ประวัติศาสตร์สังคมซอยหวั่งหลีที่ถูกลืม (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์สังคมซอยหวั่งหลีที่ถูกลืม (จบ)

 

ก่อนที่ชุมชนจะโดนไล่รื้อ ในพื้นที่มีอาคารพาณิชย์ชุดหนึ่ง อายุเก่าแก่ประมาณ 80 ปี (หากยังอยู่ถึงปัจจุบันก็มีอายุเกือบ 100 ปี) โดยยังไม่สามารถระบุเวลาการก่อสร้างที่แน่นอนได้ แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นไม่เก่าเกินไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 7 น่าจะราวปี พ.ศ.2468-2470

อาคารชุดนี้ ชาวบ้านในพื้นที่เล่าสืบมาเป็นลักษณะตำนานว่า ผู้สร้างตั้งใจสร้างให้บริเวณมุมของแนวตึกแถวทั้งส่วนหัวและส่วนท้ายเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ส่วนแนวตึกแถวตรงกลางสูงเพียง 2 ชั้น โดยมีแนวความคิดทางรูปทรงมาจากลักษณะเรือสำเภา โดยตั้งใจที่จะล้อไปกับ “สำเภาเจดีย์” ของวัดยานนาวา

แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบกับอาคารในยุคเดียวกัน ลักษณะการก่อสร้างที่เน้นความสูงของหัวและท้ายอาคารเป็น 3 ชั้น ส่วนแนวอาคารตรงกลางเป็น 2 ชั้น เป็นลักษณะที่นิยมทั่วไปในยุคสมัยดังกล่าว มิได้มีเฉพาะที่ชุมชนซอยหวั่งหลีเท่านั้น

ดังนั้น ตำนานเรื่องตึกรูปเรือสำเภาจึงน่าจะเป็นเพียงตำนานของชุมชนมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

อาคารพาณิชย์ชุมชนซอยหวั่งหลี อายุประมาณเกือบ 100 ปี (หากยังอยู่จนถึงปัจจุบัน) อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา

แต่ไม่ว่าจะถูกสร้างโดยตั้งใจให้เป็นเรือสำเภาหรือไม่ อาคารชุดนี้ก็มีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้ อาคารชุดดังกล่าว เป็นหลักฐานของพัฒนาการด้านการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ยุคแรกๆ ในไทย ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากการก่อสร้างด้วยวิธีโบราณคือ ก่ออิฐแบบผนังรับน้ำหนัก (ซึ่งจะทำให้ผนังมีความหนามาก)

มาสู่การก่อสร้างด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก และการใช้ระบบโครงสร้างแบบเสาคานโดยสมบูรณ์แทน

ซึ่งอาคารที่แสดงช่วงรอยต่อทางประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจนักในหมู่นักวิชาการด้านการอนุรักษ์ จนทำให้ประวัติศาสตร์อาคารในยุคนี้ มีแต่จะถูกรื้อถอนทำลายมากขึ้นทุกวันๆ

ที่สำคัญ จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2549 เราพบว่า อาคารมีสภาพแข็งแรงมาก การเสื่อมสภาพเกิดเฉพาะผิวอาคารด้านนอกเพียงบางจุดเท่านั้น และพื้นอาคารชั้นล่างก็ยังเหลือกระเบื้องปูพื้นแบบเก่าลวดลายสวยงามรุ่นอายุประมาณปลายรัชกาลที่ 6 ต้นรัชกาลที่ 7

ส่วนพื้นอาคารชั้นสองรวมถึงผนังภายในอาคารล้วนเป็นไม้สักคุณภาพดีที่ยังคงสภาพสมบูรณ์

ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวเพื่อเรียกร้องให้วัดทำการอนุรักษ์อาคารพาณิชย์เก่าแก่กลุ่มนี้ไว้ แต่ข้อเสนอไม่ได้รับการตอบสนอง ต่อมาชุมชนได้ยื่นเรื่องไปที่กรมศิลปากร เพื่อให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มอาคารนี้ไว้เป็นโบราณสถาน พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงกรุงเทพมหานครเพื่อให้เข้ามาศึกษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและอาคารในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรมีความเห็นว่าตัวอาคารแม้จะมีคุณค่าแต่ก็ไม่ถึงระดับที่จะสามารถขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้ ส่วนกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้น ก็มิได้มีความสนใจในประเด็นนี้เท่าที่ควร

สุดท้าย 4 มกราคม พ.ศ.2550 ชุมชนซอยหวั่งหลี ถนนเจริญกรุง 52 ทั้งหมด 34 ครัวเรือน ประมาณ 200 คน ต้องย้ายออกจากพื้นที่ตามคำสั่งศาล

ต่อมาไม่นานก็ได้รื้ออาคารพาณิชย์สองข้างซอยหวั่งหลีทั้งหมดลง และปรับสภาพพื้นที่เป็นลานโล่งรอการพัฒนาจากผู้เช่ารายใหม่

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธว่าพื้นที่ดังกล่าวควรได้รับการพัฒนาให้ดีและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และวัดเองก็มีความชอบธรรมเต็มที่ที่จะพัฒนาที่ดินกรรมสิทธิ์ของตน

แต่ในเมื่อวัดไม่ใช่บริษัทเอกชนที่มุ่งหวังกำไรสูงสุดไปแบ่งปันในกลุ่มผู้ถือหุ้น ดังนั้น การสร้างแนวทางการพัฒนาที่ดินของวัดจึงควรมีทิศทางที่แตกต่างจากบริษัทค้ากำไรทั่วไป

ในทัศนะผม วัดควรระลึกถึงบทบาทของตนเองในฐานะที่เป็นที่พึ่งทางใจของสังคมและเป็นศูนย์กลางของชุมชนไว้ให้มาก

ดังนั้น วัดยานนาวาควรสร้างทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินในรูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงประโยชน์สังคมมากกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ ควรเน้นการพัฒนาบนฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน

และเน้นประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์สังคมเพื่อให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ได้กับประวัติศาสตร์ของวัดยานนาวา

อาคารพาณิชย์ชุมชนซอยหวั่งหลี อายุประมาณเกือบ 100 ปี (หากยังอยู่จนถึงปัจจุบัน) อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา

คุณค่าที่กล่าวมามีความสัมพันธ์ไล่มาตั้งแต่ประวัติศาสตร์การสร้างพระเจดีย์วัดยานนาวา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการค้าสำเภา เรื่อยมาจนถึงการค้าข้าว ธุรกิจท่าเรือ และการอพยพเข้ามาของคนจีน การตั้งถิ่นฐานชาวจีนในบริเวณดังกล่าว ฯลฯ ทั้งหมดเราจะเห็นถึงความเชื่อมโยงร้อยรัดเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งหาไม่ได้อีกแล้ว (หรือหาได้ยากมากๆ) ในพื้นที่อื่น

วัดยานนาวาควรสร้างทิศทางใหม่ของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ ควรเชื่อมโยงวัดและชุมชนให้ประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ควรเน้นแต่ “ประวัติศาสตร์ระดับชาติ” โชว์แต่เจดีย์รูปเรือสำเภาเพียงอย่างเดียว แต่ควรผสาน “ประวัติศาสตรท้องถิ่น” และ “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่ให้ภาพความเคลื่อนไหวของชุมชนการค้า แหล่งที่ตั้งของโรงสีและท่าเรือในแถบนั้นด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าทางประวัติศาสตร์โดยรวมให้เกิดขึ้นแก่วัดและพื้นที่โดยรอบ

ในช่วงเวลาที่กำลังเกิดกรณีการรื้อย้ายเมื่อตอนปี พ.ศ.2550 ผมเคยเขียนข้อเสนอต่อการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ซอยหวั่งหลีไว้ในเอกสารประกอบการสัมมนางานหนึ่ง

ซึ่งส่วนตัวคิดว่าบางอย่างยังสามารถใช้ได้อยู่ แม้ว่าถาวรวัตถุทุกอย่างจะถูกรื้อทิ้งหมดแล้วก็ตาม

 

ในคราวนั้นผมเสนอว่า เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างยั่งยืน วัดยานนาวาควรชะลอแผนการรื้อและไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไว้ก่อน จากนั้นควรทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนและพื้นที่ให้ละเอียดและครอบคลุมในทุกด้าน โดยสร้างความมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับชุมชนในพื้นที่ และจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกระบวนการการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ในแนวทางใหม่ที่มีความยั่งยืนและเล็งประโยชน์สังคมเป็นที่ตั้ง

ผมยังได้เสนอต่อไปด้วยว่า พื้นที่ดังกล่าวควรถูกอนุรักษ์ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การค้าของไทย นับตั้งแต่ยุคเรือสำเภาจนถึงยุคเรือกลไฟสมัยใหม่ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติการตั้งถิ่นฐานชุมชนชาวจีนในประเทศไทย

โดยอาจผลักดันให้ชุมชนทำการรวบรวมประวัติศาสตร์และจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ขึ้นภายในคูหาใดคูหาหนึ่งของอาคารที่ร้างผู้เช่า จัดทำแผนที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมย่านชุมชนจีน พร้อมทั้งทำการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารให้แสดงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

ทั้งหมดนี้จะต้องพัฒนาบนฐานการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เป็นสำคัญ เพราะชุมชนจะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้การพัฒนามีความยั่งยืนและเป็นไปได้จริง

 

สุดท้ายผมได้เขียนเอาไว้ว่า จะดีเยี่ยมเป็นเท่าทวีคูณ หากวัดสามารถผสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครได้ และทำการเชื่อมพื้นที่ชุมชนซอยหวั่งหลีเข้ากับพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ใต้รถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ร่วมกันเพื่อให้ลานดังกล่าวของกรุงเทพมหานคร กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมและพักผ่อนของคนเมืองโดยสามารถเดินเชื่อมทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนซอยหวั่งหลีและบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ

ทั้งหมดจะช่วยรื้อฟื้นความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ (ตามเป้าหมายของวัด ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ) ให้กลับคืนเช่นในอดีตได้ ซึ่งแน่นอนจะทำให้วัดได้รับรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ในหลายส่วนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจตามไปด้วย

แน่นอน การพัฒนาดังกล่าวอาจจำเป็นต้องทำการรื้อถอนตึกแถวที่มีคุณค่าบางส่วน (มากน้อยแค่ไหนต้องรอการศึกษาอย่างจริงจังต่อไป) เพื่อสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งก็มิได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะภายใต้แนวคิดใหม่ของการ Adaptive Reuse ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ได้ทำให้เกิดทางเลือกมากมายในการอนุรักษ์ที่ทั้งตอบสนองความต้องการในโลกสมัยใหม่พร้อมไปกับการรเก็บรักษาคุณค่าของโบราณสถานที่สำคัญเอาไว้ได้ไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดนี้ไม่ได้รับเสียงตอบรับจากทางวัด และในไม่ช้าหลังการสัมมนาในวันนั้น วัดก็ทำการไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่จนหมด

 

16 ปีผ่านไป วัดคงจะเห็นแล้วนะครับว่า ตนเองก็ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่นี้ได้ ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยไม่ว่าจะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการ

ซ้ำร้ายสิ่งที่แลกมาก็คือการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของตนเองลง

แม้ตอนนี้ทุกสิ่งอย่างจะไม่หลงเหลืออะไรแล้ว แต่หากทางวัดจะเริ่มเปลี่ยนความคิดและตระหนักถึงคุณค่าเหล่านี้อีกครั้ง ส่วนตัวก็คิดว่ายังไม่สายจนเกินไป

เพราะคุณค่าที่แท้จริงไม่ใช่อิฐหินปูนทรายที่ถูกรื้อทำลายไป แต่คือประวัติศาสตร์และความทรงจำที่เรายังสามารถช่วยกันรื้อฟื้นมันกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง

ผมหวังว่าทางวัดยานนาวาจะได้มีโอกาสอ่านบทความนี้และลองพิจารณาดูนะครับ