ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (1) จากวิกฤตตะวันตกสู่วิกฤตจีน | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

เกริ่นนำ

ในทศวรรษที่ 1970 คำพยากรณ์ประการหนึ่งของคาร์ล มาร์กซ์ ปรากฏเป็นจริง กล่าวคือ ทั่วทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้า อัตรากำไรเริ่มตกต่ำลง บรรดาบรรษัททั้งหลายรับมือวิกฤตนี้โดยย้ายฐานการผลิตออกนอกชายฝั่งไปยังเหล่าประเทศกำลังพัฒนาที่ซึ่งต้นทุนค่าจ้างต่ำกว่า จึงเปิดโอกาสให้บรรษัทดังกล่าวขูดรีดเอากำไรสูงขึ้นได้ อุตสาหกรรมส่งออกจีนหลังเปิดประเทศตามนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงปี 1978 ได้ประโยชน์มหาศาลจากการปรับย้ายการลงทุนในทุนนิยมโลกที่ว่านี้

ทว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนก็กำลังประสบวิกฤตทำนองเดียวกัน บรรดาบรรษัทจีนกำลังเผชิญภาวะกำไรตกต่ำลงเหมือนที่บรรดาบรรษัทอเมริกันเคยเผชิญเมื่อ 50 ปีก่อน จีนรับมือมันโดยบีบคั้นเหล่าคู่แข่งต่างชาติให้ออกจากตลาดจีนรวมทั้งออกจากตลาดของกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีนด้วย

ด้วยเหตุนี้บรรดาบรรษัทอเมริกันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรใหญ่โตที่สุดของจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จึงเริ่มหันมาต่อต้านคัดค้านจีนเมื่อยุทธวิธีเศรษฐกิจแบบก้าวรุกของจีนเริ่มคุกคามฐานะครองอำนาจนำของพวกเขา

ผลก็คือการแก่งแย่งแข่งขันของสองจักรวรรดิที่นับวันไต่ระดับความเข้มข้นและเสี่ยงอันตรายสูงขึ้น

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน เอเชียตะวันออกและโลก เมื่อปีที่แล้วเขาได้ตีพิมพ์หนังสือ Clash of Empires : From ‘Chimerica’ to the ‘New Cold War’ (2022, จักรวรรดิปะทะกัน: จากจีเมริกาสู่สงครามเย็นครั้งใหม่) ซึ่งวิเคราะห์ว่าความตึงเครียดสหรัฐ-จีนปัจจุบันหยั่งรากอยู่ในประวัติอันยาวนานของการผลิตล้นเกิน การบริโภคต่ำระดับและการดิ้นรนแสวงหากำไรอย่างหน้ามืดตามัวของเหล่านายทุนในบริบททุนนิยมโลก

ผมเคยนำเสนอทัศนะวิเคราะห์ของอาจารย์หงผ่านคอลัมน์นี้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของทุนนิยมจีนโดยพิสดารในบทความชุด “ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีนฉบับโฮเฟิง หง” เมื่อปลายปีก่อน  มาครั้งนี้ใคร่ขอนำเสนอต่อด้วยคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์หงทาง podcast กับ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนที่ต่างก็แก่งแย่งแข่งขันกันสูบดูดเอากำไรจากเหล่าประเทศกำลังพัฒนา ท่ามกลางภาวะการผลิตล้นเกินกับการบริโภคต่ำระดับในบริบททุนนิยมโลกปัจจุบัน

อาจารย์หงเตือนว่า หากแม้นทั้งสองอภิมหาอำนาจไม่กระจายความมั่งคั่งในประเทศตนเสียใหม่อย่างขนานใหญ่แล้ว การบริโภคก็ไม่อาจกลับคืนสู่ระดับที่มีเสถียรภาพได้ และอเมริกากับจีนก็จะหนีไม่พ้นวงเวียนมรณะที่พาดำดิ่งลงไปสู่ภาวะกำไรถดถอยและความขัดแย้งไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์หง คุณเถียงไว้ในบทวิเคราะห์ของคุณว่าภาวะเศรษฐกิจจีนบูมกับการผงาดขึ้นของเอเชียตะวันออกโดยทั่วไปนั้นแสดงบทบาทเฉพาะเจาะจงในประวัติศาสตร์ของระบบโลกในฐานะการตอบรับต่อวิกฤตซึ่งกระทบเหล่าประเทศทุนนิยมก้าวหน้าในทศวรรษที่ 1970 ก็แล้วธาตุแท้ของวิกฤตนั้นมันเป็นยังไงหรือครับ? การผงาดขึ้นของเอเชียตะวันออกโดยทั่วไป และต่อมาก็คือการผงาดขึ้นของจีนโดยเฉพาะนั้นมันช่วยแก้ไขวิกฤตที่ว่าไปได้ชั่วคราวอย่างไร? แล้วทำไมการแก้ไขนั้นมันถึงทำได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้นล่ะครับ?

โฮเฟิง หง : ในทศวรรษที่ 1970 เหล่าประเทศทุนนิยมก้าวหน้าทั้งหลายรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปเผชิญวิกฤตอันยาวนาน วิกฤตที่ว่านี้มีลักษณะหลายด้าน แต่ด้านหลักแล้วมันเป็นวิกฤตที่หยั่งรากอยู่ในปัญหาอัตรากำไรตกต่ำลง (a falling rate of profits) ถ้าคุณพูดด้วยภาษาแบบฉบับของลัทธิมาร์กซ์ แต่แม้กระทั่งพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็มีแนวคิดเดียวกันในฉบับของตัวเองที่เรียกว่าผลิตภาพและความสามารถในการทำกำไรของบริษัททั้งหลายตกต่ำลง (the falling productivity and profitability of firms)

ฉะนั้น ในหมู่ประเทศก้าวหน้าเหล่านี้ บริษัททั้งหลายก็ไม่ทำกำไรมากอย่างที่เคยทำได้ในช่วงที่เรียกกันว่ายุคทองของทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 มีเหตุผลของการนี้มากมายหลายประการครับ

ประการหนึ่งได้แก่ การแข่งขันเข้มข้นยิ่งขึ้น กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่สองรวมทั้งความฉิบหายวายป่วงที่มันก่อขึ้นแล้ว ก็มีสภาพขาดแคลนอุปทานที่จะรองรับอุปสงค์อันมากมายหลายหลาก ไม่ว่าคุณทำกิจการอะไร จะเป็นยานพาหนะเอย ก่อสร้างเอย เครื่องจักรกลเอย ฯลฯ ล้วนแต่มีอุปสงค์มหาศาล และฉะนั้น ธุรกิจก็ทำกำไรยิ่ง

ทว่า หลังจากญี่ปุ่นและยุโรปบูรณปฏิสังขรณ์ตัวใหม่จากภาวะสงครามและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมา ตลาดทุนนิยมก็กลายเป็นแข่งขันกันยิ่งขึ้น

 

อีกเหตุผลได้แก่ ท่าทีสู้รบแข็งขันของฝ่ายแรงงาน ขบวนการแรงงานจัดตั้งในโลกที่พัฒนาแล้วกดดันให้ขึ้นค่าจ้างสำเร็จ ทำให้มันเพิ่มขึ้นเร็วเท่ากับเงินเฟ้อเป็นอย่างต่ำ และลางทีก็เร็วกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้น ลักษณะแก่งแย่งแข่งขันกันของระบบทุนนิยมและการเรียกร้องค่าจ้างให้สูงขึ้นสำเร็จจากขบวนการแรงงานจัดตั้งก็สร้างแรงบีบเค้นกำไรของวิสาหกิจทั้งหลายในบรรดาประเทศก้าวหน้าให้ตีบแคบลง

ขณะวิสาหกิจเหล่านี้ดิ้นรนหาทางฟื้นฟูกำไรกันโกลาหลอลหม่าน พวกเขาก็ลองทำสิ่งต่างๆ มากมายหลายอย่างครับ บ้างก็ย้ายไปทำธุรกิจการเงินแทนการผลิต แต่บางวิสากิจที่ยังอยู่ในภาคการผลิตก็ค้นพบการออกไปนอกชายฝั่ง (off-shoring) กล่าวคือ โยกย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไปยังประเทศค่าจ้างต่ำทั้งหลายแหล่

แรกทีเดียวก็เป็นประเทศสี่เสือเอเชียตะวันออก (อันได้แก่ เกาหลีใต้ ไตัหวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์) ซึ่งพบว่าประเทศของพวกตนตั้งอยู่ ณ ชัยภูมิทางภูมิรัฐศาสตร์ในจังหวะสงครามเวียดนามและสงครามเย็นขึ้นสู่กระแสสูงพอดี ญี่ปุ่นกับประเทศสี่เสือเป็นประดารัฐพรมแดนด่านหน้าของโลกทุนนิยมที่มีไว้ต่อต้านค่ายสังคมนิยมซึ่งกำลังขยายตัวและดูเหมือนจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งทีเดียว ผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านี้จึงได้รับสิทธิโอกาสให้เข้าถึงตลาดสหรัฐกับยุโรปได้อย่างเสรี

ฉะนั้น บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตและผู้ค้าปลีกมากมายในโลกที่พัฒนาแล้วจึงฉวยโอกาสอันได้เปรียบดังกล่าวย้ายการผลิตเข้าไปในรัฐเอเชียตะวันออกเหล่านี้ และในบริบทที่ว่านี้เองที่เศรษฐกิจประเทศเอเชียตะวันออกเหล่านี้กลายเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอันประสบความสำเร็จยิ่ง ด้วยการระดมกำลังแรงงานต้นทุนต่ำของตนมาผลิตสินค้าให้ตลาดโลกที่พัฒนาแล้ว นี่คือหนึ่งในทางแก้ไขวิกฤตในบรรดาประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้า อันส่งผลสืบเนื่องไปอำนวยความสะดวกให้ประดาเสือเอเชียตะวันออกผงาดขึ้นมา

แดเนียล เดนเวอร์ : จีนแสดงบทบาทหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตการเงินปี 2008 แต่แปลกดีที่คุณดันเขียนว่าจีนนั่นแหละเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตที่ว่านั้นเช่นกัน กระนั้นแล้วการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจแห่งทศวรรษที่ 1970 แบบชั่วคราวมันไปสร้างภาวะเสียดุลซึ่งปูทางไปสู่ภาวะเศรษฐกิจล่มเมื่อปี 2008 ในที่สุดอย่างไรหรือครับ?

โฮเฟิง หง : คนมากหลายเห็นการแก้ไขวิกฤตทศวรรษที่ 1970 แบบชั่วคราวเป็นวิกฤตที่ไม่เคยพ้นไปเลยนะครับ ถ้าคุณมองดูอัตรากำไรในบรรดาประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้าหลักๆ แล้วก็จะพบว่ามันไม่เคยหวนกลับไปสู่ระดับสมัยทศวรรษที่ 1950 และ 1960 เลย ฉะนั้น ในฐานะที่เป็นทางแก้ชั่วคราว อุตสาหกรรมการผลิตก็ย้ายไปสู่ภูมิภาคต้นทุนต่ำ ค่าจ้างต่ำนี้เพื่อฟื้นฟูส่วนต่างกำไรของตัวกลับคืนมา

แต่ขณะเดียวกัน ทางแก้แบบนี้ก็สร้างต้นตอบ่อเกิดตัวจริงของภาวะเสียดุลระยะยาวในเศรษฐกิจโลกขึ้นมาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะความคิดแรกเริ่มเดิมทีเบื้องหลังโลกาภิวัตน์และการเปิดประเทศในซีกโลกใต้ รวมไปถึงประเทศสี่เสือเอเชีย จีนและเอเชียอาคเนย์ด้วยนั้น มันไม่ใช่แค่ว่าประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตต้นทุนต่ำเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว สมมุติฐานก็คือประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นพรมแดนด่านหน้าใหม่ของอุปสงค์ในตลาดต่อผลิตภัณฑ์หัตอุตสาหกรรมด้วย

สันนิษฐานกันว่าความข้อนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตล้นเกินกับการสะสมทุนล้นเกิน (overproduction & overaccumulation) อันเป็นต้นเหตุรากเหง้าของวิกฤตแห่งทศวรรษ 1970 ด้วย แต่แล้วในที่สุด ประเทศสี่เสือเอเชียก็ตาม จีนก็ตาม และเอเชียอาคเนย์ก็ตาม ล้วนเพิ่มการผลิต กดดันการบริโภค แล้วส่งเสริมการส่งออก

ฉะนั้น เมื่อดูเศรษฐกิจโลกในระดับมวลรวมแล้ว เอาเข้าจริงปัญหาการผลิตล้นเกินกับการสะสมทุนล้นเกินกลับย่ำแย่ลงกว่าเก่า เพราะการเข้ามาของสมรรถภาพการผลิตของเอเชีย จีนและส่วนอันใหญ่โตของซีกโลกใต้

 

ภาวะเสียดุลที่เป็นฐานรองรับนี้ท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่วิกฤตการเงินต่อกันเป็นชุด ตั้งแต่วิกฤตเงินตราสกุลเปโซของเม็กซิโกลดค่าเมื่อปี 1994 ไปจนถึงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997-1998 (ก็คือวิกฤตต้มยำกุ้งไทย ที่ลุกลามออกไปในภูมิภาคนั่นเอง) รวมทั้งวิกฤตเป็นชุดในตุรกี รัสเซียและอาร์เจนตินาตอนเปลี่ยนสหัสวรรษ ในความหมายนี้วิกฤตการเงินซับไพรม์ปี 2008 เอาเข้าจริงจึงเป็นรอบล่าสุดของวิกฤตการเงินชุดดังกล่าว การที่มันเป็นที่ใส่ใจมากขึ้นและกลายเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งขึ้นก็เพราะศูนย์กลางแผ่นดินการเงินไหวของมันไม่ได้อยู่ในเม็กซิโก มาเลเซีย ประเทศไทย อาร์เจนตินา หรือที่อื่นอันห่างไกลอีกต่อไป หากอยู่ตรงใจกลางวอลล์สตรีตนี่เอง

ชุดวิกฤตอันยาวเหยียดนี้เกิดจากภาวะเสียดุลระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ในเศรษฐกิจโลกเป็นพื้นฐานรองรับ นั่นคือประเด็นปัญหาการผลิตล้นเกินกับการสะสมทุนล้นเกินนี่เอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)