ความหมาย ‘ประชาธิปไตย’ ของการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

วันหย่อนบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมปีนี้ ผมไม่คิดว่าคะแนนของผมจะได้รับชัยชนะ จากประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในเขตเลือกตั้งของผมที่อยู่นนทบุรี เบอร์และพรรคที่ผมเลือกไม่เคยชนะสักครั้งเดียว เพราะผู้สมัครของบ้านใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลครอบงำเขตและจังหวัดนั้นมาโดยตลอด จนไม่เคยเชื่อว่าคะแนนเสียงของผมจะมีความหมายอย่างที่ผมต้องการได้ในชาตินี้

แต่เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งปีนี้ปรากฏออกมา จากคะแนนไม่เป็นทางการ ที่เขตผมนั้นเบอร์ที่ได้เลือกไปนั้นได้ชนะและทั้งจังหวัดก็ชนะยกจังหวัดด้วย ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่านี่มันเกิดการ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” หรือกระไร

อีกไม่กี่วัน (แต่ในความรู้สึกของหลายคนก็รู้สึกมันช้าจัง) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมา ที่อัศจรรย์กว่านั้นอีกคือ ไม่เพียงแต่จังหวัดผมเท่านั้นที่พรรคที่ผมเลือกได้ชนะ หากแต่ยังได้ชนะในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศอย่างถล่มทลาย

ทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคได้รับการเลือกตั้งสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด

 

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติการเลือกตั้ง ในปี 2548 พรรคไทยรักไทยภายใต้คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเพิ่งตั้งเมื่อสี่ปีก่อนก็ได้ชนะอันดับหนึ่งอีกครั้งอย่างท่วมท้น (377 เสียง) และสืบทอดการเอาชนะการเลือกตั้งต่อมาอีกสองครั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลครั้งเดียวแล้วถูกยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารอีกสองครั้ง (2549, 2557)

ประชาธิปไตยของประชาชนแบบธรรมดาคือจากการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปก็ถูกสกัดและทำลายให้กลายเป็น “ประชาธิปไตยอำนาจนิยม” ไปด้วยกลไกทางกฎหมาย องค์กรอิสระและกำลังกองทัพ

มาในระยะปัจจุบันพรรคก้าวไกลและหัวหน้าพรรคคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกสกัดและบ่อนทำลายด้วยกลวิธีแยบคายลึกซึ้งจากภายในรัฐสภาเอง เริ่มจากการทำข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างแปดพรรคเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยต่อไป

ที่แปลกคือระหว่างนั้นมีละครเรื่องการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าควรเป็นโควต้าของพรรคอันดับหนึ่งหรือสอง จบลงด้วยเป็นของพรรคเพื่อไทยตามแผน

ตามมาด้วยการถูกบล็อกอย่างแรงจากวุฒิสภาที่ไม่ลงคะแนนให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ทราบต่อมาว่าสมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้นคือ ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

การเคลื่อนไหวที่ตามมาคือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้อันดับสอง ซึ่งรู้แล้วว่าอุปสรรคใหญ่คือสมาชิกวุฒิสภาสายทหาร (ซึ่งขยายอิทธิพลไปครอบงำสมาชิกคนอื่นๆ ที่เหลือด้วยไม่ให้ใช้เสรีภาพส่วนตัวได้)

 

รื่องจึงยุติลงด้วยการที่พรรคเพื่อไทยยกระดับการแก้ความขัดแย้งด้วยการสลายขั้วและอำนาจกระจุกของฝ่ายสอง ป. ให้กระจายและสยายไปตามเนื้อผ้า

นั่นคือการให้เสรีแก่พรรคขั้วรัฐบาลเก่าสามารถเลือกเข้ามาร่วมรัฐบาลเพื่อไทยได้โดยมีเงื่อนไขต้องลงคะแนนเลือกนายกฯ ของเพื่อไทยให้ก่อน

กลายเป็นวาทกรรมการโต้วาทีกันในเวทีสาธารณะว่า พรรคเพื่อไทย “ตระบัดสัตย์” กลืนน้ำลายหรือเปล่าในการเปลี่ยนเข็มของการตั้งรัฐบาล ด้วยการถีบพรรคก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายที่ไม่มีใครต้องการ

บ้างกล่าวหาถึงขนาดว่า “ไม่มีเพื่อน” ในสภา หรือทำให้กลายเป็น “พรรคนอกคอก” (เข็มทอง ตันสกุลรุ่งเรือง, “มีลุงและมีเรา” 101 Postscript Ep.80) แล้วเอาพรรครัฐบาลเดิมเข้ามาผสมรวมพันธุ์ใหม่

ผมฟังคุณสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ที่ประทับใจฝีปากการปราศรัย อธิบายว่าไม่ใช่เพื่อไทยไปร่วมกับพรรคขั้วตรงข้าม ที่จริงคือพรรคเหล่านั้นต่างหากที่เข้ามาร่วมกับเพื่อไทย ต่อไปถึงอรรถาธิบายของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่าคำวิพากษ์วิจารณ์โจมตีพรรคลุงนั้น “เป็นเพียงกลยุทธ์การใช้เฉพาะหาเสียง” ฯลฯ

สภาพคลุกฝุ่นระหว่างสองพรรคที่นำในการเลือกตั้งฝ่ายประชาธิปไตยและท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาสายลุงประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ติดตามสถานการณ์มึนงงและจับหัวจับหางผิดไปหมด

เมื่อพิจารณาหลังจากไร้ฝุ่นแล้วคือการเคลื่อนหมากรุกฆาตของเพื่อไทยไปสู่การยึดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการกลับมาของคุณทักษิณ ชินวัตร ในวันเดียวกัน

ความหมายทางการเมืองของการเลือกตั้ง 14 พ.ค.

 

แม้ความหวังและทัศนะการเมืองเชิงบวกหลังจากชัยชนะของก้าวไกลถูกบดขยี้แทบละเอียดลงไป สังเกตว่า ส.ส.และสมาชิกพรรคก้าวไกล และผู้สนับสนุนก็ยังรักษาความเชื่อมั่นในอนาคตของการเลือกตั้งว่าจะแปรความพ่ายแพ้ให้กลับมาเป็นชัยชนะอีกครั้ง

นี่ย่อมไม่ใช่ทรรศนะการเมืองอย่างธรรมดา หากแต่สะท้อนถึงวุฒิภาวะและความสำนึกทางการเมืองที่มีคุณภาพระดับหนึ่ง

หากไม่รวมศูนย์การพิจารณาถึงชัยชนะในการเลือกตั้งของก้าวไกลแค่การได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ขยายออกไปสู่การศึกษาความเป็นมาของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเสรีในประเทศไทย ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษได้แก่ทางภูมิปัญญาและอุดมการณ์การเมือง

นานมาแล้วที่รัฐไทยเริ่มก่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ประสบภาวการณ์ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด 90 ปีที่ผ่านมาเรามีเหยื่อและจำเลยของความล้มเหลวทางการเมือง อันรวมถึงผู้นำการเมือง ผู้นำกองทัพและราษฎรผู้ไร้คุณภาพ

ที่หายากคือผู้กระทำการเชิงบวกที่เป็นผู้สร้างองคาพยพอันแข็งแรงให้แก่ระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ ประชาชนผู้มีสำนึกการเมืองในประวัติศาสตร์ของการเกิดและพัฒนาระบอบระชาธิปไตยเสรีในประเทศตะวันตก

ความสำเร็จดังกล่าวมาจากบทบาทและการต่อสู้ของชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีในการช่วงชิงและรักษาอำนาจรัฐไว้ในมือของชนชั้นตน

โดยมีอุดมการณ์สำนักเสรีนิยม (Liberalism) เป็นแกนกลางของการรวมกลุ่มและพัฒนาก้าวหน้าต่อไปบนความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมทุนนิยมทั้งในและนอกประเทศ

ตรงกันข้ามรัฐและประชาสังคมไทยแทบไม่สามารถสร้างและสานต่อความคิดการเมืองเสรีนิยมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติ

นอกจากในทางทฤษฎี เช่น การร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกสำหรับการเลือกตั้ง

นอกจากโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนับแต่การปฏิรูปสยามสมัยรัชกาลที่ 5 มาถึงการปฏิรูป “ไทยแลนด์ 4.0” สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แนวความคิดการเมืองหลักของชนชั้นปกครองยังรักษาตรรกะและจารีตนิยมไว้อย่างเหนียวแน่น ภายใต้โลกทัศน์ไทยพุทธ ความเป็นมนุษย์ของราษฎรทั่วไปไม่ได้มีจุดหมายของตนเองในรัฐและการปกครอง

เพราะปริมณฑลของอำนาจและการเมืองเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกษัตริย์และชนชั้นขุนนางที่ได้รับมอบหมายลงมาเป็นลำดับชั้น

ราษฎรเป็นเพียงปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างและทำให้จุดหมายของรัฐภายใต้การนำพาของกษัตริย์สามารถบรรลุได้

ความเป็นมนุษย์ของผู้คนทั้งหลายในอาณาจักรจึงขึ้นอยู่กับการนำพาและช่วยเหลือของกษัตริย์และพระศาสนา ไม่มีความเป็นคนที่แยกออกจากอำนาจและบุญบารมีของกษัตริย์

ดังนั้น สิทธิการเมืองและสิทธิพลเมืองจึงไม่มีความหมายและไม่มีพื้นที่ในการปฏิบัติในระบบการเมืองประชาธิปไตยได้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนและเปิดพื้นที่ให้แก่ปัจจัยของกลุ่มคนใหม่ๆ เข้ามาได้

ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล (และอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้) คือการเรียกร้องและเสนอแนวทางและวิธีการดำเนินการเมืองในนามของประชาชนทั่วไปอย่างเป็นระบบและมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างจริงจัง

อาจไม่ใช่ครั้งแรกหากนับการเริ่มต้นของพรรคพลังใหม่หลังการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีอายุสั้น คราวนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคโลกาภิวัตน์จัดตั้งขึ้นบนประสบการณ์และบทเรียนของการต่อสู้และความล้มเหลวของคนรุ่นเดือนตุลาและพฤษภาทั้งหลาย

ทำให้ฐานและแนวร่วมทางความคิดการเมืองของพวกเขาเติบใหญ่และพัฒนาไปอย่างมีศักยภาพ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ

 

ต่อหน้าอุปสรรคและขวากหนามของอำนาจและพลังอนุรักษนิยมทั้งหลาย สร้างกระบวนการรับรู้และความเข้าใจที่ก้าวหน้าอย่างถอนรากให้แก่คนรุ่นใหม่ อันหนึ่งคือการทำให้พวกเขาตระหนักว่าการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่การชนะในการเลือกตั้ง

หากที่สำคัญและทรงความหมายในระยะยาวคือการ “ปลดปล่อยทางการเมือง” (Political emancipation) ในความหมายที่นักปรัชญาคลาสสิคอธิบายว่า คือเมื่อพวกเขารู้สึกว่า “สามารถเปลี่ยนธรรมชาติมนุษย์ ในการเปลี่ยนแปลงปัจเจกแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนมีความพร้อมมูลในความโดดเดี่ยวที่เป็นเอกะของตน ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่สมบูรณ์กว่าซึ่งเขาได้รับชีวิตและการดำรงอยู่จากมัน และทดแทนภาวการณ์ดำรงอยู่อย่างอิสระที่ได้จากธรรมชาติไม่ว่าทางกายและทางศีลธรรม เขาต้องนำเอาทรัพยากรที่เป็นของคนออกไปแล้วเปลี่ยนใหม่ด้วยอะไรที่แปลกแยกจากตัวเขาและที่ไม่มีประโยชน์ในการใช้อะไรได้เลยนอกจากต้องได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่น” (รุสโซ, สัญญาสังคม)

วรรคข้างบนนี้แปลง่ายๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงคน ที่ในตัวมันเองมีอิสระตามธรรมชาติและอยู่ต่างคนต่างอยู่ได้ ให้มาเป็นคนที่มีสำนึกการเมืองในการอาศัยคนอื่นในการมีชีวิตและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแวดล้อมอยู่ได้

ในเวลาต่อมานักคิดสำคัญอีกท่านขยายความหมายของการปลดปล่อยทางการเมือง ซึ่งยังมีลักษณะเฉพาะคือการลดทอนมนุษย์ลงไปเป็นสมาชิกของประชาสังคม เป็นปัจเจกชนอิสระและมีความหลงตัวเอง (egoistic) ในอีกด้านหนึ่งเป็นพลเมืองและนิติบุคคล ให้ไปสู่การปลดปล่อยมนุษย์อย่างทั่วไป

ที่สำคัญคือการนำเอาโลกของมนุษย์ที่ได้พัฒนาไปมากมายและความสัมพันธ์ที่เขามีต่อมนุษย์ด้วยกันกลับมาสู่เขา

อันนี้ตอบโจทย์ปัจจุบันได้ในปัญหาโลกร้อนและวิกฤตภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ไม่คำนึงถึงมนุษย์คนอื่นๆ

สุดท้ายมนุษย์ปัจเจกตระหนักและจัดตั้งอำนาจของเขาที่เป็นอำนาจสังคม เพื่อที่เขาจะไม่แยกอำนาจสังคมของเขาจากตัวเขาให้ไปเป็นอำนาจการเมืองอีกต่อไป

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024