ใยเปลือกมะพร้าว วัสดุเปลี่ยนเกมเกษตรสีเขียวแบบยั่งยืน

รายงานพิเศษ | พาราตีรีตีส

 

ใยเปลือกมะพร้าว

วัสดุเปลี่ยนเกมเกษตรสีเขียวแบบยั่งยืน

 

มะพร้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญให้กับหลายประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรและโซนทวีปใต้ที่บริโภคกันอย่างแพร่หลาย แต่ประโยชน์ของมะพร้าวไม่ใช่แค่น้ำกับเนื้อที่เรากินกันเพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลือของมะพร้าวอย่างเปลือกนั้น ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกและเป็นประโยชน์ที่ไม่ธรรมดาอย่าง ‘ใยมะพร้าว’

ขนปุยๆ สีน้ำตาลที่ปกคลุมลูกมะพร้าว ในความรู้สึกทั่วไปมันสนใจเฉพาะแค่น้ำกับเนื้อ ส่วนเปลือกและใยก็ทิ้งไปหรือส่งต่อไปยังโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นวัสดุต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่า เชือกมะนิลาที่เราเรียกกัน และเป็นเชือกที่มีความเหนียวอย่างมากนี้ ทำจากใยมะพร้าว

ใยมะพร้าว เรียกว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญกับผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งกระแสเกษตรสีเขียวและอนุรักษ์โลกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น วัสดุอย่างใยมะพร้าวได้ยกระดับตัวเองให้มีส่วนสำคัญของการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยในเรื่องการทำเกษตรแบบใช้ทรัพยากรให้หมุนเวียนและสิ้นเปลืองน้อยที่สุดด้วย

มุ่งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ใยมะพร้าวได้มีความสำคัญต่อการเกษตรแบบยั่งยืนและเป็นการเปลี่ยนสิ่งของเหลือใช้ที่คนทั่วไปไม่ต้องการให้สามารถทำประโยชน์อย่างมหาศาล

โดย นายนาเกซ ซิงห์ เอกอัครรัฐทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้กล่าวระหว่างเปิดงาน Indian MSME Coir Expo-2023 ที่ไอคอนสยามเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ใยมะพร้าวเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเปลี่ยนสิ่งเหลือใช้ให้ทำเงินได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งในปัจจุบันนี้ ใช้ในการควบคุมการกัดเซาะและทดแทนในพืชสวนของไทยมีศักยภาพมากและเป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียน

ด้านนาย ดี.กัมปุรามู ประธานกรรมการใยมะพร้าวภายใต้กระทรวง MSME (กระทรวงส่งเสริมเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ของอินเดียกล่าวว่า ความคิดริเริ่มในการดำเนินการเกิดขึ้นโดยคณะกรรมการเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ส่งเสริมและยกระดับทักษะและการพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจในชนบท ของผู้ผลิตมะพร้าวของอินเดีย

การจัดงานนี้ จึงเป็นการจัดแสดงผลผลิตจากใยเปลือกมะพร้าวและเป็นเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากไทยได้รับเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใยเปลือกมะพร้าวที่มีประโยชน์หลายส่วน

และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ในส่วนผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากใยเปลือกมะพร้าวในงานที่จัดแสดงครั้งนี้ มีหลายสิ่งที่ยกระดับให้ก้าวหน้ามาก ทั้งใยเปลือมะพร้าวที่ถูกแปรรูปแบบแท่งยาวเพื่อกักเก็บสารอาหารและความชุ่มชื้นให้กับพืช เหมาะสำหรับใช้ปลูกไม้ต้น ไม้เลื้อย

กระถางที่ทำจากใยเปลือมะพร้าวที่ขึ้นรูปสามารถใช้ทดแทนกระถางดินเผาหรือพลาสติกซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากว่า

นอกจากนี้ ยังมีใยเปลือกมะพร้าวที่ถูกพัฒนาเป็นอิฐบล็อกหนัก 5 กิโลกรัม ผู้จัดแสดงกล่าวว่า อิฐบล็อกจากใยมะพร้าวนี้ เป็นการนำใยเปลือกมะพร้าวเข้าเครื่องแปรรูปจนทำให้เนื้อใยมะพร้าวละเอียดและอัดเป็นอิฐบล็อก โดยที่อิฐบล็อกใยมะพร้าวนี้ ยังคงประสิทธิภาพที่เหมาะกับนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชในเรือนกระจก ซึ่งถ้าใช้ดินที่ทำจากใยมะพร้าวร่วมกับอิฐใยมะพร้าว จะสามารถทำการปลูกพืชต่างๆ โดยไม่ต้องใช้ดิน เป็นการหมุนเวียนวัสดุสิ้นเปลืองให้สามารถทำประโยชน์ และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับพืชที่กำลังเพาะปลูกได้

นอกจากอิฐบล็อกใยมะพร้าว ยิ่งมีใยมะพร้าวที่เป็นทั้งเสื่อคลุมต้นกล้าในโรงเพาะต้นกล้า รวมถึงตาข่ายใยมะพร้าวสำหรับปลูกพืชที่พื้นที่แล้งที่จะช่วยกักเก็บน้ำ พร้อมกับรักษาสารอาหารพืชในดินไว้อีกด้วย

และผู้จัดแสดงย้ำชัดว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติและเป็นออร์แกนิก 100% อีกทั้งปลอดวัชพืชและเชื้อโรคต่างสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคในพืช ทำให้ปลูกพืชแบบรักษ์โลกได้อย่างหายห่วง

ใยเปลือกมะพร้าวได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก

โดยผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 1 คือ อินเดีย ที่ส่งออกทั้งแบบใยเปลือกมะพร้าวเป็นเส้นและผลิตภัณฑ์แปรรูป

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมอินเดีย ในปี 2564-2565 ได้ส่งออกเป็นมูลค่าถึง 274.97 ล้านเหรียญสหรัฐ (และยังครองประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ในสัดส่วน 60% ของตลาดโลกอีกด้วย) จากสัดส่วนตลาดโลกที่ส่งอออกเป็นจำนวน 526.31 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ มะพร้าวกับอินเดีย ยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะศาสนา ซึ่งอินเดียเรียกมะพร้าวว่าเป็น “ผลไม้จากพระเจ้า” และเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีทางศาสนา

เช่นเดียวกับไทยที่มะพร้าวเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งการบริโภค ประกอบอาหารทั้งคาวหวาน ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม ทั้งเนื้อและน้ำมะพร้าวสมุนไพรตามธรรมชาติที่มีสรรพคุณหลายอย่าง

เป็นของดีที่ใช้ได้ทุกส่วน สร้างรายได้ตั้งแต่ระดับเล็กไปสู่ตลาดโลกได้มากทีเดียว