การเมืองเก่า vs การเมืองก้าวหน้า Neo-Cons ปะทะ Liberal?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

การเมืองเก่า vs การเมืองก้าวหน้า

Neo-Cons ปะทะ Liberal?

 

พลันที่พรรคเพื่อไทยเปิดแผน “รัฐบาลข้ามขั้ว” นักวิชาการบางคนบอกว่าพรรคนี้ได้แปลงร่างจากฝ่าย “เสรีประชาธิปไตย” ไปเป็น “อนุรักษนิยมใหม่”

จาก Liberal Democrat เป็น Neo-Conservative หรืออะไรเทือกนั้น

ความจริง แต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่อง “แปะป้าย” ยี่ห้อเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองในไทยอยู่แล้ว

เพราะเริ่มด้วยคำนิยามของศัพท์แสงวิชาการด้านการเมืองเรื่อง “ประชาธิปไตย” หรือ “เสรีประชาธิปไตย” หรือ “อนุรักษนิยม” หรือ “สังคมนิยม” นั้น นักการเมืองไทยมีน้อยรายที่จะมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้

เอาเข้าจริงๆ การเมืองไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีอุดมการณ์หรือหลักคิดเรื่องทฤษฎีการเมืองแบบสากลอะไรมากมายนัก

หรือหากจะมีก็เป็นเพียงการไปยืม “ป้ายชื่อ” มาใส่ให้ฟังดูเก๋ไก๋เท่านั้น

หรือไม่ก็ถูกยัดเยียดให้เป็นไปตามทฤษฎีตะวันตกแบบใดแบบหนึ่ง

แต่ในทางปฏิบัติที่น้อยรายมากที่จะสร้าง, พัฒนาหรือนำเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับคำว่า “อนุรักษนิยม” หรือ “เสรีนิยม” หรือ “สังคมนิยม” เลย

หรือแม้แต่ที่เรียกใครว่า “ซ้าย” หรือ “ขวา” ก็เป็นเพียงการเรียกขานไปตามความนิยมแห่งยุคสมัย

ไม่ได้มีเนื้อหาสาระจริงจังที่จะเป็นแนวทางเพื่อน้าวโน้มให้ประชาชนเลือกนโยบายที่เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

เหมือนเอารูป “เช กูวารา” นักปฏิวัติแห่งอเมริกาใต้และคิวบามาทำเสื้อใส่…หรือแปะไว้ท้ายรถสิบล้อ…โดยไม่จำเป็นต้องรู้ที่มาที่มาของ “เช” แต่อย่างใด

ท้ายที่สุด การเมืองไทยจึงเป็นเวทีสำหรับ “นักเลือกตั้ง” ที่ใช้กลเม็ดเด็ดพรายในการหาเสียงเพื่อสร้างความนยิมให้กับตนเอง

จะด้วยวิธีการใช้โวหารหาเสียงหรือใช้เงินหว่านซื้อก็สุดแล้วแต่

ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของนโยบายที่แยกแยะได้ว่าหากพรรคนี้มาบริหารประเทศจะให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐมากกว่าเอกชน

หรือหากอีกพรรคหนึ่งได้อำนาจรัฐมา จะเน้นหนักบทบาทเอกชนเหนือรัฐ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คำว่า “นโยบาย” ของพรรคเป็นเพียงถ้อยแถลงที่สร้างภาพให้ดูดี

บางพรรคขอให้ข้าราชการประจำเขียนร่างนโยบายให้

อีกบางพรรคขอให้นักวิชาการช่วยออกแบบนโยบายเพื่อฟังดูขึงขังน่าเชื่อถือ

แต่ไม่เข้าใจและไม่ได้ตั้งใจจะเอาไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชนแต่อย่างไร

เพราะนักการเมืองไทยเคยเชื่อว่าการจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่นโยบาย

หากแต่อยู่ที่ความสามารถที่จะแย่งคะแนนเสียงด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสียง, ระบบอุปถัมภ์, การใช้เครือข่ายระบบราชการแสวงหาเสียงจากชาวบ้านในชุมชน หรือการใช้เงินซื้อเสียงแบบหน้าตาเฉย

ย้อนไปในอดีต หากจะมี “แนวทาง” ที่ส่อไปในทาง “นโยบาย” ที่พอจะจับต้องได้ก็อาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงก่อนที่จะกระโดดมาอยู่กับพรรคที่รับช่วงจาก คสช.

พรรคประชาธิปัตย์ก่อเกิดด้วยการนำเสนอนแนวทางต่อต้านอำนาจทหาร เป็นฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและแสดงความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ

หากจะเรียกว่าแนวทางของประชาธิปัตย์ในยุคก่อนหน้านี้ว่าเป็นพรรค “เสรีนิยม” ก็ยังพออนุโลมได้

แต่วันนี้ประชาธิปัตย์กำลังเผชิญกับวิกฤตภายในอย่างหนัก

นอกจากจะเสียศูนย์เพราะไปร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต้นตอจากรัฐประหารแล้ว ก็ยังขาดทิศทางของนโยบายแบบที่เคยเป็น “ขวัญใจชาวบ้าน” เกือบจะโดยสิ้นเชิง

การเกิดของพรรคไทยรักไทยอาจจะเรียกว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อแย่งชิงฐานเสียงจากประชาธิปัตย์ในช่วงนั้นก็ได้

เพราะทักษิณ ชินวัตร ใช้ยุทธศาสตร์เข้าถึงมวลชนที่ต้องการทางเลือกที่ไม่ใช่กลุ่มอำนาจเดิม

ความสำเร็จในช่วงแรกของพรรคไทยรักไทยคือการออกแบบนโยบายที่เข้าถึงรากหญ้า

และเป็นเพราะทักษิณสามารถระดมคนที่เคยมีความคิดก้าวหน้าแต่ไม่มีอำนาจรัฐพอที่จะเอาความคิดเหล่านั้นมาทำให้เกิดเป็นจริงได้

เมื่อทักษิณต้องการนโยบายที่ “โดน” มาเจอกับนักคิดนักเคลื่อนไหวที่ต้องการทำความฝันเป็นความจริง, จึงเกิดการสันดาปที่กลายเป็น “ความเคลื่อนไหวมวลชน” ที่จับเคลื่อนพรรคไทยรักไทยในจังหวะนั้นพอดี

และพัฒนาเป็นนโยบายที่ตรงกับนิยาม populist หรือ “ประชานิยม” อย่างเป็นระบบ

เป็นที่มาของวลีที่ว่า “ประชาธิปไตยกินได้”

ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นฐานราก ให้ความหวังกับเกษตรกรที่เป็นหนี้อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ.2540

พรรคนี้สัญญาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งด้วยการเข้าถึงหมู่บ้านในชนบทและธุรกิจที่กำลังดิ้นรน

นโยบายของพรรคไทยรักไทยที่ชาวบ้าน “จับต้องได้” เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขยายเวลาการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน

รวมไปถึงโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

อาจจะเรียกว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยในช่วงนั้นคือ “เสรีประชาธิปไตย” ที่ใช้แนวทาง “ประชานิยม” เพื่อสร้างความชอบธรรมผ่านคูหาเลือกตั้ง

เกิดมวลชนที่ปฏิเสธอำนาจเก่าที่มีกองทัพหนุนหลังอย่างเห็นได้ชัด

 

ตัดภาพมาวันนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยที่รับช่วงมาจากไทยรักไทยฉีกตัวออกจาก MoU 8 พรรค และสลัดให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

หันมาจับมือกับพรรคที่อยู่ในรัฐบาลเดิมโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พรรค 2 ลุง” แวดวงการเมืองก็มีความงุนงงกับปรากฏการณ์นี้

เพราะความเป็น “เสรีนิยม” ที่อ้างความเป็น “ประชาธิปไตย” มาตลอดกลับกลายเป็น “แกนตั้งรัฐบาลสลายขั้ว” ที่มีพรรคที่เคยถูกเพื่อไทยกล่าวว่าเป็นเครือข่ายอำนาจเก่า “ที่สืบทอดอำนาจเผด็จการจากการรัฐประหาร”

ขณะที่พรรคก้าวไกลที่หาเสียงด้วยนโยบายที่ค่อนไปทาง “เสรีนิยม” ซึ่งเดิมมีเฉดสีใกล้กับพรรคเพื่อไทย

ก่อให้เกิดการขีดเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มก้าวไกล-เพื่อไทยด้านหนึ่งที่มีภาพของการเป็นพันธมิตร “เพื่อความเปลี่ยนแปลง” และต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเปิดเผย

กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เกาะอยู่กับ “ขั้วอำนาจเดิม” ที่ยังมีความแน่นแฟ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เมื่อเพื่อไทยสร้างความประหลาดใจระดับชาติด้วยการประกาศ “สลายขั้ว” เพื่อ “แก้วิกฤต 3 ประการของชาติ” พร้อมกับการฉีก MoU 8 พรรคทิ้งต่อหน้าต่อตา การแยกแยะกลุ่มการเมืองก็ถูกเขย่าอย่างรุนแรงโดยพลัน

พรรคเพื่อไทยกลายเป็น Neo-Conservative จากที่เดิมมีภาพของ Liberal Democrat

พรรคก้าวไกลกลายเป็นผู้ถือธงแนวทาง Liberal Democrat ที่บางครั้งออกแนว Welfare State หรือ “รัฐสวัสดิการ”

หากจะใช้ภาษากว้างๆ ลอยๆ ในแวดวงนักวิชาการการเมืองก็อาจจะบอกว่า

เพื่อไทยขยับจากปีก “ซ้าย” หรือ “ซ้ายกลาง” ไปนำกลุ่มปีก “ขวา” อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

ทิ้งร่องรอยเดิมของตนจนเกือบจะหมดสิ้น

ขณะที่ก้าวไกลนั้นถูกมองว่าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันด้าน “ซ้าย” ในความหมายที่ทำ “การเมืองแบบมวลชน”

ที่นอกจากจะผลักให้ “เสื้อแดง” บางส่วนมาเป็น “ส้ม” แล้ว ก็ยังสามารถทำให้ “ขั้ว” อื่นๆ ทางการเมืองหันมาสนับสนุนแนวทางของตนได้

คะแนนกว่า 14 ล้านเสียงที่พรรคก้าวไกลได้นั้นจึงไม่ได้มาจากแค่เพียง “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการเห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ที่จับต้องได้เท่านั้น

แต่ยังมาจาก “คนทำงาน” ชนชั้นกลาง และแม้แต่ baby-boomers คนอายุเกิน 50 ขึ้น ที่มองไม่เห็นอนาคตของประเทศชาติหากการเมืองไทยยังติดกับดักเดิมๆ อยู่

 

อยู่ดีๆ เราก็เห็นการแยกทางของพรรคเพื่อไทยจากขั้วหนึ่งไปอยู่อีกขั้วหนึ่ง

ขณะที่พรรคก้าวไกลกลายเป็นแกนหลักของแนวทางที่เรียกันว่า “เสรีประชาธิปไตย”

การเมืองไทยจากนี้ไปจึงอยู่ในสภาพที่น่าสนใจว่า “อนุรักษนิยม” ภายใต้การขับเคลื่อนของ “เพื่อไทย” กับ “เสรีนิยม” ที่มีก้าวไกลถือธงนำอยู่นั้น

จะกลายเป็นสองแนวทางอุดมการณ์การเมืองที่คนไทยจะต้องเลือกเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศไทยต่อไปหรือไม่

(สัปดาห์หน้า : อนาคตของ ‘การเมืองมวลชน’ vs ‘การเมืองบ้านใหญ่’)