ไม่ได้อะไรจาก ‘สลายขั้ว’ | เมนูข้อมูล

ถึงวันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 “เศรษฐา ทวีสิน” ได้เห็นหน้าค่าตาของคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางถูกใจ หรือไม่ถูกใจ หากติดตามจะพบว่าเป็นการว่ากันไปในเชิงพวกใครพวกมันเป็นกระแสหลักอยู่

ส่วนคนทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่ดูจะแสดงท่าทีแบบเฝ้ามอง หรือมีความเห็นแบบแยกแยะเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้ขึ้นกับการเป็นพวกใครเสียมากกว่า

ภาพการแสดงออกเช่นนี้น่าสนใจ เพราะหากย้อนกลับไปที่เหตุผลที่ “พรรคเพื่อไทย” ใช้สร้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนการร่วมรัฐบาลกับ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งก่อนหน้านั้นประกาศความเป็นพันธิมิตรหนักแน่นในนาม “ฝ่ายประชาธิปไตย” มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรครัฐบาลเดิม” ไม่เว้นแม้แต่ “พลังประชารัฐ” และ “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ก่อนหน้านั้นรุมตราหน้าว่าเป็น “พรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการ” จำเป็นต้องต่อต้าน

ด้วยการชี้นำให้ประชาชนคิดว่า “สลายขั้วความขัดแย้ง”

สร้างภาพสวยหรูให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศ ระหว่าง “เสื้อเหลือง” กับ “เสื้อแดง” ที่โจมตี ทำลายล้างกันและกันมาตลอดจะจบลงด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

ความรักความสามัคคีที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความร่วมมือในการนำพาประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง

คนไทยเราคิดอย่างไรกับข้ออ้างนี้

 

“นิด้าโพล” ทำสำรวจเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมือง สลายแล้วหรือยัง?”

ในคำถาม “ท่านเคยเข้าร่วมชุมนุมนุมของกลุ่มต่อไปนี้หรือไม่ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ร้อยละ 87.63 ไม่เคย,

ร้อยละ 4.35 เคยร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.-เสื้อแดง),

ร้อยละ 3.13 เคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.-เสื้อเหลือง),

ร้อยละ 3.05 เคยร่วมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.),

ร้อยละ 2.82 เคยร่วมกับกลุ่มสามนิ้ว (เสื้อส้ม)

และอีกคำถามคือ “ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มการเมืองใด”

ร้อยละ 69.47 ไม่อยู่ในกลุ่มใด, ร้อยละ 19.85 กลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 6.44 เสื้อแดง, ร้อยละ 2.59 เสื้อเหลือง, ร้อยละ 1.45 กปปส.

จากคำตอบดังกล่าวสะท้อนว่า การตั้งสมมุติฐานว่าคนไทยแตกแยกกันเป็นกลุ่มตามสีเสื้อ หรือตามการชุมนุมนั้น น่าจะเป็นการแบ่งที่หยาบไปสักหน่อย เพราะในความเป็นจริงคนที่เข้าร่วมในเชิงเห็นดีเห็นงามหรือมั่นคงในอุดมการณ์แบบนั้น เป็นแค่คนส่วนน้อย

สำหรับคนส่วนใหญ่ แสดงออกเป็นเรื่องๆ ไป แม้แรงกระตุ้นหลักๆ จะเป็นมาจากปมประเด็นคล้ายๆ กัน เช่น ความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ โอกาสความก้าวหน้าในอนาคตของชีวิต อิสรภาพทางความคิด และการแสดงออก

เรื่องราวเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับแรงกระตุ้นของคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องสังกัดสีเสื้อ หรือกลุ่มอุดมการณ์ใดเป็นการเฉพาะ

ดังนั้น “สลายขั้วการเมือง” ในความรู้สึกของคนทั่วไป จึงเป็นแค่ข้ออ้างของนักการเมืองในการเปลี่ยนขั้วอุดมการณ์ โดยไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการแสดงออกของคนทั่วไป ที่มีความคาดหวังเฉพาะในแต่ละช่วงเวลา

 

ในสถานการณ์ที่ “ฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ” กระทำการทุกอย่างเพื่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ โดยไม่ให้คุณค่าต่อการตัดสินใจของประชาชน

ท่าทีการเรียกร้องของคนส่วนใหญ่ย่อมปรารถนาให้นักการเมือง หรือพรรคการเมืองร่วมกันต่อสู้ คงไม่ใช่การเห็นดีเห็นงามกับการไปสมคบกับ “ขบวนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ”

ดังนั้น แม้ “สลายขั้วการเมือง” จะเป็นข้ออ้างที่คล้ายจะสวยหรู

แต่ไม่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด และการแสดงออกของประชาชนในทางเห็นดีเห็นงามไปด้วยเสียเท่าไร