ความตายของพริโกซิน ฝีมืออำมหิตของปูติน?

ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ที่ เยฟเกนี พริโกซิน เจ้าของและผู้ก่อตั้งกองกำลังทหารรับจ้าง “วากเนอร์” ก่อเหตุเขย่าบัลลังก์ของวลาดิมีร์ ปูติน ด้วยการกรีธาทัพนักรบรับจ้างเข้าไปประชิดมอสโกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมายุติลง

มีผู้สอบถามความคิดเห็นของบิล เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอ ของสหรัฐอเมริกาว่า ชะตากรรมของพริโกซินในทัศนะของเบิร์นส์คืออย่างไร

คำตอบของ ผอ.ซีไอเอ ก็คือ จากประสบการณ์ของตนเอง ยากนักที่พริโกซินจะหลีกหนีจาก “การแก้แค้น” ของคนอย่างปูตินในอนาคตได้ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะมาถึงเมื่อใดเท่านั้น

เหตุผลของเบิร์นส์ก็คือ ปูตินเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น แต่ไม่ผลีผลามวู่วาม “เขาคือคนประเภทที่เชื่อว่า การแก้แค้นให้ดีที่สุดต้องเสิร์ฟเป็นอาหารจานเย็น” ทำนองเดียวกับประโยคที่ว่า การแก้แค้นสิบปียังไม่สาย ยังไงยังงั้น

นักการเมือง นักธุรกิจชาวรัสเซียที่เคยงัดข้อกับปูตินจนต้องระเห็จออกมาลี้ภัยนอกประเทศอีกหลายคนให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หนึ่งในจำนวนนั้นถึงกับบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “พริโกซินต้องตาย” ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น

เหตุผลเป็นเพราะ “ถ้ายังไม่ตาย อีกไม่กี่เดือนจะเกิดรัฐประหารในรัสเซียขึ้นอีกแน่”

 

ทั้งหมดนั้นดูเหมือนจะขัดแย้งกับสิ่งที่ปรากฏในมอสโกหลังความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนั้น ทั้งสองฝ่าย “ทำความตกลง” กันได้ด้วยดี ปูตินถึงกับเปิดทำเนียบเครมลินต้อนรับพริโกซิน ที่ไม่นานต่อมาก็สามารถไปไหนมาไหนในรัสเซียได้ตามปกติ

แต่แล้ว 2 เดือนเป๊ะหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ความตายของเยฟเกนี พริโกซิน ก็กลายเป็นความจริงขึ้นมา

เครื่องบินโดยสารแบบเอ็มบราเออร์ ผลิตในบราซิล ซึ่งพริโกซินใช้สำหรับเดินทางเพื่อ “ทำธุรกิจ” เพิ่งออกเดินทางจากท่าอากาศยานในกรุงมอสโกมุ่งหน้าไปยังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กำลังไต่ระดับขึ้นสู่ความสูง 30,000 ฟุต อันเป็นเพดานบินปกติ จู่ๆ ก็ร่วงลงสู่พื้นดินบริเวณพื้นที่ป่าละเมาะในเขตทีแวร์ โอบลาสต์ ห่างจากมอสโกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 160 กิโลเมตรเท่านั้น

นักบินและลูกเรือ 3 คน กับผู้โดยสารอีก 7 คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด

2 คนในจำนวนผู้โดยสารถูกระบุว่า หนึ่งคือพริโกซิน อีกหนึ่งคือ ดมิตรี อุทกิน ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นหนึ่งใน ผบ.อาวุโสของวากเนอร์กรุ๊ป และเป็นผู้บัญชาการกองกำลังที่ตบเท้ามุ่งหน้าสู่มอสโกเมื่อเดือนมิถุนายน

สาเหตุการตกยังไม่มีการยืนยัน แต่ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นก่อนที่เครื่องจะร่วงวูบลงมา

ส่งผลให้เกิดเสียงลือสนั่น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของมอสโกยิงตก “โดยเจตนา”

 

สาเหตุที่เป็นไปได้อีกประการก็คือ เหตุการณ์นี้อาจเป็น “อุบัติเหตุ” ทำนองเดียวกับที่กองทัพอิหร่านเคยยิงเครื่องบินโดยสารของสายการบินอิหร่านเองตกในเตหะรานเมื่อปี 2020 ระหว่างที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมสูงสุด

ก่อนหน้านั้น มอสโกเคยตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศจากยูเครนด้วยโดรนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานนี้ไม่ได้รับการเชื่อถือมากมายนัก แม้ว่า 7 วันก่อนหน้าวันเกิดเหตุจะมีการโจมตีจากโดรนทุกวันก็ตามที เหตุผลก็เพราะโดรนไม่เพียงบินช้ากว่า ยังเล็กกว่าและบินในระดับต่ำกว่าเครื่องบินโดยสารมากเลยทีเดียว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองของยูเครนรายหนึ่งระบุว่า พริโกซินถูก “หมายหัว” จากระดับสูงในเครมลินหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมที่ตกเป็นเป้าโจมตีของพริโกซินอยู่บ่อยครั้ง

แต่ปฏิบัติการบ้าระห่ำทำนองนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับ “ไฟเขียว” จากคนอย่างวลาดิมีร์ ปูติน แม้แต่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายังระบุไว้ว่า “มีน้อยเรื่องมากที่เกิดขึ้นในรัสเซียโดยที่ปูตินไม่ได้อยู่เบื้องหลัง”

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน ไคริลโล บูดานอฟ หัวหน้าหน่วยเอชอาร์ยู หน่วยข่าวกรองของกองทัพยูเครน เคยออกมาอ้างว่า เอฟเอสบี หน่วยข่าวกรองรัสเซียที่สืบทอดมาจากเคจีบีของรัสเซีย ได้รับมอบหมายภารกิจให้ “ลอบสังหาร” เยฟเกนี พริโกซิน

 

ความตายของพริโกซิน ส่งผลกระทบต่อวากเนอร์กรุ๊ป ไม่ใช่น้อย เพราะไม่เพียงขาดผู้นำที่ห้าวหาญ กล้าได้กล้าเสียไปเท่านั้น ยังขาดมันสมองระดับ “ผู้จัดการ” ที่เชี่ยวชาญทั้งในการ “ส่งกำลังบำรุง” และเชี่ยวกรากในเชิงธุรกิจที่ทำให้วากเนอร์กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มทหารรับจ้างที่มี “น้ำเลี้ยง” ดีที่สุดเรื่อยมา

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า นักรบรับจ้างในสังกัดวากเนอร์ มีทางเลือก 2 ทาง ทางหนึ่งคือยอมรับการขึ้นทะเบียนเป็นทหารสังกัดกองทัพรัสเซีย หรือไม่ก็แยกตัวออกไปเป็นอิสระ ประกอบ “ธุรกิจ” นอกกฎหมายของตนต่อไป เนื่องจากมีเครือข่ายเดิมรองรับอยู่แล้วโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา

วลาดิมีร์ ปูติน ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเสียชีวิตของพริโกซิน ภาพลักษณ์ของผู้นำทรงอิทธิพล แข็งแกร่ง มีอำนาจสูงสุดในประเทศ และ “ห้ามแตะต้องจาบจ้วง” หวนคืนมาอีกครั้ง

อย่างน้อยก็ในสายตาของสาธารณชนในรัสเซีย ที่มองปูตินว่าเป็นยิ่งกว่า “เจ้าพ่อมาเฟีย” ผู้สามารถรังสรรค์วิธีการสารพัดมายัดเยียดความตายให้กับใครก็ตามที่บังอาจจาบจ้วงล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไอโซโทปของสารกัมมันตภาพรังสี หรือการใช้ยาพิษทำลายประสาทก็ตาม

แต่ในเวลาเดียวกัน ภาพลักษณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้ระบอบปูตินและรัสเซียยิ่งห่างไกลจากความเป็นรัฐปกติทั่วไปมากยิ่งขึ้น

รัสเซียทั้งประเทศยิ่งกลายเป็นเหมือน “รัฐส่วนตัว” หรือ “รัฐมาเฟีย” ที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของคนเพียงคนเดียวบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยเลือดมากขึ้นทุกที

ในทางกลับกัน ความตายแบบเฉียบพลันอาจยิ่งทำให้ชื่อเสียง ความนิยมชมชอบในตัวพริโกซินยิ่งทวีมากขึ้น

ความเชื่อที่ว่า พริโกซินตายเพราะพูด “ความจริง” อาจกลายเป็นเชื้อไฟสุมขอนที่สั่นคลอนเสถียรภาพของปูตินมากยิ่งขึ้นในอนาคต ด้วยการผลักดันฝ่ายต่อต้านให้รวมเป็นกลุ่มก้อน

ในแอพพลิเคชั่นเทเลแกรม “เกรย์โซน” ชื่อบัญชีที่เชื่อมโยงกับพริโกซินและวากเนอร์กรุ๊ปชนิดแยกกันไม่ออก ปรากฏข้อความว่า “การลอบสังหารครั้งนี้ จะมีผลถึงระดับหายนะ”

“ใครก็ตามที่ออกคำสั่ง ไม่ใส่ใจและไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและขวัญกำลังใจของทหารเลยแม้แต่น้อย”