รัฐธรรมนูญเลวร้ายอย่างไร ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

รัฐธรรมนูญเลวร้ายอย่างไร

ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ

 

พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอนโยบายในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในช่วงการหาเสียง แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ใช่นโยบายประชานิยมซึ่งเกี่ยวกับรายได้และปากท้องของประชาชน แต่ก็เป็นนโยบายทางการเมืองที่สำคัญใช้เป็นประเด็นหลักในการรณรงค์หาเสียงและได้การตอบรับจากประชาชนที่ตื่นตัวในทางการเมือง

ความเอาจริงเอาจังต่อนโยบายดังกล่าวถึงขนาดว่าบางพรรคการเมืองมีคำกล่าวที่หนักแน่นว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะเสนอเรื่องการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนับแต่การประชุม ครม.นัดแรก เพื่อให้มีการทำประชามติโดยเร็วและสามารถเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสิ้นในเวลาไม่เกินสองปีด้วยซ้ำ

สำหรับภาคประชาชนโดยกลุ่มไอลอว์ ก็มีการรณรงค์รวบรวมชื่อประชาชนมากกว่าสองแสนรายชื่อเพื่อเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งและเสนอตรงไปยังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้มีการทำประชามติจากประชาชนว่า “เห็นชอบหรือไม่ที่จะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอย่างไร จึงกลายเป็นประเด็นหลักที่นำไปสู่ความจำเป็นต้องจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่มีต้นทุนการจัดทำประชามติถึง 3 ครั้งและยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วอาจใกล้เคียงจำนวนเงินถึง 20,000 ล้านบาท

 

ระบบการเลือกตั้ง

ที่ยังลักลั่นขาดความลงตัว

แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 1 ครั้งในปี พ.ศ.2564 เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ เปลี่ยนสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตต่อระบบบัญชีรายชื่อเป็น 400 : 100 แต่ปัญหาที่ยังค้างอยู่ไม่มีการแก้ไข คือ แทนที่บัตรเลือกตั้งทั้งสองใบจะเป็นหมายเลขเดียวกัน กลับเป็นว่าเขตต้องเป็นหมายเลขหนึ่ง หมายเลขบัญชีรายชื่อของพรรคก็เป็นอีกหมายเลขหนึ่ง ยากต่อการจดจำของประชาชน

ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการมีหมายเลขแตกต่างกัน ทำให้พรรคขนาดเล็กที่จับสลากหมายเลขพรรคได้หมายเลขตัวเดียว ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่คาดว่าจะมาการลงคะแนนตามหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคการเมืองใหญ่ มาถึง 6 พรรค ได้แก่ พรรคใหม่ (หมายเลข 1) พรรคประชาธิปไตยใหม่ (หมายเลข 2) พรรคเป็นธรรม (หมายเลข 3) พรรคท้องที่ไทย (หมายเลข 4) พรรคพลังสังคมใหม่ (หมายเลข 5) พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (หมายเลข 6) แม้ว่าจะยังไม่มีการพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นสมมติฐานที่มีโอกาสเป็นไปตามนี้ได้มาก

ส่วนเรื่องสัดส่วนระหว่าง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลงเหลือ 100 คน กลับเป็นการสร้างปัญหาให้กับพรรคขนาดใหญ่ที่ขาดกระแสนิยมจากประชาชน โดยดูจากผลเลือกตั้ง มีเพียง 3 พรรคที่ได้ประโยชน์จากจำนวนที่กำหนดขึ้นใหม่ คือ พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน พรรคเพื่อไทยได้ 29 คน และพรรครวมไทยสร้างชาติ 13 คน

แต่พรรคการเมืองอื่น แม้เป็นพรรคขนาดกลางกลับได้จำนวน ส.ส.ในระบบดังกล่าวน้อยมากจนอาจเป็นปัญหาในด้านการขาดบุคลากรทางการเมืองที่มีคุณภาพ

เช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ได้เพียงพรรคละ 3 คน พรรคพลังประชารัฐพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเสรีรวมไทย ได้เพียงพรรคละ 1 คน เท่ากับพรรคเล็กๆ อีก 6 พรรค ที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาด้วยวิธีการคล้ายผิดปกติ

ประเด็นที่ต้องพิจารณาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงมีหัวข้อย่อยต้องพิจารณาดังนี้

ประการแรก การกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อว่าสัดส่วน 400 : 100 ยังจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ หรือจะกลับไปใช้สัดส่วน 375 : 125 หรือ 350 : 150 เช่นในอดีต

ประการที่สอง การแก้ให้กลับไปใช้ระบบพรรคเดียวกันหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศทั้งหมายเลขเขตและหมายเลขบัญชีรายชื่อ เพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากในการจดจำของประชาชน สะดวกต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง ง่ายต่อการจัดการเลือกตั้งของ กกต. และไม่เกิดผลในเชิงการลงคะแนนผิดพลาดกลายเป็นส้มหล่นแก่พรรคหมายเลขต้นๆ

ประการที่สาม การกำหนดให้มีคะแนนขั้นต่ำก่อนมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่น ร้อยละ 1 หรือประมาณ 350,000 คะแนน ร้อยละ 3 หรือประมาณ 1 ล้านคะแนน เพื่อให้ไม่ต้องมีการปัดเศษให้แก่พรรคขนาดเล็กที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว

ประการที่สี่ การแก้ไขเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน เป็นกรอบเวลาที่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถใช้เวลาที่มีดังกล่าวเพื่อจัดการการเลือกตั้งให้สุจริตหรือเที่ยงธรรมมากขึ้นได้ ดูจากการเลือกตั้งปี 2566 ไม่มีการให้ใบเหลืองใบแดงแก่ผู้สมัครคนใด ส่วนปี 2562 มีการให้ใบส้มในระยะเวลาดังกล่าวเพียงใบเดียวแล้วยังเป็นใบส้มที่ผิดพลาดมีการฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการการเลือกตั้งในวงเงินเกือบ 70 ล้านบาท การให้เวลาถึง 60 วันยังทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป ดังนั้น จึงสมควรทบทวนกลับไปเป็นภายใน 30 วัน ตามที่เคยปฏิบัติในอดีต

ประการที่ห้า กรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีบางกรณีที่เป็นปัญหาต้องมาตีความไม่รู้จบ เช่น กรณีการถือหุ้นสื่อ กลายเป็นผู้ไม่รอบคอบในการถือหุ้นโดยไม่ตั้งใจกลับถูกลงโทษ แต่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่มีสื่ออยู่ในมือ ใช้สื่อเป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งชัดเจน แต่มีนอมินีถือแทนกลับรอดพ้น หรือกรณีโทษถึงที่สุดให้จำคุกโดยไม่มีกรอบเวลาก็ดูเป็นเรื่องที่อาจไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ผ่านเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว

ประการที่หก กรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่พรรค ยังจะคงหลักการดังกล่าวหรือไม่ หรือจะมีการกำหนดคุณสมบัติว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบังคับให้แคนดิเดตทุกคนต้องผ่านการเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นขั้นต้นก่อนด้วย รวมถึงประเด็นย่อยในการให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีควรแสดงวิสัยทัศน์ต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ประการที่เจ็ด การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข รวมถึงการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความยืดหยุ่นในการใช้นวัตกรรมเพื่อการเลือกตั้ง

เช่น สามารถเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ตสำหรับคนไทยนอกราชอาณาจักร การใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยเลือกตั้งในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม

 

นี่ขนาดเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรื่องเดียวยังมีประเด็นให้คิดพิจารณามากมายปานนี้ ยังไม่รวมถึงการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา ยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่ากระบวนการรับสมัครตามกลุ่มอาชีพและสรรหากันเองสามขั้นตอนที่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ว่าจะเป็นกลไกที่ได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความรู้ความสามารถเป็นประโยชน์ในการกลั่นกรองกฎหมายและให้คำแนะนำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือไม่

ยังไม่รวมเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ เป็นประโยชน์หรือเป็นปัญหาต่อการพัฒนา ยังไม่รวมเรื่องคุณสมบัติและวิธีการสรรหาองค์กรอิสระ ว่าได้คนดี มีความสามารถจริงหรือไม่ หรือเรื่องกลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงซึ่งยังมีประเด็นอีกมากมายต้องแก้ไข

แก้เป็นรายมาตราคงเหนื่อย แต่ร่างใหม่ทั้งฉบับก็เหนื่อยไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่เคยให้คำมั่นสัญญาเรื่องนี้ในการหาเสียงจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน

หรือจะบอกว่าที่ผ่านมาคือเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาเท่านั้น