กษัตริย์พม่า เมืองพุกาม ยึดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

หนังสือพงศาวดารเหนือ ถูกด้อยค่าจากนักโบราณคดีไทยว่าเชื่อถือไม่ได้ จึงใช้อ้างอิงไม่ได้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้พงศาวดารเหนือเมื่อกล่าวถึงพระเจ้าอนุรุทธ กษัตริย์พม่าเมืองพุกาม ตีเมืองละโว้ คือลพบุรี ซึ่งพบในตำนานพระพุทธเจดีย์

พงศาวดารเหนือ ตอนพระเจ้าอโนรธา (อนุรุทธ) ตีเมืองละโว้ จะปรับปรุงแล้วจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก ดังนี้

 

“พระเจ้าจันทโชติกับเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ ขึ้นไปครองเมืองละโว้ ทั้งพระพี่นางทรงพระนามชื่อเจ้าฟ้าแก้วประพาฬขึ้นไปด้วย พระยาจันทโชติเสวยราชสมบัติได้ 5 ปี สร้างวัดกุฎีทองถวายพระอาจารย์ พระอัครมเหสีสร้างวัดคงคาวิหาร

พระเจ้าอโนรธามังฉ่อเจ้าเมืองสเทิม ปรึกษาเสนาบดีว่าเราจะยกไปตีเมืองละโว้

ให้เกณฑ์ช้าง 3,000 ม้า 5,000 พลแสนหนึ่ง สรรพไปด้วยเครื่องสรรพศัสตราเสร็จ ให้พระยาเริงจิตรตองเป็นทัพหน้า ช้างเครื่องร้อยหนึ่ง ม้า 150 พลหมื่นหนึ่ง นันทะกะยอซูเป็นปีกขวา ช้างร้อยหนึ่ง ม้า 150 พลหมื่นหนึ่ง นันทะกะยอเป็นปีกซ้าย ช้างร้อยหนึ่ง ม้า 150 พลหมื่นหนึ่ง โปวิจารำทัพหลัง ช้าง 700 พลสองหมื่น

ยกทัพหลวงออกจากพระนคร มาทางกลาง 39 วัน ถึงเมืองละโว้นั้น

พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ สั่งให้นายทัพนายกองเข้าล้อมเมืองไว้สี่ด้านถึง 7 วัน หามีผู้ใดออกมารับทัพไม่

พระเจ้าจันทโชติจึงปรึกษาเสนาบดีว่าทัพมาล้อมครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เสนาบดีจะคิดประการใดดี เสนาบดีก็นิ่งอยู่ หมื่นจะสูกราบทูลว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก คิดจะใคร่เป็นไมตรี ด้วยทหารเรายังมิชำนาญศึก พระเจ้านันทโชติก็เห็นด้วย จึงเข้าไปปรึกษาเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ว่าศึกครั้งนี้ยกมามิรู้ตัว ไพร่บ้านพลเมืองก็สะท้านสะเทือนอยู่ เราจะถวายพระพี่นางไปเป็นทางพระราชไมตรีเห็นศึกจะอ่อนลง เจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ก็เห็นด้วย เสด็จออกสั่งให้เสนาบดีแต่งวอกับนางกำนัลร้อยหนึ่ง วันศุภมงคลฤกษ์ จึงเชิญเจ้าฟ้าแก้วประพาฬขึ้นสู่สีวิกากาญจนอลงกต กับข้าสาว ออกไปกับพระราชสาส์น ถวายพระพี่นางเป็นทางพระราชไมตรี จึงให้เสนามุขมนตรีนำเอาพระเจ้าพี่นางมาถวาย

ครั้นถึงค่ายพระเจ้าอโนรธามังฉ่อ เสนาอำมาตย์นำขึ้นเฝ้า ถวายพระราชสาส์น ทราบแล้วก็ดีพระทัย สั่งให้รับนางมาตำหนักใน ทอดพระเนตรสิริวิลาสงามยิ่งนัก มีความประดิพัทธในนางยิ่งนัก จึงให้จัดทองสิบชั่ง ช้างร้อย ม้าร้อย ให้เสนาบดีนำกลับลงไปถวายพระเจ้าจันทโชติ

แต่นั้นมาเมืองละโว้กับเมืองสเทิม เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกัน พระราชสาส์นไปมาหากัน

ยกทัพกลับไปถึงพระนครจึงแต่งการพิธี จึงอภิเษกเจ้าฟ้าแก้วประพาฬ เป็นพระอัครมเหสีเอก ทั้งสองพระนครไพศาลสมบูรณ์ทั่วทุกหญิงชาย”

ขอมเมืองละโว้มีทั้งเทวสถานและพุทธสถาน : ศาลพระกาฬ เทวสถานในศาสนาพราหมณ์
ปรางค์สามยอด พุทธสถานมหายาน

ตํานานพระพุทธเจดีย์ (ยุคที่ 3 ลัทธิหินยานอย่างพุกาม) ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บรรยายถึงพระเจ้าอนุรุทธ (อโนรธา) จะคัดโดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก ดังต่อไปนี้

“เมื่อ พ.ศ.1600 พระเจ้าอนุรุทธมหาราชกษัตริย์ซึ่งครองประเทศพม่า ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองพุกาม เจริญอานุภาพปราบปรามประเทศรามัญไว้ในอำนาจ แล้วขยายอาณาเขตเข้ามาถึงประเทศลานนา (คือจังหวัดภาคพายัพบัดนี้) ลงมาจนถึงเมืองลพบุรี และเมืองทวารดี

พระเจ้าอนุรุทธเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ให้สั่งสอนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปด้วยกันกับแผ่อาณาเขต แต่ถึงสมัยนี้พระพุทธศาสนาที่ในอินเดียเสื่อมทรามจวนจะสูญอยู่แล้ว พวกชาวเมืองพุกามเดิมรับพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างเถรวาทมาจากมคธราฐเหมือนกับพวกชาวสยาม ครั้นต่อมาเมื่อห่างเหินกับอินเดีย จึงเกิดเป็นลัทธิหินยานอย่างเมืองพุกาม เมื่อพวกชาวเมืองพุกามมามีอำนาจปกครองประเทศสยามก็พาลัทธินั้นมาสั่งสอนจนเจริญแพร่หลายทางฝ่ายเหนือ (คือจังหวัดภาคพายัพบัดนี้)

ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยทางข้างฝ่ายเหนือหามีรูปพระโพธิสัตว์อย่างลัทธิมหายานแพร่หลายเหมือนทางฝ่ายใต้ไม่ คงเป็นเพราะพวกชาวพุกามเข้าปกครองเองแต่ทางข้างเหนือซึ่งอยู่ใกล้ไปมาง่าย แต่ทางข้างใต้ให้พวกขอมคงปกครองเป็นประเทศราชขึ้นเมืองพุกามอยู่ ณ เมืองลพบุรี การถือลัทธิมหายานจึงยังคงถือกันอยู่ข้างใต้ต่อมา

ในยุคที่กล่าวนี้ประจวบสมัยชนชาติไทยลงมาสู่ประเทศสยาม เดิมชนชาติไทยมีอาณาเขตของตนเป็นประเทศใหญ่โตอยู่ระหว่างประเทศจีนกับประเทศทิเบต ครั้นพวกจีนมีอำนาจขึ้น ก็บุกรุกแดนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.400 สู้รบกันนานเข้า ไทยทานกำลังจีนไม่ไหวต้องเสียบ้านเมืองไปแก่จีนโดยอันดับมา จึงมีพวกไทยที่ไม่ยอมอยู่ในอำนาจจีนพากันอพยพมาหาบ้านเมืองอยู่ใหม่ทางฝ่ายตะวันตก บางพวกไปตั้งบ้านเมืองทางลำน้ำสาละวินได้ชื่อว่าไทยใหญ่ แต่ชาวต่างประเทศมักเรียกว่าเงี้ยวหรือฉานในบัดนี้ บางพวกลงมาตั้งบ้านเมืองทางลำน้ำแท้และลำน้ำโขง แล้วเลยลงมาถึงลำแม่น้ำเจ้าพระยา พวกนี้ได้ชื่อว่าไทยน้อย ชาวต่างประเทศเรียกกันว่าผู้ไทยบ้าง ลื้อบ้าง เขินบ้าง เรียกกันว่าลาว (เช่น ชาวเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และชาวจังหวัดภาคพายัพ จังหวัดอุดร ร้อยเอ็ด และอุบล) เพราะสำคัญผิดว่าเป็นพวกลาวเดิมบ้าง เรียกกันว่าสยามิสบ้าง

เมื่อพวกไทยแรกลงมาประเทศสยามนั้น อพยพมาพวกละน้อยๆ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนก็ยอมอยู่ในบังคับบัญชาของชนชาติซึ่งปกครองประเทศนั้น แล้วมีไทยพวกอื่นตามกันลงมา จำนวนชนชาติไทยมากขึ้นโดยลำดับ ครั้นจำเนียรกาลนานมาก็เกิดเชื้อสายเป็นราษฎรพลเมืองนั้นๆ และได้เป็นมูลนายปกครองกันเอง จนมีกำลังตั้งเป็นอิสระได้ในแว่นแคว้นสิบสองเจ้าไทยใกล้แดนตังเกี๋ยก่อน แล้วรุกแดนขอมลงมาตั้งเป็นอิสระ ณ ประเทศลานนา คือจังหวัดภาคพายัพทุกวันนี้ และประเทศลานช้าง คือเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์ แล้วจึงลงมาตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี มีอำนาจปกครองตลอดสยามประเทศเมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง 1800

ในสมัยเมื่อพระเจ้าอนุรุทธมหาราชเมืองพุกามมาได้ปกครองประเทศสยามนั้น มีชนชาติไทยอยู่ในแว่นแคว้นลานนาและลานช้างมากกว่าข้างใต้ พวกไทยนับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้วก็รับถือศาสนาลัทธิหินยานตามแบบแผนเมืองพุกามมาแต่ครั้งนั้น

ครั้นเมื่อล่วงสมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช อำนาจเมืองพุกามเสื่อมลง พวกไทยก็มีอำนาจขึ้นในประเทศสยามเป็นลำดับมา” •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ