ปรากฏการณ์ ‘การเมืองมวลชน’ vs ‘การเมืองบ้านใหญ่’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ปรากฏการณ์ ‘การเมืองมวลชน’

vs

‘การเมืองบ้านใหญ่’

 

ถ้าเราไม่เอา “ป้าย” เรื่อง “อนุรักษนิยม” หรือ “เสรีนิยม” และไม่ห้อยท้ายคำว่า “ใหม่” ให้กับการเมืองไทยวันนี้ ก็คงจะมองเห็นได้เฉพาะการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่

และ “การเมืองกลางเก่า-กลางใหม่”

หรือ “การเมืองเดิมกับการเมืองก้าวหน้า”

หรือ “การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน”

พรรคการเมืองไทยยังห่างจากการก่อร่างสร้างตัวบนพื้นฐานของหลักคิดที่จะสร้างแนวทางการเมืองที่ต้องการจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน

จะมีก็เพียงนโยบายเพื่อเอาใจชาวบ้าน

กับการใช้การเมืองเพื่อสนับสนุนกลุ่มผลประโยชน์แห่งตนเป็นหลัก

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้อาจจะทำให้เราเห็น “การเมืองก้าวหน้า” ที่พรรคก้าวไกลพยายามจะนำเสนอต่อประชาชน

ที่เกิดปรากฏการณ์ของก้าวไกลที่สามารถได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเฉพาะนโยบายชุดใดชุดหนึ่ง

หรือตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

หากแต่เป็นจังหวะที่ประชาชนคนไทยต้องการเห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ที่จับต้องได้อย่างจริงจัง

และเบื่อหน่ายกับการเมืองที่ได้ประสบการกว่า 8 ปี

เมื่อเห็นพรรคก้าวไกลทำหน้าที่ฝ่ายค้านมา 4 ปีที่ต่อจากพรรคอนาคตใหม่ และคุณภาพของ ส.ส.ของพรรคนี้ที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความอ่านและทำการบ้านในการอภิปรายในสภา

ก็เริ่มเห็นเค้าลางของ “ความใหม่” ที่แม้จะไม่ตอบโจทย์ทุกข้อ แต่ก็มีวี่แววของ “คุณภาพการเมือง” ที่คนไทยแสวงหามายาวนาน

เมื่อเกิดการเปรียบเทียบกับ “การเมืองเก่า” ที่ยังอยู่ใต้อิทธิพลของ “ทุนใหญ่” และ “บ้านใหญ่”

เสริมด้วยระบบ “อุปถัมภ์” ที่เป็นการเกาหลังกันไปมาระหว่างผู้มีอิทธิพลบารมี

สามเหลี่ยมแห่งความชั่วร้ายอันหมายถึงนักการเมือง, ข้าราชการประจำและพ่อค้ายังตอกย้ำถึงความล้าหลังของสังคมไทย

ความจริง การโหยหา “การเมืองใหม่” อาจจะมีมายาวนานแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเป็น “รูปธรรม” ชัดเจนเหมือนที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ

เมื่อจังหวะการเลือกตั้งมาถึง คนที่ตัดสินใจ “ให้โอกาสการเมืองใหม่” จึงตัดสินใจหย่อนบัตรให้ก้าวไกล

อาจจะไม่ใช่เพราะต้องการก้าวไกลมาเป็นรัฐบาลทันที แต่ต้องการจะแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการเมืองเก่าอีกต่อไป

เป็นกระแสต้องการ “ให้โอกาส” กับทางเลือกใหม่

เพราะอยู่กับ “การเมืองเก่า” มานานพอที่จะตระหนักว่าบ้านเมืองไม่มีทางหลุดจากกับดักที่เป็นอุปสรรคของการสร้างสังคมใหม่ได้อีกหากยังติดยึดอยู่กับการเมืองแบบเดิมๆ

 

หากเรามองภาพกว้างๆ หลวมๆ คำนิยามของทิศทางของการเมืองไทยในแนว “แบบเก่า” กับ “แบบใหม่” และใช้ศัพท์แสงทางวิชาการอธิบายก็อาจจะได้ในทำนองว่า

“Conservative” หรือ “อนุรักษนิยม” เน้นการรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นเอาไว้

เพราะ “อนุรักษนิยม” ถูกมองว่าต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมจะออกจาก “เขตคุ้นเคย” หรือ comfort zone

คนกลุ่มนี้จะพยายามปลอบใจตนเองด้วยการบอกว่าเมืองไทยดีอยู่แล้ว คนอื่นแย่กว่า จะต้องดิ้นรนหาวิถีอื่นทำไม

บางคนถึงกับบอกว่าใครที่มองว่าประเทศไทยยังดีกว่านี้ได้ก็ให้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศเสีย

ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความพยายามของคนที่เรียกร้องให้ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพชีวิตของคน

ให้ลดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจน

ให้สร้างความเท่าเทียมด้วยการแก้ปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย”

คนที่มองว่า “ทุกอย่างดีอยู่แล้ว” คือคนกลุ่มที่อยู่ในฐานะได้เปรียบในสังคม

แต่คนส่วนใหญ่ยังมองเห็นการเมืองอย่างที่เห็นอยู่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่ดีกว่า

เพราะแนวคิดอย่างนี้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคาม จึงไม่นิยมความเปลี่ยนแปลง

 

ส่วนคำว่า “Neo Conservative” หรือ “อนุรักษนิยมใหม่” คือการขยับความคิดจากที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมาเป็นความตระหนักว่าหากไม่ปรับไม่เปลี่ยน บ้านเมืองจะจมอยู่กับความล้าหลังและหากความยากจนและความเหลื่อมล้ำเสื่อมทรุดต่อไป สังคมก็มิอาจจะอยู่สุขได้

ถึงตอนนั้น คนกลุ่มที่สุขสบายวันนี้ก็จะต้องเผชิญกับความเป็นจริงว่าคนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาสจะมองไม่เห็นทางออกสำหรับตน

คนเหล่านี้ก็จะลุกขึ้นเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และอาจจะสุ่มเสี่ยงกับการใช้ความรุนแรง

ถึงจุดนั้น ก็ไม่มีใครอยู่สบายได้อยู่ดี

เพราะหากสังคมเองไม่ปรับไม่เปลี่ยนเองก็จะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยนอยู่ดี

และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการระเบิดของความทุกข์ยากนั้นอาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงที่ไม่อาจจะแก้ไขเยียวยาได้

สังคมอาจจะตกอยู่ในภาวะล่มสลายเพราะการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น

สิ่งที่เรียกว่า “อนุรักษนิยมใหม่” จึงหมายถึงการที่กลุ่มคนที่เคยเป็น “อนุรักษนิยม” สุดขั้วหันมายอมรับว่าสังคมจะต้องเปิดกว้างมากขึ้น ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายโกลาหลในบ้านเมือง

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยน “ป้ายชื่อ” หรือการออกแถลงการณ์หรือแม้การปรับคณะรัฐมนตรี

หากแต่หมายถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกาพื้นฐานของสังคม

ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการถืออำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ

รวมถึงการยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

“อนุรักษนิยมใหม่” ก็มีความหมายในตัวว่ายังไม่ได้กระโดดข้ามไปเป็น “เสรีนิยม” หรือ “สังคมนิยม”

หากแต่ยังมีความเป็น “ทุนนิยม” แต่เป็นทุนนิยมที่มีมาตรฐานแห่งศีลธรรมและจริยธรรม

บางคนเรียกเป็น “ทุนนิยมที่มีความเป็นมนุษย์”

ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ “ทุนนิยมสามานย์”

มองในแง่พรรคการเมืองไทยกับการแยกระหว่าง “อนุรักษนิยม” กับ “อนุรักษนิยมใหม่” ก็จะพอจะเห็นว่าเมื่อผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมปีนี้ หลายพรรคก็รู้ทันทีว่า “ยุคสมัยใหม่แห่งการเมือง” กำลังมาเยือนแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้

เริ่มมีการยอมรับว่าหากพรรคไม่ปรับปรุงตัวเองก็จะกลายเป็นพรรคที่ล้าหลัง

พรรคการเมืองแบบดั้งเดิมคือกลุ่มนักการเมืองที่ยึดอยู่กับแกนนำเพียงไม่กี่คน

เป็นพรรคการเมืองที่มี “เจ้าของพรรค” กับ “สปอนเซอร์” พรรค

 

เราได้ยินทักษิณ ชินวัตร ในนาม Tony Woodsome พูดผ่านรายการ Care Talk หลังการเลือกตั้งว่าพรรคเพื่อไทยต้องมีการ rebrand ครั้งใหญ่

เขาบอกว่าคนแก่ของพรรคต้องถอยออกไป ต้องเปิดทางให้คนหนุ่มคนสาวที่เข้าใจเทคโนโลยีมทำงานแทน

แต่เขาไม่ได้บอกว่าเพื่อไทยจะต้องเลิกความเป็น “พรรคครอบครัว” อย่างไร

เขาไม่ได้อธิบายว่าที่เขาถูกมองว่าเป็น “เจ้าของพรรค” นั้นมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

ทักษิณมองความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในแง่ “การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย” เป็นหลัก

โดยมองข้ามสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้สวมบทบาทของฝ่ายค้านที่ทำการบ้านและใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพื่ออภิปรายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ซึ่งเป็นจุดแตกต่างจากพรรคการเมืองเก่าอื่นๆ อย่างชัดเจน

พรรคเพื่อไทยเองที่แม้จะมีความพยายามจะชักชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้พรรค แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะสิ่งที่ปรากฏให้สาธารณชนเห็นก็ยังเป็นภาพของครอบครัวชินวัตรและกลุ่มคนที่ทำงานใกล้ชิดกับตระกูลนี้

ไม่มีร่องรอยของการสร้างพรรคการเมืองที่ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงที่ disrupt สังคมโลกและกระทบสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

 

วันนี้ ยิ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยตัดสินใจตั้งรัฐบาล “สลายขั้ว” โดยอ้างว่าจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจ, รัฐธรรมนูญและความขัดแย้งด้วยการจับมือกับ “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่ยังมีเงาทะมึนของ “สองลุง” อยู่

จึงยิ่งเห็นว่าพรรคเพื่อไทยกำลังสร้างกับดักให้กับตัวเอง…ด้วยการใช้กลเม็ดเด็ดพรายของการเมืองเก่า

เมื่อเป้าหมายที่อย่างเดียวคือต้องเป็นรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึง “ต้นทุนสังคม” อันสูงลิ่วที่ต้องสูญเสีย

ความเป็นพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็นเสาหลักแห่งประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับอำนาจเก่าที่มาจากรัฐประหารก็ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา

คนที่เรียกการข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ว่าย้ายตัวเองจาก “เสรีนิยม” สู่ “อนุรักษนิยมใหม่” ยังถือว่าให้ความเมตตาอย่างสูงด้วยซ้ำไป

เพราะวิพากษ์กันโดยเนื้อแท้แล้วอาจจะมีศัพท์แสงที่ใช้บรรยายปรากฏการณ์ “การเมืองข้ามสายพันธุ์” นี้ดุดันกว่านั้นมากมายหลายเท่านัก!