อุษาวิถี (43) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (43)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

เหตุฉะนั้น ชนชั้นนำทางอำนาจที่ร่วมมือกับพ่อค้านายทุนที่อ้างการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของตนว่าเป็น “อุษาวิถี” จึงเป็นการ “แอบอ้าง”

เพราะในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาดังกล่าวของชนชั้นนำเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับขนบจารีตบนรากฐานวัฒนธรรมเอเชียอย่างแท้จริง หากแต่ใช้ขนบจารีตทางเศรษฐกิจของตะวันตกโดยเนื้อหา และในหลายกรณีก็ร่วมมือกับตะวันตกด้วยซ้ำไป

ในส่วนของชนชั้นนำในบางรัฐของเอเชียที่อ้าง “อุษาวิถี” นั้น โดยรวมแล้วมักจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจที่อิสระจากการกำหนดของตะวันตก แต่ล้มเหลวในการพัฒนาทางการเมืองที่มักจะเป็นการเมืองแบบอำนาจนิยม

การ “อ้างอิง” เช่นนี้มีเหตุผลในหลายกรณี เช่น การที่ขนบจารีตเดิมของเอเชียมีรากฐานที่แตกต่างกับขนบจารีตของตะวันตก ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นต้น

แม้จะเป็นเหตุผลที่มีมูลความจริงก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่พบความพยายามอันใดที่จะค้นหาแนวทางการพัฒนาที่เป็นเฉพาะของตนเอง

กรณีหลังนี้เห็นได้ชัดว่า “อุษาวิถี” ที่พึงประสงค์นั้นนอกจากจะเป็นแนวทางการพัฒนาดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญยังอยู่ตรงที่ว่า ภายใต้แนวทางดังกล่าวจะต้องมีสิ่งที่เสน่ห์ จามริก เรียกว่า “หลักการนำสังคม”

นั่นคือ หลักการนำที่ครอบคลุมเชื่อมโยงทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในแนวทางพัฒนา หลักการที่ประสบความสำเร็จเพียงด้านใดด้านหนึ่งจึงไม่ใช่ “หลักการนำสังคม”

สุดท้ายแล้ว “อุษาวิถี” จึงเป็นแนวทางการพัฒนาที่ย้อนกลับไปหารากฐานวัฒนธรรมเอเชีย บนแนวทางนี้ได้ระงับยับยั้งความร่วมมือของชนชั้นนำทางอำนาจกับพ่อค้านายทุน ไม่ให้มีบทบาทในการพัฒนาที่อ้างอิงขนบจารีตตะวันตก แต่กลับเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง และด้วยการละเมิดสิทธิชุมชนในทุกระดับอย่างเป็นด้านหลัก

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เป็นอันตรายของ “อุษาวิถี” ก็คือ การพยายามขัดขวางของตะวันตกและสมุนบริวาร โดยใช้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานของตนเป็นเครื่องมือ

 

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย

ดินแดนที่เรียกกันว่า “สยามประเทศ” หรือสังคมไทยในปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักกันดี ว่าเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ของตนมาช้านาน

ถึงแม้ในยุคก่อนหน้าหรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไป จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ หรือกำลังรอหลักฐานการค้นพบใหม่ๆ เพื่อมายืนยันก็ตาม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับมนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณนี้

ที่บางทีก็ว่ามาจากที่อื่น บางทีก็ว่าอยู่ในที่แห่งนี้มาแต่ดั้งเดิม บางทีก็ว่าเป็นที่รวมกันของมนุษย์ทั้งจากที่อื่นและจากที่เดิม

ในที่นี้จะแบ่งอธิบายภาพรวมของสยามประเทศออกเป็นช่วงก่อนการเกิดรัฐ และช่วงที่เกิดรัฐขึ้นแล้วอย่างชัดเจน โดยจะจำกัดกรอบการอธิบายนี้ให้สัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า “อุษาวิถี” ที่มาจากอินเดียและจีน ว่าเข้ามาอย่างไร และมีอิทธิพลสืบเนื่องเป็นกระแสหลักในทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างไร

จนกลายเป็นรากฐานให้แก่วัฒนธรรมไทยไปในที่สุด

 

ก. พัฒนาการ

จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่ค้นพบจากภาคต่างๆ ทำให้รู้ว่า ดินแดนที่เป็นสยามประเทศนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาหลายพันปีแล้ว แต่เนื่องจากข้อจำกัดของหลักฐาน จึงยังไม่พบความต่อเนื่องของชุมชนในถิ่นฐานนี้ว่าเหตุใดชุมชนจึงสลายตัวไป ย้ายไปที่แห่งใด หรือมีพัฒนาการอย่างไร

แต่หากกล่าวเฉพาะที่เริ่มก่อรูปเป็นรัฐแล้วพบว่า ในช่วงปลายของยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือราวๆ 2,500 ปีก่อนนั้น การรวมตัวกันเป็นชุมชนในที่ต่างๆ มีสิ่งที่โดดเด่นอยู่ประการหนึ่ง คือ การที่ชุมชนมีการประกอบพิธีกรรม

เป็นอยู่แต่ว่า พิธีกรรมเหล่านี้ยังมิได้มีเครื่องที่แสดงความแตกต่างทางฐานะของสมาชิกในชุมชนเดียวกัน จนทำให้การแบ่งชั้นในชุมชนจึงยังไม่มีความชัดเจน

ตราบจนในราว 2,000 ถึง 1,900 ปีก่อน การติดต่อค้าขายกับทางอินเดียก็ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมวัฒนธรรมในดินแดนแถบนี้ขึ้นมา นั่นคือ เริ่มจากการที่ชุมชนต่างๆ ในอาณาบริเวณสยามประเทศเริ่มพัฒนาตนขึ้นมาเป็นนครรัฐและรัฐขึ้นมาอย่างช้าๆ

โดยแต่ละรัฐจะมีเมืองสำคัญเป็นศูนย์กลาง การแบ่งชั้นทางสังคมเริ่มมีความชัดเจนว่า มีกษัตริย์ เสนามาตย์ ตลอดจนพวกพราหมณ์ที่ทำหน้าที่เป็นปุโรหิตและราชครู พวกหลังนี้หากไม่เป็นชาวอินเดียโดยตรงก็จะเป็นเชื้อสาย

กลุ่มชั้นชนทั้งหมดนี้ต่างมีศาสนาหรือความเชื่อที่รับมาจากอินเดียทั้งสิ้น

 

นอกจากกลุ่มที่เป็นชนชั้นปกครองดังกล่าวแล้วก็เป็นกลุ่มประชาชน ภิกษุสงฆ์ นักพรต นักบวชในศาสนานิกายต่างๆ

ความแตกต่างของคนทั้งสองกลุ่มนี้มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ชีวิตความเป็นอยู่ และขนบจารีต โดยเฉพาะอย่างหลังนั้นเห็นได้ชัดอย่างยิ่งในเรื่องของพิธีกรรม

เช่น ในขณะที่ชนชั้นล่างจะนำศพญาติมิตรให้หมู่แร้งกากิน แต่ชนชั้นสูงโดยเฉพาะชนชั้นกษัตริย์จะมีพิธีกรรมที่โอ่อ่าอันประกอบขึ้นโดยพราหมณ์ กรณีนี้กษัตริย์จึงมิได้ถูกนับในทางเชื้อชาติอีกต่อไป ว่าสังกัดหรือเป็นเชื้อชาติใด

หากแต่เป็นตัวแทนของทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในรัฐเดียวกันนั้น การรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียมาใช้ในช่วงที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ชี้ให้เห็นว่า สยามประเทศรับเอาศาสนาพราหมณ์มาใช้ก่อนศาสนาพุทธ เพราะในเวลานั้นอิทธิพลของศาสนาพุทธยังคงจำกัดอยู่ในอินเดียเสียเป็นส่วนใหญ่

จนกระทั่งถึงยุคพระเจ้าอโศก (ประมาณ ก.ค.ศ.304-232) การเข้ามาของศาสนาพุทธจึงแผ่กว้างขวางในสยามประเทศ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดกับรัฐในสยามประเทศเวลานั้นไม่ได้หมายความว่า รัฐที่เกิดนี้จะเป็นรัฐที่ใหญ่โต แต่เป็นรัฐขนาดเล็กและกระจัดกระจายอยู่ทั่วอาณาบริเวณที่เป็นสยามประเทศในปัจจุบัน