บริโภคความศิวิไลซ์ ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

บริโภคความศิวิไลซ์

ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (2)

 

นอกจากพระราชวังแวร์ซายส์แล้ว คุณ Mukerji ยังอธิบายต่อว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนพระราชวังลูฟท์ (the Louvre palace) ให้เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงของสะสมส่วนพระองค์ ที่เต็มไปด้วยงานประติมากรรม ภาพเขียน พรม ฯลฯ ที่แสดงเรื่องราวของเทพเจ้าต่างๆ ของโรมัน

ศิลปวัตถุล้ำค่ามหาศาลเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นดั่งอาภรณ์เสริมบารมีให้แก่กษัตริย์ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ประกาศภาพลักษณ์ของการเป็นเทพเจ้าให้เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าพระองค์เปรียบตนเองเป็นดั่ง “สุริยะกษัตริย์อะพอลโล” (sun-god Apollo)

ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดสัญญะที่เชื่อมโยงเข้าหากันระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับเทพเจ้าในตำนานความเชื่อแบบโรมัน ผ่านสิ่งของเครื่องใช้และบรรยากาศแวดล้อมทั้งของพระราชวังแวร์ซายส์และลูฟท์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญของการสร้างความชอบธรรม บารมี และอำนาจในการขึ้นเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

หรือพูดให้ชัดก็คือ การบริโภควัตถุสิ่งของที่แสดงความเป็นโรมันอันยิ่งใหญ่คือบันไดขั้นแรกที่ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สามารถเปลี่ยนฝรั่งเศสให้กลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เข้มแข็งได้ในที่สุด

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สถาปัตยกรรมลูกผสมตะวันตกและจารีตชิ้นสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ประเด็นสำคัญของกรอบแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เชื่อว่า ศิลปวัตถุ ภาพเขียน ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ การแต่งกาย ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในระดับรายละเอียด มีพลังในการก่อรูปความคิดและจิตสำนึกให้แก่ผู้พบเห็น สัมผัส และใช้ชีวิตท่ามกลางสิ่งของเครื่องใช้และสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้

หากกล่าวตามคำของ Matthew S. Hull ก็คือสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนเป็น “vehicle of imagination” เป็นสื่อกลางหรือภาชนะที่ช่วยรองรับหรือนำพาให้จินตนาการหรือแรงปราถนานั้นเกิดขึ้นจริงได้ (ดูใน Matthew S. Hull, “Documents and bureaucracy,” Annual Review of Anthropology, Vol. 41 (2012) : 260.)

หรือหากพิจารณาบนกรอบแนวคิดว่าด้วย material culture ซึ่งให้ความสนใจในการศึกษาความสัมพันธ์ของแง่มุมต่างๆ ระหว่างวัตถุสิ่งของกับมนุษย์และสังคมที่ผลิตและใช้สอยมัน ในแง่นี้วัตถุจะมิใช่เป็นเพียงแค่วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในเชิงประโยชน์ใช้สอยอย่างง่ายๆ เพียงฝ่ายเดียว แต่วัตถุจะมีพลังและเป็นกลไกสำคัญที่สามารถย้อนกลับมาก่อรูปประสบการณ์ ความคิด และจิตสำนึกของมนุษย์ด้วย ดังคำกล่าวยอดนิยมของ Winston Churchill ที่ว่า “We shape our buildings; thereafter they shape us.”

ดังนั้น การศึกษาสิ่งของวัตถุในแง่นี้จึงมิใช่แค่เพียงการศึกษาบทบาททำหน้าที่ของวัตถุในฐานะที่เป็นภาพสะท้อนผู้สร้างหรือสังคม (ตามแนวทางการศึกษาส่วนใหญ่ที่นิยมทำกัน) เท่านั้น

แต่เราสามารถที่จะศึกษามันในสถานะที่เป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งของปฏิบัติการทางสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ, การใช้งาน, พิธีกรรมที่แวดล้อม, ที่เก็บรักษา, ที่ตั้งแสดง ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อความรู้สึก จิตสำนึก พฤติกรรมมนุษย์ และส่งต่อไปสู่ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนในสังคมที่ใช้สอยมัน

 

ที่ยกงานของคุณ Mukerji มายืดยาว เพราะผมคิดว่าหนังสือ “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง” ของ อ.เปเลจจี ก็ตั้งอยู่บนกรอบแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ในแง่ที่พยายามจะนำเสนอพลังของการบริโภควัตถุสิ่งของ เสื้อผ้า งานศิลปะแบบตะวันตกจากยุโรปของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนร่างกายของกษัตริย์สยามแบบจารีตมาสู่ร่างกายของกษัตริย์ในรูปแบบสมัยใหม่

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคสิ่งของเหล่านี้ไม่สามารถพิจารณาแยกออกได้จากกระบวนการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามเช่นเดียวกัน

หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อนที่งานชิ้นนี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ต้องถือว่าเป็นงานศึกษาที่ให้รสชาติที่ทั้งแปลกและใหม่มากต่อวงวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 แม้แนวทางนี้ ในโลกวิชาการสากล อาจจะไม่ใช่งานบุกเบิก แต่กล่าวเฉพาะในแวดวงไทยศึกษา ก็ต้องถือว่าก้าวหน้ามาก

แม้จะหยิบมาอ่านใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน งานชิ้นนี้ก็ยังมีประเด็นน่าสนใจ และถือเป็นหนึ่งในหนังสือควรอ่านสำหรับใครก็ตามที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์สยามในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความศิวิไลซ์

อย่างไรก็ตาม “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง” ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน และเป็นประเด็นที่ผมอยากจะลงรายละเอียดต่อไป

 

หนังสือเล่มนี้ให้ความสนใจมากต่อกระบวนการเปลี่ยนร่างกายของกษัตริย์สยาม (รวมถึงชนชั้นนำอื่นๆ ด้วย) ไปสู่ความเป็นกษัตริย์ยุโรป กษัตริย์กระฎุมพี หรือ ผู้ดีอังกฤษ ผ่านการบริโภควัตถุศิวิไลซ์ สถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตก และธรรมเนียมสมัยใหม่จากยุโรป โดยไม่ได้ให้ความสนใจมากนักต่อ วัตถุสิ่งของ สถาปัตยกรรม และธรรมเนียมปฏิบัติเป็นจำนวนมากที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันตกกับจารีตดั้งเดิม ซึ่งเป็นอีกด้านที่สำคัญของการสถาปนาร่างกายและตัวตนอย่างใหม่ของกษัตริย์สยามในช่วงเวลาดังกล่าว

อ.เปเลจจี ตระหนักในเรื่องนี้ดีนะครับ และได้อธิบายไว้ในตอนต้นของงานแล้วว่า งานศึกษาของอาจารย์ไม่ได้ลงไปศึกษาการปรับตัวของธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่ผสมผสานเข้ากับธรรมเนียมสมัยใหม่จากยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในแง่ของการกำหนดขอบเขตในการศึกษาวิจัย

แต่ในความเป็นจริง ผมออกจะสงสัยว่า เราสามารถศึกษา ธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ แฟชั่นใหม่ พื้นที่อย่างใหม่ และการสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ โดยพิจารณามันอย่างแยกขาดออกจากสิ่งที่เราเรียกว่า ธรรมเนียมปฏิบัติเดิม แฟชั่นแบบจารีต พื้นที่แบบจารีต และสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม (ที่เกือบทุกอย่างก็ถูกปรับแปลงเปลี่ยนผ่านและผสมผสานเข้ากับความเป็นสมัยใหม่มากบ้างน้อยบ้างไปจนหมดสิ้นแล้ว) ได้จริงหรือ

ในทัศนะส่วนตัว คิดว่าไม่ได้ เพราะการมองอย่างแยกขาดสองสิ่ง (วัฒนธรรมใหม่ กับ วัฒนธรรมแบบลูกผสมเก่าใหม่) อย่างสิ้นเชิง จะทำให้ความเข้าใจของเราที่มีต่อยุคสมัยดังกล่าวตกหล่นแง่มุมที่สำคัญไป

แง่มุมที่ว่าก็คือ “สภาวะลูกผสม” (hybrid) ที่ไม่เป็นทั้ง “แบบเก่า” ร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่ได้เป็นทั้ง “แบบใหม่” ยกมาจากยุโรปทั้งดุ้น แต่เป็นสิ่งที่ผสมปนเปกันระหว่างเก่าใหม่อย่างแยกไม่ออก และเอาเข้าจริง ลักษณะเช่นนี้ก็มีปรากฏให้เราเห็นมากมายไม่น้อยไปกว่าด้านที่ชนชั้นนำสยามต้องการไล่กวดความเป็นตะวันตกร้อยเปอร์เซ็นต์เพียงอย่างเดียว

 

แม้ใน “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง” จะพูดถึงสภาวะลูกผสมให้เราเห็นหลายกรณี แต่ก็เป็นเพียงการพรรณาเชิงประจักษ์โดยมิได้ทำการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งอะไร ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากกับการวิเคราะห์ในส่วนที่เป็นการบริโภคความเป็นตะวันตกร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จะเต็มไปด้วยการถอดรหัสสัญลักษณ์และนัยยะแฝงเร้นที่สลับซับซ้อนอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ตัวอย่างเช่น ในหนังสือมีการพูดถึงภาพถ่ายของรัชกาลที่ 5 ภาพหนึ่งที่ท่อนบนของพระองค์สวมเสื้อแบบทหารยุโรป ในขณะที่ท่อนล่างสวมโจงกระเบน

หรือภาพถ่ายอีกภาพหนึ่งที่แสดงการแต่งกายของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีที่สวมโจงกระเบนกับเสื้อผ้าแบบยุโรป แต่ก็เป็นเพียงการบรรยายภาพทั่วไปมากกว่าที่จะวิเคราะห์ว่ามันมีนัยยะอะไร หรือสะท้อนมิติทางวัฒนธรรมอะไรบ้าง

หรือในกรณีการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้นมาในรูปแบบที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตก (ในส่วนที่เป็นตัวอาคาร) กับสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีต (ในส่วนหลังคา) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พิเศษสำคัญมาก และควรจะต้องวิเคราะห์นัยยะของสภาวะลูกผสมนี้อย่างลึกซึ้ง แต่ อ.เปเลจจี ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก

ที่สำคัญ อ.เปเลจจี ไม่เชื่อว่าสภาวะลูกผสมทางรูปแบบของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเกิดจากการที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทูลขอรัชกาลที่ 5 ให้เปลี่ยนรูปแบบหลังคาจากหลังคาแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก มาเป็นเครื่องยอดปราสาทแบบประเพณีของสยาม โดย อ.เปเลจจี คิดว่ารูปทรงแบบผสมผสานนี้เป็นการตัดสินใจเลือกเองของรัชกาลที่ 5

ซึ่งการเลือกที่จะเชื่อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการอธิบายที่ดูจะไม่ให้ความสำคัญมากนักต่อความขัดแย้งภายในที่ดำรงอยู่ระหว่างกลุ่มก้อนทางการเมืองต่างๆ ที่มีหลายกลุ่มในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งกลุ่มสยามหนุ่มของกษัตริย์รัชกาลที่ 5, กลุ่มสยามเก่าของขุนนาง และกลุ่มวังหน้า ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีทัศนะว่าด้วยการก้าวสู่ความเป็นตะวันตกในรูปแบบและระดับที่มากน้อยต่างกัน และความขัดแย้งนี้ก็ดำเนินไปโดยผ่านการเลือกใช้วัตถุสิ่งของ งานศิลปะ และสถาปัตยกรรมตะวันตกในระดับที่แตกต่างกันด้วย

ซึ่งในทัศนะของผม ความขัดแย้งนี้สะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนจากการขอเปลี่ยนแบบหลังคาพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจากหลังคารูปทรงตะวันตกมาเป็นยอดปราสาทแบบไทย

การไม่ให้ความสนใจที่มากเพียงพอต่อสภาวะลูกผสมและการเมืองภายในที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนั้น คือ ข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดในหนังสือ “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง”