การเกิด…เติบโต และสลายตัว ของประชาธิปัตย์ (1) ฉากล่าสุดของประชาธิปัตย์

จากนี้ไปบทบาทของประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็คงจะลดลงและมีคนพูดถึงน้อยลงหรือแทบไม่มีใครพูดถึง ทีมวิเคราะห์เคยวิเคราะห์ถึงพรรคประชาธิปัตย์ทุก 3-4 ปี ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย จึงขอพูดถึงให้ยาวหน่อยเพราะปัจจุบันผู้สนใจการเมืองซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีจำนวนมาก อาจจะยังไม่เข้าใจหรือรู้ประวัติความเป็นมาอย่างลึกซึ้ง

สภาพปัจจุบันจำนวน ส.ส. ปชป.ที่ลดลงจากระดับเกิน 150 คน เหลือเพียง 25 คน เป็นเรื่องที่คาดเดาได้

ส่วนการแหกมติพรรคมาโหวตสนับสนุนนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยในนาทีสุดท้าย เป็นเรื่องแปลก แต่ลางบอกเหตุของการสลายคือ…การปะทะระหว่าง ส.ส.ใหม่ที่ท้าทายผู้อาวุโสของพรรค ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คนคือ หัวหน้าชวน หลีกภัย หัวหน้าบัญญัติ บรรทัดฐาน และหัวหน้าจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ ทั้งยังบอกว่าตัวเองไม่กลัวการถูกขับออกจากพรรค และไม่แน่ว่าใครจะเป็นคนขับใครออกกันแน่

พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นโรงเรียนขั้นประถมของ ส.ส.รุ่นเก่าจำนวนมากซึ่งมักจะเข้าไปเรียนรู้การเมืองในระบบรัฐสภาจากพรรคประชาธิปัตย์ และค่อยย้ายไปพรรคอื่น ผู้วิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านตัวเลขได้ให้ข้อสังเกตเรื่องความนิยมทางการเมืองไว้ดังนี้

โดยดูจำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือกแต่ละยุค เช่น ยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปี 2519 ทำได้ดีที่สุด 114 เสียง ประมาณ 42% ของทั้งสภาผู้แทนฯ

หลังพฤษภาทมิฬในปี 2535 ได้ 79 เสียง 22% และไม่เคยชนะที่ 1 อีกเลย

เลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2566 ได้ ส.ส. 25 จาก 500 คิดเป็น 5% ถือเป็นการได้ ส.ส.น้อยที่สุดในรอบ 40 ปี

และยังไม่แน่ว่า ส่วนใหญ่ของ ส.ส. 25 คน จะยังอยู่กับ ปชป. หรือจะยึดเพื่อสลายพรรค

หรือนี่จะเป็นฉากสุดท้ายของ ปชป.?

 

ปชป.มีอำนาจครั้งแรก
หลังรัฐประหาร 2490

ประชาธิปัตย์ตั้งพรรคปี 2489 เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม เริ่มโดยเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาเพื่อมาคานอำนาจกับรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ในขณะที่นอกสภามีอิทธิพลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ปกคลุม

8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารขึ้น นายปรีดีต้องหลบหนีออกต่างประเทศ คณะรัฐประหารได้ตั้งนายควง อภัยวงค์ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ นายควงจึงเป็นนายกฯ ต่อไม่ถึงสามเดือน…

6 เมษายน 2491 ก็ถูกรัฐประหารเงียบ และจอมพล ป.ก็กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง และอยู่หลายสมัย นานถึง 10 ปี

ปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ผู้ที่ถูกจับไปคุมขัง มีฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า นักหนังสือพิมพ์ ไม่พบว่ามีคน ปชป.ถูกจับแต่อย่างใด เมื่อจอมพลสฤษดิ์ตายในปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร ก็สืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อมา จนถึงปี 2512 จึงเปิดโอกาสให้มีเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมสืบทอดอำนาจเป็นรัฐบาลต่อไป ปชป.รับบทบาทฝ่ายค้าน และนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็น ส.ส.หน้าใหม่ของพรรคมีบทบาทเด่นในช่วงนี้

แต่เพียงแค่สองปีกว่า จอมพลถนอมก็ยึดอำนาจตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 สภาปิดลงอีกครั้งหนึ่ง

 

พรรคการเมืองเกิดและเติบโต
หลัง 14 ตุลา 2516

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนที่ขับไล่รัฐบาลทหาร ทำให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ 2517 ปชป.และพรรคเกิดใหม่ทั้งหลายก็ได้เข้ามามีบทบาทในสภากันอีกครั้ง เช่น กิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคชาติไทยของกลุ่มราชครู พรรคฝ่ายก้าวหน้าเช่นสังคมนิยม แนวร่วมสังคมนิยมและพลังใหม่ แต่ ปชป.ก็ยังเป็นพรรคที่มีบทบาทเด่นที่สุดอีกครั้ง

ปี 2518 ปชป.ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากที่สุด 72 คน มรว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกฯ อยู่ไม่กี่วัน แต่พอแถลงนโยบายก็ถูกคว่ำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้น้อง ซึ่งมีเพียง 18 เสียงแต่รวมเสียงพรรคอื่นๆ ได้มากกว่า แต่อยู่ได้ปีเดียว ต้องยุบสภา

ปี 2519 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ปชป.ก็ได้ ส.ส.มากที่สุด 114 คน คราวนี้ ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกฯ อยู่ได้ถึง 5 เดือน ก็มีการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ปชป.ก็หายไปจากวงการเมือง

เพราะถูกกลบด้วยกระแสการต่อสู้กับเผด็จการของนักศึกษา ประชาชนและพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งดุเดือดถึงขั้นใช้อาวุธรบกัน จนกระทั่งมีนโยบาย 66/23 การต่อสู้จึงสงบลง

จากปี 2523-2530 ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้บารมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปชป.เป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด

ปี 2531 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เปิดศักราชใหม่ในระบอบประชาธิปไตย สร้างกระแสเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูขึ้น แต่พอถึงปี 2534 ก็ถูกรัฐประหารโดยคณะรัฐประหาร รสช. การเลือกตั้งมีนาคม ปี 2535 ก่อนพฤษภาทมิฬ ปชป.ได้ ส.ส. 44 เสียง 12.2% ของสภา

จากนั้นประชาชนก็ประท้วงขับไล่รัฐบาล รสช.จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

 

ปชป.ชนะเลือกตั้งหลังพฤษภาทมิฬ 2535
จากนั้นแพ้รวด

การเลือกตั้งหลังพฤษภาทมิฬในเดือนกันยายน 2535 ปชป.ได้ ส.ส. 79 (22% ของ ส.ส.ในสภา) นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงปี 2538 ก็เกิดกรณีทุจริต ส.ป.ก.4-01 ทำให้ ปชป.ต้องยุบสภา และไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย

แพ้ครั้งที่ 1 การเลือกตั้งกรกฎาคม 2538 พรรคชาติไทยซึ่งนำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเลือกสูงสุด 92 เสียง ปชป.ได้ 86 เสียง (22% ของ ส.ส.ในสภา)

แต่นายบรรหารได้เป็นนายกฯ อยู่เพียงปีเดียวก็ถูก ปชป.อภิปรายเรื่องสัญชาติและการบริหารงาน ต้องยุบสภา

แพ้ครั้งที่ 2 ในการเลือกตั้งใหม่ในปี 2539 ความหวังใหม่ได้รับเลือก 125 เสียง ปชป.ได้ 123 เสียง (31%) แต่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ ได้เพียงปีเดียวก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีการลดค่าเงินบาทในปี 2540 พล.อ.ชวลิตลาออก…ไม่ยุบสภา

นายชวนได้เป็นนายกฯ โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่การแย่งชิงตำแหน่งนายกฯ ครั้งนี้ คือต้นตำนานงูเห่า เพราะนายชวนได้งูเห่าจากประชากรไทยมาหนุน 13 เสียง และบริหารไปจนถึงปี 2544 ก็ยุบสภาก่อนหมดวาระไม่กี่วัน

แพ้ครั้งที่ 3 ในการเลือกตั้งใหม่ มกราคม 2544 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการเลือกตั้งที่มี ส.ส ปาร์ตี้ลิสต์ครั้งแรก พรรคไทยรักไทยกวาด ส.ส.ไปถึง 248 เสียง ปชป.ได้ 128 เสียง (29.2%)

แพ้ครั้งที่ 4 เมื่อทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จนครบวาระ เลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 คราวนี้ไทยรักไทยได้ ส.ส.ถึง 377 เสียง ในขณะที่ ปชป.ได้เพียง 96 เสียง (19.2%) หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองกดดันจนนายกฯ ทักษิณต้องยุบสภา

พรรคประชาธิปัตย์มีวิธีช่วงชิงอำนาจรัฐ การรู้จักยืดรู้จักหดทำให้สามารถดำรงอยู่ในกระแสการเมือง อยู่กับอำนาจทหารได้แบบไม่ธรรมดา บางคนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต่อต้านเผด็จการทหารมาตลอด

แต่หลังการพ่ายแพ้ 4 ครั้งซ้อน ไม่มีใครคิดว่า ปชป.จะเลือกเส้นทางเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีการใหม่ที่แสนจะพิสดาร ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป