‘สมเด็จ’ ประเทศที่มีแต่ชนชั้นสูง-ผู้บงการ!

อภิญญา ตะวันออก

ไล่เลียงเพียง 10 วันของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต หรืออดีต “เอกอุดมกิตติเทศาภิบาลบัณฑิต” คำเรียกนำหน้านามของเขาซึ่งถูกนำมาใช้ไม่กี่เพลาหลังการเลือกตั้ง พลันก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นบรรดาศักดิ์ใหม่คือ

สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแนต

พลัน ก็เปลี่ยนเรียกขานกันใหม่แบบง่ายๆ ว่า สมเด็จธิบดีฮุน มาแนต

สงสัยว่านี่คือ “บรรดาศักดิ์” ใหม่หรืออย่างไร เนื่องจากขณะเวลาก่อนฮุน มาแนต จะขึ้นเครื่องไปอินโดนีเซียภายใน 48 ชั่วโมงนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าเวียงกง สมโอล รัฐมนตรีสำนักพระมหาราชวังก็ถวายพระราชสาสน์แด่พระองค์

แต่มาโดยทางใดกัน?

พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ประทับอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง แต่สามารถลงลายพระหัตถ์ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น “สมเด็จ” แก่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุน มาแนต ได้อย่างทันท่วงที

จริงๆ เริ่มไม่มีใครให้ความสำคัญในเรื่องนี้อีกต่อไปแล้ว

เพราะพระราชอำนาจในพระองค์แลถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อดังที่ทราบภายในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการรับรองตำแหน่งนายกฯ แก่ฮุน มาแนต ก่อนรัฐสภาจะโหวตรับรองและอื่นๆ

ไม่มีใครตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดขึ้นได้

แต่มีคำถามว่าทำไมกษัตริย์เขมรคล้ายเจีย/เสมือนพระองค์ถูกลดพระราชอำนาจลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่ฮุน มาแนต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี? ทั้งๆ ที่ผู้นำเขมรหนุ่มคนใหม่ ดูจะแสดงอากัปกิริยาต่อพระมหากษัตริย์กัมพูชาอย่างหาที่สุดไม่ได้

หรือว่า เรื่องนี้มีผู้สำเร็จราชการที่เหนือขึ้นไปจากพระองค์

“คนนั้น?” และเขาคือใครกันที่ช่างกล้า? ช่างกระไร นี่เป็นเรื่องที่ไม่บังควรจะจ้วงจาบในการวิพากษ์อย่างยิ่ง!

แต่ก็เริ่มมีบางฝ่ายที่พูดถึง “พระอำนาจ” หรือกฎหมายพิเศษจากมือที่มองไม่เห็น!

ก่อนอื่น ใครเล่าเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จของเขมร ว่ามีที่มาแต่ใด? และเหตุไฉนจึงถูกนำมาปลุกใช้อย่างเอิกเกริกในปัจจุบัน คือสมัยที่กษัตริย์พระบาทนโรดม สีหนุ สละราชสมบัติไปเล่นการเมืองให้เรียกตนเองว่า “ประธานประเทศ” ซึ่งเหนือกว่านายกรัฐมนตรีแต่ไม่ใช่ประธานาธิบดี

เจ้าชายสีหนุเห็นว่านายซึน ซานน์ ซึ่งได้ทำงานก่อตั้งธนาคารแห่งชาติกัมพูชาและกำกับกระทรวงการคลังจนเกิดวินัยการเงินและทำให้กัมพูชาวิวัฒนาการเทียบเท่าอารยประเทศ จึงกราบทูลพระบาทนโรดม สุระมฤทธิ์ พระบิดาของพระองค์และเป็นกษัตริย์เขมรเวลานั้น

พระราชทานบรรดาศักดิ์ “สมเด็จ” แก่นายซึน ซานน์ เป็น “สมเด็จบวรเศรษฐา” บวรแปลว่า ประเสริฐ ล้ำเลิศ ดีงาม, ส่วนเศรษฐา หมายถึง เศรษฐกิจนั่นเอง

ซึ่งตั้งแต่แต่งตั้งสมเด็จซึน ซานน์ สมัยสังคมราษฎรนิยม (1955-1970) ท่านซึน ซานน์ เองก็ไม่ได้ใช้ยศถาบรรดาศักดิ์นี้ในทางการเมืองแต่อย่างไร

เพียงแต่เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จซึน ซานน์ นั้น เป็นทายาทเจ้าผู้ครองเขตแคว้นกัมปูเจียกรอมในอดีตที่สืบกันมาตั้งแต่ยุคก่อน/หลังสมัยอินโดจีน เรียกว่ามีราชสกุล “เจ้านาย” เขมรชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง

เมื่อเป็นเจ้านายเขมรเก่าในแคว้นเก่า เข้ามาพึ่งบารมีทำงานให้ราชวงศ์กัมโพชแห่งกัมพูชากลางก็ย่อมหรือสมควรจะได้รับตำแหน่งชั้นยศนี้ ซึ่งว่ากันตามตรง ควรได้รับการแต่งตั้งมานานแล้ว…

แม้อดีตกษัตริย์นโรดม สีหนุ ในบางครั้งจะไม่ค่อยจะถูกพระทัยในความเถรตรงของสมเด็จซึน ซานน์ อยู่บ้างก็ตาม

ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ลูกหลานอิสรชนหรือนักการเมืองกัมพูชาใต้บางนายเวลานั้น ที่เข้ามารับใช้เจ้านายราชสำนักกัมพูชากลางหลายชั่วอายุคนบ้างต่างค้างคาใจ แต่ในที่สุดก็ได้รับชั้นยศสมเด็จด้วยเช่นกัน

แม้จะเป็นยุคที่พระองค์กลับมาเถลิงราชสมบัติ(1993-2004) ร่วม 10 ปีนั้น คนหนึ่งคืออดีตเจ้าเมืองพระตะบอง และประธานรัฐสภายุค ’90 : สมเด็จเจ้าแสนโกศล ซึ่งบรรพบุรุษเคยปกครองกัมปูเจียกรอมและรับใช้ราชสำนัก ตลอดจนการเมืองยาวนาน

แต่ระบอบการเมืองเขมรนั้นเป็นเรื่อง “เครือข่าย-พวกพ้อง” ยุคสีหนุราชก็เช่นกัน สมัยนั้นทรงโปรดมากก็มี พลเอกยึก จูล่ง (พ่อตาสัม รังสี) กับนายแปน นุด ผู้ที่มีตำแหน่งเป็นนายกฯ กัมพูชามากวาระสุด

โดยยึก จูล่ง นั้น เคยเป็นแทนพระองค์ในเวทีเจรจาสันติภาพที่กรุงเจนีวา ครั้นบ้านเมืองสงบว่างเว้นก็ไปแสดงภาพยนตร์ที่พระองค์กำกับ เคยจับคู่กับเจ้าหญิงบุปผาเทวีในภาพยนตร์ถึง 2 เรื่อง ไม่แต่เท่านั้น เมื่อลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศสแล้ว นายยึก จูล่ง เกิดมั่งคั่งร่ำรวยโดยลูกเขยและลูกสาวที่เป็นนักเก็งกำไรกองทุน

ดังนี้ อดีตนายพลคนนี้จึงอุปถัมภ์ช่วยเหลืออดีตสมเด็จนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์เขมรผู้ตกทุกข์ได้ยากและพลัดถิ่น

ส่วนสมเด็จแปน นุด เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลายครั้งและสมัยรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงปักกิ่ง ทั้งสอง กว่าจะได้สมญาเป็น “สมเด็จ” นำหน้า ก็สนองราชย์มานานจนปลายอายุขัย เมื่อสิ้นไปก็มีคนกล่าวขานตามบรรดาศักดิ์นี้ว่า “3 สมเด็จ” “ซึน ซานน์-ยึก จูล่ง-แปน นุด”

แต่อนิจจา ครั้นถึงแก่อนิจกรรมนั้น แม้สมเด็จซึน ซานน์ ซึ่งเป็นรู้จักในหมู่ผู้นำตะวันตก และเป็นเคารพศรัทธาในหมู่ชนชาวเขมรที่ต่อสู้เพื่อบ้านเมืองยาวนานบริเวณชายแดน ทว่า ในพิธีศพวาระสุดท้ายที่ต้องประดับฉัตรและเครื่องอิสริยยศชั้น “สมเด็จ” นั้น ท่านซึน ซานน์ กลับมิได้รับการเชิดชูอย่างสมเกียรติแต่อย่างใด

ส่วน “สมเด็จเจ้าแสนโกศล” นั้น ได้สิ้นชีวิตในยุคต้นที่บ้านเมืองเขมรเริ่มมีชั้นสมเด็จเฟื่องฟูและโอฬาริกในการแสดงความยิ่งใหญ่ที่อิสรชนชั้นสมเด็จเหล่านี้ตาย อาทิ สมเด็จชั้นพระราชาคณะและสมเด็จนักการเมืองของพรรคซีพีพี/ประชาชนกัมพูชา

สรุป สมัยสีหนุมี สมเด็จในที่นี้ไม่รวมพระสังฆราช 4 รูป และ 2 ใน 4 นั้น มีเชื้อแถวเจ้านายอยู่แล้ว แต่สมัยกษัตริย์สีหมุนีในระบอบฮุนเซนนั้นต่างไป

แต่ปัจจุบันนั้นต่างไปมาก ดังที่ทราบ ฮุน มาแนต นั้นใช้เวลาเพียง 10 วันก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นชั้นสมเด็จจากพระมหากษัตริย์ที่ยังประทับ ณ ประเทศอื่น เป็นการทำงานที่รวดเร็วเหมาะสมต่อยุคสมัย

อีกเฉพาะในตระกูลของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน เองนั้น ลำพังตระกูลนี้ตระกูลเดียว ก็มีสมาชิกเป็น “สมเด็จ” ถึง 5 ชีวิต ตั้งแต่สมเด็จฮุน เนียง บิดาสมเด็จฮุน เซน, สมเด็จฮุน เนง พี่ชาย, สมเด็จพฤติกิตติบัณฑิตบุนรานีฮุนเซน-ภรรยา และลูกชายคนโตหมาดๆ ที่ได้รับการพระราชทานตำแหน่งนี้ สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแนต

เป็นที่เชื่อว่าในรัชกาลนโรดมสีหมุนี ซึ่งมีผู้รากมากดีและผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เต็มบ้านเต็มเมือง น่าจะมี “สมเด็จ” เขมรอีกหลายรายในประเทศประเทืองนี้ที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน

กล่าวคือ นอกจากตำแหน่งชั้น “สมเด็จ” แล้ว กัมพูชายังมีคำนำหน้านามสำหรับคหบดีหรือเศรษฐี ซึ่งถือเป็นบรรดาศักดิ์เฉพาะชนชั้นนี้เท่านั้น คือคำว่า “ออกญา” โดยรวมๆ ตั้งแต่ริเริ่มกันมากลางปี 2000/สหัสวรรษ

จนถึงบัดนี้หรือราว 20 ปี เขมรมี “ออกญา/เนียะออกญา” เศรษฐี-เศรษฐินี ร่วมครึ่งร้อยเข้าไปแล้ว โดยเศรษฐีหนุ่มที่อายุน้อยที่สุดคือราว 19 ปี!

เป็นที่ทราบว่า บุคคลใดที่ได้รับตำแหน่ง “ออกญา” หรือ “โลกจุมเตียว” (ท่านผู้หญิง) จากผู้นำสมเด็จฮุน เซน นั้น พวกเขาต้องบริจาคเงินเพื่อแลกกับ “เหรียญตรา” แห่งตำแหน่งดังกล่าว ราวหนึ่งล้านบาท!

นัยทีก็คือ การซื้อตำแหน่งชนชั้นทางสังคมนั่นเอง

ในยุคของระบอบฮุนเซนวันนี้ จึงมีแต่ ออกญา พณหัวเจ้าท่าน (ฯพณฯ) และสมเด็จ จนราวกับไม่มีพื้นที่ให้บุคคลชนชั้นอื่นในประเทศนี้อีกต่อไป

นี่คือสัญญาณอันตราย

เป็นที่ทราบกันว่า ปัญหากัมพูชาที่เรื้อรังยาวนานแต่ครั้งอดีตว่าด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างทาง “ชนชั้น” ไล่มาตั้งแต่สมัยสีหนุราช การถือกำเนิดระบอบพลพต/เขมรแดงที่รื้อทิ้งโครงสร้างนี้ด้วยการ “กำจัด” ชนชั้นทั้งหมดของประเทศยกเว้นชาวนาอย่าง “สุดโต่ง”

บนเส้นทางต่างๆ ของการสร้างระบอบฝันทางการเมืองที่ผ่านมาในแต่ละยุค ล้วนแต่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างทุนศักดินากับชนชั้นล่าง จนในที่สุดก็วนกลับไปหาโศกนาฏกรรมในอดีตซึ่งเพิ่งผ่านไปในสมัยเขมรแดงและผู้นำปัจจุบันก็ต่างประสบบทเรียน “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ด้วยตนเอง

ทว่า เมื่อเหลือรอดมาได้ กลับนำประเทศไปสู่จุดเดิมอีกหรือไม่?