จาก Decaf Coffee ถึง ‘กาแฟสดจากต้น’ ไร้กาเฟอีน! | จักรกฤษณ์ สิริริน

เป็นที่ทราบกันดี ว่า “กาแฟ” มี “สารกาเฟอีน” ซึ่งเป็น “สารกระตุ้นประสาท” ที่ช่วยให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าในทุกๆ เช้า

แต่หากดื่มมากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ เพราะร่างกายของแต่ละคนมีความสามารถในการรองรับกาเฟอีนที่แตกต่างกัน

นอกจากความสดชื่น และสรรพคุณแก้ง่วงที่ได้จาก “กาแฟ” แล้ว รสชาติและกลิ่นอันหอมหวนก็เป็นเสน่ห์มัดใจ ทำให้หลายคนตกเป็น “ทาสกาแฟ”

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีอีกหลายคนที่ชื่นชอบกาแฟ แต่ไม่สามารถดื่มได้เหมือนคนอื่น เพราะมีอาการ “แพ้กาเฟอีน”

ดังนั้น Decaf Coffee จึงถือกำเนิดขึ้น

 

Decaf Coffee หรือ “กาแฟสกัดกาเฟอีน” Decaf ย่อมาจาก Decaffeination ส่วน Coffee ก็คือ “กาแฟ”

Decaf Coffee มีชื่อเล่นที่เรียกให้ไพเราะตามแบบฉบับกาแฟอิตาลี ว่า Decaffito ส่วนคนญี่ปุ่นเรียก Decaf Coffee ว่า Caffeine Less

Decaf Coffee เป็นวิธีการผลิตกาแฟแบบสกัดกาเฟอีนออก 98% ผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายวิธี ที่ยุ่งยาก และซับซ้อนมาก

หลักๆ คือ การนำเมล็ดกาแฟไปแช่ในตัวทำละลาย หรือผ่านแรงดันน้ำ จนกว่ากาเฟอีนจะถูกสกัดออกไป จากนั้นจึงนำไปคั่วตามปกติเหมือนกาแฟทั่วไป

ถ้าเป็นกาแฟทั่วไปปริมาณ 100 มิลลิลิตร จะมีกาเฟอีน 40 มิลลิกรัม แต่หากเป็น Decaf Coffee 100 มิลลิลิตร จะเหลือกกาเฟอีนอยู่ประมาณ 3 มิลลิกรัม

เทียบอัตราส่วนต่อแก้ว Decaf Coffee หนึ่งแก้ว ประมาณ 200 มิลลิลิตร จะมีกาเฟอีน 6 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเป็นกาแฟทั่วไปจะมีกาเฟอีน 80 มิลลิกรัม

Decaf Coffee เหมาะสำหรับผู้ที่ “แพ้กาเฟอีน” ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือสตรีมีครรภ์ และผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคกาเฟอีนมากเกินไปในแต่ละวัน

 

วิธีการผลิต Decaf Coffee นอกจากการนำเมล็ดกาแฟไปแช่ในตัวทำละลาย หรือผ่านแรงดันน้ำแล้ว ยังมีอีกหลายกระบวนการด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็น การใช้น้ำร้อน หรือการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้สารประกอบต่างๆ เป็นตัวทำละลาย

อาทิ เอธิลแอซิเตต หรือเมทิลีนคลอไรด์ รวมถึงเบนซิน มาใช้เป็นตัวทำละลายเพื่อแยกกาเฟอีนออกมา

นอกจากนี้ ยังมีกรรมวิธี Honey Process และการประยุกต์จากกระบวนการผลิตไวน์ หรือ Carbonic Maceration ในการแยกกาเฟอีนอีกด้วย

แต่วิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ Swiss Water Process เป็นกระบวนการสกัดกาเฟอีนออกจากกาแฟโดยไม่ผ่านตัวทำละลาย

เริ่มด้วยการนำเมล็ดกาแฟไปแช่น้ำร้อน เพื่อให้กาเฟอีนและสารอื่นๆ ในกาแฟละลายลงไปในน้ำ จากนั้นจะนำน้ำดังกล่าวไปผ่านตัวกรองคาร์บอนเพื่อแยกกาเฟอีนออกมา

โดยตัวกรองถูกออกแบบให้มีรูพรุนเล็กๆ ที่สามารถจับเฉพาะโมเลกุลของกาเฟอีนเอาไว้ ส่วนสารละลายจากกาแฟ เช่น อโรม่า จะถูกปล่อยให้หลุดผ่านไปได้

จากนั้นจะนำเมล็ดกาแฟอีกชุดมาแช่ในน้ำที่มีสารละลายกาแฟที่กรองกาเฟอีนออกไปแล้ว คราวนี้จะมีเฉพาะกาเฟอีนที่จะละลายออกมาเท่านั้น

Swiss Water Process จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นกระบวนการทำให้ Decaf Coffee มีกลิ่น และรสชาติใกล้เคียงกับกาแฟปกติมากที่สุด และปลอดกาเฟอีนมากถึง 99.9%

 

ปัจจุบัน นอกจากการผลิต Decaf Coffee ซึ่งมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และใช้งบประมาณสูงแล้ว มีความพยายามคิดค้น “กาแฟไร้กาเฟอีน” กันถึงฐานราก

นั่นคือ “การปรับปรุงพันธุ์กาแฟ” ให้ “ไร้กาเฟอีน” แม้ว่าที่ผ่านมาจะทำได้เพียง “ลดกาเฟอีน” ก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็น ไร่กาแฟ “แดตเทอรา” ในบราซิล ซึ่งได้นำกาแฟพันธุ์ “อาราบิก้า” ที่ชื่อ “ลอรีน่า” มาปรับปรุงพันธุ์ใหม่ โดย “ลอรีน่า” เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของ “เบอร์บอง” ที่ขึ้นชื่อในเรื่อง “กาเฟอีนต่ำ”

นอกจากนี้ ยังมีการนำ “อาราบิก้า” มาผสมข้ามสายพันธุ์กับ “เรซโมเซ่” กลายเป็น “อราโมซ่า” ที่ก็มี “กาเฟอีนต่ำ” เช่นกัน

โดยปกติแล้ว “อาราบิก้า” จะมีกาเฟอีนไม่เกิน 2% ขณะที่ “ลอรีน่า” ก็มีเพียง 2% เช่นกัน ส่วน “อราโมซ่า” จะมีกาเฟอีน 1.5%

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังถือว่ามีกาเฟอีนสูงกว่า Decaf Coffee โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหภาพยุโรป” ที่กำหนดเอาไว้ว่า Decaf Coffee ต้องปลอดกาเฟอีน 99.9%

ล่าสุด นอกจากไร่กาแฟ “แดตเทอรา” ในบราซิลแล้ว Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ในบราซิลเช่นกัน ได้วิจัยและพัฒนา “สายพันธุ์กาแฟ” ให้ “ไม่มีกาเฟอีนตามธรรมชาติ”

โดย IAC เป็นผู้ให้กำเนิดโครงการดังกล่าว ที่ดำเนินการมายาวนานกว่า 20 ปีมาแล้ว

J?lio C?sar Mistro นักวิจัยของ IAC เชื่อว่า การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บราซิล รวมถึงวงการกาแฟโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้

“ผลลัพธ์ที่เราได้จนถึงตอนนี้มีแนวโน้มที่ดี พวกเรากำลังรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” J?lio C?sar Mistro กล่าว

โครงการดังกล่าวเกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยศูนย์วิจัยกาแฟชั้นนำ Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ที่ให้การสนับสนุนการผลิตกาแฟรายได้สูง ซึ่งเคยช่วยให้บราซิลกลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญในตลาดโลก

โดยปัจจุบัน บราซิลเป็นแหล่งผลิตกาแฟมากกว่า 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลก

J?lio C?sar Mistro กล่าวว่า พวกเรากำลังเริ่มทดลองภาคสนามในระดับภูมิภาคของบางสายพันธุ์ ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ ซึ่งเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์กาแฟที่แตกต่างกัน และมีปริมาณกาเฟอีนที่ต่ำโดยธรรมชาติ

กระบวนการดังกล่าว คือการดึงสายพันธุ์เหล่านี้มาจากธนาคารเชื้อพันธุ์กาแฟของ IAC เอง

หากการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ สายพันธุ์กาแฟที่เพาะได้จะสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ในภูมิภาคที่มีการบริโภคมหาศาล

ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่มีลูกค้าต้องการกาแฟไร้กาเฟอีนที่มาจากธรรมชาติจำนวนมาก

ซึ่ง “กาแฟสดจากต้น” ไร้กาเฟอีน จะมาแทนที่ Decaf Coffee ที่มี Brand ชั้นนำจำนวนมากในท้องตลาด ที่ล้วนต้องผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อลด “กาเฟอีน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาบริษัทที่จำหน่ายกาแฟไร้กาเฟอีนจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถข้ามขั้นตอนทางอุตสาหกรรมในการขจัดกาเฟอีนออกจากกาแฟ

ปัจจุบัน กาแฟที่ IAC พัฒนาขึ้นนี้ ได้ถูกนำไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลแล้ว โดยต้นกาแฟมักใช้เวลาราว 2-3 ปีจึงจะออกผลผลิตเป็นครั้งแรก

ดังนั้น จึงยังมีเวลาอีกหลายปีที่นักวิจัยจาก IAC สามารถเก็บผลผลิต และทดสอบ เพื่อปรับปรุงคุณภาพสายพันธุ์ให้นิ่งที่สุด

 

สมาคมกาแฟแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ National Coffee Association (NCA) ระบุว่า การบริโภคกาแฟปราศจากกาเฟอีนนั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาดในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ข้อมูลจาก Vision Research Report บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ในปี ค.ศ.2019 ตลาด Decaf Coffee ทั่วโลกมีมูลค่าราว 1,650 ล้านดอลลาร์

ซึ่งแม้จะดูน้อยนิด เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดกาแฟโลกทั้งหมด

ทว่า มีการคาดการณ์กันว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,800 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2027

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาด Decaf Coffee ในสหรัฐอเมริกาเพียงตลาดเดียว ก็มีมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์แล้ว

นี่จึงถือเป็นอีก Segment หนึ่งซึ่งกำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการสำรวจของสมาคมกาแฟแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ National Coffee Association (NCA) ที่ระบุว่า 68% ของชาวอเมริกัน มีแนวโน้มลดปริมาณการบริโภคกาเฟอีนลง