สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูลาว องค์ 5 การศึกษาลาว (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เช้าวันใหม่ ฟ้าสดใสที่เวียงจันทน์ หลังจัดการกับเฝอ ก๋วยเตี๋ยวญวนร้อนๆ ชามใหญ่เสร็จ ดร.กฤษณพงศ์ หัวหน้าคณะชวนคนตื่นเช้าไปสัมผัสชีวิตพี่น้องลาวที่ตลาดเช้ากลางเมือง

ร้านขายคำ ลาวเรียกทองคำสั้นๆ ว่าคำ ป้ายชื่อร้านสีเหลืองแดงแจ๊ดตั้งเรียงอยู่หน้าทางเข้าตลาด ยังไม่ได้เวลาเปิด พ่อค้าแม่ขายบอกว่าราคาทองคำลาวสูงกว่าไทยเล็กน้อย คนลาวชอบใส่ทองคำสีออกโทนแดง ส่วนไทยนิยมโทนเหลือง เหตุเพราะส่วนผสมแตกต่างกัน

พ่อค้าช่างตีเงิน งานฝีมือแผงเดียวในตลาดเพิ่งเปิดร้าน เลยได้ลูกค้าผู้สาวไทยกลุ่มแรก ทั้งแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เงินแท้ราคาสมน้ำสมเนื้อใส่อวดกันก่อนออกเดินทางต่อไปให้ทันโปรแกรมนัดหมาย

กระทรวงศึกษาและกีฬา

 

ไปถึง รถเก๋งใหม่ เก่า หลายรุ่น มากมายจอดต่อกันเต็มลานจนต้องวิ่งวนหาที่จอด บรรยากาศคล้ายกระทรวงศึกษาธิการไทย ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ สะท้อนสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นตามลำดับ การขยายตัวแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 7% ความนิยมมีรถส่วนตัวจึงเพิ่มขึ้นตามไป

ดร.สีสมอน สิทธิราชวงสา ปลัดกระทรวง ลงมายืนรอต้อนรับคณะ ยกมือรับไหว้ ทักทายสบายดีผู้มาเยือนทุกคน ก่อนพาขึ้นไปห้องรับรอง รองอธิบดีกรมจัดตั้ง รองอธิบดีกรมอนุบาล รองอธิบดีกรมพัวพันต่างประเทศ ผู้หญิงล้วน เข้ามาสมทบ แจ้งว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เดินทางไปงาน เลยมอบหมายให้พวกเฮามาต้อนฮับท่าน

ท่านปลัดกระทรวง บุคลิกสะท้อนคนเป็นครู สุภาพ นุ่มนวล บอกว่า ภาคภูมิใจมาก เป็นเกียรติอย่างสูงที่คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเดินทางมาเยี่ยมยาม มาพบครู เคยไปเยี่ยมยามคำนับท่านกฤษณพงศ์ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังจำได้ดี

ก่อนเล่าถึงการคัดเลือกครูของลาวเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ว่าครูที่ได้รับการคัดเลือกเป็นครูดีเด่นจาก 8 คนทั่วประเทศ เป็นการคัดเลือกมาตามลำดับ ตั้งแต่ระดับกลุ่มโรงเรียน ระดับเมือง ระดับแขวง ระดับนครหลวง ถึงระดับชาติ

“เมื่อได้รับรางวัลแล้วก็ให้สืบต่อกิจกรรมต่างๆ ทั้งครูคำสร้อย ครูคูนวิไล จะดำเนินการพัฒนาให้ครูแต่ละคนให้ได้รับเลือกได้รับรางวัลต่อไป ไปสอนครูชนเผ่าต่างๆ ให้พัฒนาด้วย อยากให้ครูของพวกเฮามีโอกาสไปดูโฮงเฮียน ชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่ได้รับพระราชานุเคราะห์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ”

 

หัวหน้าคณะไทยตอบว่า ครูต้องการมาดูงาน อบรมเพื่อพัฒนา มูลนิธิเป็นตัวกลางจัดให้ครูได้มาพบกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ครูทุกประเทศมีโอกาสพัฒนา มีองค์กรซีมีโอ สนับสนุนให้ครูพัฒนาการสอนออนไลน์ ครูมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ไทย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม ถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ตเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน

“การประชุมวิชาการนานาชาติที่จัดขึ้นหลังงานพิธีพระราชทานรางวัล ทำให้ครูไทย นักเรียนฝึกหัดครูมีโอกาสได้รับความรู้ เกิดแรงบันดาลใจจากครูที่ประสบความสำเร็จ ถอดบทเรียน หลักการทำงาน หลักการชีวิต ต่อไปจะเชิญไปเล่าเรื่องการศึกษาของลาวให้ครูไทยฟัง ราวเดือนเมษายน ปี 2561”

“หลังจากครูได้รับรางวัลแล้วก็ทำงานต่อสร้างเครือข่าย ครูที่ได้รางวัลรุ่นแรก 11 ประเทศมีความผูกพันกันเหมือนครอบครัว มีปัญหาก็ไถ่ถาม ปรึกษาหาทางออกช่วยกัน เป็นชุมชนครูที่น่าสนใจมาก ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดให้กับครูรุ่นต่อไป ถึงแม้ภาษาจะไม่เข้าใจกันบ้างแต่เทคโนโลยีช่วยได้ ช่วยให้เด็กทำงานด้วยกันได้ เด็กไม่กลัวเทคโนโลยี ครูใช้กูเกิลช่วย”

ครูคำสร้อย นั่งร่วมวงอยู่ด้วยเสริมหนักแน่น “ความเป็นครู มีความยิ่งใหญ่” ท่านปลัดกระทรวงยิ้มตอบ

 

ขณะ ดร.จักพรรดิ วะทา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แจ้งข่าวให้ทุกคนทราบ จะมีการประชุมสภาครูอาเซียนที่ดานัง ประเทศเวียดนาม เร็วๆ นี้

ฝ่ายไทยเล่าอีกว่า การจัดการศึกษาพื้นฐานมีการส่งเสริมให้นักเรียนสายสามัญไปเรียนสายอาชีพ อาชีวะเพิ่มขึ้น สมัยท่านกฤษณพงศ์ผลักดันหลักสูตรทวิภาคี ทวิศึกษา สอนวิชาชีพตั้งแต่ระดับมัธยม แต่ไม่บังคับ

“สายสามัญกับสายอาชีวะเรียนไปด้วยกัน เป็นมัธยมสายอาชีวะ จบแล้วได้ทั้งสองวุฒิ การจัดการเรียนการสอนพาเด็กสายสามัญไปเรียนในวิทยาลัยอาชีวะที่จังหวัดน่าน มีโรงเรียนมัธยม 7 แห่งติดกับแขวงไชยบุรีของลาว ครูสามัญไปสอนวิชาสามัญในโรงเรียนอาชีวะ และวิทยาลัยอาชีวะ ครูอาชีวะมาสอนโรงเรียนสายสามัญ”

“ที่ประเทศลาวก็มีมัธยมแบบประสม ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น ทั้งด้านอุตสาหกรรม กสิกรรม และคหกรรม” ท่านสีสมอนเล่า

 

ก่อนจบบทสนทนา คำถามจากฝ่ายผู้มาเยือน ถามกระมิดกระเมี้ยน

“ที่ลาวมีปัญหาครูเป็นหนี้บ้างไหมครับ”

“ลาวบ่มี สหกรณ์ครูให้ครูกู้เงิน มีแต่แชร์ ช่วยเหลือกันเอง”

“หลักการจัดการศึกษาของเฮา เน้นพัฒานักเรียนให้ครบองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่ คุณสมบัติศึกษา ปัญญาศึกษา ศิลปศึกษา พลศึกษา และแรงงานศึกษา ไม่ส่งเสริมให้ครูเป็นหนี้” ท่านปลัดกระทรวงย้ำ

เวลาแห่งมิตรภาพ การเยี่ยมยามเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จบลงด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง และหวังว่าจะได้พบกันใหม่อีก

ก่อนถึงรายการต่อไป ครูคำสร้อย พร้อมพ่อบ้าน รับเป็นเจ้าภาพมื้อกลางวัน พาไปภัตตาคารใหญ่กลางมือง New Rose Boutique hotel เจ้าของเป็นเพื่อนนักเรียนกลับจากฝรั่งเศสมาด้วยกัน ทำธุรกิจจนกิจการจนรุ่งเรืองมั่นคง เป็นแหล่งนัดพบ ทานอาหารของข้าราชการ ทั้งปัจจุบันและวัยเกษียณ หลายกระทรวง

พบอดีตอธิบดี ผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูงของลาวหลายคน ทักทายกันอย่างคุ้นเคย ก่อนขอตัวเดินทางต่อไปเยี่ยมยามโรงเรียนครูคูนวิไลบ่ายวันนั้น