คิดอย่างคานธี (3) การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคานธีและอินเดีย

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

คิดอย่างคานธี (3)

การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคานธีและอินเดีย

 

มหาตมะคานธี เป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียและเป็นแรงบันดาลใจทางศีลธรรมอย่างต่อเนื่อง (Continuing source of moral inspiration) ได้รับการฝึกอบรมเป็นเนติบัณฑิต (Barrister- at – law) ในอังกฤษ

เขาพัฒนาปรัชญาทางการเมืองขึ้นมาในรูปแบบของ การต่อต้านแบบไม่ใช้ความรุนแรงแบบสัตยากราหะ (Satyagraha-non-violent) หรือสัตยาเคราะห์ ในขณะที่เขาทำงานในแอฟริกาใต้ให้กับสำนักงานกฎหมายของอินเดีย

ประสบการณ์ในแอฟริกาใต้ยังสอนคานธีให้เห็นถึงความสำคัญของแนวร่วมข้ามชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาเปลี่ยนมาเป็น ‘ความสามัคคีของชาวฮินดู-มุสลิม (Hindu-Muslim unity)

สิ่งนี้กลายเป็นลักษณะเด่นของพรรคคองเกรสซึ่งพบว่ามีประโยชน์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการป้องกันผู้ท้าทาย – ฝ่ายขวาชาวฮินดู สันนิบาตมุสลิม และผู้อุปถัมภ์ชาวอังกฤษ

 

ภายใต้การนำของเขา พรรคคองเกรสแห่งชาติของอินเดีย (Indian National Congress -INC) เริ่มอ่อนไหวมากขึ้นต่อช่องว่างระหว่างพรรคคองเกรสของชนชั้นกลางในเมืองกับมวลชนอินเดีย และเปลี่ยนความสนใจไปที่ชาวนาอินเดีย

ด้วยแรงบันดาลใจที่มาจากคานธี INC จึงขยายการเข้าถึงอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของชนชั้นทางสังคมและภูมิศาสตร์ ในปี 1918 ในขณะที่แนะนำ Satyagraha ให้เป็นวิธีการประท้วงทางการเมืองอย่างสันติในอินเดีย (Satyagraha as a method of peaceful protest in india)

ในขณะที่สนับสนุนคนงานปลูกครามในแคว้นมคธ รัฐพิหาร (Bihar) ก็มีการเคลื่อนไหวของคานธีในลักษณะเดียวกันนี้ในแคว้นปัญจาบ รัฐคุชราต และส่วนอื่นๆ ของอินเดีย เพื่อระดมมวลชนสนับสนุน คานธียังได้แนะนำแนวปฏิบัติทางการเมืองของชนพื้นเมืองหลายอย่าง เช่น การอดอาหาร (Fasting) การนัดหยุดงานทั่วไป (General strikes or hartal)

อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการคว่ำบาตรที่มาพร้อมกับการหยุดงาน

 

ในการเลือกใช้ อารยะขัดขืน (Civil disobedience) เพื่อต่อต้านภาษีเกลือที่อังกฤษกำหนด คานธีได้แสดงให้เห็นการใช้ไหวพริบในฐานะนักยุทธศาสตร์ เมื่อผู้ปกครองอังกฤษตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการปราบปรามอันเป็นความพยายามของพวกเขาที่จะควบคุมความไม่สงบ แต่การตอบโต้ต่อมวลชนของอินเดียมีแต่จะทำให้การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้น

สิ่งนี้กลายเป็นต้นแบบของขบวนการอารยะขัดขืนที่ตามมา ซึ่งคานธีระดมชาวนาและคนงานตลอดจนชนชั้นกลางในเมือง

เขาผสมผสานเทคนิคการเจรจาทางการเมืองกับการกระทำโดยตรงที่เข้มข้นมากขึ้น (เช่น Hartal, Satyagraha และอื่นๆ) และได้รับทั้งทรัพยากรทางการเมืองและวิธีการจากภายในวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ของอินเดีย ผสมผสานเข้ากับแนวคิดของการต่อต้านแบบนิ่งเฉย (Passive resistance)

การเลือกตั้งในระดับรัฐที่จัดขึ้นภายใต้สิทธิ์ที่จำกัดทำให้พรรคคองเกรสมีการจัดตั้งกระบวนการทางการเมืองที่เป็นระเบียบหลังจากได้รับเอกราช

ในขณะที่พัฒนาการทางการเมืองและรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของอังกฤษเป็นมรดกที่สำคัญในตัวของมันเอง ผลของการปกครองของอังกฤษที่มีต่อสังคมอินเดียก็มีความสำคัญมากเช่นกันในแง่ของผลกระทบทางจิตวิทยาต่ออัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของอินเดีย

พรรคคองเกรสซึ่งนำกลุ่มนักปฏิรูปและกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงของอินเดียมารวมกัน ได้รับฐานทางสังคมใหม่ในฐานะขบวนการภายใต้การนำของคานธี

ที่ระดมพลังที่มาจากชาวนา แรงงาน และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในพื้นที่ชนบทและในเมือง

 

พรรคคองเกรสในฐานะขบวนการที่ต่อต้านอาณานิคมจึงกลายเป็นได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป การปฏิรูปรัฐธรรมนูญในปี 1909 ให้การยอมรับการเป็นตัวแทนของอินเดียอย่างจำกัด

แต่ขอบเขตของเครือข่าย อำนาจและหน้าที่ของสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งถูกจำกัดขอบเขตอย่างเข้มงวด

การปฏิรูปในปี 1919 จัดให้มีมาตรการความรับผิดชอบที่ค่อนข้างใหญ่ในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ และงานสาธารณะ ซึ่งไม่ได้ ‘สงวน’ หรือถือว่ามีความสำคัญต่อการควบคุมของอาณานิคม

พรรคคองเกรสใช้ประโยชน์จากการปฏิรูปเหล่านี้เพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับเทศบาล ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของรัฐบาลประชาธิปไตยหลังการประกาศเอกราช

ด้วยการสร้างอุดมการณ์ร่วมกันจากแรงบันดาลใจของชนชั้นกลาง ทำให้ได้รับความภักดีจากชนชั้นกลางในขณะที่ท้าทายอำนาจและความชอบธรรมในการปกครองของอังกฤษ กลุ่มสังคมเดียวกันเหล่านี้เป็นหนึ่งในฐานทางสังคมที่สำคัญกว่าในการสนับสนุนการต่อสู้ของคานธี

นอกจากนี้ พรรคคองเกรสยังได้พัฒนาความสามารถในการรวบรวมผลประโยชน์ที่ควรได้รับอีกด้วย พรรคคองเกรสยังมีพรสวรรค์ในการดำเนินการทางการเมืองที่ยั่งยืนและประสานกัน รวมทั้งการมีทักษะในการบริหารผ่านการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภานิติบัญญัติประจำรัฐภายใต้กฎหมายของรัฐบาลอินเดียปี 1935

ผู้นำของพรรคคองเกรสยังได้รับสิ่งที่ขบวนการต่อต้านอาณานิคมไม่กี่กลุ่มมี นั่นคือรสชาติของการแข่งขันทางการเมืองอย่างแท้จริง การฝึกฝนทางการเมืองและศิลปะการบริหาร และประสบการณ์ของการอุปถัมภ์เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมทางการเมือง การสนับสนุน และความภักดี

สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีค่าของพรรคคองเกรส ในช่วงหลายปีหลังจากได้รับเอกราช

 

ประธานาธิบดีอังกฤษ (Clement Altlee) สามารถส่งมอบภารกิจให้กับคณะรัฐมนตรีในปี 1946 อันเป็นเอกสาร ‘สหพันธรัฐ’ สำหรับอินเดียซึ่งจะปกครองอย่างเป็นอิสระด้วยการแยกตัวออกจากจักรวรรดิอังกฤษ

ในการประชุม มีการเชิญประธานในพิธีส่วนพระองค์จากอังกฤษเข้าร่วมต้อนรับเยาวหราล เนห์รู เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยเนห์รูเข้าพิธีรับตำแหน่งในวันที่ 6 สิงหาคม 1946

การสังหารครั้งใหญ่ในกัลกัตตา (โกลกัตตา) ในปี 1946 กระตุ้นให้อาลี จินนาฮ์ “ดำเนินการโดยตรง” เพื่อจัดตั้งปากีสถานซึ่งอินเดียให้การยอมรับ

การได้รับอิสรภาพของอินเดียในปี 1947 ได้รับการรับรองจากสภาของอังกฤษ โดยมีการรวมเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านอำนาจมาผนวกรวมด้วย ทำให้จินนาฮ์กลายเป็นผู้นำในฐานะผู้สำเร็จราชการของปากีสถาน

หลังจากเกือบสองศตวรรษในการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งมักเรียกกันว่า British Raj อินเดียก็ได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 1946 เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย เป็นผู้นำในการรณรงค์ต่อต้านอาณานิคมและผู้สนับสนุนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non Aligment) ในไม่ช้าอินเดียก็กลายเป็นหนึ่งในผู้นำของ ‘โลกที่สาม’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่

ไม่เหมือนกับชนชั้นนำหลังการปฏิวัติของจีนและสหภาพโซเวียต เนห์รูและพรรคพวกของเขาเป็นผู้นำระดับชาติที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นผ่านกระบวนการสร้างฉันทามติของการรวมเป็นหนึ่งมากกว่าการกำจัดผู้ท้าชิง และสนับสนุนการเมืองในวงกว้าง