อุษาวิถี (44) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (44)

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

 

ส่วนใหญ่ของรัฐเหล่านี้ได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดียมาใช้กับรัฐของตน มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 7-10 หรือประมาณ 1,900 ปีถึง 1,500 ปีก่อน รัฐเหล่านี้ก็ยังหาได้รวมตัวกันได้ไม่

สิ่งที่เป็นได้ใกล้เคียงที่สุดของการรวมตัวก็คือ การรวมตัวในรูปของสหพันธรัฐ ที่รัฐเล็กรัฐน้อยยอมรับฐานะและอำนาจของกษัตริย์ของอีกรัฐหนึ่งเสมือนหัวหน้า โดยรัฐเล็กๆ เหล่านี้ยังคงมีอิสระในการปกครอง

แต่กระนั้นสิ่งที่รัฐเหล่านี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การทำสงครามระหว่างกัน

สงครามระหว่างรัฐในสยามประเทศเวลานั้น แม้จะไม่มีความชัดเจนในแง่ของสาเหตุของความขัดแย้งว่ามีที่มาจากเรื่องใดก็ตาม

แต่ก็มีการวิเคราะห์กันว่าน่าจะมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ

 

ในประการแรก เป็นประเด็นขนบจารีตโดยตรง โดยเฉพาะขนบจารีตทางด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ที่แต่ละรัฐมีแตกต่างกันไป

เมื่อมีการรวมตัวในรูปสหพันธรัฐขึ้นแล้ว ก็จะมีรัฐหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในอำนาจจากรัฐที่เหลือ สิ่งที่ตามมาก็คือ การต้องหาขนบจารีตที่ทุกรัฐให้การยอมรับร่วมกันได้ และขนบจารีตที่ว่าก็คือ ขนบจารีตจากอินเดีย

ขนบจารีตของอินเดียตามหลักศาสนาพราหมณ์เชื่อกันว่า กษัตริย์เป็นผู้มีบุญญาธิการและอาณาบารมี ตลอดจนอำนาจที่จะทำพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์นั้น นอกจากจะทำให้กษัตริย์จะต้องรักษาตำแหน่งของตนให้ได้ด้วยการบริหารรัฐให้ดีแล้ว การป้องกันภัยคุกคามจากรัฐภายนอกที่แสวงหาความอุดมสมบูรณ์จากรัฐอื่นๆ ยังเป็นหน้าที่สำคัญของกษัตริย์อีกด้วย

ในข้อหลังนี้เองที่นำมาสู่สงครามระหว่างรัฐ ที่ถึงแม้โดย “เนื้อหา” แล้วจะเป็นไปเพื่อการแย่งชิงทรัพยากรก็ตาม แต่สิ่งที่ตามมาถ้าหากชนะในสงครามก็คือ “รูปแบบ” อันเนื่องมาจากการเป็นตัวแทนของขนบจารีตทั้งปวง โดยเฉพาะในด้านพิธีกรรม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่อ้างอิงถึงความชอบธรรมในทางอำนาจที่สำคัญ

 

ในประการต่อมา เป็นประเด็นเกี่ยวกับการค้าโดยตรง โดยเฉพาะในระยะที่อุตสาหกรรมทางด้านโลหะกำลังเจริญรุ่งเรืองนั้น สินค้าที่เกิดขึ้นในระยะนี้ไม่เพียงจะสนองตอบต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐต่างๆ เท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่การแสวงหาความมั่งคั่งด้วยการพยายามผูกขาดอีกด้วย

วิธีการคือ หากแต่ละรัฐไม่สร้างไมตรีต่อกันด้วยการแต่งงานกันเพื่อให้ได้เป็นเครือญาติกัน ก็จะทำสงครามต่อกันเพื่อผนวกเอาดินแดนและผู้คนของผู้แพ้มาไว้ใต้อำนาจของตน

การผูกขาดทางเศรษฐกิจด้วยอำนาจดังกล่าว ไม่เพียงจะนำความมั่งคั่งและมั่นคงให้แก่รัฐที่มีอำนาจเหนือกว่าเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งยังหมายถึงหนทางที่กษัตริย์ของรัฐนั้นจะเข้าครอบครองสินค้าฟุ่มเฟือย

สินค้าเหล่านี้มีค่าทั้งต่อฐานะกษัตริย์ของตน และต่อขนบจารีตของศาสนาพราหมณ์อีกด้วย

โดยเฉพาะสินค้าที่เป็น “เครื่องสูง” อันเป็นผลิตผลจากอุตสาหกรรมในยุคนั้น ที่ไม่เพียงจะเป็นสินค้าที่รับใช้เศรษฐกิจในขณะนั้นเท่านั้น หากยังรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ทั้งขนบจารีตและการค้าที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แม้จะจัดอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเป็นรัฐอยู่ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดถึงความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลานั้นก็คือ การก้าวขึ้นมาของราชวงศ์ฮั่นในแผ่นดินจีน ที่ได้มีส่วนไม่น้อยในการขยายทิศทางทางการค้าระหว่างสยามประเทศกับโลกภายนอก ซึ่งจากเดิมที่มีอินเดียเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ก็กลายเป็นมีจีนเป็นอีกศูนย์หนึ่งที่เพิ่มเข้ามา

ปรากฏการณ์นี้ทำให้การค้าของสยามประเทศขยายออกกว้างไกลกว่าเดิม และต่อมาได้นำมาสู่การเกิดขึ้นของเมืองท่าที่สำคัญอื่นๆ

เมืองท่าเหล่านี้แม้จะกลายเป็นรัฐใหญ่อีกรัฐหนึ่งในอนาคตก็จริง แต่การเข้ามาของจีนก็ยังมิได้ทำให้สยามประเทศรับเอาวัฒนธรรมจีนเข้ามาใช้ เหมือนอย่างที่รับเอาวัฒนธรรมอินเดียมาใช้

ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะเวลานั้นราชวงศ์ฮั่นเพิ่งจะเริ่มให้ความสนใจลัทธิขงจื่อ

 

ผิดกับอินเดียที่การแผ่ขยายของศาสนาพราหมณ์ได้มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว จนถึงสมัยที่พระเจ้าอโศกเรืองอำนาจในพุทธศตวรรษที่ 3-4 แล้ว ศาสนาพุทธซึ่งเดิมยังมีบทบาทอยู่ในสยามประเทศไม่มากนักก็ค่อยๆ เพิ่มบทบาทของตนมากยิ่งขึ้น จนสามารถเคียงคู่กับศาสนาพราหมณ์ได้ในเวลาต่อมา

ตราบจนพุทธศตวรรษที่ 12 เรื่อยมา ภายใต้รากฐานของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ประกอบกับความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าที่มีกับอินเดียและจีนนั้นเอง รัฐในสยามประเทศจึงถูกก่อรูปชัดเจนขึ้นมา

กล่าวคือ จากการเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยที่รวมตัวกันในรูปสหพันธรัฐ ก็ค่อยๆ กลายเป็นรัฐใหญ่ที่มีศูนย์กลางอยู่ตามส่วนต่างๆ ของสยามประเทศ

ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า “สมัยทวารวดี”

โดยเมืองสำคัญของรัฐเหล่านี้ได้แก่ นครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณในลุ่มน้ำท่าจีน เมืองอู่ทองในลุ่มน้ำจระเข้สามพัน เมืองคูบัวในลุ่มน้ำแม่กลองแถบราชบุรีปัจจุบัน เมืองศรีมโหสถในลุ่มน้ำบางปะกงแถบปราจีนบุรีปัจจุบัน ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับเมืองอู่ทอง และเมืองละโว้ในลุ่มน้ำลพบุรีแถบลพบุรีปัจจุบัน

 

ควรกล่าวด้วยว่า แม้รัฐที่มีเมืองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางจะยอมรับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธก็ตาม แต่ก็เป็นไปภายใต้กระแสที่แตกต่างกัน

กล่าวคือว่า ทางด้านตะวันตกซึ่งมีเมืองนครชัยศรีเป็นศูนย์กลางจะนับถือศาสนาพุทธเป็นกระแสหลัก ส่วนทางด้านตะวันออกซึ่งมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลางจะนับถือศาสนาพราหมณ์เป็นกระแสหลัก โดยทั้งสองศูนย์นี้จะไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของศาสนาพราหมณ์หรือพุทธในฐานะกระแสรอง

ความชัดเจนที่มีต่อความเชื่อที่รับมาจากภายนอกนี้ เมื่อถูกนำมาใช้กับระบบการเมืองในเวลานั้นแล้ว ผลที่เกิดขึ้นต่อประชาชนหรือชุมชนเมืองจึงนำความเปลี่ยนแปลงมาด้วย

จากพัฒนาการนับเป็นพันปีมาจนถึงสมัยทวารวดีนี้ ประชาชนในแถบสยามประเทศมี อาชีพหลักของคือการเกษตรมาแต่ดั้งแต่เดิม และอยู่รวมกันเป็นชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก จนเมื่อชุมชนเหล่านี้เริ่มขยายเครือข่ายกว้างขวางออกไปจนกลายเป็นท้องถิ่นขึ้นมา เอกลักษณ์ร่วมของความเป็นท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น