เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา บทสรุป ‘ทุจริตโรงพัก’ รวมสัญญาก่อสร้างได้ ‘สุเทพ-5 จำเลย’ บริสุทธิ์

ถึงบทสรุปไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับคดีดังในแวดวงการเมือง ที่ถูกตั้งคำถามมายาวนานกว่า 10 ปี

สำหรับกรณีการทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 หลังทั่วประเทศและอาคารที่พักแฟลตตำรวจ ในช่วงปี 2556 ที่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างได้แล้วเสร็จตามสัญญา

ขณะที่โรงพักเก่าถูกทุบทิ้ง โรงพักใหม่ก่อสร้างไม่เสร็จ ตำรวจจำนวนมากต้องใช้คอกสัตว์ หรือพื้นที่ซอกอาคารทำเป็นสถานีตำรวจรับแจ้งเหตุจากประชาชน

ส่งผลให้เสียหายต่องบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 5 พันล้านบาท

โดยคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกรวม 6 คน และยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกาได้ยกฟ้องนายสุเทพ และพวก

ต่อมาก็ได้ยืนในคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์อีกครั้ง ยกฟ้องนายสุเทพ และพวก ทำให้คดีนี้สิ้นสุด และส่งผลให้นายสุเทพ เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้น

ทิ้งปริศนาว่าความเสียหายกว่า 5 พันล้านบาทที่เกิดขึ้น ใครกันที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ

ศาลฎีกาสรุปคดีทุจริตโรงพัก

วันที่ 22 สิงหาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

โดย ป.ป.ช. ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552-18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว

จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ

จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และนำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้น ไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมา จำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย

ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาเเล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 ป.ป.ช. อุทธรณ์คดี

ชี้ขาดกันครั้งสุดท้ายในวันที่ 22 สิงหาคม

 

‘สุเทพž’ ไม่ผิดอนุมัติรวมสัญญา

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์โจทก์ จำเลยเห็นว่า จำเลยที่ 1 นายสุเทพ รองนายกฯ ในขณะนั้น การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติลงบันทึกข้อความเสนอต่อนายกฯ และคณะรัฐมนตรีในโครงการจัดสร้างโรงพักทดแทนฯ โดยให้คำนึงถึงความเห็นของสำนักงบประมาณและมติ ครม. ที่ผ่านมาการที่จำเลยอนุมัติรวมสัญญาครั้งเดียวโดยไม่ได้นำเสนอต่อ ครม.

ย่อมมีประเด็นพิจารณาว่ามติ ครม.ครั้งที่ 7/2552 อนุมัติโดยกำหนดให้จำเลยต้องเสนออนุมัติโดยแก้ไขหรือไม่

ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าว มีข้อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีมติให้ชัดเจน แต่ไม่มีข้อความระบุชัดเจนถึงการจัดซื้อจัดจ้างว่าให้ดำเนินการอย่างไร

มติดังกล่าวเพียงแต่กล่าวเรื่องการหรือถอนโครงสร้างเดิมและการผูกพันงบประมาณข้ามปีเท่านั้น โดยมีพยานที่เกี่ยวข้องทั้งสองปากเบิกความยืนยันน่าเชื่อถือว่ามติ ครม. ไม่ได้ระบุถึงการจัดซื้อจัดจ้าง โดยกำหนดให้เป็นเรื่องของหน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อีกทั้งสำนักงบประมาณก็มีหนังสือยืนยันความเห็นควรอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอภายในกรอบ 6.6 พันล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2554 ดังนั้น ข้อความตามมติ ครม. ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีผลผูกพัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอ แม้จำเลยที่ 1 เคยเสนอให้กระจายสัญญาเป็นรายภาค แต่ต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอรวมไว้ที่ส่วนกลาง กรณีจึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่อนุมัติได้เอง และไม่พบข้อเท็จจริงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ที่อนุมัติเพราะเชื่อว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบถูกต้องเหมาะสมแล้ว

กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าการรวมสัญญาไม่ทำให้การเสนอราคาไม่เป็นธรรมเสมอไปส่วนผู้ก่อสร้างที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปด้วยว่าเป็นผลจากการกระทำของจำเลยที่หนึ่งในการอนุมัติโดยไม่เสนอ ครม.การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

 

ยกฟ้องทั้งคณะชี้ผู้บริสุทธิ์

ส่วนจำเลยที่ 2 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามมติ ครม. จำเลยที่ 2 เสนอการจัดจ้างต้องประกาศราคาในครั้งเดียว โดยใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความเป็นธรรมแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อจัดจ้างของจำเลยที่สอง แต่ก็ยังมีการใช้ประกวดราคาเช่นเดิม แค่เปลี่ยนจากปลายภาคเป็นรวมกันครั้งเดียว ซึ่งมีการศึกษาข้อดีข้อเสียมาแล้ว

กรณีจึงมีเหตุผลในการที่เสนอวิธีเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะเสนอเพียงหนึ่งวันก่อนอนุมัติก็ไม่ถือเป็นพิรุธ และไม่ปรากฏว่าการเสนอดังกล่าวมีผลประโยชน์แอบแฝง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ การกระทำไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 3-4 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ซึ่งตามมติสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ ไม่ได้มีข้อกำหนดใดชัดแจ้ง แม้จำเลยที่ 5 จะเสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท แต่กรณีไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 5 เสนอราคาต่ำจนก่อสร้างไม่ได้ เนื่องจากผู้เสนอราคาสามารถปรับลดบริหารได้

การที่จำเลยที่ 5 เสนอเสาเข็มถูกกว่าราคาตลาดมากรายการเดียว จำเลยที่ 5 ก็มีธุรกิจเสาเข็ม ดูแล้วจึงสามารถปรับลดราคาสินค้าบางอย่างได้ เพื่อให้เสนอราคาอย่างเสรี ลำพังการที่ราคาเสาเข็มราคาต่ำกว่าราคาทั่วไปมาก ไม่เป็นเหตุที่จำเลยที่จำเลยที่ 3-4 จะไม่รับการประกวดราคาของจำเลยที่ 4-5 และไม่ถึงกับเป็นเหตุสำคัญที่ต้องเรียกจำเลยที่ 5 มาตรวจสอบถึงเรื่องราคาเสาเข็ม และไม่มีข้อพิรุธว่าเป็นกรณีการปกปิดข้อเท็จจริง ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำโดยทุจริตฯ พยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 5-6 เมื่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1-4 การกระทำไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องวินิจฉัยในส่วนของจำเลยที่ 5-6 เพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยมาเเล้ว องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 1-6

ถือเป็นจุดสิ้นสุดของมหากาพย์คดีทุจริตโรงพัก ที่จบลงด้วยความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้ง 6

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือการก่อสร้างโรงพัก และแฟลตก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จนผู้บริหารต่อมาต้องอนุมัติงบประมาณทดแทน เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกว่า 5 พันล้านบาท

ซึ่งต้องรอดูว่าในที่สุดแล้วจะต้องมีใครรับผิดชอบ หรือจะแค่รอให้กฎแห่งกรรมทำงาน