หน้าตาของ ครม.เศรษฐา ปัญหาของรัฐบาลผสม | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

หลังจากที่ปรากฏโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 1 อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ตามข่าว “โปรดเกล้าฯ แล้ว แต่งตั้ง ครม.เศรษฐา 1 ไร้ชื่อ ‘ไผ่ ลิกค์’ ตามโผ” https://www.matichon.co.th/politics/news_4159476 ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอื้ออึงถึงหน้าตาของ ครม. ที่ดูไม่ค่อยได้รับความชื่นชมจากประชาชนสักเท่าไหร่

ส่วนใหญ่แล้วการตั้งคำถามเหล่านี้มักจะเป็นประเด็นหลักสองเรื่องคือ

หนึ่ง เรื่องการวางคนให้เหมาะกับงาน

และ สอง ภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก

“การวางคนให้เหมาะกับงาน” มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า “put the right man on the right job” เป็นการเลือกคนให้เหมาะกับลักษณะของงานที่ทำ ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เช่น การมอบหมายให้จักษุแพทย์ไปรักษาดวงตาของผู้ป่วยก็ย่อมได้ผลดีและถูกต้องกว่าการใช้ให้นักเต้นระบำไปทำงานนี้

แต่ ครม.เศรษฐา 1 มีการวางรัฐมนตรีหลายคนที่มีการศึกษาและประสบการณ์การทำงานที่ไม่ตรงกับสายงานในกระทรวงนั้นๆ เลย

ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมา เช่น ตั้งตำรวจให้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ถึงแม้ว่าปูมหลังทางการศึกษาและการประกอบอาชีพไม่ได้การันตีว่าผลงานที่ตามมาจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม

แต่นั่นก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

เสียงวิจารณ์อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่อง “ภาพลักษณ์” ที่รัฐมนตรีหลายคนไม่ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมจากประชาชนสักเท่าไหร่

อันเป็นผลมาจากเรื่องอื้อฉาวและคดีความต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถูกโจมตีจากเรื่องต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

การที่โฉมหน้ารัฐมนตรีออกมาเป็นเช่นนี้มาจากการที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้จำนวนเก้าอี้ ส.ส.มากพอจะตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวได้ เมื่อไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้จึงจำเป็นต้องรวมเสียงกับพรรคการเมืองอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคการเมือง

เมื่อมีหลายพรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องจัดสรรปันส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ไปตามโควต้าที่ตกลงกัน

พรรคใดได้กระทรวงใดไปก็เป็นวิจารณญาณของพรรคนั้นๆ ว่าจะแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีที่ได้มาให้กับ ส.ส.คนใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง

เมื่อพรรคต่างๆ ได้วางตำแหน่งรัฐมนตรีให้คนในพรรคของตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อให้ไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนักในหมู่ประชาชนก็ยากที่ใครจะไปหยิบจับหรือทำให้ขยับเขยื้อนได้

 

หากหวังว่าปัญหานี้จะเบาบางลงโดยไม่เปลี่ยนระบบการปกครอง ก็เห็นจะทำได้ทางเดียวคือประชาชนต้องลงคะแนนเสียงเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งให้ได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดท่วมท้น จนกระทั่งพรรคนั้นสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสมจำนวนน้อยพรรคได้

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต สมัยที่ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 อยู่ ในเวลานั้นพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ได้เสียงข้างมากในสภาจนทำให้ตั้งรัฐบาลผสมจำนวนน้อยพรรคได้ในสมัยแรก และตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ในสมัยที่สอง

ในสมัยแรกพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในอันดับที่ 1 คว้าเก้าอี้ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรมาได้ 248 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง หรือเกือบครึ่งของจำนวนทั้งหมด อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสม 3 พรรค ระหว่างพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย และพรรคความหวังใหม่ กลายเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง เนื่องจากพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลมีอำนาจต่อรองสูงกว่าอีกสองพรรคมาก และยังมีเสียงเกินกว่าที่ฝ่ายค้านจะเอาชนะในสภาได้

ทำให้รัฐบาลนี้อยู่ยาวจนครบวาระ 4 ปีได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

สมัยต่อมาคือหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือได้ ส.ส.จำนวน 376 ที่นั่ง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาไปถึง 126 เสียง ทำให้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ช่วงระหว่าง 5 ปี ภายใต้รัฐบาลไทยรักไทยทั้งสองสมัยนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ดึงทั้งคนในและคนนอกที่มีคุณลักษณะพิเศษในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เหมาะสมกับตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ เข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก

และเมื่อใดก็ตามที่มีเหตุขัดข้องทำให้เกิดปัญหาต่อภารกิจหลักของกระทรวงนั้น รัฐมนตรีก็จะถูกโยกย้ายได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์

นอกเหนือไปจากวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำ และความสามารถทางการบริหารของทักษิณ ชินวัตร แล้ว รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและคณะรัฐมนตรีที่มีศักยภาพตลอดจนมีความสามารถเหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งตื่นตัวต่อการตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาลอยู่เสมอ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ประกอบกันเข้าทำให้รัฐบาลไทยรักไทยสามารถสร้างผลงานได้อย่างมากมาย

ในบรรดาผลงานต่างๆ เหล่านี้หลายเรื่องกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนของการบริหารงานภาครัฐที่มิอาจหมุนกลับไปเป็นเช่นในอดีตได้อีก เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

ก่อนยุคสมัยของรัฐบาลไทยรักไทยนั้นเป็นยุคสมัยของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งในรัฐสภาประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง รวมทั้งมีรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ไร้เสถียรภาพและด้อยประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากการต่อรองของนักการเมืองจากพรรคต่างๆ เพื่อแบ่งโควต้ารัฐมนตรี ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการวางคนไม่เหมาะกับงานรวมทั้งภาพลักษณ์ที่ติดลบแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ความพยายามในการแก้ปัญหานี้สำเร็จสัมฤทธิผลหลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “ทหารกลับเข้ากรมกอง” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และกระแส “ปฏิรูปการเมือง” อันนำมาสู่การกำเนิดของ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

ในที่สุด หลังจากนั้น เมื่อพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก็เข้าสู่ยุคกาลอวสานของรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ

 

แต่เมื่อผ่านไปเพียงห้าปี หลังจากที่ขบวนการภาคประชาชนในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “พธม.” ภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้เคลื่อนไหวขย่มรัฐบาลทักษิณอยู่ร่วมปี

ในที่สุด “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “คปค.” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ “คมช.” ภายใต้การนำของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณในปี พ.ศ.2549 แล้วฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทิ้ง

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ได้เริ่มปรากฏเค้าลางของการหวนกลับมาสู่ยุคของรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

เมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 17 ปี ผลพวงจากความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองอย่างยาวนานข้ามทศวรรษได้แปรสภาพรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนกลุ่มทางการเมืองหลายระลอก เกิดทั้งการยุบและการสร้างองค์กรอิสระต่างๆ ไปจนถึงการตีความทางกฎหมายทั้งแบบธรรมดาไปจนถึงแบบพิสดารมากมาย

กระทั่งท้ายที่สุดกลายเป็นลักษณะดังปัจจุบันที่เหตุปัจจัยทั้งมวลได้มาประกอบกันเข้าแล้วส่งผลลัพธ์ออกมาเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่มี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แถมยังมีสิทธิโหวตเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

และมีหน้าตาของรัฐบาลผสมหลายพรรคที่ไร้เสถียรภาพและมีปัญหาด้านภาพลักษณ์ไม่ต่างจากเมื่อ 30-40 ปีก่อน

 

ไม่มีใครทราบว่าปัญหานี้จะอยู่อีกนานหรือไม่ จะคลี่คลายไปเป็นอะไร หรือจะแปรเปลี่ยนไปสู่ทิศทางใดในอนาคต

แต่ในทางหลักการแล้วก็ได้แต่คาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะเกิดรัฐธรรมนูญที่ได้รับการออกแบบให้มีกลไกที่ดีกว่านี้ เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ สามารถให้กำเนิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตรงกับเจตจำนงของประชาชน และมีศักยภาพในการวางคนให้เหมาะสมกับงานได้อย่างเต็มที่

ซึ่งหากว่ามีวันนั้นเกิดขึ้นจริง ก็หวังว่า “ภาคประชาชน” จะเข้มแข็งพอที่จะอยู่กับ “รัฐบาลเข้มแข็ง” ได้อย่างมีสติและมีวุฒิภาวะ ไม่ไหวเอนไปเชียร์ “อำนาจนอกระบบ” เอาง่ายๆ เมื่อล้มรัฐบาลลงไม่ได้ทันใจ เพราะยักษ์เมื่อออกจากตะเกียงแล้วย่อมไม่อยากหวนกลับไปนอนคุดคู้อยู่ในตะเกียงอีกเป็นธรรมดา การกวักมือเรียกอำนาจนอกระบบออกมาจัดการปัญหาแบบใจเร็วด่วนได้

นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ แล้ว ยังเป็นการ “วนลูป” ย้อนกลับไปกลับมาไม่จบไม่สิ้น

ที่ร้ายที่สุดก็คือ เผลอๆ จะไม่มีโอกาสได้ วนกลับมา อีกเลยด้วยซ้ำ