โจทย์หิน ‘รัฐบาลหลากสี’ ระดมสรรพกำลังเข็น ‘หุ้นไทย’ สุดป้อแป้ ไต่พ้นดอย

เห็นภาพความฟิตเปรี๊ยะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ออกมาผ่านการลงพื้นที่หารือร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณการเริ่มต้นใหม่ที่ดูสดใสกว่าเดิม

ภาพต่อจากนี้สิ่งที่ทุกคนยังจับตามองอยู่คงหนีไม่พ้นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ยกชุด โดยเฉพาะเก้าอี้ตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ว่าหวยจะไปออกที่ใครบ้าง หลังจากที่ผ่านมาถือว่ามีความทุลักทุเลกันมากพอสมควร

แต่เมื่อภาพมีความชัดเจนมากขึ้น ถือว่าปลดล็อกความกังวลได้บางส่วน ที่เหลือก็ต้องรอวัดฝีมือของรัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้านี้ ว่าจะสามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ

เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทย พึ่งพารายได้จากต่างประเทศสูงมาก ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนต่างชาติที่แบ่งเป็นตลาดธุรกิจและตลาดทุน

 

พิจารณาเฉพาะตลาดทุนไทยในวันนี้ คงต้องถือว่าเป็นโจทย์หินยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ผ่านมา เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดีเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือนอกประเทศ ก็ส่งผลกระทบต่อไทยทุกทาง สะท้อนผ่านสภาพคล่องหรือมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มีการขายเฉลี่ย 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน และมีแตะ 1 แสนล้านบาทอยู่หลายวันในปีเดียวด้วย

สลับมาปี 2566 นี้ มูลค่าการซื้อขายร่วงลงมาเหลือเพียง 4-5 หมื่นล้านบาทต่อวันเท่านั้น และกลุ่มนักลงทุนที่ซื้อขายหลักๆ ก็เป็นนักลงทุนในประเทศด้วย

คำถามคือ นักลงทุนต่างชาติหายไปไหน และอะไรทำให้นักลงทุนต่างชาติหายไป

คำตอบคือ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นไทยไหลระดับลงอย่างต่อเนื่อง เพราะความเชื่อมั่นหายไป ผสมกับราคาหุ้นที่ปรับลดลง ตามผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ออกมายังไม่ฟื้นตัวมากนัก เทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งที่ดัชนีฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด แต่หุ้นไทยนอกจากจะไม่ขึ้นแล้วยังลงอีกต่างหาก แถมมีกรณีหุ้นหลายตัวที่มีปัญหากระทบกับภาพลักษณ์ตลาดทุนไทยด้วย

จนกระทั่งไทยมีอีเวนต์ใหญ่อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่ทำให้ตลาดวิ่งในแดนบวกอยู่บ้าง แต่เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ ผลแพ้-ชนะออกมาแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่สามารถทำได้ จนลากยาวมากว่า 4 เดือนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติแน่นอน

สะท้อนผ่านภาพการทิ้งหุ้นไทยเป็นระลอกทุกครั้งที่มีข่าวกระทบกับจิตวิทยาแม้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะหากไม่มีความชัดเจนหรือความแน่นอน ก็คงไม่มีใครอยากเอาเงินลงมาเล่นกับความเสี่ยงง่ายๆ ไม่ว่าเราหรือเขาก็ตาม

ทำให้เมื่อมีภาพความชัดเจนของนายกฯ ที่ถูกเลือกแล้ว รวมถึงความคาดหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่จริงๆ แล้ว ช่วงต่อจากนี้คงเรียกได้ว่าปุ่มสตาร์ตจะถูกกดและทุกอย่างเริ่มต้นเดินหน้าต่อไปได้

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในโทนบวกมากขึ้น เพื่อตอบรับความชัดเจนของการเมือง ผ่านการมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คือ นายเศรษฐา ทวีสิน รวมถึงรูปร่างรัฐบาลที่ใกล้จะได้เห็นหน้าแบบชัดๆ มากขึ้นแล้ว แต่ความจริงมองว่าหุ้นไทยที่ปรับขึ้นมา เป็นเพราะความชัดเจนในการเดินทางกลับประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย มากกว่า

หากไม่มีการกลับมาของนายทักษิณ หุ้นอาจขึ้นอีกครั้งหลังจากมีผลโหวตนายกฯ ออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะหากสังเกตอาการหุ้นไทยในตอนนี้ แม้มีนายกฯ เป็นนายเศรษฐาแล้ว แต่ดัชนีก็ไม่ได้เคลื่อนไหวในเชิงบวกอย่างชัดเจน ดูจะทรงตัวไม่แตกต่างจากเดิมมากนักด้วย ทำให้ระยะถัดไป จะต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไร (เซลออนแฟกต์) เพราะเป็นภาพของการตอบรับที่ออกมาแบบธรรมดามากๆ

“ในระยะถัดไปถามว่า แล้วจะอย่างไรต่อ หมายถึงเมื่อได้นายกฯ แล้ว น่าจะมีรัฐบาลใหม่แล้ว ต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อ คนส่วนใหญ่มองภาพต่อไปไม่ออกแล้ว รวมถึงมีความกังวลกลับมาในเรื่องการเมืองนอกสภาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงลงถนนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นถัดจากนี้” ประกิตกล่าว

 

ขณะเดียวกัน ชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า วิเคราะห์เส้นค่าเฉลี่ยทางเทคนิค 200 วัน อยู่ประมาณ 1,569 จุด โดยเป้าหมายของการดีดตัวของดัชนีในรอบนี้อยู่ที่ระดับ 1,570 จุดเท่านั้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของดัชนีในปัจจุบันก็อยู่บริเวณ 1,560-1,565 จุด โดยหากประเมินตามแนวต้านและเส้นค่าเฉลี่ยที่ทับซ้อนกันอยู่ ส่งผลให้โอกาสที่ดัชนีจะผ่านแนวต้าน 1,570 จุดไปได้มีความยากอยู่ หมายความว่าดัชนียังคงปรับขึ้นได้ แต่จะผ่านแนวต้านได้ยาก ตราบใดที่ดัชนีไม่ย่อตัวลงหลุดระดับแนวรับที่ 1,540 จุด

“โดยโอกาสการกลับมาวิ่งฉิวของหุ้นไทยต่อจากนี้ ประเมินว่าขึ้นอยู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ของรัฐบาล หลังจากไตรมาส 2/2566 ตัวเลขจีดีพีหดตัวลงต่ำกว่าที่คาดกันไว้ บวกกับรับนโยบายหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับภาพรวมเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก” ชัยยศกล่าว

หากย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จากหลายสำนักทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ศูนย์วิจัย หรือธนาคารก็ต่างลงความเห็นว่าปีนี้ เป้าหมายสูงสุดของหุ้นไทยจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,600-1,700 จุดแน่นอน รวมถึงมีบางสำนักให้ไว้ถึง 1,800 จุดด้วย แต่เมื่อดัชนีถูกรบกวนระหว่างปีก็ทำให้เกิดอาการป้อแป้ แข้งขาอ่อนแรง จะขยับขึ้นแต่ละครั้งก็สุดแสนจะลำบาก ไม่เหมือนตอนขยับลง ที่เผลอจามไม่กี่ทีร่วงไปเป็น 10-20 จุด สุดท้ายจึงถูกหั่นคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง

นักลงทุนวันนี้ จึงต้องท่อง โอมเพี้ยง เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่การมีรัฐบาลใหม่เต็มตัว หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะผลักจะดันให้ดัชนีหุ้นไทยวิ่งขึ้นไปสุดหล้าฟ้าเขียวสดใสเหมือนประเทศอื่นได้สักที