ผิดเสียง – ผิดความหมาย

ญาดา อารัมภีร

จะอ่านออกเสียงร้อยแก้วหรือร้อยกรองให้ถูกต้อง ความรู้เกี่ยวกับความหมายของคำหรือข้อความที่อ่านสำคัญมาก รูปคำที่เหมือนกัน อยู่ในข้อความแวดล้อมต่างกัน ความหมายและการออกเสียงก็ต่างกันไป

ตัวอย่างต่อไปนี้มาจาก “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงชมช่วงขาของนางผู้เป็นที่รักว่าเรียวงามราวหยวกกล้วย หรืองามกลมกลึงเพราะพระพรหมสรรค์สร้าง

“ชมเพลาเจ้าเรียวรวย คือต้นกล้วยสวยสดเปลา

เข่าแข้งงามกว่าเพลา หรือพรหมกลึงจึงนางงาม”

ในที่นี้คำว่า ‘เพลา’ ออกเสียงว่า (เพฺลา) หมายถึง ตัก หรือช่วงขาตั้งแต่เข่าถึงโคนขา ตัวอย่างถัดไป แม้ออกเสียงว่า (เพฺลา) เหมือนกัน แต่ความหมายเปลี่ยนไปตามข้อความแวดล้อม

บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 บรรยายถึงพาหนะออกศึกของอินทรชิตว่า

“รถเอยราชรถทรง สำหรับองค์โอรสทศเศียร

เพลาดุมหุ้มสุวรรณหันเวียน แก้ววิเชียรประดับวับวาว

เทียมไกรสรราชผาดผยอง ดังจะล่องลอยคว้างมากลางหาว

บุษบกบัลลังก์แก้วแพรวพราว กว้างยาวราวรถพระอาทิตย์”

คำว่า ‘เพลา (เพฺลา)’ ข้างต้นหมายถึง แกนที่สอดติดกับดุมของคู่ล้อรถทำให้ล้อทั้งสองหมุนไปพร้อมๆ กัน เป็นคำเก่าแก่ สมัยสุโขทัยก็มีใช้แล้ว ดังที่ “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายถึงกงจักรแก้วของพระยามหาจักรพรรดิมีอำนาจดลบันดาลให้พระองค์และบริวาร ‘ย่อมไปโดยอากาศดุจดั่งวิชาธรอันมีฤทธิ์ด้วยศาสตราคม’ นอกจากจะทำให้เหาะเหินเดินอากาศได้ราบรื่นรวดเร็ว ยังสามารถทำให้คณะเดินทางหยุดอยู่กับที่โดยอัตโนมัติ

“เมื่อ ธ เสด็จไปในอากาศนั้น แลกงจักรแก้วนั้นไปก่อน … ฯลฯ … ไปเถิงแผ่นดินอันมีฝ่ายตะวันออกอันชื่อว่าปุพพวิเทหะนั้นแล ……………. แลที่นั้นที่ทัพหลวงพระญามหาจักรพรรดิราชแต่โบราณ เมื่อ ธ เสด็จไปพิพาสเหล้นนั้นแล จิงกงจักรแก้วนั้นก็หยุดอยู่ในอากาศดุจดั่งมี ‘เพลา’ ลักขัดไว้ แลบ่มิได้ติงได้ไหว … ครั้นว่ากงจักรแก้วแลหยุดอยู่ดั่งนั้น องค์พระญามหาจักรพรรดิราชแลรี้พลทั้งหลายจิงลงมาจากอากาศแลมายังพื้นดินดูรุ่งเรืองงามดั่งดาว” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

กวีเปรียบกงจักรแก้วที่หยุดนิ่งว่าเหมือนถูกลอบขัดเพลาไว้ ทำให้เคลื่อนต่อไปมิได้ เพลาในที่นี้คือ แกนสำหรับสอดในดุมรถนั่นเอง ออกเสียงว่า (เพฺลา)

 

ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนที่ทัพฝรั่งทัพแขกแตกหนี กวีบรรยายถึงอวสานของเรือทั้งสองทัพจากน้ำมือทหารเมืองผลึกว่าสิ่งที่พินาศในเปลวไฟคือ ‘ใบเพลาเสากระโดง’

“พวกพหลพลผลึกยิ่งฮึกโห่ กึกก้องโกลาลั่นเสียงหวั่นไหว

เข้าถึงฝั่งยั้งหยุดเที่ยวจุดไฟ เพลิงก็ไหม้เรือฝรั่งพลุ่งพลั่งโพลง

ติดสลุบวุบตึงถึงทัพแขก ตุ่มดินแตกตึงลั่นควันโขมง

เลยลุกไหม้ใบเพลาเสากระโดง ยิ่งพลุ่งโพลงเพลิงสว่างดังกลางวัน”

‘เพลา’ ในคำว่า ‘ใบเพลา’ หมายถึง ไม้สำหรับขึงใบเรือ ออกเสียงว่า (เพฺลา) เช่นเดียวกับ ‘เพลาเพลา’ ในตัวอย่างถัดไป ดังตอนที่ท้าวสิลราชพานางสุวรรณมาลี พระธิดาท่องทะเล

“พระทรงนั่งยังแท่นท้ายบาหลี ฝูงนารีแซ่ซ้องอยู่ห้องกั้น

เหล่าล้าต้าต้นหนคนทั้งนั้น เร่งให้ขันกว้านโห่โล้สำเภา

ทั้งหน้าหลังดั้งกันลั่นม้าล่อ แล้วขันช่อชักใบขึ้นใส่เสา

พอออกอ่าวลมอุตรามาเพลาเพลา แล่นสำเภาผางผางมากลางชล”

คำว่า ‘เพลาเพลา’ หมายความว่า เบาลง เบาพอประมาณ เช่น เพลาๆ หน่อย เพลาไม้เพลามือ ข้อความว่า ‘ลมอุตรามาเพลาเพลา’ หมายถึง มีลมทิศเหนือพัดมาเบาๆ

 

“กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” นอกจากใช้คำว่า ‘เพลา’ ที่ออกเสียงว่า (เพฺลา) แล้ว ยังใช้คำที่ออกเสียงว่า (เพ-ลา) ซึ่งเป็นคำเดียวกับเวลา หมายถึง กาล คราว อีกด้วย ดังที่พรรณนาว่า

“เพลาสามโมงเช้า เจ้าแต่งองค์ทรงน้อยงาม (เพลา = เวลา)

พูดจาว่าถ้อยความ ตามมีกิจนิตย์เนืองมา”

ไม่ต่างจากตอนที่นางสีดาประสูติพระโอรส “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 บรรยายว่า

“เมื่อนั้น นางสีดาเจ็บหนักเพียงตักษัย

สุดที่จะแข็งขืนฝืนใจ อรไทไม่เป็นสมประดี

พอดาวเคลื่อนเลื่อนลับอัมพร ทินกรอุทัยไขสี

ได้ฤกษ์เพลานาที เทวีประสูติพระลูกยา”

“เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนคิดถึงนางลาวทองเมียใหม่ที่ถูกกักขังในวัง กวีพรรณนาท่าทีของขุนแผนว่า

“จากเมียเสียใจให้รัญจวน เสียดายนวลลับหน้าไปกว่าปี

เพลากลางคืนสะอื้นอ้อน จะหลับนอนขุ่นข้องยิ่งหมองศรี

พลิกกลับก็ไม่หลับสนิทดี สักกี่ปีลาวทองน้องจะมา”

น่าสังเกตว่าคำว่า ‘เพลา’ (เพ-ลา) ใช้ได้กับทุกช่วงเวลา ดังจะเห็นได้จากนิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์”

“ท่านจงจัดแจงการให้เสร็จสรรพ จะยกกลับในเพลาประจุสมัย”

(ประจุสมัย หรือปัจจุสมัย คือ เวลาเช้ามืด)

“พอเพลาจวนรุ่งขึ้นรางๆ เดือนสว่างโพยมพยับก็อับนวล”

“พอเพลาพระอาทิตย์สถิตย์เที่ยง แดดเปรี้ยงๆ ร้อนแรงพระสุริยใส”

“รามเกียรติ์” ก็ใช้คำนี้เป็นระยะๆ

“ครั้นถึงพิภพลงกา พอเพลาสายแสงสุริย์ใส”

“เสร็จสังหารมารม้วยมรณา พอเพลาบ่ายแสงสุริย์ใส” (เพลา = เวลา)

“ทั้งเพลาสายัณห์เย็นลง สุริยงจวนจะลับเหลี่ยมไศล”

จะเห็นได้ว่า ตอนเช้ามืด – ใกล้รุ่ง – สาย – เที่ยง – บ่าย – เย็น ใช้คำว่า ‘เพลา’ (เพ-ลา) กันทั่วถึง ต่อให้ค่ำมืดดึกดื่นก็ไม่เว้น

ดังที่ “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” พรรณนาว่า

“เพลาหึ่งห้าทุ่ม คือเพลิงรุมสุมกลางใจ

ร้อนเรียมเทียมร้อนไฟ อีกหนามรุมกลุ้มเสียบทรวง”

ความหมายคือ เวลาห้าทุ่ม (= 23.00 น.) ความคิดถึงนางรุมเร้าใจกวีให้รุ่มร้อนและเจ็บแปลบราวถูกหนามแหลมทิ่มแทงใจ ความรู้สึกนี้ช่างทรมานนัก

 

คําว่า ‘เพลา’ (เพ-ลา) มีใช้ทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะวรรณคดี “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” ฉบับหลวงประเสริฐ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“เพลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นเมืองหงษามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา”

น่าสังเกตว่าพงศาวดารฉบับนี้ใช้ทั้งคำว่า ‘เพลา’ และ ‘เวลา’ ควบคู่กันไป แสดงว่าสามารถใช้แทนกันได้ ดังเหตุการณ์ก่อนเกิดสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา

“เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๕ บาท เสด็จพยุหยาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหลมพลี ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน …ฯลฯ… เวลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหยาตราโดยทางสถลมารค อนึ่งเมื่อจะใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น เห็นพระสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น …ฯลฯ… เวลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพญาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คำว่า ‘เพลา’ จะออกเสียงควบรวมเป็นคำเดียวว่า (เพฺลา) หรือออกเสียงทีละพยางค์ว่า (เพ-ลา) มองข้ามความหมายไม่ได้ ผิดเสียง ผิดความหมายนะจ๊ะๆ อย่าลืม •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร