่บริษัทปล่อยออกไปในทางบวกหรือทางลบ แม้กระทั่งแผนกทรัพยากรบุคคลบางแห่งก็เลือกใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสังเกตอารมณ์ของพนักงานด้วย

การที่เทคโนโลยีจะอ่านหรือรู้จำอารมณ์ของมนุษย์ได้นั้นเกิดจากใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลสิ่งที่เชื่อว่าเป็นตัวบ่งชี้อารมณ์ในแต่ละรูปแบบของมนุษย์

อย่างเช่น การแสดงออกทางสีหน้าหรือโทนเสียง แล้วจัดเข้าไปอยู่ในหมวดหมู่อารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์กลัว โกรธ ประหลาดใจ หรือมีความสุข เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีอ่านอารมณ์ในชีวิตจริงมีอยู่ในหลายประเทศ บางประเทศในยุโรปทดลองใช้ตามชายแดนประเทศเพื่ออ่านสีหน้าและประเมินว่าคนที่จะเข้ามาในประเทศนั้นกำลังพูดความจริงหรือโกหก ในขณะที่จีนใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ส่วนในเกาหลีใต้ก็มีเคสที่ใช้เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงานด้วย

แต่เทคโนโลยีอ่านอารมณ์นี้เชื่อถือได้หรือไม่

 

เว็บไซต์ Scroll ของประเทศอินเดียตั้งข้อสังเกตว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่ออ่านอารมณ์มนุษย์นั้นไม่น่าเชื่อถือและมีความเสี่ยงมากมาย

ผู้เขียนบอกว่าระบบการอ่านอารมณ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เทียมที่อ้างว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างรูปลักษณ์ภายนอกกับอารมณ์ที่อยู่ภายในโดยที่เชื่อกันว่าคนเราแสดงออกอารมณ์ต่างๆ ผ่านทางสีหน้าเหมือนกันทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมไหนก็ตาม

ข้อสังเกตที่ว่านี้อ้างถึงงานของ Paul Ekman นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่คิดค้นทฤษฎีขึ้นมาในยุคหกศูนย์โดยเขาบอกว่าการแสดงออกทางสีหน้าของมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นสากลและแบ่งออกได้เป็น 7 รูปแบบ แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการงัดหลักฐานออกมาค้านทฤษฎีนี้หลายครั้งแต่เทคโนโลยีอ่านอารมณ์ก็ยังถูกพัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดนี้อยู่ดี

การที่บริษัทต่างๆ หยิบเทคโนโลยีอ่านอารมณ์มาใช้ในที่ทำงานก็อาจก่อให้เกิดปัญหาหลักๆ ได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือพนักงานจะถูกตัดสินว่าเป็นคนแบบไหน อยู่ในสภาวะอารมณ์แบบไหน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเลยก็ได้

ตัวอย่างเช่น หากระบบเตือนว่าพนักงานสักคนหนึ่งเป็นคนมุทะลุ ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ ซึ่งล้วนเป็นลักษณะนิสัยที่ไม่น่าพึงประสงค์สักเท่าไหร่ในการทำงาน ก็จะเป็นเรื่องยากที่คนคนนั้นจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นหรือไม่เป็นตามที่ระบบเตือนไว้

ประเด็นที่สอง หากภาคเอกชนใช้เทคโนโลยีอ่านอารมณ์ไปอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเรื่องปกติก็จะกลายเป็นการปูทางให้ภาครัฐเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสที่จะเดินตามรอยเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ Facial recognition ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลใช้สอดส่องประชาชนของตัวเองได้

 

มีเคสหนึ่งที่น่าสนใจคือในปี 2021 ตำรวจในรัฐอุตตรประเทศของอินเดียริเริ่มแนวคิดให้ผู้เข้าประมูลโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดในเมืองจะต้องใส่ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าไปด้วย โดยระบบจะมีหน้าที่ในการอ่านสีหน้าของผู้หญิงเพื่อตรวจจับว่าผู้หญิงคนไหนมีสีหน้าแสดงออกถึงความทุกข์ซึ่งต้องการความช่วยเหลือ หากตรวจเจอ ระบบก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณนั้นให้รับทราบและดำเนินการต่อ

เรื่องนี้ทำให้มีการออกมาถกเถียงกันว่าเทคโนโลยีอ่านอารมณ์แบบนี้เชื่อถือได้แค่ไหนและอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างไรบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ไม่ถูกต้อง

Vidushi Marda ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ให้สัมภาษณ์กับ Times of India โดยตั้งข้อสังเกตว่าหากเธอนอนหลับพักผ่อนมาไม่เพียงพอหรือปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ ระบบก็อาจจะตรวจจับได้ว่าเธอมีการแสดงออกทางใบหน้าที่ทุรุนทุรายและอาจจะแจ้งเตือนผิดพลาดว่าเธอต้องการความช่วยเหลือได้หรือไม่

ยังไม่นับว่านี่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นส่วนตัวแม้ว่าจะอยู่ในที่สาธารณะก็ตาม

เมื่อถามเธอว่าในปัจจุบันก็มีการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นการรู้จำอารมณ์ไม่ถือว่าเป็นก้าวต่อไปที่สมเหตุสมผลหรือ เธอก็ตอบว่าการอ่านอารมณ์ถือว่าไปไกลกว่าการรู้จำใบหน้า เพราะการรู้จำใบหน้าให้ข้อมูลว่าคนที่กล้องส่องอยู่นั้น ‘เป็นใคร’ ในขณะที่เทคโนโลยีอ่านใบหน้าจะได้ข้อมูลของการคิดเอาเองว่าคนคนนั้น ‘น่าจะเป็นคนแบบไหน’ และไม่มีทางที่เจ้าตัวจะล่วงรู้หรือพิสูจน์ได้เลยว่าที่ระบบตัดสินมานั้นผิดหรือถูก

และยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลทั้งหมดที่ได้ไปถูกส่งไปที่ไหน เก็บบันทึกไว้ที่ไหน ใครเข้าถึงได้บ้าง และจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เข้าถึงได้จะไม่นำไปใช้ในทางที่ผิด

 

ฉันคิดว่าสาเหตุที่เทคโนโลยีอ่านอารมณ์เป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราต่างก็มีความปรารถนาที่จะล่วงรู้ เข้าใจอารมณ์ของคนรอบตัวได้ เราอยากรู้ว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่ หรือรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เหมือนหรือต่างกับเราอย่างไรบ้าง การอ่านสีหน้าคนอื่นบางครั้งก็ง่ายแต่หลายๆ ครั้งก็ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เราจึงเลือกที่จะเชื่อว่าเทคโนโลยีคงอ่านอารมณ์เก่งกว่าเราและคงไม่มีใครสามารถตบตามันได้

ในความเป็นจริงอารมณ์และการแสดงออกของมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน บริบทที่แตกต่างกันก็อาจทำให้อารมณ์แตกต่างกันได้ รวมถึงฐานข้อมูลที่ใช้ในการฝึกคอมพิวเตอร์ให้ ‘เข้าใจ’ อารมณ์ของมนุษย์ก็อาจจะไม่ได้มาจากข้อมูลที่หลากหลายและมากเพียงพอ

ดังนั้น การจะตัดสินว่าพนักงานมีลักษณะนิสัยแบบไหนเพื่อนำไปสู่การเลื่อนขั้นหรือคาดโทษ การประเมินผลการปฏิบัติงานจากการอ่านสีหน้าลูกค้าว่าพึงพอใจหรือไม่ หรือวัดว่าใครเดินทางเข้าประเทศด้วยวัตถุประสงค์แอบแฝงซ่อนเร้นบ้างจึงน่าจะไม่สามารถทำได้โดยใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีอ่านอารมณ์ล้วนๆ

ในตอนนี้อาจจะเซฟที่สุดหากนำมาใช้งานเป็นกิมมิกสนุกๆ ที่ไม่ได้ตัดสินชีวิตใคร