รำลึก 70 ปียุติสงครามเกาหลี (2) ปัญหาสงครามจำกัดในยูเครน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

รำลึก 70 ปียุติสงครามเกาหลี (2)

ปัญหาสงครามจำกัดในยูเครน

 

“สหรัฐไม่ใช่ผู้ที่ผูกขาดการมีระเบิดนิวเคลียร์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น โซเวียตก็มีระเบิดนิวเคลียร์เช่นกัน ถ้าสหรัฐกล้าที่จะใช้ระเบิดนิวเคลียร์ [ในสงครามเกาหลี] สหรัฐโดยธรรมชาติแล้ว ก็สมควรที่จะถูกตอบโต้ด้วย”

Current Affairs Journal (Peking), พฤศจิกายน 1950

 

หลังจากการกำเนิดของอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ในสถานการณ์จริงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในเดือนสิงหาคม 1945 ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมีนัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ว่า ถ้ารัฐมหาอำนาจใหญ่ของโลกมีสถานะเป็น “รัฐนิวเคลียร์” แล้ว สงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

คำถามเช่นนี้เป็นประเด็นสำคัญในทางยุทธศาสตร์ เพราะผลจากอำนาจของ “การทำลายล้างขนาดใหญ่” (ในความหมายที่เป็น “mass destruction”) จากอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน…

ภาพของเมืองและชีวิตของชาวเมืองทั้งสองนั้น ถูกทำลายในระดับที่แตกต่างอย่างมากจากการโจมตีทางอากาศที่กองทัพสัมพันธมิตรเคยโจมตีเป้าหมายทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะกับเยอรมนีและญี่ปุ่น จนเห็นได้ชัดว่าอำนาจการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์สงครามมาก่อน

เงื่อนไขของอำนาจการทำลายล้างเช่นนี้ ทำให้ “เกินจินตนาการ” ว่า ถ้ารัฐมหาอำนาจมีอาวุธนิวเคลียร์ และต้องทำสงครามระหว่างกันแล้ว การทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์จะส่งผลอย่างไรกับกระบวนการทำสงคราม

ซึ่งทฤษฎีของ “สงครามเบ็ดเสร็จ” เช่นที่เคยใช้สงครามโลกทั้ง 2 ครั้งนั้น อาจจะนำมาใช้ไม่ได้กับ “สงครามนิวเคลียร์” อย่างน้อยสงครามโลกไม่มีอำนาจการทำลายล้างใหญ่เช่นที่ปรากฏจากภาพที่เราเห็นที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

ดังนั้น จึงมีความหวังในเชิงความคิดว่า ถ้าอาวุธนิวเคลียร์มีอำนาจการทำลายล้างเช่นนั้น สงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะการทำลายล้างเช่นนี้จะไม่มี “ผู้ชนะ” ในสงครามนิวเคลียร์ กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างถูกทำลายล้างจนไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้แพ้-ผู้ชนะ… ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐมหาอำนาจใหญ่จะทำสงครามด้วยเหตุผลอะไร

 

สงครามนิวเคลียร์ที่เกาหลี?

ถ้าอาวุธนิวเคลียร์มีอำนาจการทำลายล้างสูง จนทำให้สงครามที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามหลักการทางยุทธศาสตร์ กล่าวคือ สงครามไม่ได้ให้ผลตอบแทนเชิงนโยบายในแบบที่เคลาสวิตซ์ (Clausewitz) ได้กล่าวไว้ การทำสงครามของรัฐด้วยวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ในแบบเดิมจึงน่าจะใช้กับสงครามนิวเคลียร์ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นไปในทิศทางเช่นนี้แล้ว สงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

แต่ความหวังและความจริงในการเมืองระหว่างประเทศอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง… เช้าของวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 1950 กองทัพเกาหลีเหนือตัดสินใจเปิดการรุกข้ามแนวเส้นขนานที่ 38 อย่างไม่คาดคิด เป็นการเปิดสงครามอย่างท้าทาย เพราะในขณะนั้น สหรัฐและโซเวียตล้วนเป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์” แล้ว การเกิดสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในสภาวะเช่นนี้จึงเกิดความกังวลอย่างมากว่า การรบที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ภาวะ “สงครามเต็มรูปแบบ” (all-out war) ที่เป็นสงครามนิวเคลียร์

ดังนั้น จึงมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้เกิดการควบคุมทางการเมืองต่อการสงครามที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ต้องการให้เกิดการ “ยกระดับสงคราม” (escalation of war) ซึ่งหากควบคุมไม่ได้แล้ว การยกระดับจากสงครามตามแบบไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และดังที่กล่าวแล้ว อำนาจการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์มีสูงเกินไป เกินกว่าจะปล่อยให้สถานการณ์การรบลากรัฐมหาอำนาจทั้งสองไปสู่จุดสุดท้ายด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการตอบโต้ซึ่งกันและกัน เงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นความกลัวอย่างมากของรัฐต่างๆ

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อประธานาธิบดีทรูแมนแสดงท่าทีด้วยการกล่าวถึงข้อพิจารณาในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามเกาหลี นายกรัฐมนตรีแอทลีของอังกฤษแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า อังกฤษไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธนี้ หรืออีกนัยหนึ่งสหรัฐไม่มีเสรีภาพที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เช่นในการโจมตีญี่ปุ่น

ฉะนั้น แม้อาวุธนิวเคลียร์จะมีอานุภาพในการทำลายสูง แต่ก็มีคำถามถึงโอกาสของการใช้จริง เพราะความพิเศษของตัวอาวุธ ที่ไม่อาจใช้แนวคิดของสงครามตามแบบมาเป็นข้อพิจารณาได้

 

ข้อจำกัดของอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ การตัดสินใจไม่ใช้หัวรบนิวเคลียร์ เกิดจากจำนวนของอาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของสหรัฐไม่ได้มีจำนวนมาก เพราะการตัดสินใจโจมตีเกาหลีเหนือด้วยอาวุธนิวเคลียร์ อาจจะส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมทางทหารที่จะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์รองรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในยุโรป อีกทั้งนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าโซเวียตให้ความสนับสนุนต่อเกาหลีเหนือในการโจมตีเกาหลีใต้ ก็เพื่อดึงความสนใจของฝ่ายตะวันตกออกมาจากปัญหายุโรป ซึ่งหากสหรัฐติดอยู่กับสงครามเกาหลีแล้ว ก็จะเป็นโอกาสอย่างดีให้โซเวียตขยายอิทธิพลในยุโรปได้มากขึ้น

ในทางทหารแล้วไม่ชัดเจนว่า หากนำเอาหัวรบนิวเคลียร์มาไว้ในความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาหน่วยในสนามแล้ว พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการมีอาวุธดังกล่าว เนื่องจากเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ของเกาหลีเหนือสามารถจัดการได้โดยการใช้อาวุธของสงครามตามแบบ ไม่ใช่เป้าหมายที่มีความจำเป็นต้องโจมตีด้วยหัวรบนิวเคลียร์แต่อย่างใด

ในอีกส่วนของปัญหาทางทหารคือ เป้าหมายที่ต้องโจมตีอยู่ในพื้นที่การรบโดยตรง เช่น ที่ตั้งหน่วยทหาร จุดรวมกำลังของข้าศึก เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสามารถทำลายด้วยการโจมตีทางอากาศ และด้วยอาวุธตามปกติ อีกทั้งเป้าหมายในพื้นที่การรบมีกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรอยูด้วย มิใช่มีแต่ทหารข้าศึก การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในสนามรบจะกระทบต่อกำลังของทั้งสองฝ่ายโดยตรง

อย่างไรก็ตาม จะกล่าวว่าอาวุธนิวเคลียร์ไม่อยู่ในแผนการทัพของสหรัฐเลยก็คงไม่ถูกนัก เงื่อนไขสำคัญคือ ถ้ากองทัพสหประชาชาติในเกาหลีใต้ถูกกำลังทางอากาศยานที่มาจากฐานทัพอากาศในจีนหรือในโซเวียตภาคตะวันออกแล้ว สหรัฐอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีตอบโต้ต่อฐานทัพเหล่านั้น ซึ่งการโจมตีด้วยอาวุธตามปกติอาจไม่เพียงพอในการทำลาย อาวุธนิวเคลียร์จึงอยู่ในแผนเผชิญเหตุเช่นนี้…

โชคดีว่าการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้เกิดขึ้น

 

จะรบอย่างไร

ดังได้กล่าวแล้วว่า สงครามเกาหลีเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในด้านหนึ่งอาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจใช้ได้จริง ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำเนียบขาวจะดำเนินการสงครามอย่างไรในสถานการณ์ใหม่ ที่สงครามจะต้องไม่ยกระดับจนกลายเป็นสงครามใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งสหรัฐจะต้องสามารถทำสงครามได้ โดยสงครามนั้น จะไม่ยกระดับเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งก็คือการที่ผู้นำที่ทำเนียบขาวจะต้องยกเลิกทัศนะที่มองว่า ทุกสงครามมีความเป็น “สงครามไม่จำกัด” (unlimited war) และจะต้องรบแบบสงครามใหญ่

ฉะนั้น ในเงื่อนไขเช่นนี้ รัฐคู่สงครามจะต้องไม่ทำสงครามในแบบ “สงครามเบ็ดเสร็จ” เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งจะจบลงด้วยการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องคิดว่าสงครามทำด้วย “ข้อจำกัดของวัตถุประสงค์ทางการเมือง” (คิดในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับการเมืองตามแบบของเคลาสวิตซ์) ซึ่งการคิดในลักษณะเช่นนี้จะนำไปสู่ “ความจำกัด” ที่สำคัญ ได้แก่

1) พยายาม “จำกัดจำนวน” ของรัฐมหาอำนาจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีเพียง 2 เท่านั้น

2) พยายาม “จำกัดพื้นที่” ความขัดแย้งในทางภูมิศาสตร์ ไม่ให้สงครามขยายออกนอกพื้นที่

3) พยายาม “จำกัดทรัพยากร” ในการสงคราม โดยจะไม่ทุ่มทุกอย่างในการรบเช่นในสงครามเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องจำกัดให้ได้คือ การจำกัดวัตถุประสงค์ทางการเมืองดังที่กล่าวแล้ว เพราะหากผู้นำของรัฐคู่กรณียอมจำกัดวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว การจำกัดในอีก 3 ประการนั้น ย่อมมีความเป็นไปได้ แต่หากจำกัดวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ได้ ความพยายามในการจำกัดสงครามจะเกิดไม่ได้เลย

นอกจากนี้ ผู้นำทางทหารจะต้องตระหนักและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “เครื่องมือทางทหาร” กับ “จุดหมายทางการเมือง” เพราะสงครามอาจจะมิได้หมายถึง การเอาชนะรัฐคู่สงครามอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ชัยชนะเช่นนี้มีนัยถึงการบังคับให้รัฐคู่กรณียอมรับเงื่อนไขทางการเมืองของฝ่ายเรา

ดังจะเห็นได้ว่าการทำสงครามของสหรัฐในเกาหลี มิได้ต้องการได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือรัฐบาลเกาหลีเหนือ และนำไปสู่การยึดครองในแบบที่กระทำกับญี่ปุ่น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หากแต่สงครามทำเพื่อบังคับให้ผู้นำเกาหลีเหนือยอมรับที่จะกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อการหยุดยิง และยอมรับสถานะของเส้นขนานที่ 38 และเขตปลอดทหาร (DMZ) เพื่อยุติความพยายามที่จะเปิดการโจมตีเกาหลีใต้อีกในอนาคต

แนวคิดเช่นนี้อาจจะดูแปลกที่สงครามทำด้วย “ความจำกัด” แทนที่จะเสนอให้รัฐทำสงครามอย่างเต็มที่แบบ “ไม่จำกัด” คือกระทำด้วยความต้องการที่จะได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือรัฐข้าศึก แต่ข้อเสนอนี้กลับพลิกมุมมองต่อแนวคิดทางทหาร อันนำไปสู่การกำเนิดของทฤษฎี “สงครามจำกัด” (Limited War) และสงครามเกาหลีเป็นตัวแทนทางทฤษฎีอย่างชัดเจนถึงภาวะของสงครามจำกัด เพราะทางผู้นำจีนเอง ก็ไม่ได้ต้องการที่จะยกระดับสงคราม หากแต่มีมุมมองในการป้องกันตัวเอง อันเนื่องมาจากการรุกของกองทัพสัมพันธมิตรที่ขึ้นไปใกล้ชิดกับแนวพรมแดนจีน ในทางปฏิบัติ ผู้นำจีนเองก็ไม่ได้ขยายสงครามจนเกินโอกาสที่จะจำกัดวัตถุประสงค์

ดังนั้น จึงอาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า สงครามจำกัดคือ ตัวแบบของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ ที่อยู่ในแบบของการใช้กำลัง แต่ก็เป็นสงครามที่ต่างฝ่ายต่างจำกัดบทบาททางทหารของตน

 

ประยุกต์กับสงครามยูเครน

ถ้าเกาหลีเป็นสงครามร้อนแรกของสงครามเย็นเก่า และยูเครนเป็นสงครามร้อนแรกของสงครามเย็นใหม่… ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัสเซียจะเดินแนวทางในแบบที่สหรัฐทำในสงครามเกาหลีหรือไม่ กล่าวคือ ประธานาธิบดีปูตินจะยอมรับทฤษฎี “สงครามจำกัด” ที่ถูกสร้างจากตัวแบบของสงครามเกาหลีหรือไม่

ผู้นำรัสเซียไม่เพียงแต่กล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์ในหลายวาระเท่านั้น หากแต่ยังเปิดการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยูเครนเริ่มเปิดการรุกกลับ และเปิดการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย

ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทฤษฎีสงครามจำกัดจะยังคงใช้ได้กับสงครามยูเครนหรือไม่ ในความเป็นจริงแล้ว การทำสงครามจำกัดในยูเครนมีความท้าทายอย่างมาก เพราะวัตถุประสงค์ของรัสเซียอาจไม่จำกัดเช่นที่ทฤษฎีกำหนดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น!