🎀 (A cute rhizome) | กระบวนการสำรวจความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศ ผ่านเศษเสี้ยววัตถุอันระยิบระยับ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการที่แปลกใหม่น่าสนใจ เลยถือโอกาสหยิบมาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้เป็นของ กมลรส วงศ์อุทุม ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้ทำงานอยู่ในลอนดอน สหราชอาณาจักร กมลรสทำงานในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาวะความเป็นผู้หญิง ผสานเข้ากับเกร็ดประวัติศาสตร์ส่วนตัวและส่วนรวม และความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศ

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอประกอบด้วยงานศิลปะจัดวาง, งานศิลปะตัดต่อ, ภาพวาด, งานจิตรกรรม, ภาพถ่าย และข้อเขียน โดยเธอกล่าวถึงแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการนี้ค่อนข้างเกี่ยวกับการมอง ย้อนไปตั้งแต่กระบวนการทำงานสมัยแรกๆ ของเราก็จะมีสัมผัสของการมองมาตลอด อย่างเช่น ตอนอายุ 20 ต้นๆ เราทำเรื่อง Attraction (เสน่ห์ดึงดูด) ในแง่ของความโรแมนซ์ ซึ่งเป็นเรื่องของการมอง และ Females glance (การเหลือบมองของผู้หญิง) ต่อด้วยเรื่อง Objectification (การมองคนเหมือนเป็นวัตถุสิ่งของ) และ Female gaze (การจับจ้องด้วยสายตาผู้หญิง) ซึ่งก็เป็นเรื่องของการมองเช่นกัน”

“หรืองานในชุดก่อนหน้านี้ เราก็ทำในประเด็นเกี่ยวกับทฤษฎีเฟมินิสต์ คือถ้าเราสนใจในประเด็นอะไร หรือมีเรื่องอะไรที่กระทบใจ เราก็จะเอาจุดนั้นไปขยายต่อในเชิงทฤษฎี ผสมกับกระบวนการทำงานศิลปะ แต่วันหนึ่งเราเกิดจุดเปลี่ยนทางความคิดขึ้นมา คือพอเราอ่านทฤษฎีเฟมินิสต์มาเรื่อยๆ ก็เหมือนมีจุดสุดเพดานสำหรับเรา ในแง่ที่ว่า เรื่องราวหรือวัตถุบางอย่างที่เราเห็นซ้ำๆ หรืออยากพูด สามารถต่อยอดไปได้มากกว่าทฤษฎีที่เราอ่าน หรือในห้วงขณะที่เราติดงานชิ้นหนึ่งเอาไว้บนผนังแล้วมอง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเห็นสามารถพูดอะไรได้มากกว่าสิ่งที่เราค้นคว้ามา ทำให้เราสามารถทลายกำแพงของทฤษฎีเฟมินิสต์ และเปิดไปสู่การมองผลงานชุดนี้ในมิติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การเฝ้ามอง เทรนด์ต่างๆ ในสังคม ในโลกออนไลน์”

“พูดง่ายๆ ก็คือ งานชุดนี้จะเป็นเรื่องของ Visual culture (วัฒนธรรมทางสายตา) เป็นส่วนใหญ่”

เมื่อเข้าไปในห้องแสดงงาน สิ่งที่เราเห็นโดดเด่นเตะตาคือผลงานศิลปะอันแปลกตาบนผนังที่ดูเหมือนเป็นส่วนผสมของงานจิตรกรรม ภาพถ่าย และงานดิจิทัลคอลลาจ

“งานชุดนี้เป็นการทับซ้อนภาพถ่ายวัตถุสิ่งของที่แสดงความเป็นผู้หญิงที่ถ่ายในสตูดิโอ กับงานจิตรกรรมและงานวาดเส้น แล้วผลิตเป็นชิ้นงานออกมาด้วยกระบวนการของภาพถ่าย แต่ก็เป็นภาพถ่ายที่ผ่านการเสริมแต่งด้วยกระบวนการดิจิทัล ผลงานภาพถ่ายที่เห็นในนิทรรศการ ก็ไม่ใช่ภาพถ่ายที่พิมพ์ลงกระดาษ แต่เป็นการใช้เทคนิคการพิมพ์ยูวีลงบนแผ่นกระจกเงา และซ้อนทับด้วยกระจกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เกิดมิติทับซ้อนขึ้นมา เพราะฉะนั้น สิ่งละอันพันละน้อยของผู้หญิงที่มีสีสันฉูดฉาด แวววาวเหล่านี้ ต่างก็ถูกเสริมแต่งความเป็นวัตถุของมันให้เด่นชัดออกมา ผลงานในนิทรรศการนี้ก็เลยมีความเป็นวัตถุค่อนข้างเยอะ”

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ บนพื้นของห้องแสดงงานถูกปูด้วยพรมที่มีประกายแวววาวคล้ายกากเพชรสะท้อนแสงระยิบระยับไปทั่วทั้งห้อง

“เหตุผลที่เราเลือกให้มีกลิตเตอร์บนพื้น เพราะงานทุกชิ้นในนิทรรศการนี้มีความเป็น 2 มิติ ที่แบน เรียบ และนิ่ง เพราะฉะนั้น กลิตเตอร์พวกนี้จะเป็นสิ่งเดียวในนิทรรศการที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้ชมเคลื่อนไหว แสงระยิบระยังของกลิตเตอร์ก็จะเคลื่อนไหวตามไปด้วย เหมือนเป็นองค์ประกอบอีกอย่างในงานชุดนี้”

ในเนื้อหาประกอบนิทรรศการนี้ยังมีการอ้างอิงถึง Titane ผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส จูเลีย ดูกูอานู (Julia Ducournau) เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ที่ผสมผสานความเป็นเฟมินิสต์อันเข้มข้นเข้ากับประกายเมลืองมลังของวัตถุจักรกลได้อย่างพิสดาร จะว่าไปก็มีกลิ่นอายเชื่อมโยงกับงานในนิทรรศการนี้ไม่น้อย

“หนังเรื่องนี้ถูกนำมาใช้ในเนื้อหาของนิทรรศการในแง่ที่เป็นการเกริ่นนำให้ผู้ชมเห็นภาพที่ทับซ้อนกับทัศนธาตุและสนุทรียะบางอย่างของหนัง ทั้งความเป็นผู้หญิง (ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเฟมินิสต์) ที่ผสานตัวกับวัตถุที่มีความมันเงา แวววาวของโลหะ จักรกล ที่สื่อถึงสุนทรียะของโลกปัจจุบัน ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนการใส่ร่องรอยเป็นนัยยะให้ผู้ชมตีความหรือคิดต่อไปได้”

ในนิทรรศการยังมีผลงานศิลปะจัดวางในห้องแสดงนิทรรศการเล็กที่ฉาบผนังเป็นสีดำสนิททั่วทั้งห้อง ด้านในสุดของห้องมีผลงานจัดแสดงบนแผ่นวัสดุแวววาวคล้ายโครเมียม สะท้อนแสงระยับเรืองรองไปทั่วทั้งห้อง

“ผลงานในห้องนี้ค่อนข้างมีความเป็นวัตถุมากๆ เราสร้างเอฟเฟ็กต์เพื่อทำให้สิ่งที่เราเห็นปะทุขึ้นมาอย่างล้นเกิน ทั้งแสงที่สะท้อนจากกลิตเตอร์บนพื้น แสงสะท้อนบนผนัง ถ้าสังเกตงานของเราหลายๆ ชิ้น จะเป็นการเล่นกับความปรารถนาบางอย่างของผู้ชมในแง่การมอง อย่างแผ่นโลหะผนังสีเงินแวววาวเหมือนกระจกเงาก็เป็นอะไรที่น่าถ่ายเซลฟี่ แต่ถ้าสังเกตดีๆ แผ่นโลหะนี้ก็ไม่ได้มีความเงาแบบทั่วๆ ไป แต่จะมีความบิดเบี้ยวอยู่ ซึ่งในแง่นี้เป็นการเปรียบเปรยถึงวัฒนธรรมทางสายตาในปัจจุบันที่มีหลายแง่มุม บางแง่ถูกกรองผ่านฟิลเตอร์ในโทรศัพท์มือถืออีกทีหนึ่ง”

“ผลงานในนิทรรศการนี้มีลักษณะเป็นเหมือนเศษเสี้ยวชิ้นส่วนเล็กๆ ของเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวันของเราที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกวินาที แต่ละชิ้นส่วนก็มีความเชื่อมโยงกัน ในขณะเดียวกันเศษเสี้ยวเหล่านี้ก็มีสุนทรียะของความเป็นผู้หญิงแฝงอยู่”

“เรายังให้นักเขียนชาวนิวยอร์ก ชื่อ แกบี วิลสัน (Gaby Wilson) ที่เราได้อ่านงานของเขาจากเว็บไซต์เกี่ยวกับแฟชั่นชื่อ SSENSE.com มาเขียนบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของงานในนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยความที่บทความที่เขาเคยเขียนก่อนหน้านี้ เป็นเหมือนการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของวัตถุสิ่งของในเว็บไซต์ ที่เชื่อมโยงกับความเป็นยุคสมัยใหม่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นเรื่องของเซเลบ ซูเปอร์สตาร์ หรือเหตุการณ์ในวัฒนธรรมป๊อป เราก็เลยเลือกนักเขียนคนนี้มาเขียนถึงผลงาน 11 ชิ้นของเราในนิทรรศการครั้งนี้”

“ซึ่งเป็นงานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของวัตถุที่ปรากฏในผลงานของเรา ข้อเขียนที่ว่านี้จะอยู่ในส่วนของหนังสือประกอบนิทรรศการ”

ในนิทรรศการยังมีผลงานศิลปะสำเร็จรูปอีกชิ้น ที่อยู่ในรูปของมวนสมุนไพรสายเขียว (หรือกัญชานั่นแหละ) ในหลอดแคปซูลติดบนผนัง ให้ผู้ชมเข้าไปดูชมในฐานะผลงานศิลปะ และซื้อกลับไปสะสมในฐานะผลงานศิลปะ หรือไม่ก็ใช้งานกันให้ม่วนได้ตามอัธยาศัย

“ที่เราใช้กัญชาในนิทรรศการนี้ ในแง่ของวัตถุ มันเป็นตัวแทนของ Dark faminine energy หรือพลังงานด้านมืดในตัวของผู้หญิงที่มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง โดยไม่มีค่านิยม หรือบรรทัดฐานทางสังคมใดๆ มาควบคุมพวกเธอ ในฉลากของตัวกัญชาเอง ก็มีการบอกสรรพคุณว่าจะมีผลอย่างไรต่อผู้ใช้ เคลิบเคลิ้ม หรือสนุกสนาน และส่วนผสมหลัก เช่น Mugwort ก็เป็นสมุนไพรที่มีความเชื่อมโยงกับ Divine Feminine (สตรีศักดิ์สิทธิ์) ด้วย”

“อีกอย่างที่เราสนใจ คือสรรพคุณบนฉลากเหล่านี้เอง ก็เป็นการทำงานกับจิตใต้สำนึกของผู้ใช้งาน ว่าจะมีความคาดหวังต่อสรรพคุณเหล่านี้อย่างไร ไม่ต่างอะไรกับ Subliminal (ตัวกระตุ้นซ่อนเร้น) ที่แฝงอยู่ในโฆษณาสินค้าต่างๆ”

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเราก็คือ นิทรรศการครั้งนี้ไม่มีชื่องาน แต่ใช้เป็นอิโมจิรูป 🎀 หรือโบสีชมพูแทน

“ที่เราใช้ชื่องานแบบนี้เป็นเพราะงานของเราจะมีความพยายามในการเล่นกับสิ่งที่คนมอง ว่าตื้นเขิน หรือสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่ด้อยค่า ซึ่งอิโมจิรูปโบมักจะเป็นตัวแทนของอะไรที่ดูผู้ยิ๊ง ผู้หญิง ที่คนมักจะมองว่าเป็นอะไรที่ไม่ค่อยมีสาระ หรือไม่ซีเรียสจริงจัง หากแต่ในโลกออนไลน์ การใช้อิโมจินี้ผ่านข้อความ แฮชแท็ก หรือรูปภาพ ที่ก่อให้เกิดสุนทรียะที่เข้าใจพ้องร่วมกันจนทำให้เกิด Collective power (พลังส่วนรวม) ขึ้นมา”

“ในขณะเดียวกัน เราก็มีวงเล็บให้ชื่อนิทรรศการนี้ว่า A cute rhizome (รากเหง้าอันน่ารัก) ที่ตอบโจทย์แนวคิดของความเป็นเศษเสี้ยวของสิ่งละอันพันละน้อยในนิทรรศการนี้ ที่เป็นเหมือนรากเหง้าที่แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ”

“เป้าหมายของนิทรรศการครั้งนี้คือเราอยากเล่นกับมุมมองและการรับรู้ของผู้ชม ให้ค่อยๆ มองเข้าไปในแต่ละชั้นของความหมายที่ทับซ้อนอยู่ในผลงานแต่ละชิ้น เพื่อกระเทาะเปลือกของความเป็นไปได้อะไรบางอย่างในสังคมปัจจุบัน”

นิทรรศการ 🎀 (A cute rhizome) โดย กมลรส วงศ์อุทุม จัดแสดงที่ Gallery VER ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม-17 กันยายน 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทรศัพท์ 0-2120-6098, ภาพถ่ายโดย Preecha Pattara •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์