วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (13)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ภาษาจีนกับจักรวรรดิ

ภาษาเป็นสิ่งที่แยกขาดจากจักรวรรดิไปไม่ได้ เพราะพื้นฐานของภาษาคือ ศักยภาพในการสื่อสาร รัฐใดที่สร้างภาษาเพื่อการนี้ขึ้นมาได้ย่อมได้เปรียบรัฐที่สร้างไม่ได้ รัฐที่มีภาษาใช้จึงสามารถสะสมและขยายอิทธิพลของตนได้ดีกว่ารัฐที่ไม่มี

และในกรณีจีนก็คือ ภาษาจีน

ภาษาจีนมีพื้นฐานมาจากอักษรภาพ การค้นพบครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้รู้ว่า จีนมีอักษรใช้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง (ก.ค.ศ.1600-1046) หลักฐานที่พบเป็นกระดองเต่ากับกระดูกวัวสำหรับพิธีกรรมพยากรณ์

โดยตัวอักษรจะถูกสลักลงในวัตถุที่ว่า จากนั้นปุโรหิตก็จะทำพิธีเสี่ยงทายเพื่อพยากรณ์เรื่องราวที่กษัตริย์ทรงต้องการรู้

 

การค้นพบตัวอักษรจีนผ่านหลักฐานที่ว่าเริ่มด้วยความบังเอิญ แต่หลังจากนั้นก็เป็นไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ1 ดังที่แหล่งโบราณสถานหลายแห่งในโลกก็เป็นเช่นนี้

ในชั้นแรก การค้นพบดังกล่าวมีประโยชน์ในแง่ที่ยืนยันการมีอยู่จริงของราชวงศ์ซาง แต่ในทางอักษรศาสตร์แล้ว หลักฐานที่พบกลับไม่อาจเชื่อมโยงไปถึงอักษรจีนในยุคก่อนหน้านั้นได้เลย

แม้จะมีหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่กว่าสมัยซางที่เป็นรูปรอยคล้ายตัวอักษร แต่จนถึงบัดนี้นักวิชาการก็ยังไม่อาจอ่านได้ จึงทำให้ไม่รู้ว่าอักษรจีนเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อไร

ส่วนตำนานจีนนั้นก็เล่าว่าผู้ให้กำเนิดอักษรจีนก็คือ ชางเสีย ผู้เป็นขุนนางของฮว๋างตี้2 แต่ก็มีอีกบางที่ที่เล่าว่าเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ชางเสียก็มี ถึงที่สุดแล้วเรื่องปรัมปราเช่นนี้ก็นำมาใช้อ้างอิงในทางวิชาการไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่อักษรจีนมีพื้นฐานมาจากอักษรภาพนับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาจีนเอง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า เหญิน ที่แปลว่า คนหรือมนุษย์ นั้นแต่แรกเริ่มจะเขียนให้ดูคล้ายคน คือมีหัว แขน และขา

แต่พอเวลาผ่านไปการเขียนก็วิวัฒน์มาเป็นตัวอักษรที่ประกอบไปด้วยขีดสองขีดที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งก็คือคำว่า เหญิน ที่เขียนกันในปัจจุบัน คือดูแล้วแทบจะไม่เห็นเค้าว่าจะคล้ายคนได้อย่างไร

การที่อักษรภาพวิวัฒน์มาเป็นอักษรตัวเขียนจนไม่เห็นเค้าภาพเดิมนี้ทำให้เห็นว่า อักษรจีนได้วิวัฒน์จากที่เป็นรูปธรรมมาเป็นนามธรรมนั้นเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตอนที่ยังเขียนเป็นอักษรภาพนั้นเป็นการเขียนอย่างตรงไปตรงมาตามภาพที่เห็น เป็นการเขียนเพื่อสื่อสารอย่างบริสุทธิ์ แต่เมื่อเขียนไปนานๆ เข้า ลายเส้นตัวอักษรก็เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม

จนเมื่อเขียนมาถึงเวลาหนึ่งที่ต่างเห็นว่าน่าจะยุติได้แล้ว และให้ยึดเอาที่ยุติแล้วนี้เป็นมาตรฐานต่อไป ถึงตอนนั้นตัวอักษรตัวนั้นก็ไม่เหลือเค้าอักษรภาพให้เห็นอีก หรือหากจะเหลือก็คงน้อยเต็มที

 

อักษรจีนที่วิวัฒน์จากอักษรภาพมาเป็นอักษรตัวเขียนนี้แท้จริงแล้วก็คือ ความรู้สึกนึกคิดที่มองเห็นตัวอักษรเป็นภาพหรือรูปธรรมอย่างง่ายๆ และบริสุทธิ์นั้น ได้ถูกประมวลสรุปรวบยอดมาเป็นนามธรรมที่ซับซ้อนและลึกซึ้งแล้วนั้นเอง

จากเหตุนี้ การวิวัฒน์ของอักษรหรือภาษาจีนนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ นักอักษรศาสตร์จีนจึงแยกอธิบายอักษรจีนออกเป็นหกกลุ่มด้วยกัน คือ3

กลุ่มที่หนึ่ง รูปภาพ (เซี่ยงสิง) เป็นการเขียนลักษณะสิ่งของตามจริง หรือเขียนตามภาพที่เห็น เช่น คำว่า เหญิน ที่แปลว่า คน ซึ่งเขียนตามภาพคนที่ได้เห็นจริง เป็นต้น

กลุ่มที่สอง บอกความหมาย (จื่อซื่อ) เป็นการเขียนที่ประกอบสัญลักษณ์ที่มีความหมายในตัวของมันเอง เช่น คำว่า ซ่าง ที่แปลว่า บน ในสมัยโบราณจะเขียนสองขีดตามขวาง โดยขีดบนจะสั้นกว่าขีดล่างเพื่อสื่อว่าสิ่งที่สั้นกว่า เล็กกว่า หรือเบากว่าจะอยู่ “ข้างบน” เป็นต้น

กลุ่มที่สาม ควบความคิด (ฮุ่ยอี้) เป็นการเขียนโดยนำอักษรจีนมากกว่าหนึ่งตัว (ที่อาจเป็นอักษรในกลุ่มที่หนึ่งหรือสอง) มารวมกันแล้วได้เป็นอักษรใหม่ที่มีความหมายใหม่ เช่น นำคำว่า เหญิน (คน) มารวมเข้ากับคำว่า เอี๋ยน (คำพูดหรือภาษา) เป็นคำใหม่อ่านว่า ซิ่น ที่หมายถึง คำพูดของบุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ ความหมายตรงกันข้าม (สิงเซิง) อักษรในกลุ่มนี้จะแยกเป็นกลุ่มที่เป็นรูป (สิง) กับกลุ่มที่เป็นเสียง (เซิง) ส่วนที่เป็นรูปจะมุ่งให้ความหมายของตัวอักษรทั้งตัว ส่วนที่เป็นเสียงจะให้ความหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการออกเสียงของตัวอักษรตัวนั้นทั้งหมด

เช่น ส่วนที่เป็นรูปของคำว่า สุ่ย (น้ำ) มารวมกับส่วนที่เป็นเสียงของคำว่า กง (งาน) กลายเป็นคำว่า เจียง แปลว่า แม่น้ำ เป็นต้น

กล่าวกันว่า อักษรจีนในกลุ่มที่สี่นี้มีใช้กันมากถึงร้อยละ 80 ขึ้นไป และบางครั้งก็เรียกอักษรในกลุ่มนี้ว่า เสียเซิง คำว่า เสีย ในที่นี้แปลว่า ประสาน ผสมผสาน คำว่า เสียเซิง จึงแปลว่า เสียงที่ผสมผสานกันแล้วได้คำที่มีความหมายใหม่อีกหนึ่งคำ

กลุ่มที่ห้า เปรียบเทียบ (จ่วนจู้) คำว่า จ่วนจู้ หมายถึง การให้อรรถาธิบายแก่กันและกันได้ อักษรในกลุ่มนี้จึงหมายถึง ตัวอักษรที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันต่างสามารถให้อรรถาธิบายแก่กันและกันได้

เช่น คำว่า เข่า ที่แปลว่า สอบหรือตรวจสอบ มีอีกความหมายหนึ่งว่า ล่วงลับ มักจะใช้กับผู้เป็นบิดาที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ในคำจีนมีอีกคำหนึ่งคือคำว่า เหล่า ที่แปลว่า ชรา คำคำนี้มีอีกความหมายหนึ่งว่า ล่วงลับ เช่นกัน (เพียงแต่ต้องมีคำว่า เลอ ที่แปลว่า แล้ว ต่อท้ายเป็นคำว่า เหล่าเลอ เท่านั้น)

เมื่อนำคำว่า เข่า กับ เหล่า มาเทียบเคียงกันก็จะพบว่ามีความหมายที่อาจใช้ร่วมกันได้ อักษรในกลุ่มที่ห้าจึงมีนัยเปรียบเทียบเช่นนี้

กลุ่มที่หก รูปแทนเสียง (เจี่ยเจี้ย) หากแปลให้ตรงตามตัวอักษรแล้ว คำว่า เจี่ยเจี้ย อาจแปลได้ว่า แสร้งยืม ความหมายของอักษรจีนในกลุ่มนี้จึงหมายถึงคำที่มีรูปและเสียงที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกันสุดแท้แต่บริบทที่ใช้

ตัวอักษรในกลุ่มนี้จะมีรูปอักษรหนึ่งตัวเป็นหลัก หากเติมคำอื่นมาประกอบจะได้อักษรตัวใหม่ที่มีความหมายใหม่ แต่ยังคงออกเสียงเหมือนหรือคล้ายเสียงรูปอักษรหลักตัวนั้น เช่นคำว่า หม่า (ม้า) หากเติมคำว่า ฉง (หนอน) ไว้หน้าคำก็ยังคงเสียงเดิมว่า หม่า แต่มีความหมายใหม่ว่า ปลิง

หรือคำว่า หม่า คำเดียวกันนี้หากเติมคำว่า หนี่ว์ ที่แปลว่า สตรี ไว้หน้าคำก็จะมีเสียงใหม่ว่า มา และมีความหมายใหม่ว่า แม่ เป็นต้น

 

จากทั้งหกกลุ่มดังกล่าวทำให้เห็นถึงความซับซ้อนและลึกซึ้งของภาษาจีนโดยตัวของมันเอง ทั้งที่แต่เดิมเป็นเพียงภาพที่สื่อสารกันให้เข้าใจโดยง่าย

แน่นอนว่า การวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงนี้ย่อมดำเนินควบคู่ไปกับบริบทอื่นๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรมก็ตาม

เหตุดังนั้น เมื่อโครงสร้างทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ภาษาจีนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจีนก็ถูกนำมารับใช้โครงสร้างดังกล่าวไปด้วย

กล่าวเฉพาะยุคต้นประวัติศาสตร์กับยุคประวัติศาสตร์แล้ว การรับใช้นี้มิได้กว้างขวางไปสู่มวลชน หากแต่เป็นเครื่องมือที่ดียิ่งที่ชนชั้นปกครองจีนนำมาใช้ในฐานะหนึ่งในกลไกอำนาจรัฐ

มวลชนหรือราษฎรทั่วไปจะใช้ภาษาจีนก็แต่ในการสนทนาในชีวิตประจำวันเป็นหลักเท่านั้น

——————————————————————————

1 สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้เรื่องราวการค้นพบหลักฐานอักษรกระดองเต่าหรือกระดูกวัวที่น่าตื่นตาตื่นใจสามารถดูได้ใน “จงกว๋อเจี๋ยกู่เหวิน” (อักษรกระดูกและกระดองของจีน). Available from : http://v.youku.com/v_show/id_XMTgzNzUwMTY=.html

2 ฮว๋างตี้เป็นบุคคลในตำนาน ว่ากันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดชนชาติจีนคู่กับเอี๋ยนตี้ ชาวจีนจึงมักเรียกตัวเองอย่างย่อๆ ว่า ลูกหลานเอี๋ยนฮว๋าง (เอี๋ยนฮว๋างจื่อซุน)

3 คำที่เป็นเสมือนศัพท์บัญญัติของทั้งหกกลุ่มนี้ใช้ตาม เสฐียรโกเศศ (นามปากกา) ในผลงานเรื่อง ไทย-จีน เป็นหลัก มีปรับเฉพาะคำเรียกในกลุ่มที่หกที่แต่เดิมใช้ว่า รูปอักษรที่ใช้แทนเสียง ที่ใช้ตาม เสฐียรโกเศศ นี้ด้วยเห็นว่าบัญญัติได้สั้นกระชับ แต่ได้ความหมายครอบคลุม