รำลึก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (1) รำลึกปัญญาชนใหญ่สยามปัจจุบัน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

รำลึก อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (1)

รำลึกปัญญาชนใหญ่สยามปัจจุบัน

 

“ข้าพเจ้าเขียนหนังสือด้วยความหวังที่จะรักษาความทรงจำไม่ให้สูญหายว่า มนุษย์ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง”

เฮอรอโดทัส (485-425 ปีก่อนคริสตกาล)

บุคคลที่ซิเซโรนักปราชญ์ชาวโรมันยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งประวัติศาสตร์”

 

รำลึกอาจารย์นิธิ

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับอาจารย์นิธิเป็นครั้งแรก สมัยยังเป็นนักเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เมื่ออาจารย์ได้รับเชิญให้ไปสอน “สัมมนาไทย” (Thai Seminar) และหลังจากนั้นได้มีโอกาสพบกับอาจารย์อีกเป็นระยะๆ อีกทั้งเมื่อหนังสือเรื่อง “พระเจ้าตากฯ” ของอาจารย์ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกจากสำนักพิมพ์มติชน อาจารย์ได้กรุณาอย่างมากส่งหนังสือมาให้ แต่ก็มีคำถามพ่วงมากับหนังสืออย่างน่าสนใจว่า ทำไมสังคมไทยไม่มี “ตำราพิชัยสงคราม” ที่ยิ่งใหญ่ ในแบบที่สังคมจีนมีผลงานของซุนวู

คำถามเรื่องนี้ยังชวนให้ผมหาคำตอบมาจนปัจจุบัน เพราะเป็นคำถาม “ปลายเปิด” ที่มีเรื่องและประเด็นในมิติ “ประวัติศาสตร์สังคม” ของไทยเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากมาย คำถามเช่นนี้ดูจะสะท้อนอย่างมากถึงความสนใจเรื่อง “ประวัติศาสตร์สงคราม” ของสังคมไทย ซึ่งเป็นหัวข้อที่นักเรียนและอาจารย์ในสาขาประวัติศาสตร์ดูจะไม่ค่อยสนใจเท่าใดนัก หรืออาจจะด้วยข้อจำกัดในการศึกษาเรื่องดังกล่าวก็ตาม ดังจะเห็นถึงจำนวนผลงานทางด้านนี้มีจำนวนไม่มากในวงวิชาการไทย

แต่ในช่วงปลายอายุของอาจารย์นิธินั้น คำถามเรื่องทหารที่อาจารย์ตั้งปุจฉาทิ้งไว้ให้สังคมไทยต้องคิดอย่างมากคือ “ทหารมีไว้ทำไม?” คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามดังกล่าวมีพลังในทางสังคมอย่างมาก และเมื่อใดที่มีปัญหาความไม่พอใจต่อกองทัพเกิดขึ้น ก็มักจะมีการหยิบคำถามนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในเวทีสาธารณะเสมอๆ จนต้องถือว่า เป็นหนึ่งใน “คำถามยอดฮิต” ที่อาจารย์นิธิตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราคงแทบไม่ต้องมากล่าวยกย่องผลงานทางวิชาการของอาจารย์แต่อย่างใด เนื่องจากอาจารย์ได้กรุณาทิ้ง “มรดกทางความคิด” ให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นจำนวนมาก และยังเป็นผลงานในแบบที่เป็น “อิมแพคแฟคเตอร์” (impact factors) ให้กับสังคมในการเรียนรู้ในถึง “การกระทำของมนุษย์” เช่นที่เฮอรอโดทัสได้กล่าวไว้นั่นเอง

ดังนั้น บทความนี้ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ “ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักประวัติศาสตร์ที่สังคมให้ความเคารพยกย่อง และถือเป็นหนึ่ง “ปัญญาชนคนสำคัญของสยาม” ในยุคปัจจุบัน ที่นำเสนอความคิด ความเห็น และมุมมองที่สังคมต้องเก็บนำไปคิดต่อเสมอ และทั้งยังแสดงออกอย่างชัดเจนถึงจุดยืนทางการเมืองในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไม่ปกปิด อีกทั้งต้องถือว่าอาจารย์นิธิเป็น “อาจารย์ผู้ใหญ่” คนหนึ่งของสังคมไทย ที่คอยให้ “อาหารทางปัญญา” แก่ผู้คนในยุคของความพลิกผันทางสังคมการเมืองที่เกิดอย่างต่อเนื่อง

ดังได้กล่าวแล้วว่า คำถามเรื่องทหารที่อาจารย์นิธิ ได้ตั้งธงไว้อย่างมีนัยสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ คือ “ทหารมีไว้ทำไม?” ฉะนั้น ในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องทหาร จึงอยากจะนำประเด็นนี้มาเป็นข้อถกแถลงทางวิชาการเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงอาจารย์

 

สงครามในยุคก่อนประวัติศาสตร์

หากย้อนกลับไปดูถึงพัฒนาการทางสังคมแล้ว เราอาจต้องยอมรับว่า “สงคราม” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และสงครามได้ให้กำเนิดคนส่วนหนึ่งที่เรียกกันว่า “ทหาร” และการกำเนิดของ 2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันเช่นนี้ มีผลต่อพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์อย่างมากด้วย โดยเฉพาะการที่สงครามกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของมนุษย์ เช่นที่กองทัพเป็นสถาบันทางสังคมแบบหนึ่งในวิชาสังคมศาสตร์ และประเด็นปัญหาที่เกิดจาก 2 ปัจจัยนี้ ก่อเกิดการศึกษาใน “ศาสตร์” ต่างๆ ที่นำไปสู่การกำเนิดของสาขาวิชาที่หลากหลายอย่างนึกไม่ถึง ไม่ใช่เพียงแต่การศึกษาในวิชาทหารเท่านั้น หากสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ผูกโยงการศึกษา 2 เรื่องนี้อย่างแยกไม่ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งนำเสนอข้อสรุปว่า “สงครามเป็นสัญชาตญาณหนึ่งของความเป็นมนุษย์” ข้อสรุปเช่นนี้จึงมีนัยสำคัญประการหนึ่งว่า “สงครามไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่” นักคิดบางคนอย่างเซอร์เฮนรี่น อาจจะบอกว่า สันติภาพต่างหากที่เป็นสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่

แน่นอนว่าสงครามเป็นส่วนหนึ่งที่เก่าแก่และเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นสังคมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจุดกำเนิดในเรื่องของการล่าสัตว์ เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ “ยุคนีแอนเดอร์ทาล” (The Neanderthals) ซึ่งมนุษย์ในยุคดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าน่าจะเป็นต้นตระกูลของมนุษย์อย่างพวกเรา หรือมีความใกล้เคียงในความเป็นมนุษย์ยุคปัจจุบัน

แม้สงครามในความหมายอย่างแท้จริงจะยังไม่กำเนิด แต่มนุษย์ในยุคนั้นเริ่มเรียนรู้ถึงการประดิษฐ์และใช้อาวุธ โดยเฉพาะการใช้หอกเพื่อการล่าสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการล่ากวางและกวางใหญ่ (elk) แพะป่า (ibex) ควายไบซัน แรด จนกระทั่งช้างแมมมอธ เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะเห็นได้จากภาพเขียนเก่าแก่ตามผนังถ้ำ

ดังนั้น ผลสืบเนื่องอย่างน่าสนใจ ที่เราอาจเรียกว่าเป็น “สัญชาตญาณพื้นฐาน” ของความเป็นมนุษย์ ที่คนเหล่านี้จะเชื่อว่า พวกเขาพร้อมที่จะใช้อาวุธทันทีในการปกป้องครอบครัว และป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัว ซึ่งในยุคเช่นนี้พวกเขาเริ่มมีอาวุธใช้จริงๆ แล้ว

ฉะนั้น นอกจากหอกแล้ว มนุษย์ในยุคดังกล่าวยังถนัดในการใช้กระบอง ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่กะโหลกของมนุษย์ที่พบในหลุมศพ มักมีลักษณะของหัวกะโหลกยุบจากการถูกตี หรือกระดูกแขนส่วนล่างหัก รวมทั้งแขนหักในลักษณะของการถูกตีอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า เป็นการเสียชีวิตจากการถูกกระบองตี เพราะกระบองเป็นอาวุธที่ใช้ได้อย่างรวดเร็ว มีพลังในการตี และสามารถตีได้ตรงเป้าหมาย ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีเช่นนี้ ดูจะเป็นสิ่งที่ชักชวนให้เห็นถึงการกำเนิดของอาวุธ และจุดเริ่มต้นของสงคราม

หรืออาจกล่าวได้จากคำบอกเล่าของนักโบราณคดีว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุคดังกล่าว แม้ส่วนหนึ่งสังคมจะอาศัยอยู่อย่างสันติก็ตาม

 

ในอีกส่วนหนึ่ง อาจเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนในยุคนีแอนเดอร์ทาล ที่มีการใช้กำลังและอาวุธต่อสู้กัน เช่นการค้นพบโครงกระดูกในถ้ำชานิดาร์ (Shanidar Cave) ในอิรัก โดยมีหอกปักอยู่ที่หน้าอก การต่อสู้นี้อาจเรียกว่าเป็น “สงครามระหว่างเผ่า” (intertribal warfare) ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า แม้การต่อสู้มีขนาดเล็ก แต่ก็มีความรุนแรง (ภายใต้เงื่อนไขของอาวุธที่มีอยู่) ฉะนั้น สงครามในยุคเช่นนี้จึงเป็นการต่อสู้ในแบบกองโจร การซุ่มโจมตี หรือเป็นการต่อสู้กันด้วยมือเปล่าในระยะใกล้ และมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงมาก

สงครามในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังเป็นผลจากการขยายตัวของประชากร ซึ่งกลายเป็นปัจจัยบังคับให้มนุษย์ต้องแสวงหาที่ทำกินและ/หรือเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ต้องปกป้องดินแดนที่มีอยู่เพื่อคุ้มครองพื้นที่สำหรับการล่าสัตว์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือ การแสวงหาและเก็บสะสมอาหารของมนุษย์ในยุคนั้น ซึ่งโดยหลักการแล้ว ก็แทบไม่แตกต่างจากปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมว่า สงครามของยุคนีแอนเดอร์ทาลที่กล่าวถึงนั้นอยู่ราว 1 แสนปีที่แล้ว

อดคิดไม่ได้ว่า สงครามเป็นสิ่งที่ถูกส่งผ่านจากยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลถึงพวกเราในปัจจุบันหรือไม่ เพราะร้อยละ 62-66 ของสังคมบุพกาลเกิดสงครามต่อเนื่องทุกปี และร้อยละ 70 ของผู้ชายที่เข้าสงครามตายหรือบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราในสงครามสมัยใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ

ในยุคนั้น ไม่มีคำว่า “ทหาร” (soldiers)… ภาพจากนักโบราณคดีดังที่กล่าวในข้างต้นนั้น ชี้ให้เห็นว่าคนที่ “ถืออาวุธ” ทำหน้าที่อะไรในสังคม และน่าสนใจอีกด้วยว่า ความเป็น “นักรบ” (warriors) ที่เริ่มขึ้นในชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เริ่มจากการเป็น “นักล่า” ของการทำหน้าที่เป็นนายพรานในการล่าสัตว์ และเมื่อบรรดานายพรานเหล่านี้เริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนแล้ว พวกเขาก็คือ “กองกำลังติดอาวุธ” ในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั่นเอง และหน้าที่ของพวกเขาเหล่านั้นเริ่มพลิกผันไม่ใช่การ “ล่าสัตว์” อีกต่อไป แต่เป็นการ “ล่าศัตรู” ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามในความขัดแย้งทางสังคมที่เรียกว่า “สงคราม”

ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่จะกล่าวว่า สงครามมีความเป็นมาที่เก่าแก่เท่าๆ กับความเป็นมาของมนุษยชาติ อย่างน้อยบรรพบุรุษของพวกเราตั้งแต่ยุคนีแอนเดอร์ทาลคือ ประจักษ์พยานหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องของสงครามที่เกิดขึ้น และมนุษย์ชุดหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็น “นักรบ” ซึ่งในยุคดังกล่าว แม้ความเป็นทหารในความหมายของกองทัพสมัยใหม่ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม

สำหรับพวกเขาที่เป็น “ผู้ถืออาวุธ” ในสังคมนั้น มีสถานะของการเป็นนักรบในยามสงคราม และเป็นนักล่าสัตว์ในยามปกติ… ไม่แปลกเลยที่บรรพบุรุษของพวกเราจะเริ่มต้นจากการเป็น “นักล่า” ที่เป็นนายพรานมาก่อนแล้วจึงเป็น “ทหาร” ในยุคต่อมาเมื่อสังคมมีพัฒนาการมากขึ้น

 

พัฒนาการของสงคราม

พัฒนาการของมนุษย์และสงครามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน และราว 5 พันปีที่ผ่านมา เมื่ออารยธรรมของมนุษย์เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมของลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย อียิปต์ อินเดีย และจีน ที่ได้ปรากฏชัดเจนขึ้นในความเป็น “อู่อารยธรรม” ของโลก สิ่งที่เกิดตามมาอีกส่วนคือ ความขัดแย้งของสังคมมนุษย์เริ่มมีความถี่มากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย… สงครามไม่ใช่เรื่องของนายพรานอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีมนุษย์เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีในฐานะของการเป็นเครื่องมือในชีวิต

ภาพคู่ขนานอีกส่วนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการสงครามคือ มนุษย์ประสบความสำเร็จในการทำอาวุธจากเหล็กและสัมฤทธิ์ อาวุธมีอานุภาพในการทำลายล้างมากขึ้น มนุษย์มีความสามารถในการขี่และควบคุมม้า มีความสามารถในการสร้างป้อมค่ายขนาดใหญ่ และมีความสามารถในการเกณฑ์คนเพื่อสร้างกองทัพขนาดใหญ่ ความสำเร็จเหล่านี้จึงปูทางให้สังคมเตรียมเดินทางเข้าสู่สงครามใหญ่ในอนาคต

จากเงื่อนไขดังกล่าวจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สงครามจากนี้ จะมีความซับซ้อนในมิติทางสังคม และมีความก้าวหน้าของอำนาจการทำลายล้างในมิติทางทหาร จนต้องยอมรับว่า ยิ่งสังคมมีพัฒนาการมากเท่าใด สงครามยิ่งมีความซับซ้อนมากเท่านั้น

ฉะนั้น เมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างสงคราม ในทางกลับกัน สงครามจะสร้างมนุษย์อย่างไร… แล้ว “ทหาร” ที่อาจารย์นิธิกล่าวถึงนั้น จะทำอะไร?