คุยกับทูต | ฟาคริดิน ซุลตานอฟ จากดินแดนบนเส้นทางสายไหม อุซเบกิสถาน (จบ)

ประเทศไทยและอุซเบกิสถาน

กำลังเปิดบทใหม่แห่งความสัมพันธ์

“เนื่องจากประเทศไทยใกล้จะเสร็จสิ้นการเจรจาเพื่อลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับปากีสถานและตุรกีในเส้นทางการขนส่งเบื้องต้นซึ่งจะกลายเป็นประตูสู่ตลาดเอเชียกลาง ผมขอแนะนำตัวแทนของภาคประชาคมธุรกิจให้ความสนใจเป็นพิเศษแต่ในขณะเดียวกันก็รวดเร็วพอที่จะมองหาโอกาสทางการค้ากับอุซเบกิสถาน ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง และเอเชีย และใช้ประโยชน์จากโอกาสสำคัญนี้ในการขยายธุรกิจและเงินทุนในเวลาที่เหมาะสมต่อไป”

นายฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทยชี้แจง

ส่วนความคิดเห็นต่อวิกฤตยูเครนกับรัสเซีย กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานบอกว่า

“สำหรับเรา สหพันธรัฐรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกันในอดีตเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เกือบทุกครอบครัวในอุซเบกิสถานมีความผูกพันอย่างลึกซี้งกับรัสเซียและยูเครน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ธุรกิจ วิชาการและอื่นๆ”

“เราเชื่อว่า ข้อพิพาทและความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น ควรได้รับการแก้ไขโดยวิธีการทางการเมืองและการทูตบนพื้นฐานที่ถือเป็นบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ”

นาย ฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

การท่องเที่ยว

ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานให้ความนิยมสูงในปัจจุบัน

“หนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวอุซเบกิสถานคือประเทศไทย ด้วยความที่เรามาจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล Double Landlocked ผู้คนของเราจึงหลงใหลในธรรมชาติที่สวยงามและชายหาดของประเทศไทย”

อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียกลาง และเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศ double-landlocked countries คือ ประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked countries) ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม double-landlocked มีเพียง 2 ประเทศในโลก คือ อุซเบกิสถาน และลิกเตนสไตน์ (จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก)

“ตามสถิติในช่วงปี2017-2019 จำนวนชาวอุซเบกิสถานที่มาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้น 12-15% ต่อปี (ประมาณ 25,000 คนในปี 2019) คาดว่าภายในปี 2025 จะกลับมาเป็นตัวชี้วัดก่อนการแพร่ระบาด และภายในปี 2030 จำนวนชาวอุซเบกิสถานที่จะมาเยือนประเทศไทยจะสูงถึง 50,000 คน”

“ซึ่งเราก็อยากเห็นนักท่องเที่ยวไทยในอุซเบกิสถานจำนวนที่เท่าๆ กัน”

สายการบินอุซเบกิสถาน (Uzbekistan Airways)

สายการบินแห่งชาติของอุซเบกิสถาน

สายการบินอุซเบกิสถาน (Uzbekistan Airways) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 1992 จากการดำเนินงานของแอโรฟลอต (Aeroflot) ในส่วนอุซเบกิสถาน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 1992 และในปี 1993 สายการบินอุซเบกิสถานได้ซื้อเครื่องบินแอร์บัส A310-300 สองลำแรก

การก่อตั้งบริษัทการบินแห่งชาติ Uzbekistan Airways เมื่อ 31 ปีที่แล้วถือเป็นยุคใหม่ในกระบวนการก่อตั้งการบินพลเรือน แต่ในช่วงเวลานี้ แบรนด์ “สายการบินอุซเบกิสถาน” ได้กลายเป็นที่รู้จักและยอมรับไปทั่วโลกว่าเป็นแบรนด์สายการบินที่มั่นคง ปลอดภัย และเชื่อถือได้

สายการบินอุซเบกิสถานเริ่มให้บริการเที่ยวบินในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 1993 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ได้หยุดให้บริการชั่วคราวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบัน นายมูรอด กัลยามอฟ (Mr. Murod Gulyamov) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของสำนักงานตัวแทนของบริษัทร่วมหุ้น “อุซเบกิสถานแอร์เวย์” (JSC) โดยรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานถือหุ้น 100%

สามารถติดต่อที่โทร : 0-2635-5400 – 2, อีเมล : [email protected] (https://www.uzairways.com/en)

กงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน

กับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

“ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจสำหรับผมและครอบครัว เราหลงรักธรรมชาติที่สวยงามหลากหลาย ผู้คนที่เป็นมิตร บริการที่ได้มาตรฐาน อาหารอร่อย และราคาที่เอื้อมถึง”

“จากภูมิหลังทางวัฒนธรรมของเรา ชาวอุซเบกิสถานจึงมีแนวโน้มสูงที่จะเดินทางกับครอบครัว และในหลายกรณีก็เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีลูกหลานหลายคน ค่าใช้จ่ายวีซ่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเลือกจุดหมายปลายทางที่เหมาะสม การลดค่าวีซ่าและการขยายวันที่อนุญาตให้ใช้วีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงสำหรับพลเมืองอุซเบกิสถาน จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความสนใจในประเทศไทยในหมู่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานอย่างไม่ต้องสงสัย”

“มีข่าวลือเชิงบวกว่ารัฐบาลไทยกำลังจะขยายระยะเวลาวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงจาก 15 วันเป็น 30 วันสำหรับพลเมืองของประเทศในเอเชียกลาง”

“ในทางกลับกัน อุซเบกิสถานก็พร้อมที่จะนำระบบไม่ต้องใช้วีซ่าสำหรับพลเมืองไทยบนพื้นฐานความเท่าเทียม (ปัจจุบัน พลเมืองไทยได้วีซ่าแบบ transit ไม่ต้องขอวีซ่านานถึง 5 วันเพื่อเดินทางไปอุซเบกิสถาน หรือวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) 30 วัน หรือวีซ่าท่องเที่ยว 30 วัน เพียงติดต่อที่สถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน กรุงเทพฯ)

นาย ฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

การเป็นกงสุลใหญ่

เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตส่วนตัวเพียงไร

“เมื่อพิจารณาจากที่ผมเคยทำงานด้านสายการบินและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประชาชนกับจุดหมายปลายทาง ตำแหน่งปัจจุบันของผมจึงแทบไม่แตกต่างจากตำแหน่งก่อนหน้ามากนัก ที่เพิ่มเติมคือขอบเขตงานและทิศทางที่กว้างขึ้นเท่านั้น เนื่องจากภารกิจทางการทูตก็เป็นสะพานเชื่อมสำหรับทุกคนและทุกด้านของการเมือง เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ ผมจึงมั่นใจว่าตำแหน่งกงสุลใหญ่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผมเป็นอย่างมาก”

“ผมพยายามแบ่งเวลาเพื่อหาโอกาสไปชมสถานที่สวยงามทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ผมชอบเทือกเขาในเชียงใหม่ ส่วนภาคใต้ ที่เกาะเต่า และเกาะเสม็ด มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด และหาดทรายขาวสวยงาม สำหรับในกรุงเทพฯ ผมชอบไปปั่นจักรยานที่สนามปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต หรือ Happy and Healthy Bike Lane หรือไม่ก็เล่นฟุตบอล”

วิถีชีวิตทางการทูตสามารถนำความท้าทายที่ไม่เหมือนใครให้กับครอบครัว

“ลูกๆ ของผมเกิดและเติบโตที่นี่ สามารถพูดได้ว่า ผมมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยไปตลอดชีวิต ครอบครัวของผมมีความสุขที่ได้อยู่ในประเทศไทย ได้สัมผัสวิถีชีวิตทั้งแบบคนในท้องถิ่นและแบบชาวต่างชาติในดินแดนแห่งรอยยิ้ม ลูกๆ ของผมเรียนโรงเรียนเดียวกันมานานหลายปี มีเพื่อนทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากมาย”

“ครอบครัวคือโลกของผม ทุกสุดสัปดาห์ ผมพยายามใช้เวลาด้วยกันและให้ความสำคัญกับพวกเขาเหมือนกับงานของผม วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัวซึ่งเรามักใช้เวลาทำอาหารกันที่บ้าน สังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือไปสวนสาธารณะ ผมโชคดีมากที่มีคู่ครองที่ฉลาด อ่อนโยน อดทนและให้การสนับสนุนผมมากที่สุด หากปราศจากเธอ ผมคงไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างงานและครอบครัวได้ดีขนาดนี้

ความภาคภูมิใจในความเป็นอุซเบกิสถาน

“อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 3,000 ปี อยู่ใจกลางของเอเชียกลาง ในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช ช่วงจักรวรรดิกุษาณะ (Kushan dynasty) พุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปยังดินแดนของประเทศของเรา ภายใต้พระเจ้ากนิษกะ (King Kanishka) พุทธศาสนาได้ขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ และภูมิภาคทางตอนใต้ของอุซเบกิสถานได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ที่ซึ่งพุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปยังจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จากประเทศเหล่านี้ไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของเรามีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์”

“นอกจากนี้ วิถีชีวิตของชาวอุซเบกิสถานและชาวไทยก็คล้ายกันมาก ตั้งใจทำงาน ยุ่งอยู่กับงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึก มักทำเกษตรกรรมเป็นหลักตลอดทั้งปี และใช้ชีวิตเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวเดียวกัน ซึ่งเป็นความคล้ายคลึงหลักระหว่างประชาชนของเรา จึงทำให้ผมภาคภูมิใจที่สุดในความเป็นอุซเบกิสถาน”

“เนื่องจากผมอยู่ในประเทศไทยมานานหลายปี ก็มักจะคิดถึงญาติและเพื่อนๆ ในอุซเบกิสถานมากที่สุด แต่เมื่อผมไปอยู่ในอุซเบกิสถาน ผมกลับคิดถึงประเทศไทยมากที่สุด” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin