ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (10)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มาถึงเครื่องเซ่นไหว้ที่เรามักเจอได้บ่อยๆ เพราะเป็นของที่หาได้ง่ายและไม่ได้มีราคาค่างวดอะไร ทว่า มีความหมายลึกซึ้งและซับซ้อน คือ “หลักฉ่าย” หรือ “ของแห้งทั้งหกอย่าง” อันได้แก่ วุ้นเส้น เห็ดหอม เห็ดหูหนูแห้ง ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ (แบบแท่ง) และหมี่ซั่ว

บางครั้งเราจะเห็นร้านค้าเขารวมของเหล่านี้ (ยกเว้นหมี่ซั่ว) ไว้ด้วยกันในถุงเดียว (เรียกชุดต้มจืดก็มี) แต่รู้กันว่าแบ่งขายไว้ให้ซื้อไปไหว้เจ้า ซึ่งก็สามารถนำมาต้มจืดได้อย่างเอร็ดอร่อยเป็นที่ทราบกันดีของลูกหลานคนจีน

คราใดอาม่าอากงไหว้เจ้า อั๊วก็ได้กินแกงจืดรวมมิตรอย่างงี้ทุกทีสิน่า

หลักฉ่ายเป็นเครื่องบูชาสำหรับเทพยดาโดยเฉพาะ ใช้ไหว้เทพได้ทุกระดับชั้นตั้งแต่ไหว้ฟ้าลงมาเลยทีเดียว แต่ไม่นิยมนำมาไหว้บรรพชนหรือวิญญาณผู้ตาย เพราะผีกินอย่างคนคือกินข้าวปลาอาหารสุกแล้ว ส่วนเทพนั้นเป็นการไหว้เพื่อความหมายมงคล

กระนั้นในบางธรรมเนียม หากจะมีสิ่งเหล่านี้สำหรับไหว้บรรพชนก็จะอยู่ในรูปของกับข้าวที่ปรุงสุกแล้ว เช่น ทางบ้านผมมีกับข้าวไหว้บรรพชนอย่างหนึ่ง เรียกกันง่ายๆ ว่าผัดตังหุนหรือผัดวุ้นเส้น วิธีทำก็เพียงเอาของแห้งเหล่านี้ (ยกเว้นหมี่ซั่วและเห็ดหอม) มาแช่น้ำให้นิ่ม แล้วนำไปผัดโดยนิยมใส่หมึกกรอบหรือหมึกแช่ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วและเครื่องปรุงต่างๆ บางบ้านก็อาจนำมาทำเป็นแกงจืด ถือว่าของเหล่านี้มีสรรพคุณบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี

การวางหลักฉ่ายเพื่อไหว้เทพเจ้า ท่านว่าแต่เดิมในศาสนาเต๋ามีการเซ่นไหว้ด้วย “หง่อฉ่าย” คือของแห้งห้าอย่างตามทฤษฎีธาตุทั้งห้า แต่ชาวบ้านไม่ชอบเลขคี่เพราะเห็นว่าเลขคู่เป็นมงคลมากกว่า ดังที่ผมได้เคยเล่าไปแล้ว และเลขหกยังแสดงถึงความครบครันต่างๆ ดังจะอธิบายต่อไป

งานพิธีแบบชาวบ้านจึงนิยมเซ่นไหว้ของแห้งหกอย่างโดยเพิ่มหมี่ซั่วเข้ามา บางตำราก็อาจแทนวุ้นเส้นด้วยถั่วลิสงก็ได้ แต่ในพิธีที่เคร่งธรรมเนียมนักพรตก็ยังคงตั้งไหว้ด้วยของแห้งห้าอย่างอยู่

 

เลขหกมีนัยสำคัญในความเชื่อจีนจากคติเรื่อง “หลักฮะ” หรือ “หกประสาน” ซึ่งรับมาจากเรื่องทิศหกในพุทธศาสนา แล้วมาผสมกับคติหยูหรือขงจื่อ

ทิศทั้งหกได้แก่ ฟ้าหรือทิศเบื้องบน, ดินคือทิศเบื้องล่าง ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้

พุทธศาสนาอุปมาเรื่องทิศทั้งหกแทนความสัมพันธ์กับบุคคลรอบๆ ตัวเรา ได้แก่ ทิศเบื้องหน้าคือบิดามารดา ทิศเบื้องขวาคือครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องหลังคือภรรยาหรือสามี ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ทิศเบื้องล่างคือคนรับใช้หรือลูกน้อง และทิศเบื้องบนคือสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย

เรื่องทิศหกนี้เผอิญไปสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ในระบบขงจื่อพอดี ขงจื่อถือว่าความสัมพันธ์ในแต่ละชุดควรดำเนินไปด้วยความบรรสานกลมเกลียว เช่น บิดามารดาเลี้ยงดูบุตร บุตรก็กตัญญูต่อบิดามารดา เป็นต้น หากความสัมพันธ์ทุกชุดเป็นไปโดยราบรื่น ครอบครัวและสังคมนั้นๆ ย่อมจะสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง

นอกจากนี้ ในทางกายภาพ หกทิศคือทุกพื้นที่รายรอบตัวเรา การเซ่นไหว้ของคนจีนซึ่งเน้นความบริบูรณ์ตลอดถ้วนทั่ว ทำให้การจัดของไหว้ต้องสะท้อนแนวคิดนี้ด้วย เพื่อให้พรหรือสิริมงคลครอบคลุมทุกทิศทาง ทุกธาตุและทุกเวลา (ครบตลอดทั้งปีและทุกฤดูกาล)

ชาวจีนนับฤดูกาลว่ามีสี่ฤดู ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ในแต่ละฤดูมีสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกันจนแบ่งย่อยออกไปอีกฤดูละหกอุตุปักษ์ รวมเป็นยี่สิบสี่อุตุปักษ์ และมีธาตุทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง เป็นแม่ธาตุครองแต่ละฤดูกาลอีกชั้น

 

ของแห้งหกอย่างที่ใช้เซ่นไหว้ล้วนสะท้อนคติความเชื่อเหล่านี้ สามารถจำแนกความหมายตามฤดูกาลและธาตุซึ่งเป็นเจ้าเรือนครองฤดูกาลเหล่านั้นด้วย ดังนี้

หมี่ซั่วหรือสิ้วหมี่หมายถึงหมี่อายุยืน และฟองเต้าหู้หรือเต็กอากี้ (บ้างก็เรียกเต็กกากี้) แปลว่ากิ่งเล็กๆ ของไผ่ เพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน สะท้อนถึงฤดูชุนหรือฤดูใบไม้ผลิ และสะท้อนถึงธาตุไม้ตามคุณลักษณะของมัน

ฤดูนี้เป็นฤดูแห่งการก่อกำเนิดชีวิตใหม่ ความสดชื่นหรือแสดงถึงอายุที่เพิ่มขึ้น ความมีอายุยืน (จากชื่อ) และกิ่งไผ่ที่แตกยอดใหม่อันแทนด้วยหมี่ซั่วและเต็กอากี้จึงมีความหมายตรงตามฤดูกาลนี้ รวมทั้งข้าวสาลีก็เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในฤดูนี้ด้วย

ท่านจึงให้วางหมี่ซั่วไว้เป็นจานแรกทางซ้ายมือของเทพประธาน หรือด้านขวาของเราเมื่อหันหน้าไปยังแท่นบูชา ตามด้วยเต็กอากี้ เพื่อให้เป็นเครื่องหมายถึงฤดูแรกของปีและธาตุไม้

ตามคติเต๋านั้น ธาตุไม้ก่อกำเนิดหรือหนุนเสริมธาตุไฟ ฤดูใบไม้ผลิจึงเคลื่อนมาสู่ฤดูร้อน สะท้อนใน “เห็ดหอม” ภาษาฮกเกี้ยนเรียก “เฮี่ยวก้อ” เฮี่ยวแปลว่าหอม ซึ่งเป็นคำเดียวกับเวลาเราเรียกธูปหอม ที่จริงท่านว่าโบราณให้ใช้เห็ดหลินจือ ทว่า เป็นของหายากราคาแพงจึงใช้เห็ดหอมแทน

นอกจากชื่อจะสะท้อนธาตุไฟ (คือกลิ่นหอมของธูป) แล้ว ถือกันว่าเห็ดหลินจือบำรุงธาตุไฟในกาย และเห็ดทั้งสองชนิดยังเกิดขึ้นในหน้าร้อนอีกด้วย จึงให้จัดเรียงถัดมาเป็นจานที่สาม

จากธาตุไฟก่อกำเนิดหรือหนุนเสริมธาตุดิน ฤดูร้อนเคลื่อนมาสู่ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูสารท ของแห้งที่สะท้อนธาตุและฤดูกาลนี้ ได้แก่ “เห็ดหูหนู” (บ๊อกหนี) ที่จริงแม้คำว่าบ๊อกจะแปลว่าไม้แต่ก็ไม่จัดเข้าธาตุไม้ และหนีแปลว่าหู โดยที่คำนี้พ้องกับความหมายว่าก่อกำเนิดมนุษย์ เพราะดินเป็นที่เกิดแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย

บางตำราอาจจัดให้เห็ดหูหนูแทนธาตุน้ำเพราะเกิดในที่ชื้นแฉะ แต่นอกจากเห็ดหูหนู ฤดูนี้ยังแทนด้วย “ดอกไม้จีน” หรือกิ๊มเจี้ยม ซึ่งแปลว่าเข็มทอง

แม้จะถูกจัดให้อยู่ในฤดูกาลเดียวกัน ดอกไม้จีนกลับเป็นตัวแทนของธาตุทองหรือโลหะตามชื่อของมัน เพราะจากธาตุดินย่อมก่อกำเนิดธาตุทองหรือโลหะธาตุ

ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ไม้นั้นเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟ ไฟเผาไม้จนกลายเถ้าถ่าน (ดิน) ถ่านหรือดินอัดกันแน่นจนก่อเกิดโลหะ โลหะหลอมกลายเป็นของเหลว (น้ำ)

อีกทั้งเห็ดหูหนูและดอกไม้จีนเป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูใบไม้ร่วง ความหมายของฤดูใบไม้ร่วงในภาษาจีน หมายถึงร่วงหลุด ร่วงหล่น แก่ตัว ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของสองสิ่งนี้ด้วย คือต้องรอให้เจริญสุดแล้วเหี่ยวแห้งลงไป

สุดท้าย จากธาตุโลหะก่อกำเนิดหรือหนุนเสริมธาตุน้ำ จากฤดูใบไม้ร่วงเคลื่อนมาสู่ฤดูหนาว สะท้อนผ่าน “วุ้นเส้น” หรือ “ตังหูน” ในภาษาฮกเกี้ยน คำว่าตังแปลว่าเหนียวใส แต่พ้องกับคำว่าฤดูหนาวพอดี เนื่องจากวุ้นเส้นมีสีใสจึงถือเป็นตัวแทนของธาตุน้ำ

ในทางการผลิต ถั่วเขียวซึ่งใช้ในการทำวุ้นเส้นจะเริ่มเก็บเกี่ยวและตากตั้งแต่เทศกาลเฉ่งเบ๋งหรือเช็งเม้ง และนำออกมาโม่เป็นแป้งไว้ใช้ในฤดูหนาว วุ้นเส้นจึงเป็นจานสุดท้ายทางซ้ายมือของเรา หรือขวามือของพระประธานในแท่นบูชา

 

อันที่จริงการอธิบายให้เกี่ยวข้องกับธาตุทั้งห้าคงมีมาในภายหลัง ผมคิดว่าแต่เดิมชาวบ้านคงเพียงนำเอาผลผลิตที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนั้นๆ มาไหว้เทพเจ้าซึ่งเป็นมโนคติที่เก่าแก่กว่า พอไหว้เป็นสัญลักษณ์ครบทุกฤดูก็ถือว่า พรจะครอบคลุมทุกฤดูและทุกความสัมพันธ์จนครบ

ในงานหรือเทศกาลใหญ่ๆ ก็อาจเพิ่มเติมของแห้งไม่สดคาวอีกหกอย่างให้ครบเป็นสิบสองอย่างเรียกว่า “จับหยี่ฉ่ายอั๊ว” โดยหลักฉ่ายจะเรียงตามลำดับตามที่อธิบายข้างต้น อีกแถวจึงจะเพิ่มของแห้งอีกหกอย่างเข้ามา เช่น ถั่วลิสง (ถ่อต่าว แปลว่าถั่วดิน) เผือกทอด สาหร่าย เม็ดบัว ฯลฯ ของแห่งหกอย่างเพิ่มเติมนี้มิได้บังคับว่าต้องมีอะไรบ้าง แต่นิยมที่มีชื่อมงคล และอาจเพิ่มพวกผลไม้แช่อิ่มและของหวานที่เรียกว่า เต๋เหลี่ยว เข้ามาอีกเก้าหรือสิบสองอย่างก็ได้

อ่อ เพราะหลักฉ่ายเป็นของเหี่ยวของแห้งจึงไม่ใช้เซ่นไหว้ในพิธีแต่งงานกันเลยครับ ท่านบอกมันไม่เหมาะแก่การเริ่มต้นชีวิตคู่ เห็นแล้วก็แห้งเหี่ยวใจ พอใจมันเหี่ยวมันแห้งก็กลัวห้องหอจะร้างวังเวงเงียบเหงา

เขียนไปเขียนมาก็ยิ่งเห็นว่า คนจีนให้ความสำคัญกับความหมายและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ แต่ก็ตามสุภาษิตที่ท่านว่าแหละครับ “รู้มากจะยากนาน” คือยิ่งรู้เยอะก็ยิ่งจุกจิกมากความ มองในแง่ดีก็ทำให้เราเป็นคนละเอียดอ่อน มองในแง่ลบก็เพิ่มความจู้จี้และความกังวลให้อีก ฉะนั้น หากรู้แล้วจะทำหรือไม่อย่างไรนั้นก็พึงไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน

ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องอะไร โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง