ไหว้ครูแสนดี…ติมอร์-เลสเต (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ไหว้ครูแสนดี…ติมอร์-เลสเต (1)

 

Cabin Crew prepare for landing

เสียงกัปตันประกาศให้นางฟ้าและลูกเรือเตรียมพร้อมกับการลงจอด ผู้โดยสารสายการบิน Citiling Airlines เที่ยวบิน QG 500 Denpasar บาหลี-Dili พากันเปิดม่านหน้าต่าง มองออกไปกลางฟ้าเวิ้งว้าง ด้านล่างเป็นมหาสมุทรแปซิฟิกกว้างใหญ่สุดสายตา ก่อนปรับเข็มนาฬิกาให้ตรงกับเวลาติมอร์ เร็วกว่าบาหลี อินโดนีเซีย 1 ชั่วโมงและเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง

การเดินทางจากเมืองไทยไปประเทศติมอร์-เลสเต ไม่มีสายการบินบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปลงที่ Dili เมืองหลวงของติมอร์เพราะผู้โดยสารน้อย จึงต้องแวะพักที่บาหลีก่อนต่อสายการบินอื่นไปยังติมอร์

ในชื่อทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (Democretic Republic of Timor-Leste) หมายถึงติมอร์ตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะติมอร์ ปลายหมู่เกาะซุนดาน้อยของประเทศอินโดนีเซียซึ่งยังครอบครองติมอร์ฝั่งตะวันตกอยู่ ขนาดพื้นที่ 14,870 ตารางกิโลเมตร ประชากร 1.3 ล้านคน เทียบเคียงกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทยที่มีขนาดพื้นที่ 12,681 ตารางกิโลเมตร ประชากร 285,900 คน สภาพภูมิประเทศคล้ายคลึงกันเป็นหุบเขาทอดยาวติดต่อลูกแล้วลูกเล่า พื้นที่ราบมีน้อยเป็นหย่อมๆ

ใช้เวลาบินราว 3 ชั่วโมงครึ่ง เครื่องบินค่อยๆ ร่อนลงสู่พื้นสนามบินนานาชาตินิโคเลา โลบาโต (Presidente Nicholau Lobato International Airport) ด้วยความปลอดภัย มองด้านขวาเห็นป้ายไม้กางเขนโดดเด่นอยู่บนยอดเขาสูง ด้านซ้ายแผ่นพื้นน้ำรอบริมเกาะทอดยาวตลอดชายฝั่ง

น้ำ ฟ้า ภูเขา บรรจบกันอย่างกลมกลืน

ผู้โดยสารกว่าค่อนลำทยอยลงตามลำดับ กลุ่มหนึ่งเป็นนักเดินทางทั้งชายและหญิงจากเมืองไทยพากันมุ่งหน้าตรงไปยังหน้าอาคารรับรอง

ชายหนุ่มวัยกลางคนผู้มีอัธยาศัยในชุดสูทสีเข้ม หน้าตายิ้มแย้ม เข้ามาแนะนำตัว “สวัสดีทุกท่านครับ พิชิตพันธ์ ศาตะจันทร์ เลขานุการเอก สถานทูตไทยครับ”

“มีอะไรให้ทางสถานทูตช่วยดูแลประสานงานบอกเลยนะครับ” ก่อนรวบรวมหนังสือเดินทางของทุกคนไปสู่พิธีการตรวจคนเข้าเมืองตามระเบียบขั้นตอน

ระหว่างที่ชายติมอร์ในชุดสูทสากลหลายคนยืนถือผ้าทอหลากสี รอสวมคอ คลุมไหล่ให้ผู้มาเยือนทีละคน สืบทอดวัฒนธรรมการต้อนรับแขกไว้ได้อย่างมั่นคง บ่งบอกถึงมิตรภาพอันอบอุ่น สุภาพสตรีต่างโผกอด ทักทายกันด้วยความดีใจที่ได้พบหน้ากันอีกครั้ง

เจ้าของบ้านคือผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ติมอร์-เลสเต

ผู้มาเยือนคือ กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและคณะรวม 15 ชีวิต นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิ

พร้อมนักการศึกษาไทยมากประสบการณ์ อาทิ นพ.สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ผู้ผลักดันและแสวงหา “ครูสอนดี” ทั่วประเทศ ต่อมาพัฒนาเป็นสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และเป็นผู้อำนวยการคนแรก

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองเลขาธิการสภาการศึกษา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคุรุสภา

บวรศักดิ์ เพชรานนท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักการศึกษาภาคปฏิบัติ ผู้มีประสบการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลน บนดอยสูง ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุน มูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่อนสอน พะเยา ลำพูน ตาก และน่าน

กับอีกหนึ่งนักการศึกษาระดับภูมิภาค ครูไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาเลเซียคนแรก ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา ผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เสริมทักษะ 6 ประการให้กับนักเรียนและครู โครงการการศึกษาไร้พรมแดน ห้องเรียนข้ามชาติ เปิดเครือข่ายให้นักเรียนต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมเรียนรู้ร่วมกัน

การเดินทางของท่านเหล่านี้เพื่อรับรู้ พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ร่วมกัน นำไปสู่การจัดการศึกษาภายใต้ความยากไร้ ลำบากขัดสน การศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์ ไม่ว่าที่ติมอร์-เลสเต หรือที่ไหนๆ ในโลก

ทุกคนมาทำหน้าที่เสมือนทูตสันถวไมตรีทางการศึกษา ผมในฐานะผู้สังเกตการณ์ มีโอกาสติดท้ายขบวนมาเยือนดินแดนที่มีอะไรๆ หลายแง่หลายมุมน่าสนใจแห่งนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตยามสนธยา

 

นอกจากภารกิจหลักด้านการศึกษา พบเยี่ยมเยียนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนที่ 5 ล่าสุดกับอีก 4 คนก่อนหน้านั้นของติมอร์ รับฟังการนำเสนอแนวคิด ประสบการณ์ ผลการทำงานด้วยความทรหดอดทน เสียสละ ทุ่มเท สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของครู นักเรียน ผู้บริหาร ผู้คนในชุมชนและความเป็นไปของโรงเรียน จนถึงฝ่ายกำหนดนโยบายการศึกษาระดับชาติ

พบคนไทยในติมอร์เพื่อชักชวนให้ร่วมกิจกรรม โครงการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาครูและนักเรียน อีกทั้งเปิดเวทีให้สื่อมวลชนในพื้นที่ได้รับรู้ ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวไปบอกเพื่อนร่วมชาติให้กว้างขวาง

ติมอร์ในภาพจำนับแต่อดีตตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมโปรตุเกสผู้ล่า ครอบครองอยู่นานตั้งแต่ พ.ศ.2245 ถึง พ.ศ.2518 รวม 273 ปี ต่อด้วยอินโดนีเซีย ตั้งแต่ พ.ศ.2518 ถึง พ.ศ.2545 รวม 27 ปี ก่อนประกาศตัวเป็นรัฐเอกราช 20 พฤษภาคม พ.ศ.2545 จากการรวมตัวต่อสู้ของพี่น้องประชาชนนำโดยนายซานานา กุสเมา นายรามุส ออร์ตา ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2542 มีการลงประชามติของประชาชนขอแยกตัวเป็นอิสระด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 80%

แต่ปรากฏว่าฝ่ายนิยมอินโดนีเซียไม่ยินยอมจึงเกิดการต่อสู้กันเองกลายเป็นสงครามกลางเมือง กระทั่งสหประชาชาติจัดตั้งกองกำลังนานาชาติเข้ารักษาสันติภาพ เมื่อเดือนกันยายน 2542

ห้วงเวลานั้น นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ โทรศัพท์สายตรงมาถึงนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย ขอให้ส่งทหารเข้าไปช่วยกองกำลังรักษาสันติภาพ หลังปรึกษาหารือกับผู้นำเหล่าทัพเสร็จ ไทยตกลงส่งทหารไปร่วมกว่า 1,500 นาย

ต่อมา พล.ท.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร คนสุพรรณฯ ศิษย์เก่าโรงเรียนสูงสุมารผดุงวิทย์ บางปลาม้า ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ บังคับบัญชากองทหารนานาชาติจาก 30 ประเทศกว่า 8,000 คน ปฏิบัติการจนเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ สภาพชีวิตชาวติมอร์กลับคืนสู่ความสุขสงบ ยกย่องชื่นชมทหารไทยไม่ขาดปากมาถึงวันนี้

“สิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องแรกหลังได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติ ผมบินไปพบผู้นำอินโดนีเซียและผู้นำเหล่าทัพ ขอให้มาร่วมมือสร้างสันติภาพกันดีกว่า เพราะหากปล่อยให้ต่อสู้กันต่อไป มีแต่จะสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่ายและทุกฝ่าย” พล.อ.บุญสร้าง เปิดใจกับ เทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในเวลาต่อมา ที่สัมภาษณ์พิเศษถึงเบื้องหลังการตัดสินใจส่งทหารไทยไปร่วมสร้างสันติภาพ

เดินทางเที่ยวนี้ ไทยพีบีเอสจึงส่ง สันติพงษ์ ช้างเผือก ผู้จัดการศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ มือสกู๊ปและสารคดี ไปติดตามความเป็นไปล่าสุดของติมอร์กับคณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อีกครั้ง

 

หลังประสบชัยชนะในการต่อสู้กู้เอกราช ซานานา กุสเมา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรก รามุส ออร์ตา เป็นคนต่อมาและเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สาม ภายหลังได้รับเลือกตั้งสลับเปลี่ยนตำแหน่งกัน วันนี้ รามุส ออร์ต้า เป็นประธานาธิบดีครั้งที่สอง สาบานตนวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ขณะที่กุสเมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง จากชัยชนะในการเลือกตั้งวันที่ 23 พฤษภาคม 2566

นอกจากประวัติการต่อสู้เพื่อเอกราชติมอร์อย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือทั้งสองเห็นความสำคัญของการศึกษา พยายามผลักดันเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศตลอดมา

ส่งเสริมนักการศึกษารุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงาน ดึงตัวคนเหล่านั้นกลับมารับตำแหน่งอีก ทุกครั้งที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศ

คนเหล่านี้เป็นใคร คณะเดินทางทางการศึกษาจากเมืองไทยกำลังจะไปพบปะสนทนา หารือความร่วมมือในอีกไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อจากนี้

บรรยายใต้ภาพ

ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ติมอร์-เลสเต ต้อนรับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่สนามบินนานาชาติ เมืองหลวงดิลี ติมอร์-เลสเต