สำนักงานโฆษณาการ กับการเผยแพร่ปชต.ด้วยภาษาถิ่น รัฐบาลกับการต่อต้านข่าวลือ | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ด้วยฝ่ายกบฏบวรเดช (2476) พยายามสร้างกระแสข่าวลือมาแต่ก่อนกบฏว่า รัฐบาลพระยาพหลฯ เป็นรัฐบาล “ล้มเจ้า” เป็นคอมมิวนิสต์ คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อประโยชน์แก่พวกตนเองและต้องการทำร้ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ด้วยฝ่ายกบฏ “ปั้นข่าว” หวังสร้างกระแสการต่อต้านรัฐบาลให้เกิดในหมู่ประชาชนทั่วประเทศ

ดังที่ สว่าง โกศลศรี และบุญเสง ภู่ธราภรณ์ ชาวอยุธยา มีรายงานถึงรัฐบาลว่า ในอยุธยามีการปล่อยข่าวว่า รัฐบาลพระยาพหลฯ กำลังจะถอดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ออกจากตำแหน่งกษัตริย์ และจะยกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

รัฐบาลจึงตั้งคณะทำงานต่อต้านข่าวลือ มีปรีดี พนมยงค์ หลวงวิจิตรวาทการ ม.จ.วรรณไวทยากร ตอบโต้สงครามข่าวสารจากฝ่ายกบฏ ด้วยใบปลิว และแถลงผ่านวิทยุกระจายเสียงอย่างต่อเนื่อง (หจช.สร.0201.1.1/2)

ร.ต.ตุ๊ จารุเสถียร ทหารฝ่ายรัฐบาลเล่าสงครามข่าวสารของรัฐบาลว่า “ได้ทราบข่าวจากคำแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐบาลซึ่งได้ออกเป็นใบปลิวแจกจ่ายประชาชนและต่อมาได้ใช้วิทยุกระจายเสียงประกาศ อันเป็นการประกาศในลักษณะบำรุงขวัญประชาชน เป็นการปฏิบัติการจิตวิทยาให้ประชาชนมีความเข้าใจและเข้าข้างรัฐบาล ปฏิบัติการครั้งนี้ ถือได้ว่านับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้สงครามจิตวิทยาจากวิทยุกระจายเสียง” (ประภาส จารุเสถียร, 2534, 150)

สงครามข่าวสารของฝ่ายรัฐบาลมีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของฝ่ายกบฏอย่างมาก ดังนายทหารฝ่ายกบฏบันทึกไว้ว่า “รัฐบาลใช้วิทยุกระจายเสียงตะล่อมกล่อมขวัญให้พากันแน่ใจว่ารัฐบาลอยู่ในฐานะที่มั่นคง ฝ่ายทหารหัวเมืองที่เป็นกบฏสิกำลังง่อนแง่น ทั้งปลอบให้ทหารผู้น้อยที่เป็นกบฏกลับใจ รัฐบาลจะไม่ทำโทษ แล้วขู่ว่า ถ้าดื้อดึงจะพลอยรับโทษหนัก พวกทหารผู้น้อยที่ฟังวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลเริ่มลังเล” (ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, 2508, 323)

วงจรข่าวลือ ปากสู่ปาก และฟังลำตัด
: การสื่อสารในชนบท

ด้วยการสื่อสารในสังคมชนบทยังห่างไกลการรับรู้ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์รายวันและวิทยุ สังคมในครั้งนั้นจึงทราบข่าวสารจากการบอกเล่าข่าวสารด้วยปากต่อปาก จากบุคคลมาสู่ชุมชนเป็นสำคัญ

ต่อมา ในช่วงทศวรรษ 2460-2470 เมื่อสังคมเริ่มอ่านออกเขียนได้มากขึ้น มีความนิยมอ่านหรือรับฟังบทกลอนจากลำตัดเล่าเรื่อง ที่นักเขียนมักนิยมเรียบเรียงเรื่องตามโวหารลำตัดที่มีความบันเทิงลงหนังสือพิมพ์ หรือเขียนเป็นเล่มออกจำหน่ายกันในท้องตลาดราคาถูกๆ ทำให้สิ่งพิมพ์ชนิดนี้เป็นพาหนะข่าวสารในครั้งนั้น

เนื้อเรื่องในหนังสือลำตัดมักจะเล่าเรื่องเคล้าความบันเทิง ข่าวอาชญากรรม หรือเหตุการณ์สำคัญที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น นักเขียนลำตัดที่มีชื่อเสียง เช่น หะยีเขียด พลายนรินทร์ฯ เป็นต้น เนื้อหาทำนองเป็นการขุดคุ้ยเรื่องราวมาประจาน (สุรพงษ์ จันทร์เกษมพงษ์, 2547, 62-63)

ภายหลังปราบกบฏบวรเดชไม่นาน พลายนรินทร์ฯ นักเขียนลำตัดถ่ายทอดเรื่องราวครั้งนั้นเป็นเรื่อง “ปราบกบฏบวรเดช” ทำให้สนิท เจริญรัฐ นักหนังสือพิมพ์ ชาวนครราชสีมา ต่อมาเป็นผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เขาเคยแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับหนังสือลำตัดปราบกบฏของพลายนรินทร์ฯ ซึ่งมีหน้าปกล้อเลียนเป็นภาพพระองค์เจ้าบวรเดชขี่หมูว่า ถ้าหากส่งไปจำหน่ายที่โคราชแล้วอาจทำร้ายความรู้สึกของชาวโคราชที่มีความเคารพในพระองค์เจ้าบวรเดชได้ จึงขอให้รัฐบาลรีบแก้ไขก่อนเหตุการณ์จะบานปลายเป็นความไม่พอใจต่อรัฐบาล (ประวิทย์, 241-242)

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ลำตัดของพลายนรินทร์ฯ เขียนลำตัดสนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรให้ปราบกบฏบวรเดช แต่โวหารลำตัดอาจกระทบความรู้สึกของชาวโคราชที่เพิ่งพ่ายแพ้ต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่า รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างใด

ควรบันทึกด้วยว่า พลายนรินทร์ฯ เป็นนักเขียนลำตัดที่มีชื่อเสียงและมีผลงานมากในช่วงปลายระบอบเก่า เช่น ในปี 2468 เชียนผลงานเรื่อง อ้ายก้านผู้วิเศษ เป็นเรื่องจอมโจรหนองโดนที่ต่อสู้กับกองตำรวจอย่างทรหดอดทน อ้ายก้าน เป็นผู้ต้องหาคดีค้าฝิ่นเถื่อนที่ต่อสู้และยิง ร.ต.อ. ขุนตระเวนรักษาตาย และลำตัดประชันระหว่างพลายนรินทร์ฯ ล้วงตับพระยานนทิเสน ว่าแก้อย่างละห้อย ในสมัยรัชกาลที่ 6 เคยเกิดข่าวอื้อฉาว เรื่องพระยานนทิเสน แม็ก เศียรเสวี โกงรางวัลล็อตเตอรี่เสือป่า จนต้องติดคุก เป็นต้น

ปี 2469 พลายนรินทร์ฯ เขียนเรื่อง คดีลักพระราชทรัพย์ในพระบรมมหาราชวัง (ราว 5 เล่มจบ) อ้ายลูกฆ่าพ่อ พิพากษาตัดสินพระยานนทิเสนคดีขี้ฉ้อกลางเมือง ฆาตกรรมถ่วงกระสอบ เจ้าคุณรามฯ ไปนอกกรุง ฆ่ากำนันนนท์บุรี แทงฅอผู้หญิงตาย ตำรวจพิฆาฏทหารเรือ เหตุอุกฉกรรจ์อันสยดสยอง ณ จังหวัดธนบุรี เป็นต้น (http://article.culture.go.th)

ชีวิตเด็กศรีษะเกษ ช่วง 2479 เครดิตภาพ Robert Larimore Pendleton

การเผยแพร่ประชาธิปไตยด้วยภาษาถิ่น

ภายหลังการปราบกบฏบวรเดชลงแล้ว รัฐบาลคณะราษฎรยกฐานะกองโฆษณาการขึ้นเป็นสำนักงานแล้วยังให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยแก่พลเมืองอย่างกว้างขวางว่า

“การปกครองตามลัทธิประชาธิปไตยนั้น ย่อมกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดหรือถูกของปวงชนย่อมเป็นผลโดยตรงแก่นโยบายของรัฐบาล… ดังนั้น หัวใจของการโฆษณาจึ่งมีว่า เมื่อใดโฆษณาของรัฐบาลปราศจากความสำเร็จ เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมตกอยู่ในความลำบาก เพราะเหตุว่า การใช้อำนาจบังคับใจคนนั้น ย่อมไม่ดีเท่าวิธีให้ความรู้และเหตุผลแก่ประชาชน” (หลวงรณสิทธิพิชัย, 2476, 12)

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการอ่านออกเขียนได้และความสามารถในการเข้าถึงวิทยุของประชาชนในชนบทและสมรรถนะในการส่งเคลื่อนสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ทั่วถึง ทำให้สำนักงานโฆษณาการตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าวในการสื่อสารกับประชาชน จึงเลือกใช้วิธีการสื่อสารใหม่ผ่านการปาฐกถาและการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 28-32)

สำหรับสภาพสังคมอีสาน อุปนิสัยใจคอของผู้คนเป็นอย่างไรนั้น เลียง ไชยการ ส.ส.อุบลฯ ให้ภาพไว้ว่า “นิสัยใจคอ ศีลธรรมของชาวจังหวัดนี้ส่วนมากว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อกระด้าง ความเป็นคนพาลเกเรมีน้อยที่สุด ความดุร้ายไม่มีเลย” (สำนักงานโฆษณาการ, 2478, 25)

ส่วนพระไพศาลเวชกรรมและขุนเสนาสัสดี ส.ส.ร้อยเอ็ด เล่าถึงชีวิตชาวอีสานแล้งแค้นยากจนว่า “การทำมาหากินของราษฎรนับจำนวนตั้ง 4 แสนเศษ โดยมากทำนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนซึ่งมีตามฤดูกาล ถ้าปีไหนฝนดีก็ได้ผลมากเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าหากปีไหนฝนแล้งก็ขาดทุน ที่ลงแรงไปเสียเปล่า และซ้ำร้ายคือไม่มีข้าวกินในปีถัดไป…” (สำนักงานโฆษณาการ, 2478, 175-176)

ลำตัดเรื่อง อ้ายเสือใบ (2472) และอีนากพระโขนง หะยีเขียดโต้คารมกับ พลายนรินทร์โสภา (2472) เครดิตภาพ : ท่าแพ อินน์

ดังนั้น ภายหลังปราบกบฏบวรเดชแล้ว สำนักงานโฆษณาการจึงมีภารกิจสำคัญในการเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตยสู่ประชาชน ดัง ชวาลา สุกุมลนันท์ อดีตข้าราชการของหน่วยงานคนหนึ่งเล่าว่า แม้นสังคมไทยมีหนังสือพิมพ์ แต่มีผู้อ่านน้อย และแม้นจะมีวิทยุ แต่กำลังส่งต่ำ อีกทั้งเครื่องรับวิทยุในสังคมก็มีน้อยเครื่อง ดังนั้น วิธีการบอกเล่าด้วยการปาฐกถา พบปะพูดคุยแบบถามตอบกับประชาชนจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในครั้งนั้น โดยให้ข้าราชการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และให้รายงานสภาพที่เกิดขึ้นกลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อทราบและแก้ปัญหาการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพด้วย (เขมชาติ, 2538)

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลคณะราษฎรจึงเลือกสื่อสารด้วยการปาฐกถาให้ประชาชนฟังเป็นหลักว่า” การเผยแพร่และส่งเสริมให้แก่ประชาชน…ตามทำนองไปในวิธีโปรปะกันดา ซึ่งผู้ที่รู้เห็นโดยมากก็เพียงคนอ่านหนังสือออก ในประเทศของเรา มีพลเมืองที่อ่านหนังสือไม่ออกมีไม่น้อยกว่า 50 ในร้อย เพราะฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาอันนี้ จึ่งจำต้องใช้การพูดแทนเป็นอันมาก และยิ่งได้ผู้พูดภาษาพื้นเมืองแห่งภูมิภาคนั้นๆ เป็นผู้พูดด้วยแล้ว ก็ย่อมมีผลดียิ่งขึ้น” (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 24)

สนิท เจริญรัฐ ส.ส.โคราช และ เลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลฯ ประดับเหรียญปราบกบฏบวรเดช
ผลงานของพลายนรินทร์ เรื่องแทงฅอผู้หญิงตาย และพิพากษาตัดสินพระยานนทิเสนฯ (2469)
สภาพชีวิตชาวศรีษะเกษ ช่วง 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton
บรรณ์ สวันตรัจฉ์ ส.ส.สุรินทร์ (2480-2481) สอน พงศ์สุวรรณ ส.ส.ชัยภูมิ